ครูผู้เป็นทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาทุนมนุษยชาติ


ครู เป็นผู้ผลิตมนุษย์ดีดีให้สังคม

"ทุนมนุษย์"คือปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่งที่เกิดจากวาทกรรมทางเศรษฐศาสตร์ยุคปลายอุตสาหกรรม โดยมีแนวคิดว่าหากสังคมใดมีทุนมนุษย์ดีจะทำให้สังคมนั้นมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสินค้าบริการ

แนวคิดเช่นที่กล่าวข้างต้นนั้นท่านอาจดูได้จากประเทศสิงคโปร์ที่เน้นด้านการพัฒนาคน โดยเฉพาะ "การศึกษา" หลายท่านคงทราบดีว่าคนสิงคโปร์มักพูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอว่า ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าสงสาร มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรกว่า 4 ล้านคน บนพื้นที่เกาะเล็ก ดังนั้นสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนออกสู่ภายนอก ในความหมายนี้ไม่เพียงการเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศของคนสิงคโปร์แต่รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการติดต่อซื้อขาย เช่น การค้าน้ำมันดิบ ซึ่งมีตลาดใหญ่ที่สิงคโปร์ และในยุคปัจจุบันเป็นเพียงห้องค้าที่มีการใช้อินเตอร์เน็ท ออนเอ็มเอสเอ็นต่อรองราคากันทันทีโดยมีคนสิงคโปร์เป็นนายหน้าประเทศสิงคโปร์เป็นเกาะที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ไม่มีการผลิตเป็นของตนเอง ไม่มีฟาร์มเลี้ยงหมู  ไม่มีแม้แต่ไร่ผัก กลับเป็นประเทศที่เป็นพี่ใหญ่ทางการค้าในแถบนี้ มาตรฐานคนสิงคโปร์อายุ 20-50 ปี คือ พูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ อังกฤษและมาเลย์ หรือ อังกฤษและจีนฮกเกี้ยน ปัจจุบัน ภาษาจีนกลางเป็นภาษาทางการที่นักเรียนต้องเรียน การศึกษาอย่างน้อย ปวช. อายุประมาณ 18 ปีก็เริ่มทำงานแล้ว 

อีกทั้งสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเมือง ในภาคพื้น ASEAN กลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ หากเราต้องการสื่อสารต้องใช้ภาษาที่พูดคุยกันเข้าใจ เราจะเห็นว่าสำนักงานระหว่างประเทศหลายองค์กรตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ 

ระบบหนึ่งที่ดิฉันได้มีโอกาสได้สัมผัสคือ คนชั้นกลางของสิงคโปร์เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ คนเหล่านี้สร้างบ้านแปงเมืองประเทศชาติสิงคโปร์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีกฏหมายที่เข้มงวดและจริงจัง คนประเทศนี้กลัวการกระทำผิดอย่างมาก และนั่นส่งผลให้เกิดความมีวินัยในชีวิต และเมื่อมีพื้นฐานในการมีวินัยในชีวิต ไม่กล้าละเมิดผู้อื่น รู้หน้าที่และรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มนุษย์สิงคโปร์เป็นบุคลากรที่ต้องการของตลาดแรงงาน หรือกล่าวได้ว่าเป็นทุนมนุษย์ที่ดีต่อการผลิตในสังคมนั่นเอง

นอกจากกฎหมาย และนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคนแล้ว อีกบุคลหนึ่งที่ดิฉันอยากกล่าวชมเชยคือ "ครู" 

ครูสิงคโปร์ทุ่มเทเพื่อการสอนอย่างมาก ครูจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กนักเรียน ทั้งในและนอกโรงเรียน ครูจะตรงเวลาอย่างมาก หากละเลยข้อนี้จะถูกผู้บริการว่ากล่าวตักเตือนเป็นเรื่องราวที่หมองต่ออาชีพครูเลยทีเดียว  การวัดผลความเก่งกาจของครูมิได้อยู่ที่การประจบประแจง แต่หากอยู่ที่การที่นักเรียนของครูคนนั้นสามารถทำคะแนนได้ดี และสามารถสอบเข้าเรียนในระดับชั้นต่อไปได้

ถึงตรงนี้ก็นึกถึงครูท่านหนึ่ง...  

ตั้งแต่ปี 2550 ดิฉันได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านชื่อ อ.พะนอม แก้วกำเนิด...

ดิฉันยังจำได้ถึงวันพบท่านครั้งแรกที่งานอบรมลูกเสือที่สำนักงานลูกเสือเอเซีย แปซิฟิค มาอบรมเรื่อง โครงการรางวัลลูกเสือโลก Scout of the world Award ประมาณกลางปี 2550 ดิฉันเห็นชายอายุเกิน 70 ปี เดินเข้ามาในที่ประชุมพร้อมกับคณะ ท่านหน้าตาแจ่มใสอิ่มเอิบเหมือนผู้ใหญ่ใจดี หลังจากนั้นไม่นานดิฉันได้เห็นหนังสือคู่มือการจัดทำโครงการ SWA ในประเทศไทย โดยมี อ.พะนอม  แก้วกำเนิดเป็นประธานจัดทำ  

หลังจากนั้นเกือนปี ดิฉันได้พบ อ.พะนอม แก้วกำเนิด อีกครั้งในปี 2551 เมื่อ อ.วัฒนา สุขรุ่งเรือง ได้เชิญดิฉันเป็นกรรมการร่างหลักสูตรลูกเสือในส่วนของลูกเสือวิสามัญ ทีมงานนี้ประชุมกันทุก 2 เดือน เป็นเวลากว่า 1 ปีที่ดิฉันเข้าร่วมทำงานในคณะนี้ ทุกครั้งที่ไปประชุม อ.พะนอมจะเป็นครูที่ให้แง่คิดกับเราทุกครั้ง สำหรับดิฉันเองรู้สึกโชคดีที่ได้พบอาจารย์ในคณะนี้ อาจารย์ทุกท่านเป็นลูกเสือโดยแท้ ไม่เห็นแก่เงิน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดิฉันมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปประชุม เหมือนไปพบญาติพี่น้องลูกเสือเลยทีเดียว

ตลอดสิบสองปีที่เป็นครูลูกเสือ เป็นเจ้าของค่าย เป็นอาสาสมัครลูกเสือ  ดิฉันพบเห็นลูกเสือหลายแบบ บางคนเป็นแค่คนที่สวมชุดลูกเสือแต่ไม่มีจิตวิญญาณของลูกเสือ หรือ scout spirit 

ดิฉันได้เห็นการทำงานของ อ.พะนอมที่ท่านเป็นครูตัวอย่าง ท่านตรงต่อเวลา ทำการบ้านก่อนมาเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ให้เกียรติผู้เข้าร่วมประชุม ทุกคนในที่ประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นและสามารถเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่อาจารย์ตั้งมาแล้วได้ อาจารย์เป็นครูที่สุภาพ พูดจากสุภาพให้เกียรติคนอื่น และทุกครั้งไม่ว่าจะประชุมเล็กหรือใหญ่ อาจารย์จะขอบคุณที่เรามาร่วมประชุมทุกครั้งทั้งๆที่อาจารย์เองก็บ้านอยู่ไกล และต้องขับรถมาเอง

ดิฉันอาจเป็นครูสำหรับใครหลายคน แต่ทุกครั้งที่ไปประชุมดิฉันจะเป็นนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากการตั้งใจฟังครูทุกท่าน อาจกล่าวได้ว่าเป็นโชคดีที่ดิฉันมักทำหน้าที่เป็นเลขาของคณะ ซึ่งมีหน้าที่บันทึกการจัดทำหลักสูตร

ดิฉันเห็นความพยายามของทุกคนที่เสียสละแรงกาย แรงใจ แบ่งเวลามาร่วมกันทำงานชิ้นสำคัญของชาติชิ้นหนึ่ง เหมือนเราร่วมกันสร้างบ้านเมืองให้ลูกหลานรุ่นต่อไปของเรา ซึ่งระหว่างทางนั้นอาจมีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้เราหยุดการเปลี่ยนแปลง เพราะอาจทำให้คนบางคนเสียประโยชน์ แต่ดิฉันภูมิใจเมื่อได้ยินครูพูดว่า "ผมไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะผมเชื่อว่าเราจะสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้ลูกหลานไทยได้ ผมฝากพวกเราเป็นกำลังให้บ้านเมือง เราต้องช่วยกัน " พร้อมกับรอยยิ้มใจดี และสะท้อนถึงกฎลูกเสือที่ว่า ลูกเสือต้องมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

วันนี้แม้ อ.พะนอมจะมีตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสภาลูกเสือแห่งชาติอีกหรือไม่ เพราะข้อกำหนดคุณสมบัติที่ว่าผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี แต่ดิฉันเชื่อว่าท่านมีลูกศิษย์ทั้งที่เป็นครู เป็นนักวิชาการ เป็นลูกเสือมากมายระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ ดิฉันไม่เคยเป็นลูกศิษย์เมื่อครั้งท่านเป็นครู แต่ดิฉันได้พบและได้เรียนรู้จากการกระทำของท่านที่ "เป็นให้เห็น" เมื่อมีโอกาสดิฉันจะเป็นครูที่ให้โอกาสนักเรียนในทุกระดับ จะรักลูกศิษย์ จะสอนให้มีวินัยและรักประเทศชาติบ้านเมือง เหมือนที่ดิฉันได้เรียนรู้จากท่านค่ะ

หมายเลขบันทึก: 268150เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2009 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ...
  • ครูแป๋มดีใจมากค่ะที่อ่านเรื่องราว
  • ของ(อ.)คุณครูพะนอมที่น่าประทับใจ
  • ขอบคุณเรื่องราวดีดีเรื่องนี้มากๆค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท