nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

เหตุและผลสืบเนื่องจากการอ่านบทความไม่รู้เรื่อง...๒


อยากเสนอให้วิชาอ่านเอาเรื่อง เป็นวาระแห่งชาติจัง จะมีใครสนับสนุนบ้างมั๊ยเนี่ย...

          จากเหตุของการอ่านไม่รู้เรื่อง  ทำให้ความคิดวิ่งย้อนกลับไปสมัยเด็กประถม  ถ้าจำไม่ผิด มีวิชาชื่อ  อ่านเอาเรื่อง 

คำว่า อ่านเอาเรื่อง  มีความหมายชัดในตัว คืออ่านแล้วเก็บสาระสำคัญได้ 

ครูมีเรื่องสนุกๆ ให้อ่าน  แล้วทำแบบฝึกหัด  มีอธิบายศัพท์ให้ท้ายบท  อ่านตรงไหนไม่รู้เรื่องก็รีบพลิกไปหาคำตอบที่คำศัพท์  จำได้ว่าพอเปิดเทอมได้หนังสือมาจะรีบอ่านจนจบเล่มก่อนครูสอน

วิชานี้เชื่อมโยงกับวิชาย่อความ  เรียงความ  ซึ่งเป็นยาขมของฉันในสมัยกระโน้น

การย่อความ  เป็นการอ่านให้เข้าใจแล้วสรุปสาระสำคัญออกมาสั้นๆ  เป็นทักษะที่ต้องหมั่นฝึกบ่อยๆ  เอามาใช้งานในชีวิตประจำวันได้มาก

เช่น  เวลาอ่านอะไรมา  อยากเอาไปเล่าต่อ  แบบไม่ใส่ไข่เอาเอง ก็ต้องย่อความ  ไปประชุมกลับมาสรุปให้เจ้านายฟัง  ก็ต้องย่อความ  ยิ่งสรุปให้เจ้านายระดับยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งต้องสรุปให้สั้นมากขึ้น แต่ได้สาระสำคัญครบถ้วน เป็นต้น

เกือบ ๒๐ ปีก่อน  ข้อสอบเข้าเรียนปริญญาโทของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ให้บทความมาอ่าน ๔ หน้า  ให้สรุปความเหลือ ไม่เกิน ๓ บรรทัด คนออกข้อสอบคงคิดว่าคนที่จะเข้าไปเรียนปริญญาโทน่าจะมีคุณสมบัติในการ อ่านเอาเรื่อง ที่เข้มข้น   การนั่งอ่านบทความยากๆ ในเวลาจำกัด  แล้วสรุปความนี่ทำเอาคนเข้าสอบเหงื่อตกได้  

 

การเขียนเรียงความ เริ่มจากคิดสาระสำคัญที่ต้องการสื่อ จัดวางเค้าโครง  แล้วขยายความลงรายละเอียด  การเขียนให้ชวนอ่านเป็นศิลปะเฉพาะตัว เลียนแบบไม่ได้

 เรียงความ เป็นการฝึกทักษะการเรียบเรียงความคิด  จัดระบบความคิด  แล้วเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ  มันยาก  แต่ฝึกให้คิดเป็นระบบดีขึ้น

 

วิชาภาษาไทยหลายๆ วิชาในสมัยโบราณ (แกล้งใช้คำนี้ให้มันขลังซะงั้น) มีคุณประโยชน์ต่อชีวิตในทุกวันนี้  เอามาใช้ในการทำงานได้มาก  เช่น  ทำเอกสารวิชาการ  เขียนโครงการ  สรุปงานเสนอเจ้านาย  บันทึกสาระการประชุม (ที่ไม่ใช่การถอดเทป) ฯลฯ 

 

          ฉันไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้  นักเรียนยังเรียนวิชาทั้ง ๓ วิชาอยู่หรือเปล่า  เพราะสังเกตดูเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่มาทำงาน  ไม่ชอบอ่าน การอ่านเป็นยาขม (แม้จะต้องอ่านเพราะเป็นงานที่ทำ)  เขียนโครงการไม่ค่อยเป็น บันทึกการประชุมไม่ได้  สรุปความไม่เก่ง พอต้องเขียนอะไรสักอย่าง  ก็เป็นเรื่องยาก

 

          รัฐบาลของท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามาก  ปี ๒๕๕๓ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้รับงบประมาณมากเป็นพิเศษ  และให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ  เป็นเรื่องน่าดีใจ  

...เฮ้อ...อยากเสนอให้วิชาอ่านเอาเรื่อง เป็นวาระแห่งชาติจัง  จะมีใครสนับสนุนบ้างมั๊ยเนี่ย...

 

เคยอ่านความคิดของนักคิดคนหนึ่งเสนอไว้ไม่นานมานี้ว่า  เราน่าจะมีหน่วยงานสักหน่วยที่ช่วยแปลภาษายากๆ ของนักวิชาการ  ช่วยแปลภาษานักวิจัย ช่วยแปลภาษานักกฎหมาย  ซึ่งเป็นภาษาเทพ  ให้เป็นภาษาที่อ่านง่ายๆ เพื่อให้คนไทยที่อยากอ่าน อยากรู้ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ 

ไชโย...ฉันหวังว่าความคิดดีๆ ของนักคิดท่านนี้จะเป็นจริง...ไชโย...

 

ศุกร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒

คำสำคัญ (Tags): #การอ่าน
หมายเลขบันทึก: 262848เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ..

ยกสองมือ..และหนึ่งหัวใจที่เกินร้อยค่ะ

ดีใจๆๆ...ที่สุดค่ะ

  • อิอิ ... งั้นเราก็ต้องมาช่วย ไชโย ไชโย กันดังๆ ด้วยคนนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • ทั้ง ศน.และครูมายกมือแล้วค่ะ
  • วิชาที่ว่าดังกล่าวของคุณนุ้ย..แทบจะไม่ได้ยินแล้วนะคะ
  • เด็กสมัยนี้นอกจากสะกดตัวยังไม่ถูกแล้ว ชอบเขียนพยัญชนะใหม่ พวกเราอ่านไม่ออกเช่นกัน
  • จดหมาย ย่อความ เรียงความ ก็อ่อนด้อย ..จดหมายลาครูก้เขียนไม่เป็นกันแล้วค่ะ
  • เพราะแบบทดสอบส่วนใหญ่นิยมให้เติมคำและกาผิด กาถูก..การเดามากไปค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ
  • สวัสดีค่ะ ศน.อ้วน 
  • ดูเหมือนเราจะคิดตรงกันหลายๆ เรื่องนะคะ
  • ที่แน่ๆ คือ เรารักภาษาไทย เหมือนกันเด๊ะ...
  • ดีใจ...ดีใจ...ดีใจ
  • คุณหมอนนที่รัก สบายดีหรือเปล่า
  • ขอบคุณนะคะที่เข้ามายกมือให้
  • น้องหมาสามตัวที่บ้านสบายดีมั๊ย  น้องโจอี้ของเค้าไม่สบายจ๊ะ
  • สวัสดีค่ะครูคิม
  • เรามาทำอะไรกันสักอย่างมั๊ยคะ  เพื่อกู้ชีพวิชา ๓ วิชาที่ว่า
  • ถึงไม่เป็นครู  แต่ดิฉันจะเข้าไปร่วมวงด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท