การผุดบังเกิดของขบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล


จิตตปัญญาศึกษาเป็นที่ถูกใจคนจำนวนมากในมหาวิทยาลัย เพราะมันช่วยเข้าไปเสริมส่วนที่ขาดของคนมหาวิทยาลัยครับ เป็นสิ่งที่คนมหาวิทยาลัยโหยหา

การผุดบังเกิดของขบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะผู้ก่อการเขาเรียกว่า Mahidol Learning and Teaching Initiatives for the 21st Century   สิ่งนี้แหละครับที่ผมตีความว่า เป็นการผุดบังเกิดของหน่ออ่อนของขบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล 

เราเห็นหน่ออ่อนนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑ พ.ค. ๕๒ เป็นการประชุมของศูนย์จิตตปัญญาศึกษาและภาคี ที่อาคารศิษย์เก่า ที่มีวิวแม่น้ำเจ้าพระยาอันสวยงาม ของศิริราช

โชคดีที่ผมตัดสินใจเลือกมาร่วมประชุมนี้ ทั้งๆ ที่ผมมีอีกนัดหนึ่งตรงกัน   เทวดาดลใจให้ผมเลือกมาประชุมที่มีคุณค่าสูงกว่า ต่อสังคมไทย   คือจะดำเนินไปสู่การขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ในสังคมไทย   และได้เห็น การผุดบังเกิด” (emergence) ที่เกิดจากการทำงานสร้างสรรค์แบบ supercomplexity ของจิตตปัญญาศึกษา

เรื่องมันเริ่มจากการมีขบวนการจิตตปัญญาศึกษา หรือ Contemplative Education หรือ Transformative Education เมื่อกว่า ๒ ปีมาแล้ว    จนมีการตั้งเป็นศูนย์จิตตปัญญาศึกษา  ไดรับเงินสนับสนุนจาก สสส.   มีหลักสูตรปริญญาโท และกำลังเตรียมเปิดปริญญาเอก   มีการทำงาน/ขับเคลื่อนเป็นเครือข่าย ร่วมกับจุฬาฯ, สถาบันอาศรมศิลป์, สภาการศึกษา, และอื่นๆ    มีการชักชวนกันไปฝึกทักษะ    ที่ถ้าไม่ได้ชวนเฉพาะตัวจะไม่มีคนสนใจ    เพราะกำหนดว่าจะต้องไปครั้งละหลายวัน และจะครบหลักสูตรเมื่อไปครบ ๘ ครั้ง    แต่เมื่อไปเพียงครั้งเดียวก็มีคนจำนวนหนึ่งติดใจ และเห็นคุณค่าสูงมาก   เกิดการขยายเครือข่ายออกไปอีก โดยจัดการฝึกอบรมกันเอง   แล้วก็มีคนรวมตัวกันไปจัดให้นักศึกษา นักศึกษาก็ติดใจอีก   ก็เกิดการขยายเครือข่ายไปที่นักศึกษา

 จิตตปัญญาศึกษามีดีอะไร จึงถูกใจคนจำนวนมากในมหาวิทยาลัย   เพราะมันช่วยเข้าไปเสริมส่วนที่ขาดของคนมหาวิทยาลัยครับ   เป็นสิ่งที่คนมหาวิทยาลัยโหยหา    คือมิติของความเป็นมนุษย์ มิติทางใจ/จิตวิญญาณ   ที่ช่วยให้มีทักษะในการอยู่กับตัวเอง และอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขร่วมกัน    คนมหาวิทยาลัยเก่งมากทางเทคนิคหรือวิชาการ แต่อ่อนด้อยด้านทักษะชีวิต   แต่ด้วยความเป็นคนสมองไว ได้เข้าฝึกเพียงวันสองวันก็รู้ว่าใช่แล้ว   นี่สิ่งที่เราโหยหา  

คนที่เข้าฝึก เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ด้านในของจิตตปัญญาศึกษา   และคิดว่าจะช่วยคนอื่นที่อยู่ในสภาพยากลำบากได้   ท่านหนึ่งเอาไปทำกระบวนการฝึกกับเด็กในสถานพินิจ และกับครู (ผู้คุม?) ของสถานรอพินิจนั้น   เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเด็กเกเรเหล่านั้น   หันมาร่วมกับครูเพื่อสร้างชีวิตใหม่ในสถานรอพินิจ   คือเด็กที่ถูกรอลงโทษกลับหันมาสร้างบรรยากาศน่าอยู่ในสถานรอพินิจเสียเอง   ฟังแล้วน้ำตาซึมครับ

สมกับเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Transformative)

นั่นเป็นเพียง อาหารเรียกน้ำย่อย ครับ

อาหารจานหลัก ย่อมมาทีหลัง   ซึ่งก็คือ Mahidol Learning and Teaching Initiatives for the 21st Century ที่เสนอโดยคณะหนุ่มสาวของมหาวิทยาลัยมหิดล

จากการเรียนรู้เพื่อเปิดปัญญาด้านในของปัจเจก   สู่การรวมตัวกันเองเป็นเครือข่าย   เกิดการผุดบังเกิดเป็นข้อเสนอเพื่อยกเครื่อง (reengineering) หรือปฏิรูป (reform) การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมหิดล   เป็นข้อเสนอของทีมที่รวมตัวกันเอง    แล้วฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย นำโดยท่านอธิการบดี ปิยะสกล  และมีรองอธิการบดีอยู่ในที่ประชุม ๓ คน   มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ คน   เตรียมรับลูกต่อยอดให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย  

ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า ให้ เดิน ๒ ขาคือขาไม่เป็นทางการ กับขาเป็นทางการ    และสัญญาว่าจะกลับมาเขียน บล็อก ให้ข้อเสนอแนะ   ซึ่งจะอยู่ในตอนหน้าครับ

วันที่ ๒ พ.ค. ๕๒ ผมพบ อ. หมอประเวศ ประธานคณะอำนวยการโครงการจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งติดงานอื่น เข้าร่วมประชุมเมื่อวานไม่ได้    ได้เรียนท่านว่า การทำงานแบบ complexity ออกฤทธิ์ ทำให้เกิด emergence   เป็นเครื่องยืนยันว่าวิธีการจัดการโครงการนี้ของ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี ทำได้เหมาะสมมาก

วิจารณ์ พานิช

๒ พ.ค. ๕๒

           

                           

หมายเลขบันทึก: 258919เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2009 05:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์

การก้าวย่างทางการศึกษาที่ทำให้คนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น การศึกษาแบบแข่งขันด้วยคะแนนทำให้ กระผมรู้สึกว่าระบบการศึกษาทำให้คนสร้างความมีตัวตนคือคนมีอัตตาที่ไร้ธรรมมากขึ้นสังคมจึงวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น ระบบคะแนนเป็นการประเมินความสามารถของคนที่หยาบไป จิตตปัญญาศึกษา น่าจะเป็นทางประเสริฐที่สอนให้คนพิจารณาถึงมิติของความเป็นมนุษย์ มิติทางใจ/จิตวิญญาณ มีความเคารพในศักดิ์ความเป็นมนุษย์ มองคนเข้าสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์ ผ่านเปลือกนอก  มีแนวความคิดเชิงระบบ (system thinking and perspective) หวังว่าระบบการศึกษาจะสอนให้คนมีความรู้ความสามารถและมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะมีจิตใจที่โน้มเอียงสู่ความสงบและแยกแยะด้วยปัญญา เพราะการที่สังคมมีคนที่ตายจากความเป็นมนุษย์มากขึ้น สังคมก็หายนะ หวังว่าการเปิดพื้นที่ทางปัญญานี้จะช่วยให้สังคมไทยตลอดจนสังคมโลกดีขึ้น

 ด้วยความเคารพอย่างสูง

     นิสิต คำหล้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท