ว่าวไทย


ว่าวท้องถิ่นไทย

ประวัติความเป็นมาของว่าวไทย

 
    คำว่า”ว่าว”เป็นคำที่คนไทยทุกชนชั้นทุกสมัยคุ้นเคยและสัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ข้าราชบริพารและพระมหากษัตริย์ แต่ในที่นี้ จะกล่าวถึงว่าวจุฬา-ปักเป้า ซึ่งเป็นว่าวเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งแสดงถึงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งยังเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ในสมัยโบราณที่พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีต ทรงโปรดปรานและจัดให้มีการแข่งขันหน้าพระที่นั่งอีกด้วย

    การเล่นว่าวในประเทศไทย มีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย(พ.ศ.๑๗๘๑-๑๙๘๑) คือสมัยของพ่อกรุงศรีอินทราทิตย์ (หรือพระร่วง) ว่าวที่รู้จักกันมาก ได้แก่ "ว่าวหง่าว" หรือ”ว่าวดุ๋ยดุ่ย” ซึ่งจะใช้ชักขึ้นในพิธี "แคลง" ทุกหนทุกแห่ง เป็นความเชื่อของประชาชนในสมัยนั้นว่าเพื่อเป็นการเรียกลมหรือความโชคดีให้เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "ว่าวหง่าว" เป็นว่าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐) คำว่า “ว่าวจุฬา" ปรากฏชื่อขึ้นในสมัยนี้ และยังสามารถช่วยในการรบได้ชนะ กล่าวคือ ได้นำว่าวจุฬาขึ้นและผูกหม้อกระสุนดินดำโดยใช้ชนวนถ่วงเวลาและชักให้ข้ามไปในแดนของฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดระเบิดไฟไหม้ขึ้น ทหารฝ่ายอยุธยาก็เข้าเมืองได้

    สมัยแผ่นดินของพระพุทธเจ้าเสือซึ่งโปรดการชกมวยแล้วยังโปรดการเล่นว่าวและคว้าจุฬาปักเป้ากับ ข้าราชบริพารเสมอๆ คำว่า "ว่าวปักเป้า" จึงเป็นว่าวอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในสมัยนี้และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา

    สมัยรัตนโกสินทร์ ในราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้ามาก จัดการแข่งขันกลางแจ้ง (ท้องสนามหลวงในปัจจุบัน) เป็นที่สนุกสนานเมื่อเวลาที่ว่าวสายใดชนะพระองค์ ก็ทรงโปรดพระราชทานถ้วยรางวัลให้การแข่งขันเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา โดยพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในการแข่งขันเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ฉะนั้นจึงจัดได้ว่าว่าวจุฬา-ปักเป้า เป็นว่าวเอกลักษณ์ของชาติไทยชาติเดียวเท่านั้นที่สามารถนำมาเล่นใช้ต่อสู้กันได้

ในปัจจุบันได้จัดการแข่งขันว่าว "จุฬา-ปักเป้า" ขึ้นเป็นประเพณีของกีฬาไทย โดยใช้ชื่อว่า "งานประเพณีกีฬาไทย" ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งจัดการแข่งขันกีฬาของไทย อาทิเช่น ตะกร้อ กระบี่กระบอง หมากรุก และที่สำคัญคือ การแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า ซึ่งงานนี้จัดโดยสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานของภาครัฐบาลและเอกชนอื่นๆ ร่วมกันอีกด้วย

 

อาวุธของว่าวที่ใช้ในการแข่งขัน

    ว่าวจุฬา จะมีอาวุธติดตัวอยู่ตรงสายว่าว เรียกว่า "จำปา" ใช้สำหรับเกี่ยวเหนียงและหางของว่าวปักเป้า ทำให้ว่าวปักเป้าเสียหางหรือเหนียงเข้าเครื่อง

    ว่าวปักเป้า อาวุธของว่าวปักเป้าที่ใช้ในการต่อสู้กับว่าวจุฬา เรียกว่า "เหนียง" ซึ่งประกอบด้วยสายทุ้งและสายยืน สายทุ้งจะยาวกว่าสายยืนเล็กน้อย แต่ก็ใหญ่พอที่จะครอบว่าวจุฬาได้ ซึ่งทำให้ว่าวจุฬาเสียการทรงตัวและตกลงในที่สุด

    เชือกที่ใช้ในการเล่นว่าว เราเรียกเชือกชนิดนี้ว่า "ป่าน" เป็นเชือกที่สามารถบังคับว่าวได้ง่าย เมื่อเรากระตุกว่าวแต่ละครั้งแรงจะส่งถึงตัวว่าวได้ทันที แต่ถ้าเป็นเชือกไนล่อนจะยืด แรงที่กระตุกจะส่งไปถึงตัวว่าวภายหลัง ทำให้ว่าวอืด ช้า ไม่ทันกาล ผู้จับจะบังคับว่าวไม่ได้รวดเร็วในขณะที่ทำการต่อสู้ เทคนิคการทำให้ป่านมีความเหนียวและยืดหยุ่นดี สะดวกในการกระตุกและบังคับว่าวได้ดังใจของผู้ชักก็คือ การกวดป่าน

ว่าวจุฬาที่ใช้ในการแข่งขันในปัจจุบัน จะมีขนาดอกตั้งแต่ ๘๐ นิ้วขึ้นไป ส่วนว่าวปักเป้าที่ใช้แข่งขัน จะมีขนาดอก ๓๔ ๑/๒ นิ้ว

    ว่าวที่ใช้ในการแข่งขัน มักจะทำว่าวให้มีความแตกต่างกัน ๓ ชนิด เพื่อจะได้เลือกใช้ตามสภาพอากาศ
    ๑. ว่าวชนิดแข็ง คือ การเหลาโครงว่าวให้ค่อนข้างแข็งที่จะทนต่อแรงลมได้ดี ในวันแข่งที่มีลมแรง แต่ถ้านำมาใช้ในสภาพลมอ่อน จะทำให้ว่าวหนักและตกลงมาได้ง่าย
    ๒. ว่าวชนิดกลาง คือ การเหลาโครงว่าวไม่แข็งจนเกินไป ไม่อ่อนจนเกินไป ใช้ในวันที่สภาพลมแรงปานกลาง
    ๓. ว่าวชนิดอ่อน คือ การเหลาโครงว่าวให้อ่อนกว่าว่าวชนิดกลางลงมาอีก เพื่อใช้ให้กับสภาพลมอ่อน ช่วยให้ว่าวขึ้นได้ง่ายในสภาพลมอ่อน

ฉะนั้นในการแข่งขันว่าวแต่ละครั้ง สายว่าวที่ใช้ในการแข่งขันจะต้องเตรียมว่าวมาให้ครบทั้ง ๓ ชนิด เพื่อสะดวกในการชักให้ขึ้น และบังคับว่าวให้ได้ดีตามสภาพอากาศ ว่าวแต่ละชนิดจะมีกี่ตัวก็ได้ ในการแข่งขันไม่จำกัดจำนวน ยิ่งสายว่าวของใครมีว่าวมากก็ยิ่งดี ก็ยิ่งได้เปรียบคู่ต่อสู้ เพราะในการแข่งขันจะมีว่าวหักบ้าง ฉีกขาดบ้าง

    ในการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้า แต่ละปี ผู้แข่งขันทุกท่านได้ตระหนักและซาบซึ้งคำว่า "กีฬา" และคำที่ว่า "น้ำใจของนักกีฬา" อย่างถูกต้องแล้ว ภาพพจน์ที่ได้จะมีคุณค่าและนำความภาคภูมิใจมาสู่บรรพบุรุษของเราในอดีตและ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่กาอนุรักษ์ไว้เป็นกีฬาของไทยประจำชาติเราต่อไป ฉะนั้นพวกเราซึ่งเป็นลูกหลานสืบทอดกันมา ควรอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกที่มีคุณค่าให้คงอยู่ไว้สืบไป
รูปว่าวจุฬา

 

 

ที่มา**งานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 6, ณ ศูนย์กีฬาเมืองทองธานี จ.นนทบุรี : 20-21 มีนาคม 5242

คำสำคัญ (Tags): #ว่าวไทย
หมายเลขบันทึก: 260919เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2009 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ว่าวเป็นสิ่งที่คนไทยเราคุ้นเคยมานาน ตั้งแต่สมัยเด็กในทุกๆ ฤดูร้อน ซึ่งว่าวไทยนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยควรภาคภูมิใจ และช่วยกันรักษาไว้เป็นมรดกของชาติ

่สมัยสุโขทัย (พ. ศ.1781-1981) มีความนิยมเล่นว่าวในหมู่เจ้านาย จนเกิดเป็นเรื่องราวความรักของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งโปรดการเล่นว่าวมาก วันหนึ่งพระองค์ทรง เล่นว่าวในวัง สายป่านขาดลอยไปตกที่หลังคาบ้านพระยาเอื้อ พระองค์เสียดายว่าวมาก เมื่อถึงเวลากลางคืนจึงปลอมตัวเป็นคน สามัญ ปีนออกจากวังไปเก็บว่าวที่บ้านพระยาเอื้อ แล้วพบว่าพระยาเอื้อมีลูกสาวสวย ทำให้พระองค์เกิดความรักกับลูกสาว พระยาเอื้อ

สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) การเล่นว่าวได้รับความ นิยมมาก ตั้งแต่พระมหากษัตริย์เรื่อยมาจนถึงสามัญชน ในสมัย สมเด็จพระเพทราชา ได้ใช้ว่าวในการสงครามด้วย โดยใช้ลูกระเบิดติดกับว่าวแล้วจุดไฟตามสายป่าน ใส่ฝ่ายข้าศึก การแข่งขันว่าวจุฬา และปักเป้าเกิดขึ้นในสมัยนี้ โดย พระมหากษัตริย์จะทรงว่าวจุฬา ถ้าใครเล่นว่าวปักเป้าเข้ามาในเขตของ ก็จะถูกคว้าลงมา

หลักฐานจากจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ อัครราชฑูตจากราชสำนักฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ได้เขียนบรรยายไว้ในจดหมายเหตุการ เดินทางไว้ว่า "ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าของทุกเดือน ตลอดระยะเวลา 2 เดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้"

บาทหลวง ตาชาร์ด ซึ่งเป็นบาทหลวงในนิกายเยซุอิค ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 19 ส่งเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนา ได้เขียนบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับว่าว ไว้ว่า "ว่าวเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสยามที่ทะเลชุบศร และเมืองลพบุรี ขณะที่ สมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่นั้น ในเวลากลางคืนรอบพระราชนิเวศน์ จะมีว่าวรูปต่างๆ ลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมไฟส่องสว่าง และลูกกระพรวนส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง"

สมัยรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังเป็นที่นิยมกันอยู่มาก โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2111) พระองค์ ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้ที่เล่นว่าวใกล้พระบรมมหาราชวังมีโทษถึงการตัดมือ เนื่องจากอาจลอยไปทำลายยอดและเครื่องประดับของตัวปราสาทได้ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2449 ได้มีการจัดการแข่งขัน ว่าวจุฬา-ปักเป้า ชิงถ้วยทองคำพระราชทาน ที่พระราชวังดุสิต การแข่งขันนี้มีเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ต่อมาใน ช่วงปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2453-2468) พระองค์ได้ทรง ฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้จัดการแข่งขันกีฬาว่าว ระหว่างจุฬา-ปักเป้าประจำปีขึ้นมาอีก แต่ก็มีอันต้องว่างเว้นไปอีก เนื่องจากว่า รัฐบาลไม่ส่งเสริม และว่าวเป็นสิ่งที่สร้างปัญหากับระบบการจ่ายไฟฟ้า เพราะมีว่าวไปติดสายไฟ และเคยมีคนถูกไฟดูดตายก็มีมาก จึงทำให้การเล่นว่าวเสื่อมความนิยมลงไป และคนมีที่มีภูมิปัญญาด้านนี้เริ่มร่อยหรอลง เด็กรุ่นใหม่ที่เล่นและทำว่าวเองเริ่มที่จะไม่มีให้พบเห็น

จากหลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ชาวไทยรู้จักการเล่นว่าวมาไม่ต่ำกว่า 700 ปีแล้ว เราจึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะของชาตินี้ให้คงอยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป

ว่าวแม้จะทำจากไม้ไผ่และกระดาษว่าว ซึ่งใช้อุปกรณ์ไม่มากเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ต้องอาศัยศิลปะและความชำนาญอย่างมาก โดยเฉพาะการทำว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า ไม้ไผ่ที่ใช้ทำว่าวมักใช้ไม้ไผ่สีสุกทำ ต้องมีเคล็ดลับการเลือกแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนัก บางแห่งจะมีการดูอายุของไม้ไผ่ด้วยว่าไม่ให้อ่อนหรือไม่ให้แก่เกินไปจะมีผลต่อความยืดหยุ่นของเนื้อไม้ หลังจากได้ไม่ไผ่มาแล้วต้องนำมาเหลาให้ได้ขนาดและความยาวที่เหมาะสม และยังต้องทดสอบความยืดหยุ่นของไม้ไผ่เมื่อนำมาดัดงอด้วยว่าสามารถดัดงอได้ดีหรือไม่

ขนาดและความยาวของไม้ไผ่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของว่าวที่จะทำ ถ้าเป็นว่าวจุฬาขนาดมาตรฐานใช้แข่งขัน ก็จะมีตัวใหญ่มาก ต้องทำอย่างแข็งแรงและได้ขนาดที่เหมาะสม ถ้าเป็นว่าวปักเป้าตัวจะเล็กลงมา เน้นความคล่องแคล่วปราดเปรียว ส่วนว่าวงู ว่าวนกฮูก เน้นความสวยงามของกระดาษที่ปิดมากกว่า เมื่อได้ไม้ไผ่มาตามขนาดที่ต้องการต่อไปก็ถึงขึ้นทำโครงว่าว โดยถ้าเป็นว่าวปักเป้าจะใช้ไม่ไผ่ 2 ชิ้นขัดกันขึ้นมาเป็นโครง ยึดกันด้วยด้าย ซึ่งขึ้นตอนนี้ก็สำคัญเนื่องจากการผูกด้ายยึดโครงต้องมีความพอดีไม่ให้ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ไม่งั้นว่าวจะเสียศูนย์ได้เวลาเล่น

เมื่อได้โครงว่าวแล้ว ก็ถึงขึ้นตอนการปิดกระดาษ กระดาษที่ใช้ทำว่าว จะเป็นกระดาษว่าว หรือบางคนใช้กระดาษสาอาจจะเป็นของประเทศไทยหรือจีนก็ได้ ปางรายมีเทคนิคคือปิดกระดาษตอนเช้าๆ ตอนสายๆอากาศอุ่นขึ้นกระดาษก็จะตึงพอดี หลังจากปิดกระดาษเสร็จแล้วก็มาเจาะรูผูกคอซุง โดยต้องดูความสมดุลของว่าว ว่าไม่เอียงซ้ายหรือขวา หัวหรือท้ายไม่หนักเกินไป อาจจะลองชักเล่นดูเลยก็ได้ หลังจากนั้นก็ตกแต่งภายนอก และวางจำหน่ายได้การทำว่าวเป็นศิลปะของไทยโดยแท้

ลักษณะสายซุงว่าวจุฬา

ว่าวจุฬา

ว่าวปักเป้า

ว่าวนกฮูก

ว่าวนกยูง

ว่าวงู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท