ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

ทำไมปัญหาเรือคราดหอยลาย จึงแก้ไม่ได้เสียที


เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.ประมง 2490 มีช่องว่าง เช่น เรือที่ทำการเป็นเรือเช่า ขณะจับกุมเรือไม่ได้ทำการประมง ซึ่งในการจับกุมจำเป็นต้องใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นแล้วแทบเอาผิดไม่ได้เลย ช่องว่างทางกฎหมายนี่เอง ทำให้เรือคราดหอยลายเหล่านี้รุกหนัก เพราะค่าปรับเพียงเล็กน้อย คุ้มค่ากับการถูกจับ เนื่องจากเรือคราดหอยลายลำหนึ่งทำการประมงได้ลำละ 4-10 ตันต่อคืน มูลค่าหอยลายกิโลกรัมละ 40 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสน - 4 แสนบาทต่อลำ

ทำไมปัญหาเรือคราดหอยลาย

จึงแก้ไม่ได้เสียที

เรื่อง - ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ภาพ - จินดา จิตตะนัง
ที่มา  มติชนรายวัน วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11369 
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way02260452&sectionid=0137&day=2009-04-26


เรือคราดหอย

ต้นปีที่ผ่านมา เรือคราดหอยเริ่มทยอยเข้ามาในพื้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศอีกที่หนึ่ง และเป็นแหล่งอาศัยของหอยลายแหล่งใหญ่ของประเทศก็ว่าได้ จนในขณะนี้มีเรือคราดหอยลายทะลักมาพื้นที่นี้ประมาณ 100 ลำ โดยจอดขึ้นหอยลาย ที่แพปลา อ.ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ อ.ดอนสัก ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากการสังเกตและเฝ้าติดตามของประมงพื้นบ้าน เรือคราดหอยลายเหล่านี้จะทำการประมงเป็นสองช่วง จากเที่ยงคืนถึงเช้า และจากเช้าจนถึงเที่ยงของอีกวัน จากที่เริ่มแรกทำการประมงนอกเขต 3,000 เมตร ปัจจุบันเริ่มเข้ามาในเขตทำการประมงของชาวบ้าน ทำลายเครื่องมือประมงเสียหาย มูลค่ารวมกันนับล้านบาท

ปัญหาเรื่องเรือคราดหอยลายมีมาทุกปี แต่ไม่สามารถแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมได้ จนในปีนี้ ชาวบ้านได้จัดตั้ง "เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา" ได้จัดทีมออกลาดตระเวน และออกไปขับไล่ แต่ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเข้าจับกุม

จนในคืนวันที่ 19 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ประมงพื้นบ้านเกือบร้อยลำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอท่าศาลา อบต.ท่าศาลา ลงประมงเรือเล็กออกไปจับกุมกับหน่วยป้องกันและปราบประมงทางทะเลเกาะถ้ำ ได้ 7 ลำ แต่ก็มีช่องว่างทางกฎหมาย จึงสามารถจับกุมได้เพียงแรงงานด่างด้าว 78 คน เนื่องจากเรือเหล่านี้ทราบข่าวล่วงหน้า แค่จอดลอยลำไว้ จึงไม่ได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประมง 2490 แต่จากการตรวจสอบเครื่องมือ พบคราดหอยลายผิดกฎหมายทุกลำ

"เรือที่ถูกจับได้ ก็เป็นเรือที่ผมเคยออกไปร่วมจับกุมเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็กลับมาอีก เรือพวกนี้เป็นของนายทุนกลุ่มใหญ่ เลยไม่ค่อยเกรงกลัวการถูกจับกุม เพราะจ่ายค่าปรับไม่แพง คุ้มค่ากับการเสี่ยง" นายเราะหมาน ปลิงทอง แกนนำที่ออกไปจับกุมเมื่อปีที่แล้วเล่า

เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.ประมง 2490 มีช่องว่าง เช่น เรือที่ทำการเป็นเรือเช่า ขณะจับกุมเรือไม่ได้ทำการประมง ซึ่งในการจับกุมจำเป็นต้องใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นแล้วแทบเอาผิดไม่ได้เลย ช่องว่างทางกฎหมายนี่เอง ทำให้เรือคราดหอยลายเหล่านี้รุกหนัก เพราะค่าปรับเพียงเล็กน้อย คุ้มค่ากับการถูกจับ เนื่องจากเรือคราดหอยลายลำหนึ่งทำการประมงได้ลำละ 4-10 ตันต่อคืน มูลค่าหอยลายกิโลกรัมละ 40 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสน - 4 แสนบาทต่อลำ

ปัญหานี้ถูกผลักดันไปทุกระดับ แต่ยังไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติมากนัก เพราะเรือคราดหอยลายก็ยังเข้ามาเหมือนเดิม ล่าสุด วันที่ 15 เม.ย. 2552 เรือคราดหอยลายลากเข้ามาใกล้ฝั่ง บริเวณตำบลท่าศาลา เพียง 1,000 เมตร ท่ามกลางการมองดูของประมงพื้นบ้านอย่างเจ็บใจ เนื่องจากประสานเรือตรวจของประมงไม่ได้ จะออกไปจับกุมเหมือนครั้งที่ผ่านมาก็ลำบากแล้ว เพราะเรือประมงพื้นบ้านเพียงอย่างเดียวไม่สามารถไล่ทัน และเสี่ยงต่อการถูกชน และต่อสู้กลับด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง

"เรือประมงพื้นบ้านและเจ้าหน้าที่ อบต.และปลัดปราบปรามอำเภอท่าศาลา เตรียมการจะออกจับกุม แต่ไม่มีเรือขนาดใหญ่เข้าเทียบ ซึ่งหากใช้เรือประมงชาวบ้านอย่างเดียวจะอันตราย อาจโดนพุ่งชน หรือหากหลบหนีก็ไล่ไม่ทัน" บังมุ เจริญ โต๊ะอิแต แกนนำประมงพื้นบ้านบอกน้ำเสียงเจ็บปวด

ทั้งนี้ ชาวบ้านพยายามอย่างหนัก ในการประสานงานกับเรือตรวจแต่ก็ไร้ผล สุดท้ายจึงใช้เรือประมงพื้นบ้านออกไปทำการขับไล่และถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน และครั้งนี้ก็ทำลายเครื่องมือประมงพื้นบ้านไปจำนวนมากเช่นเดียวกัน

"เรารอใครไม่ได้อีกแล้ว หากเป็นอย่างนี้ชาวบ้านจะตายกันหมด ทำมาหากินไม่ได้ ผมได้ใช้เงินส่วนตัวในการต่อเรือเพื่อจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายเหล่านี้ร่วมกับประมงพื้นบ้าน และปกครองอำเภอท่าศาลา เรื่องนี้ในระยะสั้นต้องจบให้ได้" อภินันท์ เชาวลิต นายก อบต.ท่าศาลา ซึ่งเห็นปัญหาด้วยตัวเองมาโดยตลอดและออกจับกุมร่วมกับชาวบ้านทุกครั้งกล่าว

จากปัญหานี้ในระยะสั้น คงมองไปที่หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง คือหน่วยป้องกันปราบปรามทางทะเล เพราะมีเรือและอำนาจหน้าที่ เพราะปัญหาในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกำลังเสริมจากเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ การลาดตระเวนด้วยชาวบ้าน และการออกตรวจตรา ในส่วนของชาวบ้าน และท้องถิ่นดำเนินการอย่างสุดความสามารถแล้ว

"อึดอัดใจมาก ไม่ทราบแผนดำเนินการของแต่ละหน่วยว่าเป็นอย่างไร ผมรับผิดชอบปากพนังและหัวไทร ส่วนท่าศาลา ขึ้นกับหน่วยเกาะถ้ำสิชล ตามแผนของแต่ละหน่วยจะออกตรวจเดือนละ 1-2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10 วัน หากนอกเหนือแผน เรือขนาด 60 ฟุต ออกตรวจต้องให้อธิบดีอนุมัติ ส่วนเรือ 24 ฟุต ขออนุมัติที่ศูนย์สงขลา ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก" ประเสริฐ คงขน ประมงอาวุโส หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปากพนังเปิดเผยความรู้สึก

ในส่วนของเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้รวมตัวและร่วมมือกับ อบต.ท่าศาลา พร้อมปฏิบัติการในทุกกรณี เพื่อกดดันทุกวิถีทางให้เรื่องนี้จบให้ได้เร็ววัน แต่ก็ยังติดเรื่องเรือในการออกไปจับกุมตลอด

"ขณะนี้ ทาง อบต.และประมงพื้นบ้าน กำลังเตรียมการยืนหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ระยะสั้นต้องเอาเรือตรวจมาจอดที่นี่ให้ได้ ในระยะยาว คงต้องออกประกาศจังหวัดเรื่องเขตห้ามทำการประมงคราดหอยลายในระยะ 12 ไมล์ทะเล ตาม พ.ร.บ.ประมง มาตตรา 32 และทาง อบต.เองเตรียมออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อห้ามทำประมงหอยลาย เราต้องทำทุกวิถีทางแล้ว เพื่อรักษาผลประโยชน์ไว้ให้ท้องถิ่น" นายก อบต.ท่าศาลา หัวแรงที่สำคัญบอก

หากเป็นอย่างนี้ต่อไป เรือคราดหอยลายยังคงทำการประมงอย่างสบายใจ คงต้องพิสูจน์กฎหมาย และหน่วยงานทั้งหมดว่า ในระยะสั้นจะจัดการอย่างไรให้เด็ดขาด

แต่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ อย่างประมงพื้นบ้าน อาจจะรอได้อีกไม่นาน เพราะหอยลายกำลังจะหมดไปจากทะเล จากการทำประมงแบบไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้นของคนเหล่านั้น!!

หน้า 9

หมายเลขบันทึก: 258720เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท