มุมมองลึกๆของคนเล็กๆจากมุมหนึ่งของสวนยางพารา


ยางพารา สังคมใหม่ การเมืองใหม่ คุณค่าของทรัพยากร

             กลับมาจากจัดรายการวิทยุชุมชน  ด้วยความรู้สึกว่าเวลาแต่ละชั่วโมง แต่ละวันมันผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน  ใช้เวลาจัดรายการ  50 นาที   แฟนๆรายการขอเพลงกันมา จัดให้ไม่ครบก็เห็นใจ จะพูดสาระมากเกินไปก็กลัวเสียน้ำใจคนขอฟังเพลง  จากวัน เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี  ชีวิตชีวีมันหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง    นั่งเงียบๆอยู่ครู่หนึ่ง มองไปที่แถวต้นยางพาราบริเวณหน้าบ้าน  นึกย้อนไปถึงอดีตที่เรายังเป็นหนุ่มวัยรุ่น ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาภาพต่างๆยังติดตรึงเหมือนกับเกิดขึ้นเมื่อวันวาน  สมัยโน้นเราเป็นนักศึกษา ที่มุ่งหน้าเข้าไปอยู่ในกรุงเทพ   ค่าเทอมค่ากินอยู่ส่วนหนึ่งก็ได้จากการขายยางแผ่น กิโลกรัมละ  11 บาท  สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยว ชามละ 5-10 บาท และเราก็ไม่มีโทร ศัพท์ มือถือ ไม่มีอะไรมากมายที่จะต้องใช้เงิน นอกจากซื้อตำรับตำรา    มีแฟน  แฟนก็นัดกันไปนั่งคุย ที่เขาดิน  หรือชวนไปดูหนัง เมื่อหนังเลิกก็พาไปส่งที่บ้าน ความฝันของทุกคนก็คือการมีงานทำ มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน ไม่ต้องพึ่งพาทางบ้าน    ต้นยางพาราบริเวณนี้  นับจากวันโน้นถึงวันนี้ มีอายุราวๆ 30 ปี กว่านิดๆ      มีรอยมีดกรีดเป็นแผล ทั้งแผลเก่าแผลใหม่ รอบลำต้น จากโคนต้นขึ้นไปสูงห่างจากพื้นดินประมาณ 2 เมตรครึ่งน่าจะได้   เรานั่งคิดเลื่อนลอยย้อนกลับไปว่า เมื่อ   19 ปีที่ผ่านมา    ต้นยางพาราบริเวณนี้เริ่มเปิดกรีดได้    ปริมาณน้ำยางที่ได้โดยเฉลี่ย   20  ต้น ให้น้ำยางประมาณ 1 กิโลกรัม  และทำเป็นยางแผ่นดิบได้ 1 ผืน   แล้วถ้าต้นยางต้นเดียวหล่ะ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาจะให้น้ำยางสักเท่าใด      คงต้องใช้ระยะเวลาถึง 20 วัน จึงได้ปริมาณน้ำยาง  1 ผืน  ปีหนึ่ง 365 วัน ต้องหยุดกรีดในช่วงฤดูฝนและช่วงฤดูยางผลัดใบ   คงมีระยะเวลาเปิดกรีดยางได้เพียง 180 วัน  ดังนั้นยางหนึ่งต้น จะ ได้ยางแผ่นดิบประมาณ 9 ผืน ต่อปี   ระยะเวลาทีผ่านมาแล้ว 19 ปี ยางต้นนี้น่าจะให้ผลผลิต อยู่ที่ ประมาณ 170 ผืน ถ้ายางพาราราคากิโลกรัมละ 100 บาท จะได้เงิน 17000 บาท นั่นหมายถึงเราต้องใช้เวลา ถึง 19 ปี  แต่ยางพาราต้นนี้ เริ่มให้ผลผลิตที่ขายเป็นตัวเงินเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมาด้วยราคายางแผ่นขณะนั้น ไม่ถึง 20 บาท  จนไต่เต้าได้รับราคาสูงถึงกิโลกรัมละเกือบร้อยบาท เมื่อ 2 ปีที่แล้ว  แต่ราคายางพารา ณ วันนี้ ลดลงเหลือ กก. ละ 50 บาท เท่านั้นเอง แล้วดูที่มูลค่าของลำต้นยางพาราที่ ชาวสวนยางคิดกันไว้ว่านั่นคือเงินก้อนโตที่จะได้รับหลังจากต้นยางมีอายุมากแล้ว ก็จะประมูลขาย ซึ่งไม้ตรงช่วงโคนต้น ขายราคา หนึ่ง  ส่วนที่เป็นกิ่ง และส่วนที่เหลือก็จะขายเป็นไม้ฟืน รวมๆแล้ว น่าจะได้ราคาต้นละไม่เกิน 1000  บาท ซึ่ง หากรวมมูลค่าทั้งหมดทั้งน้ำยางที่ได้รับ ตั้งแต่เปิดกรีด จนกระทั่งขายลำต้น   มูลค่าต่อต้นไม่น่าจะเกิน 10000 บาท     พอคิดถึงมูลค่าที่เป็นตัวเงิน เราหันไปมองยางรถยนต์ ที่ไกล้จะได้เวลาเปลี่ยนใหม่อีกแล้ว ราคาเส้นละ 2500 บาท รวม 4 เส้น ต้องใช้เงิน 10000  บาท ภายใต้ข้อจำกัดช่วงเวลาใช้งาน ไม่เกิน 3-5  ปี  ถ้าเวลา 19  ปี  หากไม่เปลี่ยนรถใหม่ ก็คงต้องเปลี่ยนยาง  4 -5 ครั้ง   นี่เฉพาะยางรถยนต์เพียงอย่างเดียวน่ะ ไม่ได้คิดค่าอื่น      คิดถึงรายได้ของประธานบริษัทยางรถยนต์ที่เป็นชาวต่างชาติ คิดถึงเงินที่ไหลไปสู่บ้านเมืองของเจ้าของเทคโนโลยี    หวลกลับมาคิดถึงลูกหลานที่ไปทำงานเป็นคนงานโรงงานผลิตยางรถยนต์    คิดถึงเส้นทางของน้ำยางพาราที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อ แล้วไปขายต่อ    คิดถึงผลิตภัณฑ์จากยางพารานานาชนิด  ที่ใช้บริการเทคโนโลยีต่างชาติ   คิดถึงเงินที่เราได้รับจากการขายน้ำยาง แล้วนำเงินนั้น ไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของต่างชาติ   คิดถึงต้นยางพารา ที่เขานำไปทำเฟอร์นิเจอร์ แล้วกลับมาขายให้เราได้ใช้   คิดถึงเศษไม้ที่ราคาถูกที่สุด ขายให้เขาเป็นไม้ฟืน ซึ่งเขานำไปผลิตเป็นถ่านซึ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ มีมูลค่า และถ่านบริสุทธิ์จะถูกนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆอีกมากมาย    และเทคโนโลยีจากการผลิตถ่านไม้ ก็ทำให้เกิดน้ำส้มควันไม้ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อีกคณานับ    ทั้งประโยชน์เพื่อสุขภาพ และประโยชน์ทางด้านการเกษตร   และที่คิดแล้วยิ่งช้ำชอกก็คือ ประเทศที่ไม่มียางพาราแต่เขาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเขานำยางจากบ้านเราไปลาดถนนกันทุกตรอกซอกซอย  ถนนในสวนยางในหมู่บ้านเรา ได้ลาดยางกันสักกี่สาย  

                      แต่วันนี้สิ่งที่คิดมากที่สุดก็คือการแบ่งแยกทางความคิดของคนในสังคม   จากการเรียกร้องหาผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มคน   การใช้วาจากักขฬะก้าวร้าวรุนแรงช่วงที่ผ่านมา   การที่คนระดับกลางและระดับรากหญ้า   เรียกร้องสังคมใหม่และการเมืองใหม่  โดยไม่เข้าใจแก่นแท้ ของสิ่งที่ต้องการและร่ำร้องเรียกหา

                      เมื่อเดือนที่ผ่านมา ถูกรับเชิญไปเป็นสักขีพยานในการจัดแต่งงาน เด็กคู่หนึ่งอายุของผู้ชาย 15 ปี  เรียนอยู่ ม.3 เด็กผู้หญิงอายุ 13 ปี เรียนอยู่ ม. 1  ทั้งคู่หลบหนีจากบ้านไปมีเพศสัมพันธ์กัน  พ่อแม่เด็กตกลงจัดพิธีแต่งงานให้กัน เราเห็นความไม่ประสีประสาของเด็กทั้งสองแล้วก็คิดมากไปเองหลายๆเรื่อง ไม่ได้คิดลามกอิจฉาความสุขของเด็กหรอกนะ  แต่เห็นภาพความสมหวังของเด็กที่สามารถสร้างความสุขไห้กับตนเองได้ โดยสามารถทำให้ผู้ปกครองอำนวยความสะดวกให้ได้ความสุขตามที่ตนเองต้องการ   เมื่อย้อน

นึกถึงภาพของเด็กเล็กๆอีกกลุ่มหนึ่ง ที่โบกธงถือตีนตบมือตบ กระโดดโลดเต้นอย่างสะใจไปพร้อมๆกับผู้ปกครอง  จากเหตุการณ์ต่างๆ  ที่มีแต่การสร้างความรู้สึกจงเกลียดจงชัง ต่อกัน    สมองที่บริสุทธิ์ของเด็กๆเหล่านั้น จะได้รับอะไรไปแฝงอยู่บ้างก็ไม่รู้ 

                      สังคมใหม่ต้องเป็นสังคมของการสร้างระบบการเรียนรู้ที่ ปลูกฝังคนไทยในเรื่องของความรักความสามัคคี เรื่องของการรู้จักคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่  การรู้จักประโยชน์ของทรัพยากรเหล่านั้นเป็นอย่างดียิ่ง และให้มีจิตสำนึกรักตั้งแต่ก่อนอนุบาลเสียด้วยซ้ำ   และการเมืองใหม่ต้องเป็นการเมืองที่ต้องปกป้องดูแลทรัพยากรของชาติอย่างจริงใจ และเป็นการเมืองที่สร้างเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่  อย่างมีคุณภาพ   ไม่ใช่การเมืองที่สร้างภาพ และภาพที่สร้างก็เพียงเพื่อให้ลูกหลาน คิด เป็นแต่เพียง เรื่องเงินที่ได้ รับจากการขายทรัพยากร

         

 

หมายเลขบันทึก: 256072เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2009 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

อยากให้คนไทยรักกัน รักชาติ รักบ้านเมืองค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  เมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่าง มีสูงสุดก็ต้องมีต่ำสุด มีขึ้นก็ต้องมีลง คิดว่าเมื่อมีแตกแยก ก็ต้องมีสมานฉันท์ คิดว่าน่าจะไกล้ถึงจุดอิ่มตัวล่ะมังครับ  เพียงแต่ขอให้พวกเราเก็บความรู้สึกดีๆไว้แสดงต่อกันเถอะครับ สังคมนี้ก็คงจะได้ร่วมกันสร้างสุขที่แท้จริงกันบ้างนะครับ

                          ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท