การฝึก


การฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายมีวิธีการฝึกที่ง่ายมาก ถ้าทำถูกวิธีแล้ว ทุกคนก็ทำได้ เช่นเดียวกับการฝึกจินตภาพของตะวันตก ขอย้ำว่า ทุกคนย่อมทำตามได้อย่างแน่นอน  ถ้าใครทำตามไม่ได้ ผมก็สามารถอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ว่า เกิดจากสาเหตุขัดข้องอะไร  ถ้าสามารถสาเหตุขัดข้องนั้นๆ ออกไปได้แล้ว ก็จะสามารถได้ผลการฝึกเป็นไปตามหลักสูตรอย่างแน่นอน

ท่านผู้อ่านที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งขอให้นำการฝึกนี้ไปทดลองใช้กับลูกหลานของตัวเองได้  สำหรับเรื่องอันตรายจากการฝึก ผมรับรองและยืนยันว่า “ไม่มี”  ถ้าท่านสอนลูกหลายท่านผิดไปจากวิธีการที่ผมกำหนด  ผลก็คือ ลูกหลานท่านจินตนาการให้เห็นดวงธรรมและกายธรรมไม่ได้ เท่านั้นเอง
ตามหลักของวิชชาธรรมกายแล้ว ใจของเรามีฐานอยู่ 7 ฐาน ดังรูปด้านล่าง




ถ้าเป็นการฝึกปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกายก็จะต้องนำนิมิต ซึ่งปกตินิยมใช้ดวงแก้วกลมใส นำเข้าไปทั้ง 7 ฐาน  แต่ในการฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกาย เราจะนำนิมิตเข้าไปที่ฐาน 1, 2, 3 และก็ลัดไปฐานที่ 7 เลย

การที่เราสามารถลัดจากฐานที่ 3 ข้ามไปฐานที่ 7 ก็เป็นเพราะว่า ฐานที่ 3, 4, 5, 6 และ 7 ตรงกันในแนวดิ่ง  ถ้ามองจากด้านบนลงไป ดวงกลมใสของฐานที่ 3, 4, 5, 6 และ 7 ก็สามารถมองเป็นดวงเดียวกันได้

สำหรับคำท่องนั้น เราสามารถจะเปลี่ยนเป็นคำท่องอะไรก็ได้ ที่เราชอบ เช่น เราอาจจะท่องว่า พุทโธ แทนสัมมาอะระหังก็ได้ เป็นต้น  ที่ต้องเน้นมากๆ ก็คือ คำท่องนั้น  เราจะต้องท่องอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเมื่อไหร่ลืมคำท่องก็หมายความว่า ใจของท่านไปอยู่ที่อื่นแล้ว

หลักการสำคัญของการฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายก็คือ ท่านต้องแบ่งใจให้ทำงาน 2 ประการพร้อมๆ กันคือ ท่องคำภาวนาไปด้วย และจินตนาการให้เห็นดวงแก้วกลมใสไปด้วย

วิธีการฝึก
ท่านั่ง
ท่านจะฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายในท่าใดก็ได้  ไม่ว่าจะนั่งขัดสมาธิ นั่งบนเก้าอี้ นอน ยืน เดิน ฯลฯ  หลักการสำคัญก็คือ ท่านจะต้องไม่ให้มีการอึดอัดคับข้องกับร่างกาย ร่างกายจะต้องอยู่ในท่าสบายๆ สามารถขยับเนื้อขยับตัวได้สะดวก

อย่างไรก็ดี ท่านั่งพื้นฐานซึ่งก็คือ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือขวาดจรดนิ้วโป้งของมือซ้ายจะเป็นที่นั่งที่เหมาะสมที่สุด และนั่งได้นานกว่าท่าอื่นๆ

การที่บอกว่า นั่งได้นานกว่าท่าอื่นๆ ก็เป็นเพราะว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในท่าทางแบบไหน ท่านก็ต้องเมื่อย ต้องเบื่อเมื่ออยู่ในท่านั้นนานๆ

การสวดมนต์ไหว้พระ
ในเมื่อการฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายนี้ต้องการพัฒนาให้เป็นสากล เพื่อนำไปใช้ได้กับคนทุกชาติทุกภาษา จึงไม่จำเป็นจะต้องสวดมนต์ไหว้พระก่อนการฝึก  แต่ถ้าท่านที่เป็นพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว ก็สามารถสวดมนต์ไหว้พระก่อนการฝึกก็ได้

นิมิต
หน้าที่ของนิมิตนี้ รวมถึงคำภาวนาด้วย มีไว้เพื่อทำให้ใจของเราเหลือเพียงอารมณ์เดียว (เอกัคตารมณ์)  ดังนั้น รูปร่างลักษณะของนิมิตจึงไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทุกคน  แต่จากการศึกษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านพบว่า ดวงแก้วกลมใสนั้น เหมาะสำหรับคนส่วนใหญ่  ท่านจึงกำหนดให้นิมิตของท่านเป็นดวงแก้วกลมใส

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ดวงปฐมมรรค/ดวงธรรมานุปัสนาสติปัฏฐานก็มีลักษณะเป็นดวงแล้วกลมใสเช่นเดียวกัน  แต่โดยปกติแล้วจะใสกว่าและใหญ่กว่าดวงนิมิตที่หลวงพ่อวัดปากน้ำกำหนดไว้ คือ ขนาดเท่าตาดำของผู้ปฏิบัติ

จากประสบการณ์การสอนพบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน กำหนดดวงนิมิตใหญ่กว่าแก้วตาดำของตนเอง ดังนั้น เมื่อดวงนิมิตเปลี่ยนเป็นดวงปฐมมรรค/ดวงธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน ผู้ปฏิบัติธรรมยังไม่รู้เลยว่า เปลี่ยนตั้งแต่ช่วงไหน เมื่อไหร่

ในการไปสอนที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา  มีนักเรียนที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่ด้วย  และนักเรียนไม่สบายใจที่จะกำหนดดวงนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใส เพราะ คิดว่า เป็นของศาสนาพุทธ  ผมจึงแนะนำให้กำหนดนิมิตเป็นไม้กางเขนสีขาว

นักเรียนผู้นี้รายงานว่า เมื่อตนเองจะเห็นดวงปฐมมรรค/ดวงธรรมานุปัสนาสติปัฏฐานนั้น ไม้กางเขนได้ม้วนตัวเองกลายเป็นดวงแก้วกลมใส

สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม ผมเองไม่มีโอกาสได้สอน แต่เพื่อนวิทยากรท่านอื่นๆ ได้สอนและเล่าให้ฟังว่า จะให้นักเรียนกำหนดนิมิตเป็นดวงจันทร์  ก็ได้ผลการสอนเช่นเดียวกัน

โดยสรุป นิมิตนี้ ผู้ฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายจะจินตนาการให้เป็นวัตถุใดๆ ก็ได้ เช่น ดวงแก้วกลมใส ดวงจันทร์ ฟองสบู่ ไม้กางเขน ฯลฯ เป็นต้น  แต่สีของสิ่งที่กำหนดนั้น ควรเป็นสีใสๆ สีขาว สีแดง สีเหลือง และสีเขียว เท่านั้น  ไม่ควรกำหนดให้เป็นสีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สีดำ” นี้ ห้ามขาดเลยทีเดียว

ใครบ้างที่สามารถฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายได้
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นสามารถฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายได้ทั้งสิ้น รวมถึงเด็กเหล่านี้ด้วยคือ
   1) เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา/ปัญญาอ่อน
   2) เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน/หูหนวก
   3) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น/ตาบอด
   4) เด็กดาวน์ซินโดรม
   5) เด็กออทิสติก

ใน 4 ประเภทแรกนั้น  ผมเคยมีประสบการณ์สอนมาแล้วทั้งนั้น  เด็กที่สอนยากที่สุดคือ เด็กประเภทที่สอง คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน/หูหนวก  เนื่องจากการฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายนี้ จะเน้นการพูดให้ผู้ฝึกทำตาม  แต่ผมก็มีวิธีที่สามารถฝึกได้ ซึ่งจะอธิบายในรายละเอียดต่อไปข้างหน้า

สำหรับเด็กออทิสติก ผมไม่เคยมีประสบการณ์สอนด้วยตัวของผมเอง แต่เพื่อนวิทยากรเคยสอน  และเล่าให้ฟังว่า สามารถฝึกได้เช่นเดียวกัน  และอาการทางโรคดีขึ้น จนหมอแปลกใจ[1]

ขั้นตอนในการฝึก
ในการฝึกเด็กๆ นั้น ผู้ใหญ่ควรบรรยายให้เด็กฟัง แล้วให้เด็กทำตาม แต่สำหรับผู้ใหญ่เองแล้ว  ถ้าไม่มีวิทยากรสอนให้ ก็สามารถฝึกปฏิบัติด้วยตนเองได้

1) ให้กำหนดนิมิตดวงแก้วกลมใส [2] ไว้ที่ปากช่องจมูกของตนเอง หญิงปากช่องจมูกซ้าย ชายปากช่องจมูกขวา

ดวงแก้วกลมใสนั้น เป็นของทรงกลม จึงมีจุดศูนย์กลางอยู่  ผู้ฝึกควรส่งใจไปกลางดวงแก้วกลมใส  ถ้าสามารถกำหนดให้เห็นจุดเล็กใส ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของดวงแก้วกลมใสได้ก็ยิ่งดี  แต่ถ้ายังไม่เห็นก็ไม่เป็นไร

ต่อจากนั้น ให้ท่องคำภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ (3ครั้ง) และนึกให้ดวงแก้วกลมใสสว่างขึ้นไปอีก เท่าที่นึกได้

2) เลื่อนดวงแก้วกลมใสไปที่ฐานที่ 2 คือ เพลาตา  ผู้หญิงข้างซ้าย ผู้ขายข้างขวา เพลาตาก็คือ หัวตา ตรงที่น้ำตาไหลออกมา

ส่งใจเข้าไปที่กลางดวงแก้วกลมใส ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ (3ครั้ง) และนึกให้ดวงแก้วกลมใสสว่างขึ้นไปอีก เท่าที่นึกได้

3) เลื่อนดวงแก้วกลมใสไปที่ฐานที่ 3 คือ จอมประสาท  ตรงกลางกะโหลกศีรษะ  ส่งใจเข้าไปที่กลางดวงแก้วกลมใส ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ (3ครั้ง) และนึกให้ดวงแก้วกลมใสสว่างขึ้นไปอีก เท่าที่นึกได้

4) เลื่อนดวงแก้วกลมใสไปที่ฐานที่ 7 คือ ศูนย์กลางกาย  เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ (ความกว้างของนิ้วชี้และนิ้วกลางชิดกัน) ส่งใจเข้าไปที่กลางดวงแก้วกลมใส ภาวนาว่า สัมมาอะระหังตลอดไป  ท่องไปด้วย ใจก็นึกให้เห็นดวงแก้วกลมใสไปด้วย

เมื่อใจหยุดนิ่งดีแล้ว ก็จะเห็นดวงปฐมมรรค/ดวงธรรมานุปัสนาสติปัฏฐานที่ศูนย์กลางกายนี้  เห็นดวงปฐมมรรคเมื่อใด ร่างกายของเราจะรู้สึกโปร่งๆ โล่งสบาย  คนที่เห็นดวงปฐมมรรคจะเข้าใจ คำว่า “ความสุขที่เกิดจากความสงบ” ได้เป็นอย่างดี

เวลาในการฝึก
ถ้าถามว่า ควรฝึกนานขนาดไหนในการฝึกแต่ละครั้ง  เรื่องนี้ไม่มีกำหนด  เช่นเดียวกับจำนวนครั้งของการฝึกในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความตั้งใจจริงของแต่ละบุคคล มีหลักการง่ายๆ ว่า ควรฝึกทุกครั้งที่มีโอกาส

ผมเองในขณะที่ทำงานไป บางครั้งเกิดอาการง่วงนอน หรือเกิดอาการเครียด ผมจะฝึกจินตาภาพของผมทันที  เมื่อฝึกไปได้ระยะหนึ่ง อาการดังกล่าวนั้น จะหายไป ผมก็กลับมาทำงานต่อ

..............................................

อ้างอิง
[1] เด็กที่เพื่อนวิทยากรสอนนั้น จะชักวันหนึ่งหลายครั้ง เป็นปัญหากับพ่อแม่มาก  เมื่อได้ฝึกจินตภาพแบบวิชชาธรรมกายไปแล้ว และพัฒนาต่อไปจนฝึกการปฏิบัติธรรมแบบวิชชาธรรมกาย ผ่านวิชชา 18 กายไปแล้ว  อาการชักของเด็กผู้นี้ลดลงอย่างมาก จนพ่อแม่จำไม่ได้ว่า ลูกของตนเองชักครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

[2] ดังได้กล่าวมาแล้วว่า นิมิตนั้นจะกำหนดให้เป็นรูปหรือวัตถุใดๆ ก็ได้ แต่ในการบรรยายนั้น จะต้องเลือกนิมิตแบบใดแบบหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนของนิมิตที่หลากหลายนั้น  ผมจึงเลือกใช้ตามคำสอนดั้งเดิมคือ ดวงแก้วกลมใส

หมายเลขบันทึก: 265325เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2009 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท