กระบวนการตรวจรับรองฟาร์ม (Farm Inspection and Certification Process)


ลิลา เรืองแป้น ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำ กรมประมง

กระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์มมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
การตรวจสอบฟาร์ม (Farm Inspection)
 การตรวจสอบฟาร์มที่ดีควรมีการเตรียมพร้อมตามลำดับ ดังนี้
 1. จัดทำแผนการตรวจรับรองฟาร์ม (พิจารณาตามข้อมูลในใบสมัครขอการตรวจฟาร์มของเกษตรกร)
 2. กำหนดบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานในแต่ละส่วน
 3. จัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อจัดเวลาตรวจอย่างเหมาะกับสภาพพื้นที่ของฟาร์ม/ความยุ่งยากซับซ้อน
 4. แจ้งกำหนดการตรวจฟาร์มให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า
 5. เดินทางไปยังฟาร์มตามกำหนดการ ถ้าจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการต้องแจ้งให้เกษตรกรทราบและตกลงกำหนดการใหม่ให้เรียบร้อย

เทคนิคการตรวจฟาร์ม (Farm Inspection Techniques)
 1. ไปถึงฟาร์มตามกำหนดเวลา
 2. เปิดประชุมเพื่อแนะนำผู้ตรวจสอบที่ร่วมไปด้วยทั้งหมด
 3. เปิดประเด็นคำถามเพื่อให้เจ้าของฟาร์ม/ผู้ประกอบการบอกเล่าถึงกิจกรรมและกระบวนการผลิตสัตว์น้ำในฟาร์มหรือสถานประกอบการ
 4. กรณีที่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไม่เข้าใจประเด็นให้ค่อยๆถามเป็นเรื่องๆตามลำดับขั้นตอนการผลิต
 5. เมื่อเข้าใจกระบวนการผลิตทั้งหมดแล้วให้หยุดคำถามและขอดูหลักฐานต่างๆในกระบวนการที่เล่ามาเพื่อยืนยันความถูกต้องของการปฏิบัติงานตามกระบวนการที่ให้ไว้
     * อย่าแสดงท่าสงสัยหรือมีคำถามที่ส่อถึงความไม่ไว้วางใจผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ล่วงหน้าถ้ายังไม่พบจุดบกพร่องจริงๆ
 6. ตรวจสอบและเปรียบเทียบการบอกเล่ากระบวนการผลิตกับเอกสารที่เกษตรกรบันทึกหรือทำคู่มือไว้และตรวจสอบความสมบูรณ์ในการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน(ในเอกสาร)
 7. เดินไปสำรวจสถานที่ปฏิบัติงานแต่ละจุด สอบถามและขอรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างชัดเจน พร้อมทั้งตรวจดูบันทึกการปฏิบัติงานของคนงานในแต่ละจุด
 * การออกสำรวจแต่ละจุดต้องมีบุคลลากรของฟาร์มที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ให้ข้อมูลนำทางไปยังพื้นที่ที่เราต้องการสำรวจด้วยทุกครั้ง
 8. ตรวจสอบวิธีปฏิบัติงานภาคสนามว่าแต่ละจุดหรือแต่ละกระบวนการสอดคล้องกับการบันทึก/คู่มือและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่
 9. ตรวจสอบความสอดคล้องของหลักฐานที่มาของวัตถุดิบต่างๆ เช่น ใบรับรองมาตรฐานวัตถุดิบ, ใบรับรองแหล่งกำเนิด เป็นต้น
 10. ตรวจสอบความถูกต้องและความสอดคล้องของหลักฐานเอกสารบันทึกการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกลำดับ/ขั้นตอน
 11. ตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต/ประกอบการตามระบบTraceability ทุกขั้นตอน ตั้งแต่จุดกำเนิด (Origin) ไปจนถึงจุดสุดท้ายที่เป็นผลิตผลพร้อมส่งออก (export)
 12. การเก็บตัวอย่าง (กรณีที่จำเป็น)
 13. จัดทำรายงานอย่างถูกต้องและทำการสรุปภาพรวมโดยรวบรวมข้อมูลจาก
  - คำตอบของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ
  - รายละเอียดของหลักฐานต่างๆที่ได้ตรวจพบ
  - แนบเอกสารทั้งหมดที่มีประโยชน์ต่อคณะกรรมการรับรอง เช่น เอกสารคู่มือการ     จัดการฟาร์ม/สถานประกอบการ, เอกสารใบรับรองต่างๆ, ข้อมูลด้านเทคนิค, วิธี      ตรวจสอบความแม่นยำ

การรับรองฟาร์ม (Farm Certification)
 โดยปกติถ้าเป็น CB เอกชน จะมี project manager เป็นผู้รับผิดชอบในด้านการให้การรับรองมาตรฐานของฟาร์ม โดยพิจารณาตามเอกสารรายงานที่ผู้ตรวจสอบเสนอให้ไว้ ดังนั้นผู้รับรองมาตรฐาน(Certification Committee) จะต้องดำเนินการดังนี้
 1. ตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องในการทำงานของผู้ตรวจฟาร์ม เช่น ผู้ตรวจฟาร์มได้ตรวจสอบในพื้นที่การทำงานของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการตามที่ร้องขอในใบสมัครทุกจุดหรือไม่?
 2. ทำความเข้าใจรายงานทั้งหมดอย่างถูกต้อง
  - อาจใช้ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องมาช่วยในการพิจารณา
  - ติดต่อสอบถามผู้ตรวจฟาร์มเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่ยังไม่เข้าใจอย่างสมบูรณ์เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
  - ใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่ (ของฟาร์มเดียวกัน) มาเปรียบเทียบ
 3. ตรวจสอบความชัดเจนของคำพูดหรือสำนวนในรายงานเพื่อไม่ให้มีการเบี่ยงเบนในการพิจารณา เช่น ข้อผิดพลาดอะไรที่เกิดขึ้น? เมื่อไร? ที่ไหน ข้อผิดพลาดนั้นทำให้กระบวนการผลิต/ประกอบการทั้งหมดเสียหายหรือแค่บางส่วน
 4. การตัดสินใจให้การรับรอง ต้องขึ้นอยู่กับ
  - ความถูกต้อง/ชัดเจนของข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานทั้งหมด
  - ความครบถ้วนของการแก้ไขจุดบกพร่องหรือข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องทุกข้อที่ผู้ตรวจฟาร์มได้ให้ไว้ในครั้งก่อน

ข้อวิจารณ์การทำงานของ CB ต่างๆโดย WWF
ในปี 2551 WWF (World Wildlife Fund) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้ทำการศึกษาการทำงานด้านการตรวจรับรองงานคุณภาพฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ CB ต่างๆทั่วโลก โดยเน้นการศึกษาเฉพาะในหลักการทางด้าน สิ่งแวดล้อม, สังคม, ความเป็นธรรมต่อสัตว์เลี้ยงและสุขภาพ นอกจากนี้การศึกษายังรวมถึงการพัฒนามาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบเทียบความถูกต้องแม่นยำในการตรวจรับรองฟาร์ม/การประกอบการด้วย
 

จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า ประสิทธิภาพของการตรวจสอบข้อกำหนดที่ CB ส่วนใหญ่ละเลยและไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ มีดังนี้
 1. ทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่มีรูปแบบที่สามารถระบุความแตกต่างที่วัดเป็นตัวเลข/ตัวชี้วัดในเรื่องของ
  - การปล่อยน้ำทิ้งออกจากฟาร์ม
  - การใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำ
  - การใช้อาหารและที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ
 2. หลักการสำคัญที่สนับสนุนความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรยังไม่เพียงพอ เช่น
  - ยังมีการใช้ปลาเป็ดที่สามารถใช้เป็นอาหารของมนุษย์มาใช้ ทำอาหารให้สัตว์เลี้ยง
  - การใช้วัตถุดิบที่มาจากการผลิตโดยวิธี GMO
  - การนำสัตว์น้ำที่ไม่ใช่พันธุ์ท้องถิ่นมาใช้
 3. ด้านความเป็นธรรมต่อสัตว์ที่เลี้ยง
- การป้องกันการหนีของสัตว์น้ำ
  - การป้องกันโรคที่ไม่มีระบบที่ดี
 4. หลักการสำคัญในด้านสังคม ยังไม่สามารถดูแลหรือตรวจรับรองได้อย่างถูกต้อง เช่น   - การจ้างคนงานยังไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงานขั้นต้น
  - การใช้ที่ดินในชุมชนตามกฎหมายยังไม่มีกฎระเบียบที่ดี
  - การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ประหยัด
 5. จำกัดการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายๆกลุ่มหลายฝ่ายเข้าร่วมออกความคิดเห็นในการจัดทำและพัฒนามาตรฐาน
 6. ข้อกำหนดในมาตรฐานยังขาดความสมบูรณ์ เช่น
  - ความหมายที่ถูกต้องชัดเจนของข้อกำหนด
  - ไม่มีวิธีวัดและตรวจสอบความแม่นยำในการปฏิบัติงาน
  - ไม่อธิบายรายละเอียดที่ครอบคลุมในข้อกำหนด
 7. ยังขาดความเป็นอิสระในการสร้างมาตรฐาน, การควบคุมมาตรฐานของผู้ตรวจฟาร์มและของ CB
 8. ไม่มีการแก้ไขข้อบกพร่องที่ผู้ตรวจสอบให้เกษตรกร/ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไข
  - การตรวจรับรองมาตรฐานไม่ครบตลอดห่วงโซ่การผลิต (ยังมีผู้ปฏิบัติได้น้อย)

 นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีมาตรฐานของ CB ใดที่มีความสอดคล้องอย่างสมบูรณ์กับข้อกำหนดที่ตั้งไว้ จึงควรมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรองและมาตรฐานฟาร์มให้มีประสิทธิภาพและมีความถูกต้องมากขึ้น
 สำหรับการศึกษามาตรฐานและการทำงานของมาตรฐานฟาร์มกุ้งทะเล CoC/GAP ของประเทศไทยนั้น ผลปรากฏว่าของเรายังอยู่ในระดับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 % ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอีกมาก ดังได้สรุปในตารางต่อไปนี้

ข้อกำหนด

รายการ

%คะแนน

ด้านสิ่งแวดล้อม

พลังงาน

อาหาร

น้ำ

การใช้ที่ดินและดิน

ระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ

0

0

22

33

27

 

รวม

17

ด้านสังคม

คนงาน

ชุมชนและสภาพความเป็นอยู่

33

22

 

รวม

28

ด้านความเป็นธรรมต่อสัตว์และด้านสุขภาพ

ความเป็นธรรมต่อสัตว์

โรค, การป้องกันและรักษา

22

33

 

รวม

28

การพัฒนามาตรฐานและกระบวนการตรวจรับรอง

การพัฒนามาตรฐาน

การประเมินความสอดคล้องและความแม่นยำ

ข้อกำหนดของมาตรฐานและห่วงโซ่การผลิต

21

13

17

หมายเลขบันทึก: 254665เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 05:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท