ห้องสมุดกับลิขสิทธิ์นักเขียน "Public Lending Rights" หรือ PLR


อ่านพบบทความหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องไกลตัวของห้องสมุด ณ วันนี้ แต่ก้รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม

อ่านพบบทความหนึ่ง...น่าสนใจ ขออนุญาตนำมาแปะไว้เพื่อการศึกษาต่อไปนะคะ

ชื่อบทความ ห้องสมุดกับลิขสิทธิ์นักเขียน โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ จาก นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ฉบับธันวาคม 2551  อ้างอิงจาก http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=75626

  • นักเขียนในหลายประเทศของสหภาพยุโรป สามารถเรียกเก็บค่าตอบแทนในการอนุญาตให้ห้องสมุดใช้ประโยชน์จากผลงานของตนได้  ทั้งนี้เพราะยุโรปนั้นมีกฎหมายว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเขียน ในกรณีที่ห้องสมุดนำหนังสือของตนไปบริการให้ประชาชนทั่วไปยืม ซึ่งแม้จะไม่ใช่บริการเชิงธุรกิจ แต่ก็ถือว่าการให้ประชาชนสามารถขอยืมหนังสือไปอ่านได้ฟรี เป็นการทำให้ผู้บริโภคไม่ยอมซื้อหนังสือมาอ่านเอง อันเป็นเหตุให้โรงพิมพ์และนักเขียนขาดรายได้ที่ตนสมควรจะได้รับ

  • ดังนั้นจึงมีการริเริ่มเรียกเก็บค่าตอบแทนของนักเขียนเอากับห้องสมุดประชาชน โดยสิทธิของผู้เขียนในการได้รับค่าตอบแทนจากห้องสมุดนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Public Lending Rights" หรือ PLR  ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพวกเรากันสักหน่อย ก็แหม...อย่าว่าแต่เก็บค่าลิขสิทธิ์จากห้องสมุดเลย ขนาดจะเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงจากผับ บาร์ ร้านอาหาร คาราโอเกะ ยังลำบากยากเย็น เพราะหลายคนเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการ 

 

  • แต่สำหรับในยุโรปนั้น ความคิดที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์จากห้องสมุดให้แก่นักเขียนนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว  โดยสมัยนั้น มีการถกเถียงกันระหว่างนักเขียนกับห้องสมุดและร้านให้เช่าหนังสือ ว่าฝ่ายหลังสมควรจะให้ค่าตอบแทนแก่นักเขียนบ้าง เนื่องเพราะนักเขียนรู้สึกว่าตนสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการที่มีระบบการให้ยืมหนังสือแก่ประชาชนเกิดขึ้น

    จนกระทั่งในเดือนกันยายน ค.ศ.1883 ที่ประชุมของสมาคมนักเขียนของเยอรมนี ในเมืองดามชตัดท์(Darmstadt) จึงได้มีมติให้เรียกเก็บค่าตอบแทนให้แก่นักเขียนจากร้านให้ยืมหนังสือได้ Public Lending Rights หรือ PLR ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา   จากนั้นในปี 1917 Thit Jensen นักเขียนชาวเดนมาร์กที่มีชื่อเสียงก็ได้ออกมาประกาศเรียกร้องให้ห้องสมุดประชาชนที่มีบริการให้ยืมหนังสือ สมควรต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่นักเขียนทุกคน แต่ทางห้องสมุดและโรงพิมพ์กลับต่อต้านความคิดนี้อย่างรุนแรง ทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 1946 รัฐบาลเดนมาร์กออกกฎหมายบังคับให้ห้องสมุดต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเขียนในที่สุด ซึ่งในปีต่อมา (1947) นอร์เวย์ก็เริ่มนำระบบ PLR มาใช้บ้าง ตามด้วยสวีเดนในปี 1954 จากนั้นมา ระบบ PLR ก็ได้รับการนำไปปฏิบัติจนเป็นที่แพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป และในอีกหลายประเทศในปัจจุบัน  แม้กว่า 40 ประเทศ จะได้ตรากฎหมายให้การยอมรับในสิทธิของนักเขียน ในการที่สมควรจะได้รับค่าตอบแทนจากห้องสมุด จากการที่ห้องสมุดให้บริการยืมหนังสือของนักเขียนแก่สาธารณะแล้วก็ตาม แต่จำนวนประเทศที่ได้สร้างระบบจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากห้องสมุดให้แก่นักเขียนจริงๆ แล้ว มีเพียง 28 ประเทศเท่านั้น ซึ่ง 24 ประเทศในกลุ่มนี้ ล้วนแต่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งนั้น นอกนั้นคือประเทศออสเตรเลีย แคนาดา ฯลฯ

 

  • แต่สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา กลับไม่มีการยอมรับในสิทธิประเภทนี้ของนักเขียน นอกจากนี้ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียอย่างประเทศไทยของเรา ก็ยังไม่มีการนำระบบ PLR มาใช้เช่นกัน

    ระบบ PLR นั้น แยกออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

    1. ระบบที่ยึดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งถือว่าผู้แต่งเป็นผู้มีสิทธิในการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ห้องสมุดเผยแพร่งานของตน ดังนั้นการที่ห้องสมุดให้บริการยืมหนังสือของผู้แต่งแก่สาธารณะ ถือเป็นการใช้ประโยชน์ (exploit) จากผลงานของผู้อื่น ดังนั้นจึงสมควรจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของผลงานก่อน ดังนั้นหากห้องสมุดใดต้องการจะนำผลงานของผู้แต่งไปใช้ประโยชน์ ก็จะต้องมีการเจรจากับผู้แต่งเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนในการใช้ผลงานนั้นๆ ให้ถูกต้อง เช่น ในประเทศออสเตรียและเยอรมนีนั้น สมาคมนักเขียนของเขาจะรวมตัวกันต่อรองกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของตนเรื่องค่าตอบแทน แต่ในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น สมาคมนักเขียนจะทำการต่อรองกับห้องสมุดแต่ละแห่งโดยตรง

    2. ระบบที่อยู่นอกเหนือกฎหมายลิขสิทธิ์ คือไม่ได้ถือว่าการเผยแพร่งานเขียนโดยห้องสมุดนั้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้แต่งเสียก่อน เป็นแต่เพียงการระบุถึงสิทธิของผู้แต่งในการที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการเผยแพร่ผลงานของตนเท่านั้น ระบบนี้เป็นระบบที่ประเทศอังกฤษใช้ โดยกฎหมายว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้แต่งโดยห้องสมุด หรือ Public Lending Rights Act ปี 1979 นั้น ระบุไว้ว่าผู้แต่งมีสิทธิตามกฎหมายในการที่จะได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลของตน ในฐานะที่ห้องสมุดประชาชนนำผลงานของตนไปให้บริการยืมแก่สาธารณะ ซึ่งรัฐบาลของอังกฤษได้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่อง PLR ขึ้นมาโดยเฉพาะ

    3. ระบบที่ถือว่า PLR เป็นภาระของรัฐที่จะต้องให้การสนับสนุน เนื่องจากถือว่าเป็นการส่งเสริมการรักษาวัฒนธรรมของประเทศ ระบบนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน) ที่กำลังถูกภาษาอังกฤษครอบงำ โดยเฉพาะในงานเขียน ทำให้ภาษาพื้นเมืองของตน เช่น ภาษาสวีดิช ภาษานอร์วีเจียน หรือภาษาท้องถิ่นอื่นๆ นั้น ถูกบดบังรัศมีและถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสรรค์สร้างวรรณกรรมในภาษาของตน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น และป้องกันมิให้ค่าตอบแทนจากระบบ PLR ไหลออกไปอยู่ในมือของนักเขียนต่างประเทศ ที่นำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ ทั้ง 3 ประเทศสแกนดิเนเวียน จึงสร้างระบบการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเขียน โดยใช้วิธีจ่ายให้เฉพาะแก่นักเขียนที่แต่งหนังสือเป็นภาษาท้องถิ่นของประเทศตนเท่านั้น

    แม้กฎหมายว่าด้วยสิทธิในการให้ยืมหรือให้เช่าผลงานของสหภาพยุโรป (EU Directive on Rental and Lending Right 1992) จะจัดอยู่ในประเภทที่ 1 คือให้ถือระบบ PLR เป็นระบบที่อยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ (หมายถึงการจะใช้ประโยชน์จากงานเขียนจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้แต่งก่อน) แต่ทางสหภาพยุโรปเองก็ให้เสรีภาพแก่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในการนำกฎหมายดังกล่าวไปปรับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขของประเทศของตน

    ดังนั้นเราจึงเห็นรูปแบบต่างๆ ในการนำ EU Directive ไปปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการและสถานการณ์ของประเทศต่างๆ เช่นหากเป็นประเทศที่เข้มงวดกับกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเยอรมนี ห้องสมุดจะมีการพูดคุยต่อรองเพื่อขออนุญาตผู้แต่งในการใช้ประโยชน์จากผลงานของเขาก่อน โดยจะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้แก่ผู้แต่ง แต่ประเทศอังกฤษกลับผูกพันในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้แต่งเท่านั้น โดยไม่ได้บังคับว่าห้องสมุดจะต้องขออนุญาตจากผู้แต่งก่อน ส่วนสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ กลับสงวนสิทธิในการจ่ายค่าตอบแทนให้เฉพาะนักเขียนที่เขียนเป็นภาษาที่ใช้ในประเทศของตนเท่านั้น

    นั่นหมายความว่า นักเขียนสัญชาติสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ที่เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาที่ใช้ในประเทศของตน ก็หมดสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนจากห้องสมุดเช่นกัน

    ซึ่งตรงกันข้ามกับอังกฤษ ที่ยินยอมจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเขียนต่างชาติที่มีผลงานซึ่งได้รับการนำไปใช้ประโยชน์โดยห้องสมุดในประเทศอังกฤษด้วย โดยได้เริ่มจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเขียนต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2002 แล้ว แต่สำหรับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ อย่างไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอิตาลีนั้น ทำแต่เพียงแค่ยอมรับในหลักการของ PLR เท่านั้น แต่กลับไม่ผูกพันที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเขียน หากห้องสมุดของตนนำผลงานของนักเขียนไปให้ประชาชนยืมกลับไปอ่านที่บ้าน

    เนื่องจากในกฎหมายของสหภาพยุโรปกำหนดไม่ให้ประเทศสมาชิกเลือกปฏิบัติ (discriminate) ต่อต่างชาติ คือจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่างชาติให้เท่าเทียมกับที่ปฏิบัติต่อบุคคลหรือนิติบุคคลที่ถือสัญชาติของประเทศของตน หรือเรียกว่ากฎ National Treatment

    ดังนั้น การให้ค่าตอบแทนแก่นักเขียน จึงไม่สามารถจะคำนวณโดยใช้สัญชาติมาเป็นบรรทัดฐานได้ เพราะนั่นหมายถึงการเลือกปฏิบัติต่อต่างชาตินั่นเอง

    คงเพราะเหตุนี้ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จึงไม่ระบุว่าจะให้ค่าตอบแทนแก่นักเขียนชาวนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์กเท่านั้น แต่จะยึดตามภาษาที่ใช้ในงานเขียนเป็นหลักในการคำนวณแทน นั่นหมายความว่าหากนักเขียนต่างชาติสามารถผลิตผลงานเป็นภาษานอร์วีเจียน สวีดิช หรือแดนนิชได้ ก็สามารถจะเรียกร้องค่าตอบแทนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศดังกล่าวได้เช่นกัน

    การคำนวณค่าตอบแทน

    วิธีการคำนวณค่าตอบแทนให้แก่นักเขียนนั้น มีหลากหลายวิธีแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศอังกฤษนั้นจะคำนวณหาค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งที่หนังสือแต่ละเล่มถูกยืมออกไปในแต่ละปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงมิถุนายน โดยทางหน่วยงาน PLR จะสุ่มตัวอย่างจากระบบคอมพิวเตอร์ของห้องสมุดทั่วประเทศ ซึ่งทางผู้แต่งจะได้รับจดหมายแจ้งจากหน่วยงานดูแลด้าน PLR ภายในเดือนธันวาคม-มกราคม และจะได้รับค่าตอบแทนภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

    โดยปัจจุบัน ค่าตอบแทนจะมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 6,600 ปอนด์ (ประมาณ 343,200 บาท อัตราแลกเปลี่ยนที่ 52 บาทต่อ 1 ปอนด์) และหากคำนวณแล้ว มูลค่าของค่าตอบแทนนั้นต่ำกว่า 1 ปอนด์ ก็จะไม่มีการจ่ายเงินออกไป สำหรับอัตราค่าตอบแทนที่ใช้คำนวณในปี 2008 นี้อยู่ที่ 5.98 เพนซ์ (ประมาณ 3 บาท) ต่อการยืม 1 ครั้ง

    ระบบ PLR น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ต้องการผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ในประเทศของตน เนื่องจากค่าตอบแทนจากห้องสมุดถือเป็นรายได้ที่จะมาจุนเจือให้นักเขียนสามารถรังสรรค์ผลงานวรรณกรรมดีๆ ออกมาประเทืองปัญญาประชาชนต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องทนเสี่ยงต่อการเป็น "นักเขียนไส้แห้ง" เหมือนนักเขียนสมัยก่อน นอกจากนี้ นักเขียนยังสามารถรับทราบได้ด้วยว่างานเขียนของตนเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านหรือไม่ ถือเป็น feedback ที่ดีให้แก่นักเขียนในการปรับปรุงเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเรื่องต่อๆ ไปให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

    แต่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็นประเทศของนักอ่านตัวยงประเทศหนึ่งนั้น กลับยังไม่ยอมนำระบบ PLR ไปปฏิบัติ

    บางฝ่ายในญี่ปุ่นอ้างว่า ระบบห้องสมุดประชาชนของญี่ปุ่นเพิ่งจะมาบูมเอาก็เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง โดยมีการสร้างห้องสมุดประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อทศวรรษที่ 1970s เท่านั้น และแม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนห้องสมุดเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่เพียงพอต่อประชากร 127 ล้านคน จากข้อมูลปี 2003 ญี่ปุ่นมีอัตราส่วนระหว่างห้องสมุดกับประชากรอยู่ที่ 1 : 47,000 ซึ่งหากเทียบกับอัตราส่วน 1 แห่งต่อ 17,000 คนในสหรัฐอเมริกาแล้ว ต้องถือว่าระบบห้องสมุดของญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องได้รับการปรับปรุงอีกมาก

    ถ้าจะมีการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เอาจากห้องสมุดประชาชนในตอนนี้แล้ว รัฐบาลซึ่งมีงบประมาณจำกัด ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกและในญี่ปุ่นเอง ก็คงจะตัดงบการสร้างห้องสมุดไปอย่างแน่นอน

    ประเด็นที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ของญี่ปุ่น หยิบยกมาเป็นข้อโต้แย้งในการพยายามผลักดันให้มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์หนังสือเอากับห้องสมุดนั้น ก็คือการที่ห้องสมุดในประเทศญี่ปุ่นมักให้บริการยืมแต่หนังสือนวนิยายขายดีให้แก่ประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ยอดขายหนังสือในประเทศญี่ปุ่นลดลงเรื่อยๆ สำนักพิมพ์ของญี่ปุ่นจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้ห้องสมุดห้ามให้บริการยืมหนังสือฮิตติดอันดับในท้องตลาดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนหลังจากที่หนังสือออกจำหน่าย สำนักพิมพ์บางแห่งถึงกับเสนอให้มีการเก็บเงิน "ค่าเช่า" หนังสือเอากับประชาชนทั่วไปที่มายืมหนังสือที่ห้องสมุดเลยทีเดียว

    ปัจจุบัน ประเด็น PLR ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าคงอีกไม่นาน ระบบ PLR คงจะมาถึงญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

    กรณีของญี่ปุ่นนั้นคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ห้องสมุดประชาชนมีจำนวนน้อยมาก และห้องสมุดส่วนใหญ่ก็มีแต่หนังสือนวนิยายประโลมโลกให้บริการแก่ประชาชน การจะหาหนังสือดีๆ ที่มีเนื้อหาสาระจากห้องสมุดประชาชนมาอ่านสักเล่มนั้น เป็นเรื่องยากยิ่ง ดังนั้นหากจะมีการนำเงินหลวงมาใช้จ่ายกับห้องสมุด ก็สมควรนำเงินมาจัดสร้างห้องสมุดให้มากขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชุมชนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงกว่าเดิมเสียก่อน แล้วจึงนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายในการจัดหาซื้อหนังสือดีๆ มีคุณภาพมาให้บริการแก่ประชาชน แทนการเน้นแต่นิยายขายดีเท่านั้น

    สำหรับค่าลิขสิทธิ์ที่ห้องสมุดจะต้องจ่ายให้แก่นักเขียนนั้น อาจจะต้องมาเป็นอันดับสุดท้าย....   
หมายเลขบันทึก: 256716เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2009 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาส่งกำลังใจค่ะ

(ตัวหนังสือเล็กไปหน่อยนะคะ...สายตาไม่ค่อยดีค่ะ)

มาชวนไปทำสำรวจสถิติ กรุ๊ปเลือดชาวบล็อกเราค่ะ

ที่นี่นะคะ ...

• •★ ทานอาหาร...ตามกรุ๊ปเลือด...เพื่อสุขภาพที่ดี★... •★

ขอบคุณกำลังใจจากคุณ °o.O ปลายฟ้า O.o° ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท