คืนนี้ เพื่อนๆ เดินทางไปเกาหลีกัน


   สภามหาวิทยาลัย ได้อนุมัติเงินจำนวน ๘ ล้าน (ถ้าจำไม่ผิด) เพื่อพัฒนาพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ปีการศึกษานี้ ทางฝ่ายบริหารเปิดทางการศึกษาดูงานหลายประเทศ แต่ประเทศที่มีผู้เลือกมากที่สุดคือ ประเทศจีน และประเทศเกาหลี

  อันที่จริง ผมหมายตาไว้ที่ประเทศพม่าคือ "พุกาม" แต่ไม่มีใครเลือก ผลก็เลยต้องงด ผมตัดสินใจที่จะไม่ไปไหน ด้วยมีภาระบางอย่างและมีความคิดบางอย่าง ยอมรับว่า ๒ ใจอยู่นาน กับการไปดีหรือไม่ไปดี และตัดสินใจที่จะไม่ไป ภาพหนึ่งที่มันติดตาผม ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาคือ การไปศึกษาดูงาน คือเครื่องมือสำหรับการเขียนโครงการเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณหรือไม่ ผมเห็นพี่ๆข้าราชการบางคน ที่ไปศึกษาดูงาน (พนักงานและข้าราชการจะสลับกันไปคนละปี แต่พี่ๆข้าราชการบางท่านก็ได้ไปทุกปี) เมื่อกลับมาแล้ว ต่างเอารูปถ่ายมาโชว์ว่าตรงนี้สวย ตรงนั้นสวย โอโห ฝรั่งนี่นะ อย่างนี้ อย่างนั้น นี่ดู ไปถ่ายรูปมาแล้ว แดจังกึม  ทำให้ผมรู้สึกว่า อืม.....และตกลงใจว่า อย่าไปคิดอะไรมาก ไม่ได้งานอะไรมาตามโครงการ ถือเป็นการผ่อนคลายกับการกรำงานมาตลอดปี

  คืนนี้ เพื่อนๆพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปเกาหลี ปีก่อนโน้น ต้องเสียเงินตามเกณฑ์ แต่ปีนี้ทางฝ่ายบริหารรักษาการมหาวิทยาลัย ให้ไปฟรี กินฟรี พักฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นเรื่องส่วนตัว หากนับช่วงของสวัสดิการ ที่มหาวิทยาลัยให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยด้วยสัดส่วนใหญ่ๆ นั้นจะได้ดังนี้

  ๒๕๔๗ มหาวิทยาลัยให้โบนัสพนักงาน คนละ ๗ พันบาท สำหรับผู้ทำงานมาครบ ๑ ปีเต็ม

  ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยให้พนักงานไปศึกษาดูงานประเทศสิงคโป (เฉพาะผู้ทำงานครบ ๓ ปี)

  ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยให้พนักงานทุกคนไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม (ไม่จำกัดอายุทำงาน)

  แต่โครงการการศึกษาดูงานดังกล่าว พนักงานที่ต้องการจะไป ต้องจ่ายเงินสมทบจำนวนหนึ่ง ส่วนปีการศึกษานี้ ๒๕๕๒ ฟรีทุกรายการ ยกเว้นเรื่องส่วนตัว ข้อแตกต่างคือ ๓ ปีที่กล่าวข้างต้น อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มบริหารชุดเก่า ส่วนปี ๒๕๕๒ นี้ อยู่ภายใต้รักษาการซึ่งไม่มีชุดเก่าอยู่เลย กล่าวได้ว่า นับเป็นความกรุณายิ่งที่ให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้ไปเปิดหูเปิดตา เพราะพนักงานจำนวนหนึ่ง หากมหาวิทยาลัยไม่จัดการให้ คงไม่มีโอกาสได้ไปเหยียบต่างประเทศอย่างที่หลายๆคนใฝ่ฝันที่จะไป

  วันนี้ขณะปั่นจักรยานเพื่อออกไปหาอะไรประทังชีวิต มีเพื่อนพนักงานสายสนับสนุนขับจักรยานยนต์ผ่านมาและแซวกระเป๋าสะพายด้านหลังของผมว่า "นี่กระเป๋าไปต่างประเทศหรือ" ผมก็หัวเราะยิ้มให้ตามประสาคนไม่ค่อยชอบที่จะพูด เพื่อนพนักงานขับจักรยานผ่านเลยไป ทำให้ผมฉุกคิดอะไรบางอย่าง เราทำงานในที่ทำงานองค์กรเดียวกัน แต่ทำไมไม่เหมือนกัน พนักงานสายสนับสนุนไม่ได้ไปต่างประเทศด้วย แต่พนักงานสายวิชาการได้ไปต่างประเทศ เขาแซวเราเพราะมิตรภาพหรือว่ากระแซะหนอ เพราะผมคือ ๑ ชีวิตบนสภามหาวิทยาลัยที่มีส่วนในการอนุมัติตามที่ฝ่ายบริหารเสนอมา ถ้าแซวเพราะมิตรภาพก็ไม่เป็นปัญหา เพราะผมไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับพนักงานด้วยกัน แต่ถ้าแซวเพราะกระแซะ ก็ให้รู้สึกแปลกๆเหมือนกัน เพราะผมก็ไม่ได้ไป ตลอดที่ทำงานมา ทั้ง ๗ พัน สิงคโป เวียดนาม และครั้งนี้คือเกาหลีหรือจีน

  ทำให้นึกถึง คำของพนักงานสายวิชาการสมัยหนึ่งว่า ทำไมให้พี่ๆข้าราชการไปยุโรป แต่ให้พวกเราไปแถบใกล้ๆนี้เอง กรณีนี้น่าจะประมาณนั้นหรือไม่ พนักงานมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ทำไมจึงไม่เหมือนกัน เขียนมาถึงตรงนี้ เอ๊ะ หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เพิ่งผุดขึ้นมาเมื่อ ๒ วันก่อน มันมีความหมายอยู่เหมือนกันนะที่ว่า "ความยุติธรรมในพุทธปรัชญาเถรวาท" ปัญหาคือ เส้นกลางของความยุติธรรมอยู่ตรงไหน พุทธปรัชญามองเรื่องนี้อย่างไร

  หรือว่า ผมคิดมากไปกับการที่เขาทักว่า กระเป๋าไปต่างประเทศหรือ ทั้งที่กระเป๋านั้นก็ไม่ใช่กระเป๋า เป็นถุงมีหูรูดกว้างประมาณกระดาษ a4 อันที่จริงใครๆเขาไม่สะพายกันหรอก มีก็แต่ผมนั่นแหละ

  เมื่อสองวันก่อน มีการประชุมกรรมการสรรหาคณบดี มีหลายคนที่พูดว่า ควรชะลอการไปต่างประเทศก่อน เพราะมีเรื่องการสรรหาคณบดีที่ต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดเทอม อีกอย่างหนึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงอันตราย หากติดใข้หวัดประหลาดมาจากต่างประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถทัดทานได้ เพราะผู้จัดทัวร์รับประกันความปลอดภัย และไม่มีใครสละสิทธิ์ (สละไม่ได้ ใครทีลงชื่อว่าจะไป หากถอนชื่อ ต้องชดใช้เงินให้กับมหาวิทยาลัย)

  ดูเหมือนเพื่อนของผมแต่ละคน กระตือรือร้นที่จะได้ไปต่างประเทศ ให้นึกถึงมหาวิทยาลัยราชภัฎอื่นๆ ไม่รู้ว่า บุคคลผู้ทำงานให้มหาวิทยาลัยอย่างพนักงานหรือลูกจ้าง จะได้รับเหมือนกับเพื่อนๆของผมหรือไม่ หรือเขามองเพียงบุคคลที่มหาวิทยาลัยจ้างมาทำงานเท่านั้น

  ขอให้เพื่อนๆ สนุกกับการเที่ยวเด้อครับ....กลับมาแล้ว หากต้องการให้โครงการสมบูรณ์จะเขียนบทความสักบทเพื่อทดแทนเงินของมหาวิทยาลัยสักนิดก็ดีนะครับ ฮาฮา

  "เห้อออออออออ นี่ถ้าสอบเรียนต่อได้ จะหาเงินที่ไหนไปเรียนล่ะ คงต้องกู้หนี้ยืมสินอีกสินะ การจะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยนี่ มันไม่มีฟรีเลย เห้ออออออออออออออ คงต้องทำงานไปเรียนไป กัดฟันไปแน่ๆ"

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 260529เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2009 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

* ผมเป็นข้าราชการตอนนี้ยังเป็นชั้นผู้น้อยอยู่ รับราชการมา 8-9 ปี มีโอกาสได้ไปนิวซีแลนด์เมื่อกลางปีที่แล้ว... ผมมีมุมมองการไปทัศนศึกษาดูงานต่างประเทศเหมือนกับคุณในกรณีที่ คนที่ไปมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ไปแล้วสิ่งที่ได้กลับมาคือ รูปภาพของฝากเท่านั้น ... บางทีก็เข้าใจว่า การให้ไปต่างประเทศเป็นการตอบแทนบุคลากรให้มีกำลังใจและมีอะไรดี ๆ บ้าง คิดต่อไปว่าจะคุ้มค่าไหม เสียดายงบประมาณรึเปล่า...

* วันนี้ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปต่างประเทศมาแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่า ความเสมอภาคกันยังไม่มีครับ ผู้ใหญ่ไปกันปีละหลายรอบ ส่วนเด็ก ๆ หลาย ๆ ปีได้ไปสักรอบ หรือบางคน ไม่ได้ไปเลยถ้าผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน

* วันนี้ ผมขออนุญาติ ผอ. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม G2K forum เดินทางจาก กทม.ไปหาดใหญ่ ใช้งบนิดหน่อย กลับโดนปฏิเสธ เพราะมีมุมมองว่า ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้าน HR ที่ผมทำอยู่ อย่างนี้หรือวิสัยทัศน์ผู้นำในองค์กรผม น่าสงสารนะ สงสารหน่วยงานกรุงเทพมหานคร...

สวัสดีครับ nobita

  • เพื่อนของผมจำนวนหนึ่งคิดเช่นนั้นครับคือ คุ้มหรือไม่กับงบประมาณที่ตั้งไว้ จึงตัดสินใจไม่ไป บางคนอยากไป บางคนไม่อยากไป แต่เกรงจะเสียสิทธิ์ เพราะองค์กรไม่มีโบนัส จึงถือว่า นี้คือโบนัส แต่ถ้าคิดอะไรหลายๆเรื่อง มันก็น่าคิดนะครับ
  • ในระบบราชการ งบประมาณที่ขอตั้งไว้ ผู้รับใช้ราชการต้องใช้ให้หมด หากไม่ใช้จะถูกลดหรือไม่ก็ตัด นั้นคือความคิดเดิม ส่วนปัจจุบัน ผมไม่มั่นใจว่าความคิดแบบนี้ยังเป็นอยู่หรือไม่ เพราะงบประมาณแผ่นดินซึ่งให้กับมหาวิทยาลัยเป็นก้อนๆไป
  • งบพัฒนาพนักงานที่ผมอ้างถึงนั้น ไม่ใช่งบประมาณจากภาษีอากร แต่เป็นงบรายได้ของมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งมาจาก ความเหนื่อยยาก การกระเหม็ดกระเหม่เพื่อเข้าเรียนปรับวุฒิการศึกษา ของผู้ที่ต้องการจะศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่ของฟรี กับการจะได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา แต่บางท่านเป็นหน่วยงานขององค์กร อย่างเทศบาล อาจจะฟรี (ทุนการศึกษา/ข้อตกลงระหว่างองค์กร)
  • การให้ไปที่อื่นเพื่อเปิดหูเปิดตาบ้างก็ดีนะครับ เป็นการ "แปรฐาน" กลับมาแล้ว จะได้มีชีวิตชีวากับการทำงาน แต่ว่า นิวซีแลนด์ เป็นอะไรที่ผมหมายตาอยู่เหมือนกันนะครับ
  • องค์กรราชการอีกจำนวนมากครับ ที่ยังต้องรีบเดินให้ทัน เอาเป็นว่า แม้แต่มหาวิทยาลัย ที่เป็นขุมปัญญาความรู้ เรายังตามไม่ทันชาวบ้านเลยครับ ประมาณว่า เคี้ยวของเก่า กินของเก่ากันอยู่ แต่หลายมหาวิทยาลัย ไปได้ไกลทีเดียว น่าศึกษาปัจจัยการพัฒนามากๆ
  • ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบครับ
  • ขอบคุณนะครับกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล

 

ผมเห็นด้วยกับ ข้อเสนอแนะของอาจารย์เอกตรงนี้ครับ

"องค์กรราชการอีกจำนวนมากครับ ที่ยังต้องรีบเดินให้ทัน เอาเป็นว่า แม้แต่มหาวิทยาลัย ที่เป็นขุมปัญญาความรู้ เรายังตามไม่ทันชาวบ้านเลยครับ ประมาณว่า เคี้ยวของเก่า กินของเก่ากันอยู่ แต่หลายมหาวิทยาลัย ไปได้ไกลทีเดียว น่าศึกษาปัจจัยการพัฒนามากๆ "

เมื่อวานคุยกับเพื่อนอาจารย์สองสามท่านเรื่องนี้ครับ คุยกันไปเหนื่อยใจกันไป เพราะ อนาคตที่จะมาถึง จะเป็นช่วงที่สังคมได้รับผลกระทบจาก ธุรกิจการศึกษาที่อาจารย์เอก ก็คงทราบดีว่าวิธีคิดผู้บริหารแต่ละแห่งเขาคิดอย่างไร และเขาทำกันอย่างไร?

ชมบรรยากาศการเรียนรู้ง่ายๆงามๆที่เชียงใหม่ครับ

การอบรม "การใช้บล็อก" ที่มีการใส่ "ความสุข" ลงไป ทั้งผู้ให้และผู้รับ :)  ของ อ. Was ครับ

เรียน อ.เอก จตุพร

  • "ธุรกิจการศึกษา" เกิดแล้วครับ กำลังอยู่ในช่วงของการแข่งขัน และบางแห่ง พยายามที่จะเปิดตัวเป็นองค์กรอิสระ เมื่อพบว่า รายได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก
  • ผมเคยเสนอความคิด "หลักสูตรเพื่อบริการวิชาการ อยากจะให้ผู้เรียนได้เรียนฟรี และไม่สนใจว่าจบแล้วจะไปทำงานในองค์กรใด หลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตรเพื่อคุณค่าชีวิตในเชิงนามธรรม" เพียงแค่เสนอ ดูเหมือนจะฟังอยู่ แต่คงไม่ผ่าน เพราะเราต้องใช้ทรัพยากรของสถานศึกษา มีค่าใช้จ่าย
  • ผู้บริหารตอนนี้ ต้องเป็นนักธุรกิจด้วยครับ ตลอดถึงครูอาจารย์ก็ต้องเป็นนักธุรกิจ ผมเริ่มจะเชื่อแล้วว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ เราต้องใช้เงินเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยน
  • ขอให้ อ.เอก มีความสุขกับการรังสรรค์สังคมนะครับ โดยเฉพาะครูผู้รอโอกาส
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท