การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวห้องสมุดควรทำความเข้าใจถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ระบุไว้ในมาตรา 27-31 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (หน้า 12-13) ดังนี้
-
มาตรา 27 คือ (1) การทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน อย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์
สิ่งที่เสี่ยง เช่น การถ่ายสำเนาหนังสือทั้งเล่มเพื่อให้บริการในห้องสมุด, การรับหนังสือฉบับสำเนากรณีที่ผู้ใช้บริการนำมาทดแทนเล่มที่สูญหาย, การนำหนังสือฉบับถ่ายสำเนาที่ได้รับจากการบริจาคมาให้บริการ
-
มาตรา 28 คือ (1) การทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว อย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือเป็นภาพ
สิ่งที่เสี่ยง : การทำสำเนา CD เพื่อให้บริการด้วยเกรงว่าต้นฉบับจะสูญหาย, การแปลงสัญญาญเทปบันทึกเสียง หรือวีดิทัศน์เป็นสื่อดิจิทัล, การนำ VCD ให้บริการในระบบเครือข่ายเพื่อเรียกดูพร้อมกันได้หลายคน เช่น VDO on demand
-
มาตรา 29 คือ การกระทำใดๆ แก่งานแพร่เสียง แพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ เช่น รายการโทรทัศนื หรือวิทยุ ซึ่งได้แก่
(1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ไม่ว่า ทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ไม่ว่า ทั้งหมดหรือบางส่วน
(3) จัดให้ประชาชนฟังหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดบเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์ทางการค้า
สิ่งที่เสี่ยง : การอัดรายการจากโทรทัศน์ วิทยุ หรือ เคเบิ้ลทีวี เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้
-
มาตรา 30 คือ (1) การทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว อย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์
สิ่งที่เสี่ยง : การสำเนาโปรแกรมที่มาพร้อมหนังสือเพื่อป้องกันต้นฉบับสูญหาย, การให้ผู้ใช้บริการดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ของห้องสมุด เช่น โปรแกรม Anti virus
-
มาตรา 31 คือ ผู้ใดที่รู้หรือมีเหตุควรรู้ว่างานใดได้ทำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังกระทำ (1) ขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดผลเสียแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ (4)นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
สิ่งที่เสี่ยง : การนำ VCD ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ออกให้บริการ เป็นต้น
ว่าแล้วห้องสมุดก็คงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี
คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ( Fair Use) ที่จัดทำโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา นั้น ได้กล่าวไว้ในหน้า 6 ว่า ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 32 นั้น โดยกำหนดให้การใช้งานลิขสิทธิ์ในบางลักษณะสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นการใช้งานอย่างเป็นธรรม เช่น การใช้ในการเรียนการสอน การรายงานข่าว หรือการใช้งานโดยบรรณารักษ์ห้องสมุด เป็นต้น แต่ทั้งนี้ (1) ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากงานอันมีสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (2)ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฏหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งได้กล่าวไว้ในบันทึกฉบับที่ผ่านมา
อ้าว ใ นคู่มือฉบับนี้ระบุไว้แค่ตำแหน่งบรรณารักษ์ แล้วหากนักวิชาการโสตทัศนวัสดุ นักเอกสารสนเทศ หรือผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด เป็นผู้กระทำจะนับเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
คำตอบจาก รศ. อรพรรณ พนัสพัฒนา หนึ่งในคณะวิทยากรที่มาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า พรบ. นี้จะหมายความถึง บรรณารักษ์ หรือผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งอื่นๆ ที่มีการให้บริการ หรือปฏิบัติงานในบริบทเช่นเดียวกับบรรณารักษ์ จึงนับเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย สิริพร ทิวะสิงห์ tuk-a-toon ใน ห้องสมุดและบรรณารักษ์