ช่องว่างทางความรู้จะลดลง เมื่อรู้จักเริ่มต้น


นี่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความรู้สำหรับผู้มีโอกาสเข้าถึง ความรู้ แต่ไม่สามารถอ่านความรู้เหล่านั้นได้ เป็นการแก้ปัญหาในจุดที่เล็กที่สุด จากคนๆ เดียว แน่นอนว่ายังมีอีกมากมายหลากหลายวิธีการ อยากเชิญทุกท่านมาช่วยกันเล่า ช่วยกันเขียน ช่วยกันขุด ทุกๆ วิธีการเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความรู้นี้ลง

ช่วงนี้ใน GotoKnow.org คงไม่มีหัวข้อใดร้อนแรงเท่ากับ "ความเหลื่อมล้ำทางความรู้" หรือ "digital divide" อีกแล้ว

แม้มีงานอื่นต้องรับผิดชอบแต่เมื่อว่างก็ยังเก็บประเด็นนี้ มาคิดและมองสิ่งรอบๆ ตัวจนได้

เมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา ได้นั่งคุยกับน้องซึ่งดูแล Healthy.in.th อีกคน ก็คือ เกต ถึงประเด็นเกี่ยวกับความหมายของคำศัพท์ทางการแพทย์ ว่าการสื่อสารข่าวไปยังประชาชนนั้น เราจะต้องแม่นในความหมายของเนื้อข่าว และยังจะต้องแม่นในด้านคำศัพท์ที่สื่อสารออกไปด้วย

เพราะคำศัพท์บางคำนั้น เป็นศัพท์เฉพาะ ถ้าแปลแบบปกติก็จะให้ความหมายเพี้ยนไปได้ ดังนั้นการหาความหมาย หาคำเฉพาะมายืนยันเป็นเรื่องที่จำเป็น ก่อนที่จะปล่อยข้อมูลต่างๆ ออกไป

ส่งผลให้งานต่างๆ อาจจะล่าช้าได้บ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะถือว่าหากเราสื่อสารถูก ผู้รับสารได้รับถูกต้อง จะนำมาซึ่งการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม

เข้าเรื่อง

วันนี้ไม่ได้มาเพื่อบ่น แต่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเปิดเรื่องคุยมากกว่า

ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเหลื่อมล้ำทางความรู้ ก็คือ ปัญหาด้านการใช้ภาษา โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ

โลกพัฒนามากขึ้นทุกวัน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แน่นอนว่าช่วยให้โลกนี้แคบลง การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้น ความรู้ต่างๆ สามารถหาได้ง่ายๆ เพียงแค่ คลิก

จริงอยู่ว่ามีประชากรอีกเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ความต่างของฐานะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้

ในมุมต่าง

แต่ในมุมมองกลับกัน คนที่มีโอกาสเข้าถึงความรู้นั้น จริงๆ แล้วพวกเขาได้รับความรู้ไปกี่เปอร์เซนต์ของความรู้ทั้งหมด 70  60  50  40 30 20 หรือ 10 หรือจริงๆ แล้วแค่ 5 % เท่านั้น

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษา

ข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่ภาษาหลักของเมืองไทยที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองไทย ก็ไม่สันทัดภาษาอังกฤษเหล่านี้เช่นกัน

แม้แต่เด็กนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษา และเล่าเรียนภาษาอังกฤษเป็นประจำ ก็อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างดี

เรื่องปกติ

จึงไม่แปลกนักที่จะเห็นผู้คนพยายามที่จะค้นหาข้อมูลต่างๆ ด้วยภาษาไทย และพยายามหลีกเลี่ยงภาษาอังกฤษอยู่เป็นประจำ

ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอ่านไม่รู้เรื่อง ยาก หรืออีกนานับประการที่พยายามหามาเข้าข้างตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการอ่านภาษาอังกฤษ

เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจหากว่าผู้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงความรู้อีกเป็นจำนวนมาก

มองหาราก

ปัญหาเรื่องนี้หากจะมองไปให้ลึกลงไป ถือได้ว่าเป็นรากของความเหลื่อมล้ำทางความรู้เส้นหนึ่ง (ความเหลื่อมล้ำทางความรู้มีหลายปัจจัย=มีหลายรากของปัญหา)

หากสามารถถอนรากถอนโคนของปัญหานี้ออกไปได้ ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ก็น่าจะเอนลง ให้ช่องว่างที่มีนั้นแคบลงได้

องค์การยูเนสโกบอกว่า

กรอบแนวคิดหนึ่งที่องค์การยูเนสโกได้ใช้ปฏิบัติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้  นั่นคือ

"พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อการนำความรู้ไปใช้ (Capacity Building) เป็นการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาทักษะ เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชนให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

การพัฒนาทักษะการใช้ ICT เพื่อการศึกษา

การพัฒนาศักยภาพในการอ่านและเขียนของเยาวชน

การพัฒนาทักษะการใช้ ICT ของคนพิการทางสายตา เป็นต้น"

1 ใน 6 กรอบแนวคิดที่องค์การยูเนสโกให้การสนับสนุนและดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้

ตัวเองคิดว่า

ยอมรับและเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะเมื่อรู้รากแห่งปัญหาการขุดรากถอนโคนแห่งปัญหาย่อมเป็นทางออกที่ดี

เมื่อปัญหาคือความไม่รู้ หรือรู้ไม่ดี รู้ไม่เพียงพอ การพัฒนาเพื่อเพิ่มทักษะให้ดีขึ้น ย่อมเป็นทางแก้

แต่ควรประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทยด้วย ไม่ใช่รับมาโดยไม่ประยุกต์ เพราะถึงอย่างไรสังคมไทยย่อมไม่เหมือนกับสังคมของชาติใดเช่นกัน

เริ่มต้นที่ตนเอง

เมื่อรู้ปัญหา เมื่อเจอแนวทางการแก้ไข การรอคอยให้รัฐบาล หรือองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือนั้น เป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเมื่อจะเริ่มแก้ปัญหา ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน

  1. รับประทานยากระตุ้นเป็นประจำ บอกตัวเองเสมอว่า ฉันมั่นใจว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องง่าย ไม่ยากเกินความเข้าใจ  ฉันทำได้
  2. อ่านเป็นประจำ อ่านภาษาอังกฤษเป็นประจำ โดยเริ่มอ่านเรื่องที่มีความยาวสั้นๆ หรือเลือกอ่านเรื่องที่ชอบ เช่น ดูดวง ทำอาหาร จัดดอกไม้ แต่งบ้าน เป็นต้น
  3. เปิดศัพท์ให้กลายเป็นนิสัย เมื่อเจอคำศัพท์ยากหรือไม่คุ้น หรือเดาไม่ได้ หรือต้องการความแน่ใจ จงเปิดหา อย่าอายเพราะไม่มีใครที่รู้อะไรไปหมดทุกอย่าง แม้แต่ภาษาไทยบางคำยังต้องเปิดหาความหมาย
  4. เปลี่ยนทัศนคติ  ให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องสนุก เช่น หากรู้สึกอายที่ต้องเปิดหาความหมายของคำศัพท์ ก็ให้ลองเดาความหมาย และหาคำศัพท์เพื่อยืนยัน คุณจะรู้สึกตื้นเต้นและลุ้นนิดๆ หรือ หากมีใครมาบอกว่าน่าอายที่คำศัพท์ง่ายๆ ยังต้องเปิดหา ก็จงถามความหมายของคำศัพท์กลับไป หากคนพูดไม่สามารถบอกความหมายได้ ก็ชวนมาเรียนด้วยกัน แต่หากบอกได้ก็ชวนมาเป็นติวเตอร์ซะเลย เพียงเท่านี้คุณก็มีเพื่อนเรียนแล้ว
  5. ทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อคุณทำเป็นประจำจะเกิดความเคยชิน และเริ่มสนุกขึ้น เมื่อคุณพบว่าคุณอ่านเข้าใจมากขึ้น และเร็วขึ้น
  6. เพียงห้าข้อนี้ ถ้าคุณสามารถผ่านไปได้จากข้อความสั้นๆ ก็จะค่อยๆ ยาวขึ้น จากหนึ่งหน้าก็จะกลายเป็นสอง สาม สี่ ห้า ไปเรื่อยๆ 

จากวิธีการทั้ง 6 ข้อเป็นวิธีการที่เคยทำมา และพบว่าได้ผลน่าพอใจ แต่ต้องใช้ระยะเวลา เพราะไม่มีใครสามารถทำอะไรได้สำเร็จภายในวันเดียว

ในปัจจุบันตนเองยังคงทำเช่นนี้อยู่เสมอ เพียงแต่เปลี่ยนจากเรื่องง่ายๆ มาเป็นเรื่องยากขึ้น

เริ่มแบ่งปัและลดช่องว่าง

เมื่อตนเองทำได้แล้ว การแบ่งปันแนวคิด วิธีการ เทคนิค หรือกลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ ไปสู่ผู้อื่น ไม่ว่าคุณจะแบ่งให้คนใกล้ตัว ลูกหลาน เพื่อนร่วมงาน หรือใครก็ตามเป็นเรื่องน่าชื่นชมเสมอ และไม่ว่าการแบ่งปันจะเป็นแบบใดก็ตาม หากผลลัพธ์ นำมาซึ่งช่องว่างที่ค่อยๆ เล็กๆ ลงก็ถือเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจทั้งสิ้น 

เมื่อสามารถอุดช่องโหว่เล็กๆ ของคนหนึ่งคนได้ เมื่อนำมารวมกับอีกของหลายๆ คน ช่องว่างแห่งปัญหาก็จะค่อยๆ ลดลง

แม้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่โต ได้ภายในครั้งเดียว

การแก้ไขปัญหาเล็กของตนเองก็เป็นการเริ่มต้นในการแก้ปัญหาที่ดีได้เช่นกัน

นี่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความรู้สำหรับผู้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ แต่ไม่สามารถอ่านความรู้เหล่านั้นได้ เป็นการแก้ปัญหาในจุดที่เล็กที่สุด จากคนๆ เดียว แน่นอนว่ายังมีอีกมากมายหลากหลายวิธีการ อยากเชิญทุกท่านมาช่วยกันเล่า ช่วยกันเขียน ช่วยกันขุด ทุกๆ วิธีการเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความรู้นี้ลง

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 256626เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บันทึกนี้ ผู้เขียนไม่ "หลงประเด็น" อีกใช่เปล่าครับ :)

อ่ะ ... แซวเล่น

หัวข้อ "รู้จักตนเอง" ... เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มี "ความใฝ่รู้" ในหัวใจเท่านั้น ... ลองไม่ไฝ่รู้ ก็ดูจะไม่ได้ทำสักข้อแน่ ๆ เลย

อีกประการ "ความใฝ่รู้" เกิดจากการมี "ความฝัน" หรือ "เป้าหมาย" ในใจ หากมี "ความฝัน" หรือ "เป้าหมาย" ของชีวิตแล้ว ย่อมทำให้ "ความใฝ่รู้" เกิดขึ้นได้กับบุคคลผู้นั้น

ฤาไม่จริงกันหนา :)

สวัสดีค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn

ไม่หลงประเด็นค่ะ เพราะเป็นเรื่องตัวเองส่วนหนึ่ง ซึ่งเคยเกิดปัญหาและเคยแก้ปัญหาดังกล่าวค่ะ :)

โดนใจสุดๆ ค่ะ เพราะนั่นคือเรื่ิองจริง ความฝัน เป้าหมาย คือน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนที่ดีอย่างหนึ่งค่ะ

นี่คือสิ่งดีๆ ที่ชอบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของที่นี่ เพราะได้เติมเต็มในส่วนที่ขาดเสมอ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • พี่คิมมาให้กำลังใจน้องสี่ค่ะ
  • ตอนนี้อยู่ที่เมืองกาญจน์
  • เที่ยว พักผ่อนและช่วยอาจารย์ขจิตทำงานค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูคิม

ขอบคุณค่ะ ไม่ได้แวะไปเลยค่ะ เพราะกำลังยุ่งมากๆๆ เลยค่ะ

ทีมงานช่วยกันเตรียมงาน GotoKnow Forum ค่ะ งานนี้น่าจะสนุกและได้อะไรดีๆ กลับไปค่ะ

คิดถึงคุณครูคิมและ อ.ขจิต มากค่ะ แล้วเจอกันนะค่ะ

สวัสดีค่ะ

*** ชอบบันทึกนี้มาก

*** ถ้าทุกคนช่วยกระตุ้นเรื่องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการเข้าถึงข้อมูลในโลกกว้างได้ความเหลื่อมลำ้ย่อมลดลง

*** ขออนูญาตนำบันทึกนี้ไปบอกต่อนะคะ

*** ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณกิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ขอบคุณมากค่ะ ยินดีอย่างยิ่งค่ะหากบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท