มหาวิทยาลัยกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น


การศึกษาไทย

บาว นาคร*

 

มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นหลักในการผลิตบัณฑิตสู่สังคม ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเรื่องการตอบสนองตลาดแรงงานหรือผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบงานที่หลากหลาย เพื่อความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศเป็นหลัก มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่นมีประมาณ 41 แห่งทั่วประเทศได้มีการเปิดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และบางแห่งได้เปิดในระดับปริญญาเอก ภารกิจหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศส่วนใหญ่แล้วปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นหลัก และบางแห่งมีศักยภาพในการพัฒนางานวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นและกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น และได้มีองค์กรภายในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

การที่มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศได้มีการจัดการศึกษาและผลิตบุคลากรด้านการศึกษาหรือบัณฑิตในอดีตที่ผ่านมา งานวิจัยที่เป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่แล้ว ไม่ค่อยได้นำมาใช้ประโยชน์กับชุมชน เพราะว่าส่วนใหญ่งานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาได้ทำการศึกษาวิจัยนั้นทำไปตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ทำอย่างไรที่จะให้มหาวิทยาลัยราชภัฎหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นและมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน โดยเน้นการเข้าไปร่วมเรียนรู้กับชุมชนและการทำวิจัยร่วมกับชุมชนโดยที่ไม่ได้เป็นโจทย์วิจัยหรือหัวข้อวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาเป็นผู้คิดโจทย์หรือหัวข้อวิจัยเอง แต่มีกระบวนการผ่านการตัดสินใจร่วมหรือศึกษาปัญหาร่วมกับชุมชน เพื่อได้ปัญหาการวิจัยร่วมกับชุมชน เพราะว่าบริบทชุมชนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านวัฒนธรรม ทุนชุมชน ทรัพยากรและความหลากหลายทางด้านชาติพันธ์เป็นต้น ถ้าทำได้อย่างนี้งานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ก็จะมีประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

นอกจากนั้นกระบวนการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ องค์กรท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและบูรณาการหัวข้อวิจัยร่วมกับเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน หรือเพื่อสรุปบทเรียน การค้นหาศักยภาพของชุมชนเพื่อให้มีแนวทางการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการทำแผนแม่บทชุมชนระดับตำบลและหนุนเสริมเรื่องความรู้ในกระบวนการทำแผน การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน ระบบการสื่อสารชุมชน การส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรท้องถิ่น สิทธิชุมชน เป็นต้น

คำว่า ชุมชนท้องถิ่น จึงหมายถึง การรวมกันของกลุ่มคน ในรูปของกลุ่มสังคมมีการปฏิบัติต่อกันทางสังคม มีปฏิกิริยาและการโต้ตอบต่อกันทางสังคมมีลักษณะของความสัมพันธ์กันทางสังคม เอื้ออาทรต่อกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยอาศัยอยู่ ณ อาณาบริเวณเดียวกันซึ่งประกอบด้วยพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และประกอบกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดระเบียบทางสังคมอันเป็นการควบคุมความสัมพันธ์ของสมาชิก กลุ่มสังคมอาจมีขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับจำนวนของสมาชิกในกลุ่มสังคม

ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนและให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก จึงจะสามารถขับเคลื่อนและสร้างพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็งได้ และที่สำคัญมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในฐานะเป็นองค์กรด้านวิชาการแก่ชุมชน รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะ หรือเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษอื่นๆในรูปแบบของเครือข่ายการศึกษาเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน

 



* บุญยิ่ง ประทุม. [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาไทย
หมายเลขบันทึก: 265696เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2009 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท