การเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับความเป็นจริงของสังคม


 

 

เมื่อภาคเรียนที่แล้ว ในชั่วโมงเรียนสังคมพื้นฐาน หน่วยหน้าที่พลเมือง นักเรียนชั้น ๑๒ (มัธยมศึกษาปีที่ ๖) กำลังเรียนเรื่องประชาธิปไตย คุณครูจั๊ก ษัษฐารัมย์ ได้มอบหมายให้นักเรียนเขียนสรุปความเข้าใจที่มีต่อประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในสังคมไทย เมื่อจบชั่วโมงก็ขอให้ส่งงานชิ้นนั้นแล้วก็ส่งงานเขียนของนักเรียนทุกคน ไปร่วมประกวดเรียงความของโครงการขับเคลื่อนสุขภาวะทางสังคมผ่านการเรียนรู้และสืบเจตนารมณ์ ๑๔ ตุลา สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยที่นักเรียนทุกคนไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน

 

ผลปรากฏว่าความเรียงของ นางสาวสุธามาศ  ชยุตสาหกิจ (พอ) ได้รับรางวัลประเภทสร้างสรรค์ จากบทความเรื่อง ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังมีเนื้อหาต่อไปนี้

 

 

 ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จริงๆ คืออะไรกันแน่  กระดาษเปื้อนหมึกที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ หรือกระดาษที่มีอำนาจและทำให้ปกครองประชาชนได้  การปกครองคนได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องไม่ใช่การปกครองที่เกิดจากการกลัวเกรง กลัวอำนาจ  ประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้  ใช้ได้จริง  ประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยอำนาจที่มาจากความสุข  ที่ไม่โดยบ่อนทำลาย  อำนาจที่มาจากการกินดีอยู่ดี  อาหารจะถูกส่งแพร่ทั่วทุกคนจะเท่าเทียมกัน  ทุกคนมีอำนาจเป็นของตนเอง  มีสิทธิและเสรีภาพ  และการปกครองที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นไม่มีใครคิดบั่นทอนอำนาจ  เพราะทุกคนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมัน  ทุกคนมีความสุขมีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว  จะมีสวัสดิการยืนยันได้ว่าชีวิตของประชาชนนั้นสามารถมีอะไรรับประกัน  แลกกับการทำงานหนักและเสียภาษี   ซึ่งทุกคนมีชีวิตที่ดี  มีความสุข  มีความเท่าเทียมและมีรัฐธรรมนูญที่เคารพร่วมกัน  ก็จะไม่มีการประท้วง  ปฏิวัติ  ไม่จำเป็นต้องไปแคร์สังคมนิยม   ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกการปกครองอย่างเด็ดขาด  แม้ว่าจะมีชนชั้นในอดีตก็จะปฏิบัติดั่งปุถุชนทั่วไป  ไม่มีการนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรแต่ได้เงิน  ไม่มีการมีอำนาจเหนือผู้อื่น  ไม่มีผู้กดขี่และไม่มีผู้ข่มเหง  ในที่สุดก็ไม่มีคณะปกครอง  ทุกคนคือผู้ปกครองโดยเคารพในสิทธิซึ่งกันและกันภายใต้กฎที่ร่างด้วยกัน คือ รัฐธรรมนูญ

 

ประชาธิปไตยประกอบด้วย  อำนาจอธิปไตย  รัฐธรรมนูญ  หากรัฐธรรมนูญ  คณะผู้ปกครองและประชาชนไม่มีประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน  ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งจะลุกออกมาเพื่อสู้ในสิทธิประโยชน์ของตัวเอง  หากยังมีชนชั้นที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม  สังคมประเทศก็จะอยู่ไม่ได้  แต่ไม่ใช่ว่าจะถล่มอำนาจเก่าทิ้งอย่างไร้ความปราณี  แต่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  รัฐธรรมนูญมีเป้าหมายให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  และความเท่าเทียมได้นั้นต้องไม่มีชนชั้นปกครอง  ประชาธิปไตยต้องมีสภา  สภาที่แทนเสียงของประชาชนทุกคนและต้องไม่ละทิ้งเสียงส่วนน้อย   รัฐธรรมนูญต้องร่างจากประชาชนไม่ใช่ตัวแทนประชาชน  ไม่ใช่การที่คนส่วนน้อยไม่กี่คนสร้างสิ่งจอมปลอมที่เรียกว่ากฎหมายมาปกครองคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ  แต่คนส่วนใหญ่ทั้งหมดต้องสร้างสิ่งที่เป็นจริงมาปกครองตนเองอย่างเป็นธรรม  เพราะหากสิ่งเหล่านั้นต้องใช้มาปกครองตนเอง  โดยที่มีคนคานอำนาจกับผู้อื่น กฎหมายจะออกมาเท่าเทียม  เป็นธรรมและใช้ได้จริง  ฝ่ายค้านมีไว้เพื่อคานอำนาจ ไม่มีไว้แสวงหาอำนาจเพื่อให้สักวันฝ่ายตัวเองจะได้ขึ้นแทน  รัฐสภาไม่ใช่ศูนย์รวมอำนาจ  แต่เป็นศูนย์รวมสิ่งที่ประชาชนฝากความหวังไว้  และจะต้องเป็นไปได้จริง   รัฐบาลไม่ต้องมีอำนาจ  แต่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเท่านั้น  อำนาจจะกระจายไปสู่ทุกคนในประเทศ  และทุกคนในประเทศคือตัวแทนของอำนาจ  ไม่ใช่  อำนาจอยู่บนแผ่นกระดาษไม่กี่แผ่นเท่านั้น

 

เรื่องที่เรียนรู้ในห้องเรียน จะมีความหมายก็ต่อเมื่อผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่มีนั้นไปเชื่อมโยงเข้ากับปรากฏการณ์จริงที่เขาพบได้ในสังคม  และเกิดวิจารณญาณ เกิดปัญญาในการไตร่ตรองหาเหตุผลได้ในที่สุด

เพื่อให้การเรียนสังคมศึกษา เป็นไปเพื่อการทำความรู้จักและเข้าใจในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อการทำคะแนนสอบ

 

หมายเลขบันทึก: 267172เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าไม่ได้เขียนในชั่วโมงเรียน อาจไม่เชื่อว่าเด็กนักเรียน ม.6 เขียนเอง น่าทึ่งมากครับ ถือว่าเป็นอนาคตที่ดี คงจะมีพัฒนาการทางความคิดที่ดีขึ้นไปอีกเมื่อเป็นผู้ใหญ่กว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท