เครื่องมือการเรียนรู้ของผู้ใหญ่


คำถามเพื่อการเรียนรู้

คำถาม...เครื่องมือของการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

สุนิสา แพรภัทรประสิทธิ์

 

คำนำ

 

                ความสนใจต่อการพัฒนาผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่หลายต่อหลายนักพัฒนามนุษย์และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ความสนใจในการศึกษาถึงวิธีการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ (approaches to learning) ที่เหมาะสมสำหรับลักษณะของผู้ใหญ่ (characteristics of adult) นักพัฒนามนุษย์และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงต้องหาแนวทางในการสอนเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ การเรียนรู้ของผู้ใหญ่เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต แปลงเป็นความรู้ที่ฝังในตัว (tacit)  David Kolbได้ให้แนวความคิดในการเรียนรู้ว่า เป็นกระ-บวนการที่เกิดแปรประสบการณ์เป็นการเรียนรู้จนเกิดเป็นความรู้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา (Malcolm Knowles และคณะ,2005, p.197) ผู้ใหญ่จึงมีฐานความรู้อยู่ในตัว และศักยภาพที่ผ่านการเรียนรู้มาจากประสบการณ์ การสอนเพื่อการพัฒนาของนักพัฒนาจึงแตกต่างจากการสอนเด็กที่ขาดฐานความรู้และขาดประสบการณ์

ลักษณะการสอนของผู้ใหญ่จึงมีความแตกต่างจากเด็ก การสอนนั้นต้องสามารถที่จะดึงเอาศักยภาพภายในของผู้ใหญ่นั้นออกมาปรากฏเป็นการกระทำหรือการสอนผู้ใหญ่ต้องดึงเอาความรู้ที่มีอยู่ในตัวของผู้ใหญ่ (tacit) ออกมาเป็นความรู้ใหม่ (new knowledge) เกิดการพัฒนาเป็นระดับขั้น

ในปัจจุบันการสอนผู้ใหญ่ใช้คำว่า Andragogy ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่ในการเรียนการสอนที่ให้เห็นความแตกต่างจากการสอนเด็ก (pedagogy) คำว่า Andragogy มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ คำว่า Aner (man) + Agogus (Leader) มีความหมายว่า ศาสตร์และศิลป์ในการสอนผู้ใหญ่ (The art and science of teaching adults) เพราะความหมายของ Andragogy เป็นเรื่องของการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการสอนเพื่อเกิดการพัฒนาจึงต้องอาศัยเครื่องมือในการสอนเพื่อเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ผู้ใหญ่ คำถาม (question) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในการเรียนรู้ จึงมีคำถามว่าเหตุใดคำถามเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการพัฒนา บทความนี้จึงเขียนเพื่อนำเสนอความสำคัญของคำถามที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เครื่องมือนี้สำคัญต้องเริ่มจากรู้ถึงลักษณะของผู้ใหญ่

 

ลักษณะของผู้ใหญ่

มนุษย์มีการแยกระหว่างร่างกาย (physical body) จิตใจ (mind) ทั้งสองส่วนมีผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งสิ้น ผู้ใหญ่มีความเป็น อัตตา หรือ ตัวตน (self) มากขึ้นเป็นผลมาจากการสะสมประสบการณ์ความรู้ รวมทั้งการได้เข้าร่วมในสังคม ความมีตัวตนนี้มีผลต่อทำให้เกิดมโนทัศน์แห่งตน (self-concept) ของแต่ละคนและส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ไม่เพียงอัตตาของบุคคลที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ส่วนทางด้านร่างกายก็มีผลด้วยเช่นกัน อีกทั้งสภาพความพร้อมของร่างกายก็มีผลต่อการเรียนรู้

 ด้านความสมบูรณ์ของร่างกาย

คุณลักษณะหนึ่งที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่คือความสมบูรณ์ของร่างกาย ช่วงอายุวัยต่างๆซึ่งความชราก็เป็นสิ่งที่จะกลายเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ ช่วงอายุระหว่าง 18-30 ปีเป็นช่วงที่มีความว่องไว มีความแข็งแรงสูงเป็นช่วงที่มีพละกำลังในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ช่วงอายุ 30-40 ปี เป็นช่วงที่เริ่มมีความสูญเสียความว่องไวลงบ้าง เนื่องจากการเริ่มเสื่อมสภาพของเนื้อเยื้อของข้อต่อต่างๆ ความเข้มแข็งและความอดทนยังคงที่ ช่วงอายุ 40-60 ปี มีความเสื่อมของพละกำลังมากขึ้น การเคลื่อน-ไหวจะใช้เวลามากขึ้นดังนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่ของวัยนี้จึงไม่ค่อยทำกิจกรรมการเคลื่อนไหมมากเหมือนช่วงวัยข้างต้น อายุหลัง 60 ปี มีความแปรเปลี่ยนเริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพมากขึ้น มีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อและข้อทำให้บางกิจกรรมที่เคยทำต้องเลิกทำไป  (สุวัฒน์ วัฒนวงศ์, 2547, หน้า56-59)

ความสมบูรณ์ของร่างกายในผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรับรู้ด้วย คือเมื่ออายุมากขึ้นมีผลต่อการเสื่อมของอวัยวะในส่วนต่างๆมากขึ้น เซลล์ในร่างกายเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและไม่สามารถที่จะสร้างได้ใหม่เหมือนอย่างวัยหนุ่มสาว สายตาหรือการมองเห็นเริ่มน้อยลง

ด้านสติปัญญา

สติปัญญาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยตรงทั้งสติปัญญาในการจำ ความสามารถในการปรับตัว การเรียนรู้เรื่องที่เป็นนามธรรม ซึ่งสติปัญญานี้เป็นความสามารถทางสมองมากกว่า 1 ด้านมีการให้ความหมายของสติปัญญาจากนักจิตวิทยาว่า สติปัญญาเป็นความสามารถของสมองที่มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้สิ่งต่างๆของบุคคล เป็นความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลง สามารถคิดแก้ไขเฉพาะหน้าและจัดการกับปัญหา และยังสามารถที่จะคิดได้อย่างมีเหตุผล เป็นนามธรรมและสร้างสรรค์ได้ (สุวัฒน์ วัฒนวงศ์,2547, หน้า 139-141)

จากการศึกษาของ Donaldson ในปี 1980 และ Horn ในปี 1982 นักจิตวิทยาการเรียนรู้ (อ้างอิงจากดร.ศรีเรือน แก้วกังวาน, 2545, หน้า 488-489) ได้จำแนกลักษณะของสติปัญญาไว้ 2 หมวดใหญ่ๆคือ 1) สติปัญญาด้าน crystallized เป็นสติปัญญาที่เกิดจากการสะสมความรอบรู้ มีความชำนาญในความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์โดยตรง 2) สติปัญญาด้าน fluid เป็นสติปัญญาที่เน้นความแม่นยำในการจำในทฤษฎี หรือความคิดที่สัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องกับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท สติปัญญาทั้งสองนั้นมีการพัฒนาควบคู่กันมาตั้งแต่วัยต้นชีวิตจนอายุระหว่าง 20 ถึง 30 ปีสติปัญญาด้าน fluid จะเพิ่มสูงสุดแล้วเริ่มลดลงเรื่อยๆ ส่วนด้าน crystallized ยังดำเนินสูงขึ้นในวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ

อีกทั้งมีงานวิจัยให้ผลการวิจัยว่าในผู้ใหญ่แม้มีความเสื่อมของร่างกายแล้วไม่ได้หมกมุ่นมากเกินไปก็จะสามารถที่จะรักษาสมรรถภาพของสติปัญญาได้ (Arking 1991; Keawkungwal 1984; ศรีเรือน แก้วกังวาน 2534, 2535ก, 2535ข) โดยทั่วไปแล้วความเสื่อมทางสติปัญญาจะค่อยเป็นค่อยไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และไม่เท่ากันอีกทั้งยิ่งไม่รู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาสมรรถภาพทางสติปัญญา

เมื่อนำลักษณะของผู้ใหญ่ทั้งความสมบูรณ์ของร่างกายและสติปัญญามาเทียบกันจะเห็นได้ว่าความสมบูรณ์ของร่างกายนั้นจะค่อยเสื่อมลงจนการจัดวิธีการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ (approaches to learning)ในการเลือกการใช้การออกแรงจึงไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ส่วนด้านสติปัญญานั้นแม้ความสมบูรณ์ของร่างกายเสื่อมแต่ยังสามารถที่จะรักษาสมรรถภาพไว้ได้ การพัฒนาด้านทักษะความคิดจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เป็นอย่างยิ่ง

                                        

ด้านการเรียนรู้แตกต่างจากเด็ก

       Malcolm S. Knowles ได้นำทฤษฎี Andragogy มาตีพิมพ์ลงในหนังสือชื่อ "Adult leadership" เมื่อปีค.ศ. 1968 ซึ่งกลายมาเป็นคำนิยมในสหรัฐอเมริกา Knowles ทฤษฎีเป็นการแยกความแตกต่างของ Andragogy กับทฤษฎีการสอนของเด็กซึ่งเรียกว่า Pedagogy เอาไว้ดังนี้

 

ข้อตกลงเบื้องต้น

(Assumption)

การสอนเด็ก

(Pedagogy)

การสอนผู้ใหญ่

(Andragogy)

ความต้องการในการเรียนรู้

(The need to know)

  • ขึ้นอยู่กับผู้สอน ผู้เรียนมีหน้าที่เรียน
  • สิ่งที่เรียนอาจจะไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ผู้เรียนสามารถกำหนดความต้องการได้ด้วยตนเอง (self- directed)

มโนทัศน์แห่งตน

(Self-concept)

  • ไม่เป็นอิสระ
  • มีความสามารถในการนำตนเองเพิ่มขึ้น

บทบาทของประสบการณ์

(The role of learner's experience)

  • ประสบการณ์น้อย
  • ประสบการณ์จะผ่านการอ่าน เขียน และการฟัง
  • ผู้เรียนมีแหล่งความรู้
  • มีประสบการณ์มากที่ทำให้เกิดการเรียนรู้มาก่อน

ความพร้อมในการเรียนรู้

(Readiness to learn)

  • เรียนเพื่อต้องการสอบผ่านหรือได้รับการยอมรับ
  • ความพร้อมมาจากที่ผู้สอนบอก
  • มีความต้องการในการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือในการทำงาน

เป้าหมายการเรียนรู้

(Orientation to learning)

  • วิชาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้
  • มี problem-base

แรงจูงใจ

(Motivation)

  • เกิดจากการกระตุ้นจากภายนอก เช่น คะแนนที่จะได้รับ
  • เกิดจากการกระตุ้นทั้งภายในและภายนอก

มาจาก : ตารางการเปรียบเทียบข้อตกลงเบื้องต้น (Assumptions) ระหว่างการสอนผู้ใหญ่กับการสอนเด็ก

               

อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของการออกแบบการสอนของผู้ใหญ่และการสอนของเด็กก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างกันดังนี้

 

องค์ประกอบ

การสอนเด็ก

การสอนผู้ใหญ่

ด้านบรรยากาศ

  • เป็นทางการ
  • เป็นการแข่งขันกัน
  • เป็นการใช้อำนาจของครู
  • ไม่เป็นทางการ
  • ให้ความเคารพยกย่อง
  • มีความร่วมมือกัน

ด้านการวางแผน

  • แผนการโดยครู
  • มีการวางแผนร่วมกัน

การวินิจฉัยความต้องการ

  • ตัดสินโดยตัวครู
  • มีการพิจารณาร่วมกัน

การพิจารณาวัตถุประสงค์

  • พิจารณาโดยครู
  • มีการเจรจาร่วมกัน

การเรียน-การสอน

  • เป็นไปตามเนื้อหาวิชา
  • ใช้หน่วยด้านเนื้อหาวิชา
  • เป็นไปตามความพร้อมของผู้เรียน
  • ใช้หน่วยปัญหาที่เกิดขึ้น

กิจกรรม

  • ใช้เทคนิคต่างๆโดยครู
  • ใช้เทคนิคการทดลอง
  • การสืบเสาะหาโดยตัวผู้เรียนเอง

การประเมิน

  • ประเมินโดยครู
  • การวินิจฉัยร่วมกันตามความต้องการ
  • การประเมินผลโครงการร่วมกัน

 มาจาก    : ตารางเปรียบเทียบองค์ประกอบต่างๆในการออกแบบ (design elements) การสอนผู้ใหญ่และเด็ก

           เมื่อนำการสอนแบบเด็กและแบบผู้ใหญ่มาเปรียบเทียบกันจะสะท้อนให้เห็นว่าลักษณะของผู้ใหญ่นั้นแตกต่างจากเด็ก การเลือกวิธีการในการพัฒนาย่อมต้องแตกต่างกัน ผู้ใหญ่มีศักยภาพที่ซ้อนอยู่ซึ่งเกิดมาจากประสบการณ์ หน้าที่ของนักพัฒนาจึงมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) มากกว่าการสั่งสอนในการทำให้ศักยภาพนั้นถูกนำออกมาเป็นผล(competency)ได้

นักวิจัยทางด้านสติปัญญาหลายท่านเชื่อว่าในช่วงวัยผู้ใหญ่นั้นการพัฒนาความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องมาจากการพัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผลในเชิงปฏิบัติได้จริง ซึ่งได้มาจากประสบการณ์และทักษะในการปฏิบัติการในชีวิตจริง (ดร.ศรีเรือน แก้วกังวาน, 2545, หน้า 439) นักพัฒนาจึงเป็นผู้ที่ช่วยเหลือให้ผู้เรียนผู้ใหญ่ให้สามารถดึงเอาความรู้ที่มีอยู่มาบูรณาการกับความรู้ใหม่ ทำให้สามารถแปลงความรู้นั้นนำมาแยกแยะ และสร้างความรู้ใหม่รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนั้นเครื่องมือที่ช่วยในการทำให้นักพัฒนาสามารถช่วยเหลือให้ผู้เรียนผู้ใหญ่สามารถที่จะมีความสามารถในข้างต้นได้นั้นคือการใช้คำถาม

 

คำถาม (question)

 

           Question มีความหมายเป็นเครื่องมือที่มีไว้เพื่อแสดงถึงความต้องการในข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่เป็นต้องการแสดงออกซึ่งเรียกสิ่งที่แสดงออกมาว่าเป็นคำตอบ คำถามนั้นจะถูกวางไว้หรือถูกถามในประโยคที่เกี่ยวข้องกับคำถามหรือบางครั้งก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการให้กระทำ เช่น ช่วยหยิบเนยให้ฉันได้ไหม ประโยคคำถามนี้ไม่ได้เป็นประโยคคำถามที่ต้องการคำตอบแต่เป็นการถามเพื่อให้อีกผู้หนึ่งปฏิบัติตาม

ในส่วนของการตั้งคำถามเป็นการทำให้เกิดการแยกแยะสิ่งที่จริงและไม่จริงได้ ขจัดเอาสิ่งที่ไม่สำคัญออกจากสิ่งที่สำคัญได้ การตั้งคำถามเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของการใช้ภาษา โสกราติสได้ใช้วิธีการการตั้งคำถามในการแสวงหาความจริงและในการสร้างความคิดใหม่ คำถามของโสกราติสเป็นการถามเพื่อทำให้ผู้ฟังเกิดความคิดใหม่ โดยการนำความคิดไปเป็นทีละขั้นทำให้เกิดการจัดระบบทางความคิดในระหว่างการตอบคำถามที่ตั้งขึ้นมา การถามคำถามที่ชาญฉลาดจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ และบรรยากาศการร่วมกันแสวงหาทางการแก้ปัญหา (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2539, หน้า 36-43)

คำถามถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างแพร่หลาย รูปแบบการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ใหญ่ในปัจจุบันนั้นก็นำเครื่องมือการตั้งคำถาม Michael J. Marquardt ได้ให้ความสำคัญของการใช้คำถามเป็นเครื่องมือของการพัฒนาภาวะผู้นำในรูปแบบการเรียนรู้แบบ Action Learning ซึ่ง Marquardt มองว่าคำถามนั้นเป็นหัวใจที่ทำให้การเรียนรู้แบบ Action Learning ประสบความสำเร็จ คำถามคือตัวช่วยนำทำให้การตอบสนองของกลุ่มในการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อการเรียนรู้ของตัวบุคคล

การใช้คำถามที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการตอบคำถามในคำถามที่ไม่ดี นั้นหมายถึงการหาคำถามที่ดีนำมาซึ่งการสร้างความคิดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้มากกว่าการถามคำถามที่ไม่ดี

การคิดในการตั้งคำถามเพื่อนำมาซึ่งการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ การเริ่มต้นในการใช้คำถามเป็นการเริ่มโดยอ้างอิงจากความรู้ที่มีมาก่อน แล้วใช้คำถามให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันในกลุ่ม Action Learning ในการนำในการตั้งประเด็นคำถามนั้น ผู้นำในการนำในการถามถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการคำถามที่สร้างสรรค์ การรวบรวมความคิดของผู้เข้าร่วม การโยนประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยน และการสรุปเรื่องทั้งหมดที่ตั้งขึ้น (Dr. Michael J.Marquardt, 2007, pp. 35-38) 

            การถามคำถามที่ดีคือคำถามที่ทำให้เกิดการคิด การใช้คำกริยาที่ทำให้เกิดความคิดนั้นก็ต้องเลือกใช้เพราะการใช้คำกริยาที่แตกต่างก็ส่งผลต่อลักษณะการเรียนรู้หรือการใช้ความคิดที่แตกต่างกัน

 

ตัวอย่างคำที่ทำให้เกิดความคิด

 

           ตัวอย่างของคำที่นำมาใช้ประกอบกับประโยคในการใช้ถามเพื่อทำให้เกิดการสร้างความคิด ซึ่งคำเหล่านี้ส่งผลต่อนักพัฒนาในการสร้างกิจกรรมด้วยคำถามเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สร้างความคิดในด้านต่างๆ

 

ตัวอย่างคำที่ทำให้เกิดการสร้างความคิด

               

เสนอความคิดเห็น

ยอมรับ

ปฏิเสธ

หลักฐาน

เห็นพ้อง

สรุป

กำเนิดจาก

ตรวจสอบ

ยืนยัน

รับรอง

ตรวจพบ

อธิบาย

วิเคราะห์

การคาดคะเน

ตกลงใจ

สำรวจ

ประเมิน

เลือก

ไม่เชื่อว่า

การวัด

ตระหนัก

ชี้แจ้ง

สังเกตออก

รวบรวม

เข้าใจความหมาย

ครุ่นคิด

ไม่ยอมรับ

รู้ซึ้ง

ค้นคว้า

โต้เถียง

ค้นพบ

สืบหา

วินิจฉัย

โต้แย้ง

ทำให้ไม่เชื่อ

เดา

กำหนด

ขัดแย้ง

แยกแยะ

สร้างสมมุติฐาน

สมมุติฐาน

ทำให้มั่นใจ

อภิปราย

โดยนัย

พิสูจน์

ทำให้แน่ใจยิ่งขึ้น

จำแนก

แนะนำ

ยืนยันด้วยความมั่นใจ

วิจารณ์

คัดค้าน

ไต่ถาม

เชื่อว่า

ตัดสินใจ

คาดการณ์

ตรวจสอบอย่างละเอียด

คำนวณ

ประกาศ

สงสัย

แปล

 

 

 

 

 

 

 

 

ใช้สมอง

ลงความเห็น

ทำให้กระจ่าง

รู้โดยสัญชาตญาณ

อ้าง

ให้คำจำกัดความ

ทำให้เพลินเพลิน

สอบสวน

รู้ถึง

ใคร่ครวญ

บัญญัติ

ผู้วินิจฉัย

หยั่งรู้

สาธิต

ประมาณ

พิสูจน์ว่าถูกต้อง

                                                                                                                                                                                                     ...

 

คุณสมบัตินักพัฒนากับการใช้คำถาม

             นักพัฒนาที่ดีจำต้องสามารถมีทักษะในการถามที่สามารถในการสร้างความรู้ให้แก่ผู้เรียนผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี ลักษณะของการที่เป็นผู้ถามที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยการเป็น

1) คิดเป็น นักพัฒนาต้องมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ในการตั้งคำถามหนึ่งๆ ได้อย่างชัดเจนต้องมีการเตรียมถามเป็นอย่างดีมีการรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอเพื่อนำมาใช้ในการสร้างคำถามนั้น

2) พูดเป็น มีความสามารถในการถาม การเลือกใช้ภาษาพูดและภาษาท่าทางต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม สามารถจูงใจหรือโน้มน้าวความคิดได้เป็น สามารถดึงความรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่นั้นให้เกิดการต่อยอดเป็นความรู้ที่ทวีขึ้นได้ ไม่พูดอย่างไม่สุภาพอวดความรู้ของตัวเองแต่เป็นนักพูดที่ให้เกียรติผู้เรียนเสมอ

3) ฟังเป็น มีความสามารถในการฟังเพราะการถามต้องพร้อมในการฟังเพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ยิน นำข้อมูลนั้นมาประมวล วิเคราะห์การเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่เพื่อทราบถึงผลของการสร้างความคิดนั้นสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ อีกทั้งการเป็นผู้ฟังที่ดีมีผลต่อการเรียนรู้ การไม่ขัดจังหวะในขณะที่ผู้เรียนตอบคำถาม การมีมารยาทในการฟังท่าทางในการฟังก็แสดงออกถึงความสนใจในตัวผู้เรียนผู้ใหญ่

4) อ่านออก สามารถวิเคราะห์ผู้เรียนได้จากการเฝ้าสังเกตบุคลิกลักษณะภายนอก กริยาท่าทางต่างๆ มารยาท การแต่งกายของผู้เรียน ลักษณะการพูดของผู้เรียน น้ำเสียง แววตา อารมณ์ ฯลฯ และลักษณะภายใน ความเป็นผู้ใหญ่ ระดับความรู้และระดับสติปัญญา ทัศนคติ แนวความคิดต่างๆ การอ่านออกช่วยทำให้นักพัฒนาสามารถนำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยน ลด หรือเพิ่มกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ได้

5) การจดบันทึกเป็น การจดบันทึกถึงสิ่งที่สังเกตได้หรือการจดบันทึกเพื่อใช้เป็นข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญที่นักพัฒนาต้องทำเพื่อนำสิ่งที่บันทึกนั้นไปใช้ในการประเมินเพื่อพัฒนาคนต่อไป

 

คำถามกับการเรียนรู้ผู้ใหญ่

                 เพราะลักษณะของผู้ใหญ่นั้นแตกต่างจากลักษณะของเด็ก ผู้ใหญ่มีความต้องการในการเรียนรู้เพื่อสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้ การใช้คำถามจึงเป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนผู้ใหญ่เกิดความรู้มากขึ้นซึ่งสิ่งที่ผู้เรียนผู้ใหญ่รู้คือ Know what (รู้อะไร) Know how (รู้อย่างไร) Know why (รู้ทำไม) Know where (รู้ที่ไหน) Know when (รู้เมื่อใดที่เหมาะสม) Know why not (รู้ว่าทำไมถึงไม่)

                การถามคำถามก็เป็นการที่ทำให้ผู้เรียนผู้ใหญ่สามารถรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้ เป็นการเพิ่มระดับการเรียนรู้จากการมีข้อมูลมาสู่การนำไปใช้ได้ ลักษณะการตั้งคำถามจึงมีหลายแบบที่สามารถนำไปใช้ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของความต้องการสร้างความรู้ ความเหมาะสมของกลุ่มผู้เรียน ความเหมาะสมของเวลาและอื่นที่เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ลักษณะคำถามจึงมีทั้ง คำถามแบบปลายเปิด เป็นคำถามที่นิยมกันมากวัตถุประสงค์ของคำถามนั้นดูได้ที่การตั้งคำถามมักใช้ what when where why how เป็นต้น คำถามแบบเจาะจงหรือคำถามปิด เป็นคำถามเพื่อให้เกิดความเจาะจงในการตอบคำถามมากขึ้น ตรงประเด็นทันทีเป็นลักษณะคำถามที่ถามเพื่อให้ตอบใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น คำถามแบบเจาะลึก เป็นการถามข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเจาะลึกมากขึ้นมักถามเมื่อถามคำถามแรกไปแล้ว เป็นต้น

 

สรุปและข้อเสนอแนะ

                 ในปัจจุบันนี้นักพัฒนามองเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดการพัฒนามนุษย์มากขึ้น เพราะนักพัฒนามองว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก มีการทำการศึกษาการลงรายละเอียดในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างลักษณะของเด็ก (pedagogy) กับลักษณะของผู้ใหญ่ (andragogy) เพื่อนำผลการศึกษานี้มาออกแบบหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับลักษณะของเด็กและผู้ใหญ่

                ลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ในปัจจุบันนั้นมักเอาหลักทฤษฎีของ Knowles ซึ่ง Knowles ได้นำหลักนี้มาจากหลักของมนุษยนิยม (humanism) เป็นการมองที่ตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนสามารถมีส่วนในการกำหนดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ (self-directed) เพราะ Knowles มองว่าผู้ใหญ่นั้นมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ อีกทั้งผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบสามารถควบคุมตนเองได้ ผู้สอนเป็นเพียงผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกแนะนำในการเรียนรู้เท่านั้น ลักษณะของกิจกรรมจึงเป็นการมอบหมายงานให้เกิดการค้นคว้าด้วยตนเอง สามารถกำหนดหัวข้อที่สนใจเองได้ ในทางด้านการศึกษาจะใช้วิธีการให้ทำการค้นคว้าด้วยตนเอง หรือเรียกว่างานวิทยานิพนธ์ ในการจัดการอบรมให้กับผู้ใหญ่ก็ให้มีการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนต่อกัน เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่นั้นเอง

                การเรียนรู้แบบ Action learning ก็เป็นการเรียนรู้ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน Michael J. Marquardt ได้นำเสนอแนวทางในการพัฒนามนุษย์แบบใหม่นี้ด้วยการจัดตั้งกลุ่มที่มีความหลากหลายมาทำการแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ในการทำงานหรือในการแก้ปัญหา โดยหลักของการเรียนรู้แบบนี้ได้นำคำถามมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำรูปแบบการเรียนรู้ คำถามดีก็จะได้คำตอบที่ดี คำตอบที่ดีก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คำถามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันโดยปรกติทั่วไปอยู่แล้ว คำถามเป็นสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องในศาสตร์ต่างๆ

            ดังนั้นคำถามจึงเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่นักพัฒนาควรต้องเรียนรู้จักในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งการตั้งคำถาม การฟัง การสังเกต การประมวลสิ่งที่ได้เพื่อนำข้อมูลเหล่านนั้นมาใช้ประโยชน์ในอนาคตต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

แก้วตา ผู้พัฒนพงศ์. (2543). การให้คำปรึกษา. เอกสารประกอบการเรียน HU 413. สำนักพิมพ์ รามคำแหง.: กรุงเทพมหานคร.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2539). ความคิดคู่ขนาน. สำนักพิมพ์ผู้จัดการ.: กรุงเทพมหานคร.

บุญมา ชัยเสถียรทรัพย์. (2545). เทคนิคการให้สัมภาษณ์. เอกสารประกอบการเรียน HU 411. สำนักพิมพ์รามคำแหง: กรุงเทพมหานคร.

ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2545). จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย เล่ม 2 (พิมพ์ครั้งที่ 2). สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์: กรุงเทพมหานคร.

สุวัฒน์ วัฒนวงศ์. (2547). จิตวิทยาเพื่อการฝึกอบรมผู้ใหญ่ (พิมพ์ครั้งที่ 2). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์  มหาวิทยาลัย.:กรุงเทพมหานคร.

Knowles M.S., Holton E.F., Swanson R.A. (2005). The adult learner (6th Ed.). Elsevier Inc.: london.

Marquardt M.J.  Action learning. เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษเรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์กร. วันที่ 28 ตุลาคม 2550. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.: กรุงเทพมหานคร.

Marquardt M.J.  Developing great leader via action learning programs. เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษเรื่อง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์กร. วันที่ 28 ตุลาคม 2550. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.: กรุงเทพมหานคร.

Question. ค้นจากhttp://en.wikipedia.org/wiki/Question. วันที่ค้น 27 พฤศจิกายน 2550.

Tishman S.,Perkins D.N., Jay E. (1995). The thinking classroom. Allyn and Bacon:Needham Height, MA.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #learning#question
หมายเลขบันทึก: 258875เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

อ่านแล้วรู้สึกเข้าใจงานที่ตัวเองทำมากขึ้นครับ

ณภัทรา เสถียรฐิติพงศ์

ขอบคุณมาก ได้รับความรู้เข้าใจในทฤษฏีมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท