อนิสงส์ของการไหว้ครู


ผู้ที่ไหว้ครู หรือบูชาพระคุณของครู ด้วยความเคารพนับถือยกย่อง บุคคลผู้นั้นย่อมจะได้ผลดีสูงสุด เป็นผู้มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูเต็มที่ สามารถใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมานั้นให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น เมื่อศิษย์อ่อนน้อมถ่อมตนเสมอต้นเสมอปลาย ครูจะยิ่งเมตตา กรุณาศิษย์มากขึ้น สิ่งที่ศิษย์ทำผิดพลาดครูจะคอยตักเตือน ทำให้ศิษย์ไม่มีโอกาสทำในสิ่งที่ไม่ดี ด้านความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ศิษย์จะมีความรู้เพิ่มเติมต่อไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างจากครูไว้หมดแล้วก็ตาม

อนิสงส์ของการไหว้ครู

ลักษณะนิสัยของคนไทยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การรู้คุณคน เมื่อรู้ว่าใครมีบุญคุณแก่ตนก็จะแสดงความเคารพ ยกย่อง อ่อนน้อมถ่อมตนด้วย เช่น การทักทายด้วยการยกมือไหว้ พูดจาไพเราะกล่าวคำขอบคุณ ขอโทษในโอกาสที่เหมาะสม และที่สำคัญคือ การรู้จักกตัญญูรู้คุณผู้มีพระคุณ ในการที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาจะแสดงความกตัญญูต่อครู อาจารย์นั้น คือ การตั้งใจเล่าเรียนศึกษาวิชาการ และประพฤติตัวเป็นคนดีตามที่ครูสั่งสอน การจัดพิธีไหว้ครู เป็นการแสดงความเคารพครูอย่างหนึ่ง ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะกำหนดจัดพิธีไหว้ครู โดยถือหลักว่าต้องเป็นวันพฤหัสบดี เพราะเชื่อว่าวันนี้เป็นวันครู ส่วนจะเป็นพฤหัสบดีที่เท่าไรของเดือนก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละสถาบันไม่มีข้อจำกัด

               การไหว้ครู คือ การที่ศิษย์แสดงความคารวะ ยอมรับนับถือครูอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณา ตนรับการ ถ่ายทอดวิชาการความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทาง ของการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้

               ครู แปลว่า หนัก ครูย่อมเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างหนัก เพื่อสะสม ความรู้เอาไว้ถ่ายทอดให้แก่ ศิษย์ และครูย่อมเป็นผู้ที่ต้องอดทนอย่างหนัก ในการสั่งสอนถ่ายทอดความรู้แกศิษย์

               ครู แปลว่า ตระหนัก ครูเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เมื่อจะกระทำสิ่งใด ครูจึงสามารถตระหนัก ได้ว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก ดีหรือเลว ควรหรือไม่ควร เมื่อทำแล้วจะเป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อตระหนัก อย่างนี้แล้ว ครูก็จะเลือกทำแต่ในสิ่งที่เห็นว่าดีว่าถูกว่าควรทำ และเมื่อทำไปแล้วก็ให้แต่ผลบุญเท่านั้น

               หรือในอีกความหมาย ครู คือ ผู้ที่จุดดวงประทีปทางปัญญาให้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์พ้น จากความมืด คือ ความไม่รู้ โดยพยายามอดทนประคับประคอง ส่งเสริมให้ศิษย์เจริญก้าวหน้าใน ทุกวิถีทาง ฉะนั้น ครูที่แท้จริงคือ ผู้ให้ สำหรับศิษย์โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะหัวใจและ วิญญาณของครูบรรจุสิ่ง ๓ ประการ คือ ปัญญา กรุณา และบริสุทธิ์ ไว้เต็มเปี่ยม

               ปัญญา คือ ความสว่างที่เกิดจากการสะสมความรู้ความสามารถ คุณธรรม ความดีมาตลอดชีวิต ประทีปแห่งปัญญาซึ่งสว่างจ้าอยู่กลางใจของครูนั้น เป็นประทีปดวงโตที่ครูพร้อมจะจุดต่อให้กับผู้ที่มีความต้องการดวงสว่างนั้น

               กรุณา คือ พลังแห่งความดีที่คอยผลักดันให้ครูพร้อมที่จะจุดดวงประทีปทางปัญญา ให้แก่ศิษย์ เพื่อให้ศิษย์จะได้รับแต่ประโยชน์ ความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้าอย่างครูหรือมากยิ่งกว่าครู

               บริสุทธิ์ ครูมีเจตนาดีต่อศิษย์ด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ประสงค์ร้ายแอบแฝงอยู่ดั้งนั้นศิษย์ควรสำนึกในคุณความดีของครูที่มีต่อศิษย์ด้วยการ - ให้ความเคารพอ่อนน้อม เพื่อรองรับปัญญาครู บุคคลเมื่อต้องการความรู้จากผู้อื่นก็ต้องแสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องผู้มีความรู้ แล้วก็ฝากตัวเป็นศิษย์

               - ความอดทน ขยันหมั่นเพียร เพื่อรองรับความกรุณาจากครู บุคคลใด ขณะที่เรียนรู้หรือขณะที่ทดลองปฏิบัติหากขาดความอดทน ความขยันหมั่นเพียร บุคคลนั้นย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความรู้ทั้งหมดไปจากครู

               - ความมีระเบียบวินัย เพื่อรองรับความบริสุทธิ์ใจจากครู บุคคลที่จะสามารถเรียนรู้ และรับการถ่ายทอด ความรู้ทั้งหมดไปจากครูได้จนจบหลักสูตร ต้องเป็นผู้ที่ประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยหรืออยู่ในข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ทางสถาบันหรือครูกำหนดไว้

               สำหรับสิ่งของที่ใช้ในพิธีไหว้ครูที่ควรจะมีได้แก่ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ เป็นสัญลักษณ์ของความเคารพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยธรรมชาติของต้นมะเขือเมื่อมีดอก ซึ่งดอกที่จะให้ผลมะเขือได้ต้องโค้งลง เหมือนผู้อยู่ในอาการแสดงความเคารพ หรือคารวะบุคคลที่ตนเคารพบูชา ยกย่อง ถ้าดอกมะเขือดอกใดชี้ดอกขึ้นเหมือนดอกไม้ชนิดอื่น ดอกนั้นจะไม่ให้ผล เพราะจะเน่าร่วงหล่นไป เหมือนบุคคลที่ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ขาดความเคารพก็จะหมดโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครู

               หญ้าแพรก เป็นสัญลักษณ์ของความอดทน คุณสมบัติพิเศษของหญ้าแพรก คือ ความอดทน หญ้าแพรกที่เราเห็นตามสนาม ตามทางเดิน ตามคันนา เมื่อถึงหน้าแล้วแม้ว่าอากาศจะแห้งแล้งจัดจนต้นไม้ทั้งหลายทนไม่ไหวต้องแห้งเหี่ยวตายไปตาม ๆ กัน แต่หญ้าแพรกก็ยังทนอยู่ได้ไม่ตาย ครั้นถึงฤดูฝน ฝนตกมากเกิดน้ำท่วมขังต้นไม้ที่ชอบน้ำก็ชูยอดเขียวชอุ่ม ส่วนต้นไม้ที่ไม่ชอบน้ำก็เน่าตาย แต่หญ้าแพรกก็ยังอยู่ได้ไม่ตาย เปรียบเหมือนบุคคลที่มีความอดทนเหมือนหญ้าแพรก กล่าวคือ ศิษย์ที่มีคุณสมบัติที่ดีจะส่อแววว่าเมื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาการใดก็ตาม จะเป็นผู้ที่สามารถเรียนได้สำเร็จตามหลักสูตรที่กำหนด

               ข้าวตอก เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักจะมีความซุกซน ความเกียจคร้าน เป็นสมบัติมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม ตาเมื่อเขามีความต้องการศึกษาหาความรู้ เขาก็ต้องรู้จักควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบ ในระเบียบหรือในกฎเกณฑ์ที่สถาบันได้กำหนดไว้ ใครก็ตามหากตามใจตนเอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก

               ของทั้ง ๓ สิ่งดังกล่าวข้างต้นล้วนมีความหมายเฉพาะในการบูชาครู ซึ่งนิยมนำมาจัดเป็นพานดอกไม้ไหว้ครู เพื่อเป็นการแสดงว่าศิษย์จะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครู อาจารย์ มีความอดทนที่จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตามที่ครูสั่งสอน ขณะเดียวกันก็มีระเบียบวินัย และมีความประพฤติที่ดี

               อนิสงส์ของการไหว้ครู ผู้ที่ไหว้ครู หรือบูชาพระคุณของครู ด้วยความเคารพนับถือยกย่อง บุคคลผู้นั้นย่อมจะได้ผลดีสูงสุด เป็นผู้มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูเต็มที่ สามารถใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมานั้นให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น เมื่อศิษย์อ่อนน้อมถ่อมตนเสมอต้นเสมอปลาย ครูจะยิ่งเมตตา กรุณาศิษย์มากขึ้น สิ่งที่ศิษย์ทำผิดพลาดครูจะคอยตักเตือน ทำให้ศิษย์ไม่มีโอกาสทำในสิ่งที่ไม่ดี ด้านความรู้และวิทยาการต่าง ๆ ศิษย์จะมีความรู้เพิ่มเติมต่อไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างจากครูไว้หมดแล้วก็ตาม

              พิธีไหว้ครูเป็นการแสดงเคารพและกตัญญูต่อครูอาจารย์ที่ได้ช่วยเสริมสร้างรากฐานชีวิตอันแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่ศิษย์ทั้งด้านความรู้ ด้านวิชาการ ซึ่งเป็นความรู้ที่จะมาทำมาหากิน และความรู้ในชีวิต ความประพฤติ การวางตัว ถ้าเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตา กรุณา และความบริสุทธิ์ใจ ก็เปรียบได้กับพื้นดิน ซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพ ความอดทน หรือความมีระเบียบวินัยก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตออกดอกออกผลอย่างงดงาม

อ้างอิงจาก http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2550&MM=5&DD=4

 

คำสำคัญ (Tags): #การไหว้ครู
หมายเลขบันทึก: 260385เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2009 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • ชอบพิธีไหว้ครูที่สุดเลยค่ะ
  • แม้แต่ตอนนี้ก็พยายามระลึกถึงคุณครูเสมอค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีความหมายค่ะ
  • บางคนอาจจะยังไม่ทราบละเอียดแบบนี้นะคะ
  • ขอขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ pa_daeng และครูคิม

ขอบคุณครับที่มาทักทาย....

คุณงามความดี...บูชาแด่คุณครูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท