ข้อคิดเศรษฐกิจพอเพียงปราชญ์ชาวบ้านอีสาน


ปราช์ชาวบ้าน

               ภาคอีสานของประเทศไทย  ความเข้าใจของคนไทย เป็นถิ่นที่ราบสูง เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งกันดาร  มีคนอีสานหนีตายออกไปหางานทำในเมืองหลวง ในภาคใต้ หลายคนปักหลักอยู่ที่เหล่านั้น รวมทั้งออกไปหางานทำ ขุดทองในต่างประเทศ  

                อย่างไรก็ตาม  แท้ที่จริงพื้นดินอีสานไม่ได้แห้งแล้งกันดารอย่างที่เราคิดกัน เพียงต้องใช้ความพยายาม และอดทนสูง รวมทั้งความรู้ คู่กับสติปัญญาในการใช้ชีวิต จึงจะทำให้คนอีสานสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสุขสบายไม่ต่างไปจากคนในภูมิภาคอื่น ๆ  พื้นดินอีสานที่แห้งแล้ง คนอีสานหนีออกไปหางานทำ และตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อื่น ๆ ในตอนนี้เนื่องมาจากที่ผ่านมากระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คนอีสานต้องเอาทรัพยากรของตัวเองแลกกับเงินไปจนหมดสิ้น ทั้งป่า ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และแม่น้ำ  การทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวหวังว่าจะได้เงินมาก ๆ มีความสุขสบาย แต่กลับกันทำให้ต้องมีหนี้มากขึ้น พื้นแผ่นดินก็หมดความอุดมสมบูรณ์ไปเรื่อย ๆ จนเหลือแต่ดินที่ไร้ความอุดมสมบูรณ์ เมื่อป่าไม้หมด น้ำก็หายไปด้วย  เมื่อทุกอย่างที่อยู่ในธรรมชาติหมดไปกับน้ำมือของมนุษย์      ก็ไม่มีอะไรในธรรมชาติที่จะมาหล่อเลี้ยง ก็ต้องหนีไปหาที่อื่น

                 คนอีสานจำนวนไม่น้อยได้ปักหลักอยู่ในพื้นที่และใช้สองมือของตัวเองฟื้นฟูสภาพความแห้งแล้ง ของพื้นที่จนกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์  สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการทำเกษตรแบบธรรมชาติ เกษตรแบบครบวงจร หรือเกษตรแบบพอเพียง ไม่มีหนี้  ไม่ลำบาก มีความสุขกับคนในครอบครัว และกลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวอีสานคนอื่น ๆ ทั้งเกษตรกรที่เป็นหนี้และคนอื่น ๆ ที่ต้องการหนีตัวเองจากความยากจนมาทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอเส้นทางชีวิตและแนวคิดของปราชญ์อีสาน 3 คน คือ พ่อบุญเต็ม ชัยลา พ่อจันทร์ที  ปทุมมา และพ่อคำเดื่อง ภาษี ที่พลิกชีวิตจากศูนย์  กลับมาอย่างภาคภูมิใจ มาเป็นแบบอย่างให้กับหลายคนที่กำลังท้อแท้และหาทางออกในปัจจุบันนี้ 

       

         พ่อบุญเต็มชัยลา  : ปราชญ์ชาวบ้าน  ตำบลดอนฉิม  อำเภอแวงใหญ่  จังหวัดขอนแก่น   เล่าให้ฟังว่า ก่อนทำนาอย่างเดียว ออกไปรับจ้างทั่วประเทศ คิดว่าถ้าได้เงินมาก มีความสุขมาก วิ่งตามหาความสุขสุดท้ายไม่พบ เหมือนคำกล่าวที่ว่า ช่างทำบ้านไม่มีบ้านที่ดีอยู่  ช่างตีมีด  ไม่มีมีดที่ดีใช้ ช่างทำเกลือ ไม่มีเกลือกิน  คนรวยที่สุดในโลก รวยที่สุดในประเทศไม่มีความสุข เงินทองเป็นของนอกกาย (ตายไปก็เอาไปไม่ได้ : ผู้เขียน)  ข้าวปลาเป็นของจริง ทำไม่มีทำปัจจัย 4 ที่เราได้อยู่ได้กิน ได้อาศัย 

                 จุดเริ่มต้นของการหันมาทำเกษตรแบบพึ่งตนเอง เมื่อปี พ.ศ.2533 มีนักพัฒนาตามโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อความอยู่รอดของเด็ก ตอนนั้นเป็น อสม. ในหมู่บ้านมีเด็กขาดสารอาหารมาก เจ้าหน้าที่บอกว่าจะมาทำอาหารให้เด็กกิน และอยู่ 3 ปี จึงคิดว่าการทำงานเช่นนั้นจะไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ไปทุกอย่างก็เข้าสู่สภาวะเดิม ดังนั้นทำเกษตรยั่งยืนดีกว่าถึงจะยั่งยืน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องถามหน่วยเหนือก่อน แล้วหน่วยเหนือก็ตกลง ให้ทำได้ แต่ก่อนทำต้องรวมกลุ่มกันก่อน ตอนนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีลูกบ้าน 130 หลังคาเรือน มาเข้าร่วมในระยะแรก 15 ครัวเรือน แล้วมาปรึกษากัน พบว่าหมู่บ้านมี 7 ปัญหาใหญ่ คือ  ภัยแล้ง   เศรษฐกิจตกต่ำ  หนี้สิน  อพยพแรงงาน   เด็กขาดสารอาหาร  สิ่งแวดล้อมหมดไป  และขาดการเรียนรู้

                อย่างไรก็ตามมีคำถามตามมาว่า จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร  คิดไม่ออก จึงถามเจ้าหน้าที่ว่าที่ไหนทำสำเร็จแล้วบ้างในภาคอีสาน จะไปดู  พบว่าเจอที่สำเร็จ  พ่อมหาอยู่  จ.สุรินทร์ จึงเอาลูกสาวไปพักด้วย         1 เดือน ให้มหาอยู่ใช้ฟรี  ก่อนนั้นเป็นครอบครัวยากจน จบ ป.4 แล้วให้ออก จึงไปฝึกงานจริง พ่อมหาอยู่  สุนทรชัย  ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์  สร้างแหล่งอาหารในไร่นา  มีงานทำตลอดปี มีกิน เหลือขาย  ต่อมาพบกับพ่อชาลี  มาระแสง จังหวัดอำนาจเจริญ  ถามพ่อชาลีว่าในสวนพืชชนิดใดดีกว่าเพื่อน ได้คำตอบว่าเป็นไม้ไผ่ เพราะไม่ไผ่ฤดูฝนกินหน่อ และอายุยืน  ให้เราทุกอย่างแม้ปุ๋ยอินทรีย์  เชื้อเพลิง

                พ่อผาย  สร้อยสระกลาง แนะนำให้เขียนแผนชีวิต (ไม่ใช่เขียนแผนชุมชนแล้วโยนให้ อบต.ทำ) แผนชีวิต โดยวาดรูปนาตัวเอง จะปลูกอะไรตรงไหนก็วาดเอาไว้ในแปลน เสร็จแล้วมาวางแผนการทำงานของเรา เพราะตอนนั้นยังต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งรับจ้างหาเงิน จึงวางแผนว่า ตอนเช้า ตี 5- 6 โมง กลางวันออกไปทำงานรับจ้างหาเงิน และตอนเย็น 5-6 โมง ทำงาน วางแผนขุดสระ ต่อจนถึงกลางคืน ใช้แสงเทียน เมื่อเทียนหมดเล่มก็หยุด 

                จากนั้น เพื่อนบ้านทั้ง 15 คนแยกกันไปทำ สิ้นเดือนก็มาเจอกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน  ปรึกษากันว่าจะปลูกอะไร  ซึ่งมี 3 อย่าง คือ กินได้  ไม้ใช้สอย และสมุนไพร  นอกจากนั้นจดรายจ่าย 1 เดือน ดูว่าจ่ายอะไรบ้าง  สิ้นเดือนมาสรุปกัน  วางแผนปลูก ก่อนปลูกจะดูว่าผักในอีสานมีกี่อย่าง พบว่ามี 250 ชนิด วางแผนปลูกวันละ 2 อย่าง (เช้า 1, เย็น 1) ครบ 1 เดือนได้ 60 อย่าง ของ 60  อย่างขายได้วันละ 300 เหลือ 1 บาท ดีกว่าขาดวันละร้อย  หนี้ ธกส.จาก 300,000 บาท หมดภายใน 10 ปี รวมทั้งปัญหาใหญ่ ๆ ทั้ง 7 อย่างข้างต้น นอกจากนั้นยังมีเงินวัน (ผักทั่วไป) เงินเดือน (ผักสวนครัวและสัตว์)  เงินปี (ข้าว, ผลไม้) และเงินบำเหน็จบำนาญ (ต้นไม้ใหญ่เกือบ 10,000 ต้น)  ตอนนี้ปลูกยางนาไว้จำนวนมาก เพราะในปัจจุบันโลกกำลังประสบกับปัญหาวิกฤติน้ำมัน ซึ่งยางนา เป็นพืชที่ให้น้ำมัน ถ้าต้นมีอายุ 20 ปี เจาะเอาน้ำมันวันละ 2 ช่อง ได้น้ำมันประมาณ 1 ลิตร ถ้ามีต้นยางนา 10,000 ต้น ก็ได้น้ำมันวันละ 10,000 ลิตร ลองคิดดูว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ต่อวัน  ประเทศไทยไม่มีคนตกงาน มีแต่คนเลือกงาน ถ้าวางแผนให้ดี ๆ งานเกษตรเป็นงานที่ง่ายที่สุด แต่ตอนนี้ชาวนาไม่ได้ทำนาเอง แต่เป็นนายจ้าง จึงเลยจน

                มีคำทำนายของคนอีสานไว้ว่า คนหมดบ้าน กินข้าวครกเดียวกัน (โรงสี)  มีถนน บ่มีคนย่าง (มีรถกันทุกบ้าน) ย่างทางเดียวบ่เหนื่อย บ่อมีกลางวัน บ่อมีกลางคืน (มีไฟฟ้าทุกบ้าน)  ปัจจุบันมีคนเหลืออยู่ 3 กลุ่มที่อยู่ในสังคม  คือ ก. คือ เกษตรกร  พ. คือพ่อค้า และ อ. คือโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรไม่ทำให้ตนเอง แต่ทำให้คนอื่น คือพ่อค้าและโรงงาน

                ครอบครัวปัจจุบันเป็นครอบครัวเครื่องหลุด  เกษตรกรไปไม่รอด ทำเศรษฐกิจพอเพียง เดินทางสายกลาง ไม่วิ่งตามกระแส ใช้ชีวิตพอประมาณ  เมื่อก่อนเคยทำไร่อ้อย 100 ไร่  หักรายจ่ายทั้งหมดแล้ว เหลือไว้ใช้เอง ได้ 20,000 บาท เลยลดเหลือ 1 ไร่ ก็ยังได้กำไร 20,000 บาท ดีกว่าทำ 100 ไร่ เพราะทำเองได้ ไม่ต้องจ้างใคร ไม่มีรายจ่าย  เศรษฐกิจพอเพียง มีหลักสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 3 ห่วง คือ ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน  ส่วน 2 เงื่อนไข คือ ความรู้ และคุณธรรม ดังนั้นการใช้ชีวิตแบบพอเพียงจึงต้องคำนึงถึงประการเหล่านี้ แล้วชีวิตจะมีสุขอย่างแท้จริง  นอกจากนี้แล้ว พ่อบุญเต็ม ยังได้ฝากข้อคิดต่อการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงไว้อีกหลายประการ ได้แก่   ควรคำนึงถึง เสาเข็ม 4 ต้น คือ ดิน น้ำ พืช และสัตว์ ที่ต้องคงไว้ซึ่งความหลากหลายไว้ในผืนแผ่นดิน  เพราะทั้ง 4 ประการนี้ มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์โดยพื้นฐาน เพราะดินต้องไว้ปลูกพืช  น้ำก็เช่นกัน รวมทั้งไว้ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ส่วนพืชและสัตว์คืออาหาร และอุปกรณ์สำหรับทำมาหากินของมนุษย์ด้วย  การรักษาทั้ง 4 นี้ไว้ได้ ก็ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องวิ่งหาเงินแต่อย่างใด  ปัญหาเงินทุนไม่มีไม่ใช่ปัญหา เพราะเงินทุนอยู่ที่ตัวเรา คือตัวเราที่เป็นทุน ที่มีแขนมีขาและกำลังพร้อม สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ทุนแต่อย่างใด ค่อย ๆ ทำทีละนิด ไม่นานก็สำเร็จให้คำนึงและรักษา 4 แม่ ไว้  คือ แม่ธรณี (ดิน) แม่คงคา (น้ำ) แม่โพสพ (ข้าว) และแม่บ้าน(คนช่วยทำงานและที่ปรึกษา)  และ 5 พระ คือ พระพุทธ  พระธรรม พระสงฆ์  พระเจ้าอยู่หัว และพยายาม 

พ่อจันทร์ที  ประทุมภา : ปราชญ์ชาวบ้าน อำเภอชุมพวง  จังหวัดนครราชสีมา 

               

              ก่อนหน้านี้ พ่อจันทร์ที มีโรงสีเล็ก ๆ มีหมูประมาณ 80 ตัว  มีฐานะปานกลาง เป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2525 ด้วยความอยากรวย จึงผันตัวเองไปเป็นนายหน้า เก็บเงินคนที่จะไปทำงานต่างประเทศ คนละ 2-3 หมื่นบาท ได้ประมาณ 2 แสนบาท โดยที่ไม่เท่าทันคนอื่น จึงมอบเงินให้เขา (นายหน้าอีกคน) ไปทำวีซ่าให้คนที่จะไปทำงานต่างประเทศ  แต่พอถึงวันเดินทาง นายหน้าคนดังกล่าว หนีไปคนเดียว ปล่อยให้คนที่จะไปทำงานต้องตกค้างอยู่ที่สนามบินดอนเมือง และพ่อจันทร์ทีต้องกลับมาหาเงินใช้หนี้

                ตอนแรกคิดจะฆ่าตัวตาย คิดว่าจะวิ่งออกไปให้รถทับ แต่แม่บ้านรู้ทัน ห้ามไว้ และบอกว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องสู้ใหม่แล้วกลับบ้านมาตั้งสติ และเรียกคนที่เอาเงินเขาไปให้มาขนของที่อยู่ในบ้านไปตีราคากันเอง เพราะไม่มีเงินใช้หนี้เขา ของในบ้านจึงถูกตนไปหมดทุกอย่าง ต้องออกไปรับจ้าง ลูกที่เรียนอยู่ ม.6 ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน  คุณธรรมนั้นมีจริง เมื่อมีทุกข์หนัก มีเพื่อนคนหนึ่งรู้ และพาไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ให้เป็นหัวหน้าคนงาน เพราะจะได้เงินเดือนสูง ๆ แต่ไม่มีความสามารถ เพื่อนคนนี้ช่วยเตรียมแผนงานให้แต่ละวัน พ่อจันทร์ทีทำหน้าที่เป็นเพียงคนนำไปบอกคนงาน  และตั้งปณิธานว่าจะทำงานให้มากที่สุด โดยทำงานมากจากธรรมดาเป็น 5 เท่า  ทำโอที เพื่อให้ได้เงินมากที่สุด ทำงานในมาเลเซียได้เงินแสนห้าหมื่นบาท เอาไปจ่ายหนี้ ไถ่นาคืน

             จากที่ถือเงินเป็นใหญ่ ถ้าวางแผนภายในครอบครัวชีวิตจะไม่ผิดพลาด จากคนที่สูบบุหรี่ กินเหล้า ต้องเลิกหมด ปรึกษาคนในครอบครัว รู้จักตัวเองว่าเราเป็นอะไร เราเป็นชาวนา จึงเอาเงินไปไถ่นาคืน หนี้รอบ 2 กลับมาอีก เพราะไปกู้เงินจากสหกรณ์มาทำนา รอบแรก 5 พันบาท สิ้นปีเอาเงินไปคืน จาก 5 พัน เป็น 10,000 บาท เป็น 20,000 บาท เริ่มทวีมากขึ้น จึงกลับมาคิดใหม่ ทำใหม่ค้นหาคนที่ไม่เป็นหนี้ เพื่อดูว่าเขาทำอย่างไร  พบพ่อผาย  สร้อยสระกลาง (อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์) ได้คำตอบว่าต้องปิดรูรั่ว(ลดรายจ่าย) เช่น ค่ากับข้าว ของใช้ต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดรายได้  ที่สำคัญคือ ต้องสร้างแหล่งน้ำ แต่จะทำอย่างไรเมื่อเงินมีน้อย จึงค่อย ๆ ขุดด้วย 2 มือของตัวเองในตอนกลางคืน จากนั้นวางแผนว่าปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูกทำธุรกิจครอบครัว  จากพื้นที่ทำกินเริ่มแรก 2 งาน กลายเป็น 2 ไร่ในปีต่อมา  มีปัญหาเรื่องการตลาด แก้ปัญหาด้วยการเก็บข้อมูลตลาด/ร้านค้าในหมู่บ้าน ดูว่าเขาขายอะไรในแต่ละวัน ก็ทำสิ่งนั้นไปขาย ปีที่ 3 เพิ่มเป็น 5  ไร่  ปลูกพืชหลายชนิด เลี้ยงสัตว์  ปีที่ 4, ปีที่ 5 เพิ่มเป็น 12 ไร่ และเป็น 22 ไร่ ตามลำดับทำจากเล็กไปใหญ่  ขึ้นบันไดทีละขั้น

                ใช้กระบวนการวิจัยเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง เช่น เมื่อตอนกิ่งไม้ได้ทั้งกิ่งที่ติดและไม่ติด ก็เอาข้อมูลทั้ง 2 แบบนี้มาเปรียบเทียบกันว่าเป็นเพราะเหตุใด จนได้คำตอบ กลายเป็นองค์ความรู้ของเรา  ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่ได้วิ่งมาหาเรา เราต้องวิ่งไปหาความรู้  และการไม่มีเงินไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำอะไรไม่ได้  เพราะเงินแท้จริง คือทุนทรัพยากรที่อยู่ตามธรรมชาติ จากที่ทำกินเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ  ขยายออกไป วัสดุ อุปกรณ์ค่อย ๆ ทำเท่าที่มีอยู่ และทรัพยากรที่สำคัญคือ ตัวเราและคนในครอบครัว ต้องช่วยกัน  มีปัญหาก็มาช่วยกันคิด และพูดคุย ส่วนเพื่อนบ้านรวมกันเป็นกลุ่ม แต่ต่างคนต่างทำ ทำแล้วค่อยมาคุยกัน ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ทำ

พ่อคำเดื่อง  ภาษี  :  ปราชญ์ชาวบ้าน กิ่งอำเภอแดนคง  จังหวัดบุรีรัมย์

                พ่อคำเดื่อง  ภาษี  เล่าว่า เกษตรธรรมชาตินั้น เราให้ธรรมชาติทำงานแทนเรา เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือ เอาต้นไม้ลงดิน (ปลูก) ในปัจจุบันเกษตรกรไทยต้องทำงานหนัก เพราะเราไปทำงานแทนธรรมชาติทุกอย่าง ทั้งปลูก รดน้ำ พรวนดิน ถากหญ้า  ฉีดยา ใส่ปุ๋ย แท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ธรรมชาติทำงานด้วยตัวเองได้  ดังนั้นเมื่อเราเอางานของธรรมชาติมาทำแทนหมด งานของเราจึงหนักมาก และที่ผ่านมาเรายังไปทำลายทุนธรรมชาติไปเสียหมด  เช่น ป่าไม้  แหล่งน้ำ รวมทั้งอากาศ ด้วยความหลงทำให้เราไม่เห็นคุณค่าของมัน เราหลงใหลไปตามฝรั่ง  แต่ก่อนเราไม่จน เรารวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  ไม่ต้องใช้ตู้เย็น แต่เราก็ได้กินของสด ๆ ดี ๆ จะกินเมื่อไหร่ก็ไปเอามาจากป่า หรือข้างบ้านที่ปลูกไว้ หรือมันขึ้นของมันเอง

                ตอนนี้เราบอกว่าจน ที่เราจนนั้นแท้จริงเราจน เงินเราชื่อว่าคนจะพัฒนาได้ต้องมีเงินอย่างเดียวเท่านั้น (เราทำงานไปหาเงิน แล้วเอาเงินมาซื้อของที่เราจำเป็นต้องใช้ ทั้ง ๆ ที่หลายอย่างเราทำได้ด้วยเราเอง) และรัฐบาลไทยโดยคำบอกกล่าวของฝรั่งว่า เงินเป็นตัวเพิ่ม จีดีพี. หรือรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศต่อปี ถ้าจีดีพี.ของประเทศสูง แสดงว่าประเทศเรามีเศรษฐกิจดี  แล้วทำอย่างไรเพื่อจะให้จีดีพี. สูง เมื่อเราไม่มีเงิน รัฐบาลก็ไปกู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศ สมมติได้เงินมา 3,000 บาท และในประเทศนี้มีคน 10 คน เงิน 3,000 บาท ที่กู้มานี้แม้ไม่ใช่เงินของเรา แต่เมื่อกู้มาแล้วมันก็กลายเป็นของเรา เมื่อเอามาเฉลี่ยกับ 10 คน ที่เป็นประชากรของประเทศ ได้รายได้เฉลี่ย 300 บาทต่อคน (ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจไม่มีเงินสักบาท) ภาพก็ดูเหมือนว่ารายได้ของคนในประเทศดี ทั้ง ๆ ที่บางทีเงิน 3,000 บาทนี้ อาจอยู่ในมือของคนเพียง 2-3 คนก็ได้ ส่วนที่เหลืออาจมีแค่ บาท สองบาท เท่านั้น แต่เมื่อเอามาเฉลี่ยได้จะดูว่าดี และเมื่อตอนใช้หนี้ ทุกคนต้องรับภาระที่เท่ากัน ดังนั้น จีดีพี. จึงเป็นตัวที่หลอกลวงพวกเราว่า ถ้าจีดีพี. สูงเท่าไหร่ เศรษฐกิจของประเทศจะดีมากขึ้นเท่านั้น แท้จริงแล้วเราต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติของเราที่มีอยู่ เพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ จาก ดีบุก มาเป็น ทะเล เอาของเก่า เอาธรรมชาติของเราไปขายจนหมด

                เส้นทางชีวิตของพ่อคำเดื่อง ภาษี เริ่มจากปี 2504 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาประเทศฯ ฉบับแรก เราเคยได้ยินเสียงเพลงที่ทุกคนร้องกันได้ทุกวัยคือพ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม...รัฐบาลบอกว่าทำให้คนในประเทศมีรายได้ดี  ส่งเสริมให้ปลูกปอ ตอนแรกราคาประมาณ 7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีมาก รัฐบาลตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ขึ้นมา แล้วให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันไปกู้ ตอนแรกเรียกว่าสั้นหวัดกู้ได้ 10,000 บาท เอาไปทำไร่ปอแต่ทำไประยะหนึ่งราคาปอลดลงมาเหลือลงมาจาก 7 บาท เหลือ 4-3-2  ตามลำดับ ขาดทุน แต่ไม่เป็นไรรัฐบาลให้กู้ใหม่ มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามา ตอนนี้กู้ไปปลูกอย่างอื่นก็ได้ เรียกว่าสั้นอื่น  วงเงิน 30,000 บาท แต่มีข้อแม้ต้องนำเงินที่กู้ไปมาคืนให้ครบก่อน  ตอนนี้นำไปปลูกสับปะรด จาก ก.ก.ละ 1.25 บาท เหลือ .25 สตางค์ ขาดทุน เป็นหนี้อีกรอบหนึ่ง ธกส. ก็บอกว่ามีเงินกู้ตัวใหม่ เรียกว่าปานกลางกู้ได้ 60,000 บาท แต่มีข้อแม้เช่นเคยคือ ต้องนำเงินกู้คราวก่อนส่งให้หมดก่อน คราวนี้นำไปปลูกอ้อย ตอนแรกราคาดีมากราคาตันละ 935 บาท กลายเป็นเถ้าแก่หนุ่ม มีคนงานนับร้อย ห้อมล้อมเอาอกเอาใจ ต่อมาราคาเหลือตัน 350 บาท ไม่มีเงินจ่ายค่าแรงงานคนงาน ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องใช้บริการขั้นสุดท้ายของ ธกส. คือ จำนอง ใช้ที่ดินค้ำประกัน จนในที่สุดเป็นหนี้ร่วมแสนบาทหาทางออกไม่ได้ หันไปพึ่งเหล้า บุหรี่ ติดงอมแงม

                พอดีพี่สาวที่ไปบวชเป็นชีกลับมาเห็นสภาพน้องชายที่เปลี่ยนจากเถ้าแก่หนุ่มอนาคตสดใส กลายเป็นคนขี้เหล้าเมายา จึงหาหนังสือ  นำเทปธรรมะให้อ่าน ฟัง นึกถึงหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธเจ้า คือ ทุกข์  สมุทัย  นิโรจน์  และมรรค  มีทุกข์  มีเหตุ มีวิธีดับทุกข์ แก้หรือทำให้อยู่เหนือทุกข์ ต้องมีสมาธิ เพราะสมาธิทำให้เกิดปัญญา  และค้นพบว่า คนเรามีสองคนในร่างเดียวกัน คือ ชีวิตสีขาว (ส่วนที่ดี) และชีวิตสีดำ (ส่วนที่ไม่ดี) ปกติฝ่ายขาวจะเป็นฝ่ายแพ้เสมอ  ไม่เคยเอาชนะฝ่ายดำเลย  มีก็น้อยมาก เพราะฝ่ายดำเป็นตัวกิเลสที่ครอบงำเรา  ตอนเลิกเหล้า บุหรี่ต้องต่อสู้กับฝ่ายดำ เป็นเวลาพอสมควร ด้วยความพยายาม กลายเป็นคนใหม่ เลิกเหล้า บุหรี่ได้ กลับมาทำงานด้วยตนเอง ทำเกษตรธรรมชาติ  ไม่ไถ ไม่พรวนดิน  ปลูกแล้วปล่อยให้ธรรมชาติเลี้ยงตัวเอง  กลายเป็นคนบ้าของหมู่บ้าน  ทำจนใช้หนี้เป็นแสนหมด เพราะคิดว่า เงิน 1 บาทมีความสำคัญมาก เพราะทำให้เงินที่มีค่าเป็นหลักแสน เหลือหลักหมื่นได้ เป็นกำลังใจให้กับตัวเอง

             อาชีพเกษตรกรต้องทำกินเอง  ผลิตเอง ผลิตปัจจัย 4  จึงเป็นอาชีพเดียวที่ไม่จำเป็นต้องมีเงิน ต่างกับอาชีพอื่นที่ต้องใช้เงินเป็นเครื่องมือหาปัจจัย  แต่ชาวนาตอนนี้กลายเป็นผู้จัดการนา ไม่ใช่ชาวนา เพราะไม่ทำนาเอง เอาหุ้นส่วนต่าง ๆ มามากมาย แต่ต้องรับผิดชอบกับปัญหาด้วยตนเอง หุ้นส่วนของชาวนา ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศ ได้แก่  รถไถนา  จากประเทศญี่ปุ่น    น้ำมันจากประเทศซาอุดิอารเบีย  ปุ๋ยจากประเทศเกาหลีใต้ (หัววัวคันไถ)  ยาฆ่าแมลง จากประเทศอังกฤษ (ม้าแดง)  ส่วนรถเกี่ยวข้าว จากจังหวัดสุพรรณบุรี และเงินทุน จากธนาคาร ธกส. นอกจากนี้พ่อคำเดื่อง เปรียบเทียบให้ดูระหว่างการปลูกข้าวอย่างเดียวกับการปลูกกล้วย อย่างไหนจะดีกว่ากัน

ปัจจัย

ทำนา

ปลูกกล้วย

ลงทุน

ทุกปี

ครั้งเดียวได้ผลตลอด

เวลา

ทุกปี บางปี 3 รอบ

ครั้งเดียว

ปัจจัย

ปุ๋ย, ยา  ทุกปี

ปีละครั้ง หรือไม่ต้องใช้

ผลผลิตต่อ พท.

หมายเลขบันทึก: 259769เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปลูกกล้วยแล้วยุงเยอะ มีวิธีแก้ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท