เรื่องในชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าเหลือเชื่อ...ความแม่นยำ (precision)


วันนี้รับหน้าที่เวรเช้าตรู่ คือเริ่มงานตอน 6 โมงครึ่งกับน้องหญิง-บราลี ซึ่งเป็นการเริ่มเปิดเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติที่เราใช้ในการตรวจวัดทั้งหมด ที่เราต้องทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการวัดด้วยการ calibrate เครื่องด้วยสารมาตรฐานแล้วก็ตรวจวัดสารควบคุมคุณภาพที่รู้ค่าแน่นอน เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องตรวจและน้ำยาที่ใช้ในการตรวจทำการทดสอบมีความถูกต้อง แม่นยำ เที่ยงตรงได้มาตรฐาน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง 

เวรเช้าตรู่นี้เริ่มมีมาเมื่อไม่กี่ปีหลังนี้เองค่ะ เพราะปริมาณคนไข้ที่มาใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นๆไม่หยุดยั้ง และคนไข้ก็มาเช้าขึ้นๆจนมารอกันอยู่มากมาย ทำให้ห้องเจาะเลือดของเราก็ต้องเริ่มงานกันเช้าขึ้นด้วย ในปัจจุบันก็คือเริ่มกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า

วันนี้ก็เป็นอีกวันที่ปริมาณงานเกิน 1000 รายตั้งแต่ช่วงเที่ยง ในฐานะคนออกผลแล็บ ก็นั่งประจำที่ดูผลแล็บที่พิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ ก่อนที่จะมาดูผลที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติเครื่องที่เราใช้นี้จะส่งผลทุกอย่างผ่านระบบ LAN เข้าสู่เครื่องออกผลเลย โดยไม่ได้ล็อคผลที่มีค่าไม่ถูกต้อง เช่นสูงหรือต่ำเกินกว่าขอบเขตการวัดของเครื่อง ซึ่งผลพวกนี้เราจะออกไปไม่ได้ต้องทำการตรวจซ้ำด้วยการลดหรือเพิ่มปริมาณเลือด เพื่อให้ได้ค่าที่ถูกต้อง การตรวจสอบจากกระดาษพิมพ์ก่อนเราจะสามารถแยกรายที่มีผลตรวจไม่ถูกต้องพวกนี้มาทำการตรวจซ้ำได้ก่อนทำการออกผล

จากการที่เรามีระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลที่ได้ในปัจจุบันกับค่าเดิมที่เคยตรวจวัดไว้ของผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยในการยืนยันผลที่ตรวจได้ว่าน่าจะถูกต้องหรือผิดคนหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปสมเหตุสมผลหรือไม่

สิ่งที่อยากเอามาบันทึกไว้ในวันนี้ก็คือ ความประทับใจกับ precision หรือศัพท์ทางแล็บของเราก็คือ ความแม่นยำ นั่นเองค่ะ คำนี้หมายถึงการที่เราตรวจวัดตัวอย่างตรวจรายเดียวกันหลายๆครั้งแล้วได้ค่าที่ตรงกัน ซึ่งปกติเราจะสามารถประเมินความแม่นยำได้ในสองลักษณะคือ ในการตรวจครั้งเดียวกัน (คือวัดซ้ำหลายๆครั้งในคราวเดียวกัน) และในการตรวจระหว่างครั้ง (คือวัดตัวอย่างเดิมในการวัดคนละรอบหลายๆรอบ) ซึ่งโดยปกติเราจะดูได้จาก quality control chart ที่ทำประจำอยู่ทุกวัน ที่เราจะมีขอบเขตของค่าที่ยอมรับได้ในแต่ละการทดสอบต่างๆกันไป

สิ่งที่พบวันนี้ที่ทำให้การออกผลวันนี้มีความสนุกสนานมาก ก็คือผลการตรวจระดับน้ำตาลของคนไข้ที่มักจะมีค่าเดิมที่เคยตรวจไว้แล้ว เมื่อ 3 เดือน 6 เดือนหรือแม้แต่ 1 ปีก่อนหน้าการตรวจครั้งนี้ พบว่าน่าอัศจรรย์มากๆค่ะ  เพราะพบว่าผลตรวจมีความแม่นยำสูงมาก นั่นคือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีค่าเท่าเดิม ซึ่งมีทั้งค่าในระดับ 80 ไปจนถึง 150 ก็ยังพบว่ามีค่าเท่าเดิมเป๊ะๆเลย พบบ่อยจนกระทั่งทำให้นั่งลุ้นไปเสียทุกรายที่มีค่าเดิมว่า จะเท่ากันไหม แล้วก็พบว่าเหลือเชื่อจริงๆว่า พบมากจนน่าแปลกใจ เพราะขนาดตรวจตัวอย่างเดียวกันในวันเดียวกันให้ได้ค่าเดิมตลอดก็ยังไม่ใช่เรื่องที่พบบ่อยเลยเสียทีเดียว

ต้องบอกว่า มีเรื่องอะไรอีกมากมายที่เราหาเหตุผลมาอธิบายได้ยาก ชีวิตมีชีวิตชีวาได้ก็เพราะเรื่องแบบนี้แหละนะคะ ลองมองหากับสิ่งรอบๆตัวกันดูเถอะค่ะ

หมายเลขบันทึก: 256848เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2009 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท