9 ลักษณะคนสู้ชีวิต พลิกวิกฤติเป็นโอกาส


 

...

 

ภาพที่ 1: Thank [ flickr ] , [ jef safi ]

...

อาจารย์อมรากุล อินโอชานนท์ตีพิมพ์เรื่อง "พลังสุขภาพจิต พลิกวิกฤติเป็นโอกาส" ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ศ.ดร.อารี สัณหฉวี ตีพิมพ์เรื่อง "ทฤษฎีการเรียนรู้ของสมอง" เนื้อเรื่องส่วนหนึ่งกล่าวถึงงานวิจัยของเอมมี เวอร์เนอร์และคณะ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเด็กในครอบครัวที่มีปัญหา 200 คนในฮาวาย [ bangkokbiznews ]

...

อ.เวอร์เนอร์ติดตามเด็กกลุ่มนี้ตั้งแต่แรกเกิดในปี 2598 ติดตามไป 40 ปี ผลการศึกษาพบว่า เด็ก 2 ใน 3 มีชีวิตล้มเหลว เช่น เป็นโจร เรียนไม่จบ มีลูกตั้งแต่วัยรุ่น ฯลฯ

ขณะเดียวกัน 1 ใน 3 ของเด็กกลุ่มนี้กลับประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น เรียนจบมหาวิทยาลัย มีอาชีพมั่นคง มีครอบครัวที่ดี ทั้งๆ ที่อยู่ในสลัมคล้ายๆ กัน

...

ปัจจัยลักษณะที่พบร่วมกันในเด็กที่ฮึดสู้ชีวิตจนประสบความสำเร็จกลุ่มนี้ได้แก่

  • (1). สติปัญญาปานกลาง
  • (2). สุขภาพแข็งแรง
  • (3). อารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใจ

...

  • (4). มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม
  • (5). สนใจทำงานอดิเรกกับเพื่อนๆ เช่น เล่นฟุตบอล เล่นหมากรุก ฯลฯ
  • (6). มีผู้ใหญ่ (ที่ไม่ใช่พ่อแม่) คอยให้ความอบอุ่นทางใจ ให้กำลังใจ และเป็นตัวแบบที่ดี เช่น ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ครูบาอาจารย์ ฯลฯ (ให้เด็กๆ เลียนแบบ)

...

  • (7). ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานตั้งแต่เล็ก เช่น งานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำงาน ฯลฯ ทำให้พัฒนาความมีวินัยในตัวเอง (self-discipline) ขึ้นมาได้
  • (8). มีความรู้สึกดีต่อตัวเอง (self-esteem) เช่น รู้สึกว่า ตัวเองมีค่าต่อครอบครัวหรือญาติสนิทมิตรสหาย ฯลฯ
  • (9). มีจุดมุ่งหมายในชีวิต (มีฝันที่ไม่ไกลเกินจริง) ลงมือทำ (ฝันให้เป็นจริง) และยืนหยัดไม่ยอมแพ้ (แม้มีอุปสรรคเพื่อไปให้ถึงฝัน)

...

ลักษณะดังกล่าว 9 ข้อเป็นลักษณะของคนสู้ชีวิต (resilience) คือ ฮึดสู้ขึ้นใหม่ได้แม้จะล้มเหลว หรือผิดหวังหลายๆ ครั้ง

อาจารย์อมรากุลท่านแนะนำว่า การที่จะพัฒนาตัวเราให้เป็นคนสู้ชีวิตได้... คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือ การมองโลกในแง่ดี

...

การฝึกให้ตัวเรามองโลกในแง่ดีทำได้หลายวิธี ทว่า... วิธีที่ไม่ยากจนเกินไปวิธีหนึ่งคือ การหัดพูดคำ "ขอโทษ ขอบคุณ ขอบใจ" ให้ได้ทุกวัน

คำ "ขอโทษ" ทำให้คนอื่นมีความทุกข์น้อยลง และเป็นกาวใจที่ทำให้คนเราโกรธ หรือเป็นศัตรูกันน้อยลง เป็นมิตรกันมากขึ้น

...

คำ "ขอบคุณ ขอบใจ" ทำให้คนอื่นมีความสุขมากขึ้น... คุณครูภาษาไทยสอนว่า คนที่รู้จักพูดคำว่า "ขอโทษ ขอบคุณ ขอบใจ" ได้อย่างพอดีเป็นคนน่ารัก และคู่ควรกับความรักด้วย

วิธีฝึกมองโลกในแง่ดีอีกวิธีหนึ่งคือ หัดชมคนรอบข้างให้ได้วันละครั้ง และค่อยๆ เพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร

...

การชมคนอื่นทำให้คนอื่นมีความสุขก็จริง ทว่า... ความสุขนั้นติดต่อกันได้คล้ายโรคระบาด

คนที่ช่วยทำให้คนอื่นทุกข์น้อยลง หรือทำให้คนอื่นสุขมากขึ้นอย่างพอดี (เช่น ไม่ถึงทำให้ตัวเองลำบากไปด้วย ฯลฯ) นั้น...

... 

แท้จริงแล้วการพูด "ขอโทษ ขอบคุณ ขอบใจ" และชื่นชมคนอื่นอย่างพอดีจะมีคนที่มีความสุขทันที 3 ฝ่ายด้วยกัน

คนที่มีความสุขคนแรกคือ คนที่ส่งความปรารถนาดีออกไป (ผู้ให้), คนที่มีความสุขคนที่สองคือ คนที่ได้ยินได้ฟังคำพูดดีๆ (ผู้รับ), และคนที่ความสุขอีกหลายๆ ครั้งคือ ผู้ให้

...

ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับคลื่นที่กระทบแล้วสะท้อนกลับได้ หรือคล้ายการจุดเทียนต่อๆ กันไป ยิ่งจุดยิ่งสว่าง ซึ่งถ้าคนในสังคมใดส่งความปรารถนาดีออกไปมากๆ... สังคมนั้นจะเป็นสังคมแห่งความสุขได้ต่อไป

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                     

หมายเลขบันทึก: 260338เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2009 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท