การค้นหาความดี(ทุนทางสังคม)ด้วยความชื่นชม(AI).....เวทีAARตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น(6)


การสำรวจทุนทางสังคม .....เรียกกระบวนการนี้ว่า “กระบวนการค้นหาความดีด้วยความชื่นชม”

ควบคู่กับการสำรวจประวัติศาสตร์ชุมชน  การสำรวจทุนทางสังคมก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ชุมชนมีความสุขกับการค้นหาร่วมกัน  ซึ่งคนชุมชนบ้านเลือก  เรียกกระบวนการนี้ว่า “กระบวนการค้นหาความดีด้วยความชื่นชม”  โดยเป็นโครงการที่สภาฯร่วมมือกับศูนย์คุณธรรม  และกระบวนการขั้นตอนนี้เป็นส่วนนึ่ง ของการจัดทำเป้าหมาย  ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นครับ  ในส่วนนี้เป็นการดำเนินงานค้นหาสิ่งที่ดีงามในชุมชน  ทั้งนี้ความดีที่ชุมชนค้นหามีหลายระดับ  ทั้งที่เป็นความดีระดับบุคคล ความดีของกลุ่มองค์กรชุมชน  ความดีงามของชุมชนโดยภาพรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ในลักษณะการประยุกต์ใช้หลักการ "การจัดทำแผนที่ความดี"ของ อ.ประเวศ  วะสี ได้เคยแนะนำไว้     ในการนี้เลยทำให้“การค้นหาความดีด้วยความชื่นชม” เป็นเครื่องมือสร้างความสุขไปพร้อมกับกระบวนการทำงานค้นหาความดีของชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมในตัวเลยครับ   ส่วนหนึ่งของการค้นพบทุนทางสังคมหรือความดีของภาพรวมชุมชนทั้งตำบลของชุมชนบ้านเลือก  ความดีของกลุ่มองค์กรชุมชน  และความดีระดับบุคคล    ที่ชุมชนมีความสุขกับการค้นหาร่วมกันมีดังนี้......

ของดี/ความภูมิใจของคนในตำบลบ้านเลือก 

1.  ถิ่นเลือกม้าสวย / ม้าศึก

      ในอดีตบริเวณวัดบ้านเลือกในปัจจุบันเคยเป็นสถานที่เลือกม้าสวย/ม้าศึก ซึ่งเดิมมีชื่อว่าวัดเลือกม้า ตามคำบอกเล่าต่อๆกันมาว่า วัดเลือกม้าเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนำม้ามารวมกัน เพื่อให้ทหารเลือกไว้ใช้เป็นพาหนะของกองทหารสยาม

2.  มี พระโค สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

    ในสมัยแรกๆของพระราชพิธีฯ หมู่ 7 บ้านหุบมะกล่ำ และหมู่ 8 บ้านหนองรี เป็นสถานที่เลี้ยง ดูแลพระโค ปัจจุบันอยู่ที่ ศูนย์วิจัยสถานีผสมเทียมราชบุรี ตำบลหนองโพ

3.  มีเกจิอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงในย่านนี้

     หลวงปู่อินทร์  หลวงพ่อเขียน วัดโบสถ์   หลวงพ่อสองพี่น้อง  หลวงปู่แหยม  วัดบ้านเลือก  หลวงปู่ขันธ์  วัดพระศรีอารย์   หลวงพ่อพิมพ์มาลัย  วัดหุบมะกล่ำ  หลวงพ่ออินทร์  วัดหนองรี

4.  มีโบสถ์ร้อยล้าน

      วัดพระศรีอารย์ได้ปฏิสังขรณ์โบสถ์ขึ้นใหม่ ใช้เงินก่อสร้างกว่าร้อยล้านบาท เป็นโบสถ์ทองคำ สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เรียกขานกันว่า โบสถ์ร้อยล้าน

5.  มีศูนย์เรียนรู้ค่ายพุทธบุตรที่วัดพระศรีอารย์

     วัดพระศรีอารย์เป็นแหล่งเผยแพร่พุทธศาสนา มีศูนย์เรียนรู้ค่ายพุทธบุตร สำหรับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เผยแพร่คุณธรรม จริยธรรม กับเยาวชนทั่วประเทศโดยมี พระครูวิวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสเป็นผู้ก่อตั้งและมีการฝึก วาทะศิลป์ การกล่าวสุนทรพจน์ คุณธรรม จริยธรรม ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยมี พระ อาจารย์สุเทพ สุเทโว  เป็นแกนนำ

6.  เป็นตำบลที่ทำ เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสุข แห่งแรกๆในจังหวัด 

     สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกได้ตั้งเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสุขของคนในตำบลบ้านเลือกไว้ 9 ด้าน

7.  เป็นคนมีภาษาท้องถิ่น ลาวเวียง วัฒนธรรมลาวเวียง

     หมู่บ้าน/ชุมชนในตำบลบ้านเลือกส่วนใหญ่ตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นชุมชนชาวลาวเวียง ซึ่งอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว ก่อนปีพุทธศักราช 2347 เข้ามาอาศัยพึ่งบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม  พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่มณฑลราชบุรี มีชาวลาวเวียงบ้านเลือก บ้านฆ้อง บ้านสิงห์ ดอนทราย และอีกหลายๆพื้นที่ในจังหวัดราชบุรี

     ปัจจุบันมีการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีลาวเวียงหรือการ “ฟื้นเวียง” คือจะไปทำบุญตักบาตรที่บ้านทุกวัน และที่วัดทุกวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ และจะมีการทำบุญใหญ่ ในวันเพ็ญเดือนสามวันมาฆบูชาทำบุญข้าวหลาม  วันเพ็ญเดือนห้าวันสงกรานต์ทำบุญตักบาตร เล่นสงกรานต์  วันเพ็ญเดือนหกวันวิสาขบูชา  วันเพ็ญเดือนแปดวันอาสาฬหบูชา  แรม 1 ค่ำเดือนแปดวันเข้าพรรษา  วันเพ็ญเดือนสิบวันสารทลาว  วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดวันออกพรรษา  วันเพ็ญเดือนสิบสองวันลอยกระทง ฯลฯ 

8.  ข้าวโพดแปดแถว จักสาน วงแคน 

      ข้าวโพดแปดแถว  ชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดไว้บริโภคในช่วงเดือนหกเมื่อฝนเริ่มตก ที่นิยมปลูกกันมากมีพันธุ์ข้าวเหนียวลักษณะฝักใหญ่  และข้าวโพดเทียนฝักเล็กเมล็ดสีเหลือง   นิ่ม อร่อย เป็นที่นิยมของชาวบ้าน จึงมีการคัดฝักและเมล็ดที่สมบูรณ์เก็บไว้เป็นพันธุ์สำหรับปลูกในปีต่อไป จากการคัดเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกทุกปีทุกปีจนได้ข้าวโพดเทียนที่สมบูรณ์ไม่กลายพันธุ์ หนึ่งฝักจะนับได้แปดแถวทุกฝัก ไม่ว่าจะฝักเล็กหรือฝักใหญ่ จึงเรียกว่า ข้าวโพดแปดแถว ที่เลื่องลือมีชื่อในปัจจุบัน

     การจักสานตะกร้า  มีการจักสานตะกร้า ซึ่งมีการสอนถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจที่จะทำเป็นอาชีพเสริมได้หลังจากเวลาว่างงาน ปัจจุบันมีการจักสานตะกร้าในหมู่ 2 บ้านดอนกลาง มีหลายรูปแบบ เป็นที่น่าสนใจ นอกจากนั้นยังมีการทอพรมเช็ดเท้าที่หมู่ 2 และหมู่ 3 เป็นผลงานที่มีฝีมือ ใช้อุปกรณ์ในท้องถิ่น เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว  นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์วงดนตรีพื้นบ้าน(วงแคน) และอื่นๆอีกมากมาย

9.  ดำรงอาชีพทำนา ปลูกผัก เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และมีพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชน

     การทำนาและปลูกผักเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลักและฤดูทำนาจะปลูกข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะปลูกผักกาดหัว ถั่วเขียว งา ผักชี เป็นต้น  

     การดำเนินงานและการดำรงชีพของชุมชน มี "พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชน"โดยเฉพาะที่หมู่ 3 บ้านขนุน สามารถอนุรักษ์ไว้เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ มีการรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องมือ ทำนา จับสัตว์น้ำ สีข้าว ตำข้าว และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

10.มีการรวมกลุ่มภูมิปัญญาอาสาสมัครผู้อาวุโส

มีการรวมกลุ่มในรูปของชมรมผู้สูงอายุอาวุโสทางชุมชนทีมีประสบการณ์มากมายมาร่วมงานกับสภาองค์กรชุมชนและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในหลายกิจกรรมต่างๆทำให้ตำบลเข้มแข็งมีกลุ่มองค์กรชุมชนมากถึง 139 กลุ่ม

ครับ การค้นหาความดีด้วยความชื่นชม เป็นส่วนหนึ่งของ "กระบวนการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น" เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในช่วงแรกๆเลยครับ เป็นสร้างความเชื่อมั่นในพลังของชุมชนตนเองว่าเราก็มีอะไรดีๆครับ 

ในขั้นตอนนี้   ผมประยุกต์ใช้หลักการ “กระบวนการค้นหาความดีด้วยความชื่นชม”ครับ  หรือเรียกว่า Appreciative Inquiry (AI_สุนทรียสาธกหรือสุนทรียปรัศนี) ครับ    เครื่องมือนี้เป็นกระบวนการที่พัฒนาขึ้นโดย David L. Cooperrider   ทั้งนี้ หลักการของ  AI _สุนทรียสาธก  มีหลักการสำคัญ  คือ

  • AI เป็นมุมมองขั้นพื้นฐานถึงธรรมชาติของมนุษย์ เราคือใคร มี่ที่มาอย่างไร พวกเรามีคุณค่า มีความหมาย และมีความสำคัญอย่างไร
  • AI เป็นกระบวนการให้การยอมรับเชื่อมั่นว่าตัวเรา  ชุมชนเรา บรรพบุรุษของเรา ว่ามีอะไรพวกเราหรือบรรพบุรุษได้ทำสิ่งที่ดีๆไว้  และมีความสามารถที่เคยทำบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าไว้  แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆก็ตาม
  • AI เริ่มจาก  “การค้นพบเล็กๆ”  และ  “ฝันเล็ก”  แต่เป็นการชื่นชมที่ยิ่งใหญ่ ครับ
หมายเลขบันทึก: 264627เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท