ระบบการรับรองมาตรฐานคุณภาพการผลิตสัตว์น้ำ (Quality Standard in Aquaculture Certification System)


ลิลา เรืองแป้น ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำ กรมประมง Quality Standard in Aquaculture Certification System

ปัจจุบันนี้ระบบการรับรองมาตรฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าจำเป็นจะต้องกำหนดไว้ในข้อเสนอเมื่อต้องการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้า การรับรองมาตรฐานจึงเปรียบเสมือนการรับประกันคุณภาพสินค้าที่ผลิตขึ้นมาจำหน่าย และมาตรฐานที่ว่านี้มีอยู่มากมายหลายระดับตั้งแต่ระดับต่ำที่ผู้บริโภคแทบจะเชื่อถือได้ยาก จนถึงระดับสูงที่ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับ ทั้งนี้ความสำเร็จของการควบคุมมาตรฐานขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมดูแลให้การรับรองมาตรฐานการผลิตและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเป็นหลักสำคัญ

ทำไมต้องมีการรับรองมาตรฐาน : กรณีมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำ
1. การผลิตสัตว์น้ำมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นแฟ้นกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  แรงงาน  และสังคม
2. กระบวนการผลิตสัตว์น้ำมีหลายรูปแบบ : intensive, super intensive
3. แนวคิดในเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจสัตว์น้ำมีมากขึ้น
4. ผู้บริโภคต้องการความปลอดภัย ผู้ผลิตต้องการความยั่งยืนและตัวแทนผู้จำหน่ายสินค้าต้องการความมั่นใจในคุณภาพ  ผู้ประกอบการต้องการความยอมรับจากผู้ซื้อสินค้าเป็นต้น
 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้การทำงานขององค์กรและคณะกรรมการระหว่างประเทศอาทิเช่น FAO, Codex, WHO, GATT และ COFI จึงพยายามสร้างขอบข่ายของกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ากับประเทศที่เป็นผู้นำเข้าและบริโภคโดยเน้นถึง
1. การคุ้มครองผู้บริโภค
2. การคุ้มครองสัตว์และพืช
3. ความเป็นธรรมในการค้าและการประกอบการ
4. ความยั่งยืนของธุรกิจ
 

เนื่องจากในปัจจุบัน มีกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำทั้งของเอกชนและภาครัฐมากถึง 30 มาตรฐาน  ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มาตรฐานอินทรีย์ มาตรฐานทางการค้า การให้ความเป็นธรรมต่อสัตว์  เป็นต้น
 จึงจำเป็นต้องมีข้อตกลงพื้นฐานในการสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศ ดังนี้
1. มีความผสมผสานระหว่างความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
2. มีความโปร่งใส
3. มีความเท่าเทียมกันระหว่างมาตรฐานของผู้ผลิต ส่งออกและผู้นำเข้า ผู้บริโภค
4. ใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์เป็นหลักในการพิจารณา
5. การกระทำที่จำเพาะหรือการใช้ความแตกต่างในการพิจารณา
6. ใช้เทคนิคเป็นเครื่องช่วยในการวิเคราะห์
7. ให้ที่ปรึกษาผู้มีความรู้เฉพาะเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ให้ความคิดเห็น

องค์กร Certification Body (CB)
 หน่วยงานตรวจและรับรองมาตรฐานที่ถูกต้องตามหลักสากลต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง
2. มีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน
3. สามารถกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่อยู่ในโครงสร้างได้
4. มีระบบเอกสารที่ตรวจสอบได้
5. มีงบประมาณกำลังคนตลอดจนทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ
6. จ้างคนทำงานได้อย่างเหมาะสม
7. มีระบบคุณภาพของหน่วยงาน
8. มีกฎระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์
9. อิสระจากการบีบบังคับจากกลุ่มธุรกิจ/ผู้สนับสนุนงบประมาณ
10. คณะกรรมการรับรองมาตรฐานมีอิสระจากการบีบบังคับจากกลุ่มธุรกิจ/ผู้สนับสนุนงบประมาณ

คุณสมบัติของผู้ทำงานในหน่วยตรวจรับรอง
 เจ้าหน้าที่ในหน่วยตรวจรับรอง(Staff of  CB) ที่สมบูรณ์แบบและเป็นที่ยอมรับ ต้องมีคุณสมบัติและมีการปฏิบัติงาน ดังนี้
 1. มีความรู้ความสามารถในหน้าที่และเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจในการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ (Competence)
 2. มีความอิสระในการทำงานตามหน้าที่และแผนที่ตั้งไว้ โดยไม่มีอิทธิพลอื่นๆมาทำให้การทำงานสูญเสียความเป็นอิสระ
 3. มีความมั่นใจในการทำงานและสามารถตัดสินใจในเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบ รวมทั้งต้องสามารถ รักษาความลับ ในเรื่องที่องค์กรต้องการเก็บเป็นความลับ ตามกฎระเบียบของการเป็น CB
 4. คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ใน  CB ต้องเป็นไปตามเอกสารที่ให้ไว้กับองค์กรทุกอย่าง ตามมาตรฐาน ISO Guide 65

มาตรฐานคุณภาพ (Quality Standards)
 การเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานของระบบการผลิตโดยใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพที่ยั่งยืน มีกระบวนการสำคัญที่ต้องดำเนินการดังนี้

มาตรฐานฟาร์มสัตว์น้ำ
 ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจากกรมประมง หรือจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานที่กรมประมงอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินการ(ในอนาคต)
 มาตรฐานฟาร์มของไทยในปัจจุบันมี 3 มาตรฐาน ได้แก่
1) มาตรฐาน จีเอพี (GAP, Good Aquaculture Practices)
2) มาตรฐาน ซีโอซี (CoC, Code of Conduct)
3) มาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำอินทรีย์ (OAS, Organic Aquaculture Standard)
 สำหรับมาตรฐานอื่นๆที่มีหน่วยงานเอกชนต่างชาติสร้างขึ้นมาเพื่อความสะดวกทางการค้าระหว่างลูกค้าในประเทศ กับผู้ส่งออกที่ต้องการส่งสินค้าไปยังประเทศดังกล่าว มีตัวอย่างเช่น
- หน่วยรับรองมาตรฐาน ACC, Aquaculture Certification Council ของประเทศสหรัฐอเมริกา
- หน่วยรับรองมาตรฐาน Global GAP ของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป
- หน่วยรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Naturland (เยอรมัน)
- หน่วยรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Bio Ernte (Austria)
- หน่วยรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Bio Gro (New Zealand)
- หน่วยรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Bio Suisse (Switzerland)
- หน่วยรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ACT
- หน่วยรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลอินทรีย์ของไทย : OAPC, Organic Aquaculture and   
   Product Certification Center

ข้อกำหนดพื้นฐานของฟาร์มมาตรฐานคุณภาพ
 มาตรฐานดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด มีข้อกำหนดพื้นฐานมาจากหลักธรรมสากลในการจัดการฟาร์มอย่างมีความรับผิดชอบ (International Principles for Responsible Shrimp Farming) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของ 6 องค์กรได้แก่ FAO, NACA, UNEP, GPA, WORLD BANK และ WWF และประกาศใช้ในปี 2549 (2006) ซึ่งผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบทุกขั้นตอนของกระบวนการการผลิตตามหลักเกณฑ์ 8 ประการ ดังนี้
หลักเกณฑ์ที่ 1 : สถานที่ตั้งฟาร์ม
หลักเกณฑ์ที่ 2 : การออกแบบฟาร์ม
หลักเกณฑ์ที่ 3 : การใช้น้ำ
หลักเกณฑ์ที่ 4 : การจัดการพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์
หลักเกณฑ์ที่ 5 : การจัดการอาหาร
หลักเกณฑ์ที่ 6 : การจัดการด้านสุขภาพกุ้ง
หลักเกณฑ์ที่ 7 : ผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัย(ต่อตนเองและผู้บริโภค)
หลักเกณฑ์ที่ 8 : มีความรับผิดชอบต่อสังคม

 ในอนาคตอันใกล้นี้เกษตรกรที่มีฟาร์มขนาดเล็กมีความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม (Cluster) ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งดังกล่าว อาจจะอยู่ในรูปแบบต่างกัน 2 ประเภท คือ
 1. ประเภทที่อยู่ในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์
 2. ประเภทที่อยู่ในรูปกลุ่มอิสระ

โดยกลุ่มฟาร์มเกษตรกรดังกล่าวควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
 1) ฟาร์มตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
 2) ใช้น้ำจากแหล่งเดียวกัน
 3) เป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับเดียวกัน
 4) มีความสมัครใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ

 อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรกรทั้ง 2 ประเภทนี้จะต้องมีหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้บริหารกลุ่มที่มีคุณสมบัติเป็นผู้บริหารที่ดี ตามหลัก 8 GMPs และเป็นผู้มีความซื่อตรงเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยหลัก GMPs ซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารฟาร์มคุณภาพ 8 ประการโดยย่อ (อ้างอิงจาก ISO 9001:2000) ดังนี้
 1) ผู้บริหารฟาร์มต้องยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
 2) มีภาวะผู้นำ
 3) การมีส่วนร่วมของบุคคลในฟาร์ม/กลุ่ม
 4) ดำเนินงานเชิงกระบวนการ
 5) มีการบริหารจัดการเชิงระบบ
 6) มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
 7) มีการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อเท็จจริง
 8) สร้างความสัมพันธ์กับผู้ส่งมอบในเชิงผู้เกื้อกูลผลประโยชน์
 
 หลักการบริหารฟาร์มทั้ง 8 ข้อนี้ จะช่วยให้ผู้บริหารฟาร์มทั้งฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หรือกลุ่มฟาร์มสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างทีประสิทธิภาพและยังช่วยให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศมีความยั่งยืนตลอดไป
ประโยชน์ของการร่วมกลุ่ม
1. ง่ายต่อการติดต่อให้ความรู้ด้านข่าวสาร
2. แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
3. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบมาตรฐาน
4. ทำให้ฟาร์มประสบความสำเร็จในด้านการตลาดได้ง่ายขึ้นเนื่องจากสามารถกำหนดผลผลิตตามที่ลูกค้าต้องการได้ง่ายขึ้น


กลุ่มที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ
 1. มีอุดมการณ์และมีจริยธรรม, ซื่อสัตย์ เสียสละ
 2. รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นมีความคิดและวิสัยทัศน์ไปในทางเดียวกัน
 3. มีการพัฒนาร่วมกันและพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีใหม่
     - วิธีเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ
     - ช่วยเหลือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีแก่กันและกัน
     - ยอมรับความคิดเห็นที่ดีของผู้อื่นและนำมาปฏิบัติ
 4. มีการพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่องและพยายามสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วิธีควบคุมคุณภาพภายในกลุ่ม
 - เลือกหัวหน้ากลุ่ม (ถ้ายังไม่มี)
 - ตั้งชื่อกลุ่ม
 - ทำรายการชื่อสมาชิก,ที่ตั้งฟาร์ม,พื้นที่ฟาร์ม,พื้นที่ผลิตและคุณสมบัติอื่นๆ
 - สมัครกับประมงจังหวัด/ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจำจังหวัด/สำนักงาน
    สหกรณ์เพื่อการเกษตร

หลักการสำคัญในการผลิตสัตว์น้ำอินทรีย์
หลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำอินทรีย์มี 4 ประการ ได้แก่

ด้านสุขภาพ
เพื่อสุขภาพของผู้ผลิต/ผู้บริโภค/และคนอื่นๆที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสังคม
- ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิด
- ไม่ใช้สารเคมีที่ไม่อยู่ในรายการอนุญาตให้ใช้
- ไม่ใช้ปุ๋ยสังเคราะห์, ฮอร์โมนสังเคราะห์ และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่สังเคราะห์ทางเคมี
ด้านนิเวศวิทยา
- มีระบบจัดการฟาร์มแบบองค์รวม คงความหลากหลายทางชีวภาพ/ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก นำปัจจัยการผลิตจากภายในฟาร์มมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์
- อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน  และเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 5% ของพื้นที่ฟาร์ม
ด้านความเป็นธรรม
- มีความโปร่งใส เป็นธรรมระหว่างผู้ทำธุรกรรมเจ้าของกิจการกับคนงาน ผู้ผลิตกับผู้ซื้อ ผู้บริโภค
- ปฏิบัติต่อสัตว์ในฟาร์มอย่างมีคุณธรรม 
ด้านการดูแลใส่ใจ
- ไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้มาจากการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs)
- ดูแลใส่ใจในการผลิต/ประกอบการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชนรุ่นหลัง และเพื่อความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรรม

ระยะการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ฟาร์มมาตรฐานอินทรีย์
 ผลผลิตที่เกิดขึ้นในฟาร์มที่อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐานอินทรีย์สามารถรับรองให้เป็นผลผลิตกุ้งอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน ซึ่งใช้เวลาอย่างต่ำ 1 crop. เมื่อเริ่มการจัดการฟาร์มและปรับพื้นที่เข้ามาตรฐานอินทรีย์แล้ว

ขั้นตอนการผลิตสัตว์น้ำทะเลมาตรฐานอินทรีย์
1. การเลือกพื้นที่และการตรวจสอบความเหมาะสม
- อยู่ในแหล่ง ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมี / วัตถุอันตรายทางการเกษตร
- ถ้าเป็นฟาร์มเก่า ทราบประวัติการใช้ประโยชน์ของพื้นที่
- ไม่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าชายเลนประเภทป่าสงวน
- กรณีที่พื้นที่ตั้งอยู่สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต้องนำดินและน้ำในพื้นที่นั้นไปตรวจสอบฟาร์มจะต้องมีระบบป้องกันการปนเปื้อน
2. การวางผังฟาร์มเพื่อกำหนดพื้นที่ใช้สอย
- ทำแผนฝังฟาร์ม/ระบุการประโยชน์พื้นที่ทั้งหมด ทำแนวกันชนระหว่างฟาร์มหรือบ่อ
- การแบ่งสัดส่วนใช้ประโยชน์พื้นที่ฟาร์ม 
  • บ่อเลี้ยง 
  • บ่อพักน้ำ 
  • บ่อบำบัดน้ำทิ้ง
  • พื้นที่ป่าหรือพื้นที่สีเขียว เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่จะทำให้เกิดวัฏจักรของการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารระหว่างดินน้ำ  ไม่ต่ำกว่า 5 % ของพื้นที่ฟาร์มเป็นอย่างน้อย
3.การจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลมาตรฐานอินทรีย์
- การเตรียมบ่อ 
  • ต้องยึดหลักการหมุนเวียนของเหลือในพื้นบ่อมาใช้ประโยชน์วิธีปฏิบัติที่ง่าย 
  • ต้องไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่อยู่ในรายการที่อนุญาตให้ใช้
- การป้องกันและกำจัดพาหะ, ศัตรูของกุ้ง 
  • กำจัดโดยใช้วิธีธรรมชาติ 
  • โดยใช้วิธีคราดออก หรือเพิ่มความลึกของน้ำ 
  • ตัวอ่อนสัตว์น้ำ กำจัดโดยการกรองด้วยอวนตาถี่หลายๆ ชั้น
  • นก ป้องกันโดยการขึงเชือกป้องกันไม่ให้นกบินลงมากินกุ้ง 
  • การใช้ยา/สารที่ไม่อนุญาตให้ใช้ ถือว่าขาดจากความเป็นอินทรีย์

การเตรียมลูกกุ้งคุณภาพและการปล่อยลงเลี้ยง
 - ลูกกุ้งคุณภาพคัดเลือกลูกกุ้งที่มีลักษณะภายนอกที่แสดงความสมบูรณ์แข็งแรง
 - เลือกลูกกุ้งที่ผลิตจากฟาร์มมาตรฐานอินทรีย์ ถ้าไม่มีฟาร์ม ต้องเลือกซื้อจากฟาร์มที่ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ
 - เอกสารกำกับการจำหน่ายลูกพันธุ์ เก็บนำมาแสดงเมื่อต้องการ
 - ความหนาแน่นและอายุของลูกกุ้ง ไม่สูงกว่า 15 ตัว /ลบ.ม ลูกกุ้งระยะ P15 ขึ้นไปจะทำให้มีอัตรารอดสูง 80-90%

การลำเลียงลูกกุ้งต้องแยกเครื่องมืออุปกรณ์ภาชนะสำหรับกุ้งมาตรฐานอินทรีย์กับมาตรฐานอื่นอาหารและการให้อาหาร
 - การเลี้ยงกุ้งมาตรฐานอินทรีย์เน้นการใช้อาหารธรรมชาติหรืออาหารสำเร็จรูปที่ผลิตตามมาตรฐานอินทรีย์
 - ในช่วงเริ่มปล่อยลูกกุ้ง ตามฟาร์มต้นแบบของสุรีรัตน์ฟาร์ม จะไม่มีการให้อาหารสำเร็จรูปแต่ใช้วิธีสร้างอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อ


การควบคุมสภาวะแวดล้อมในบ่อระหว่างการเลี้ยง
 จัดการคุณภาพน้ำและตะกอนเลนพื้นบ่อ ในระหว่างการเลี้ยง เมื่อคุณภาพต่ำลงต้องรีบจัดการปรับปรุง โดยไม่ใช้สารเคมีที่ห้ามใช้หรือใช้สารที่อนุญาตในปริมาณต่ำที่สุดและใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

การจัดการสุขภาพ และการแก้ไขปัญหาเมื่อกุ้งเป็นโรค
 - การใช้สารเคมีที่ไม่อยู่ในรายการหรือใช้ยาปฏิชีวนะรักษากุ้งในบ่อทำให้หมดสภาพของการเป็นอินทรีย์ในบ่อนั้นทันที
 - ห้ามใช้วัคซีนที่ผลิตมาจากกระบวนการดัดแปรพันธุกรรมและห้ามใช้สารเคมีที่ไม่อยู่ในรายการที่อนุญาตให้ใช้
 - เมื่อมีกุ้งตายในบ่อ ห้ามมีการปล่อยกุ้งเสริม

สารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์
 - กากชา หรือ ซาโปนิน
 - โรทีโนน หรือ โล่ติ๊น
 - ไอโอดีน (โพวิโดนไอโอดีน)
 - บีเคซี หรือเบนซัลโคเนี่ยมคลอไรด์
 - คลอรีน
*หมายเหตุ  : การเลี้ยงกุ้งอินทรีย์เป็นการเลี้ยงที่ใกล้เคียงกับระบบธรรมชาติ  จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อหรือการป่วยของกุ้ง 

สุขอนามัยฟาร์มและบุคลากรในฟาร์ม
 - คุณภาพน้ำเข้าและบ่อพักน้ำ
 - ระบบน้ำทิ้งจากฟาร์ม
 - ห้องน้ำห้องส้วม
 - เครื่องมือและอุปกรณ์
 - ที่พักและบริเวณฟาร์ม
 - สุขอนามัยของคนงานในฟาร์ม ควรมีการดูแลใส่ใจสุขภาพของคนงานให้มีความแข็งแรง อนามัยดีทุกคน
 - ขยะมูลฝอย ต้องมีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยและทิ้งให้ในที่กำหนด
 - สัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในบริเวณฟาร์ม ควรมีการจัดการสิ่งขับถ่าย    ของสัตว์เลี้ยงไม่ให้มีอยู่บนคันบ่อ คันคูคลอง
*หมายเหตุ  : สัตว์เลี้ยงการเกษตรอื่นๆ เช่น วัว ไก่ เป็ด สุกร ต้องกำหนดสถานที่เลี้ยงให้อยู่ห่างจากบ่อเลี้ยงและแหล่งน้ำควร เลี้ยงด้วยมาตรฐานอินทรีย์ก็จะดียิ่งขึ้น

การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่ง
 - ต้องปฏิบัติตามหลักการของเกษตรอินทรีย์
 - วิธีการจับและขนส่งที่ดีช่วยทำให้กุ้งมีความสด สะอาด  มีคุณภาพ มีรสชาติดีและปลอดภัยต่อการบริโภค

การเตรียมความพร้อมก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตกุ้ง
 - การตรวจสอบคุณภาพของกุ้งที่เลี้ยงในบ่อเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน
 - เตรียมเอกสารที่จำเป็น MD, FMD, HEALTH CERTIFICATE ใบรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ใบรับรองการไม่มียา / สารตกค้าง
 - เตรียมประสานงานกับผู้ซื้อกุ้งผู้รับจ้างจับกุ้ง
 - อุปกรณ์ที่ใช้จับและขนส่งกุ้งต้องแยกใช้เฉพาะในฟาร์ม/บ่อมาตรฐานอินทรีย์ กับฟาร์มหรือบ่อที่เลี้ยงด้วยมาตรฐานอื่น
 - ในระหว่างการจับกุ้ง ไม่ให้ใช้สารเคมี  หรือสารปรุงแต่งที่ไม่อนุญาตให้ใช้ หรือที่เป็นอันตราย
 - กุ้งที่จับต้องรีบทำความสะอาดแช่ในน้ำแข็งที่สะอาด 

การขนส่งผลผลิตกุ้งอินทรีย์
 - ต้องรักษาอุณหภูมิความเย็น
 - ไม่ควรใช้เวลาขนส่งเกิน 10 ชั่วโมง  
 - การขนส่งต้องแยกภาชนะวัสดุที่ใช้สำหรับ กุ้งอินทรีย์จากกุ้งมาตรฐานอื่น

เอกสารและการบันทึกข้อมูล
 - เอกสาร  ต้องเก็บเอกสารทุกแผ่นที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต ในฟาร์ม MD, FMD ใบเสร็จการซื้อขายอาหาร, ปัจจัยการผลิต ใบรับรองมาตรฐานการผลิตอาหาร ตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่โดยต้องระบุ วัน เดือน ปี  ชื่อห้างร้าน  ลายเซ็น ของผู้มีอำนาจ สั่งจ่าย จำนวนปริมาณสินค้า
 - บันทึกข้อมูลการผลิตในแต่ละรุ่นแยกไว้ให้ชัดเจนเป็นชุดๆ
 - พยายามบันทึกให้เร็วที่สุดหลังจากปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยไม่คั่งค้าง
 - ควรให้ความสำคัญและใส่ใจในการบันทึก

ข้อมูลที่ต้องบันทึก
 ข้อมูลการเตรียมบ่อ เตรียมน้ำ คุณภาพของลูกกุ้ง การจัดการให้อาหาร สุขภาพกุ้ง คุณภาพน้ำและดิน ปัญหาในการเลี้ยง การจัดการด้านสุขอนามัยฟาร์ม วิธีการแก้ไขทุกครั้ง

การเก็บรักษาเอกสารและสมุดบันทึกข้อมูล
 - ควรเก็บรักษาสมุดบันทึกข้อมูลฟาร์มไว้ในแฟ้มโดยจัดระเบียบการเก็บเอกสารเรียงตาม    วันที่ได้รับเอกสารนั้นๆ
 - แฟ้มเอกสารและสมุดบันทึกข้อมูลควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและสะดวกแก่การนำมาใช้    บันทึก และต้องเก็บไว้แสดงเป็นหลักฐานเมื่อผู้ตรวจรับรองฟาร์มต้องการดู

 

ฟาร์มเลี้ยงกุ้งมาตรฐานอินทรีย์ระบบธรรมชาติ
- ควรปล่อยลูกกุ้งขนาดใหญ่ขึ้น ลูกกุ้งกุลาดำ PL 45 อัตราการปล่อยลูกกุ้งเสริมไม่เกิน 10 ตัว/ลบ.ม.
- ปัจจัยการผลิตทุกชนิดต้องมาจากมาตรฐานอินทรีย์ หรือตามข้อยกเว้นที่ให้ไว้ และเก็บเอกสารต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน

ปัจจัยการผลิตที่ใช้เป็นปุ๋ย สารปรับปรุงบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก วัสดุเหลือใช้การเกษตรอื่น ๆ เศษซากพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อย  เปลือกไม้
  - จะต้องมาจากระบบการผลิตมาตรฐานอินทรีย์
  - ถ้ามีการเติมอนินทรีย์สารต้องเป็นสารอยู่ในรายการที่อนุญาตให้ใช้ เท่านั้น
ปุ๋ยคอก
  - มาจากมูลสัตว์ที่เพาะเลี้ยงตามมาตรฐานอินทรีย์ควรใช้เวลาการหมักไม่ต่ำกว่า 60     วัน
  - ทราบแหล่งที่มา ต้องมาจากระบบการผลิตตามมาตรฐานอินทรีย์
ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืชสด วัสดุเหลือใช้ในฟาร์มในรูปอินทรีย์สาร
  - วัสดุต้องมาจากการผลิตมาตรฐานอินทรีย์
  - ต้องทราบแหล่งที่มาของวัสดุ 

การใช้เศษ / ซากเหลือใช้จากกระบวนการในโรงฆ่าสัตว์โรงงานอุตสาหกรรมโรงงานมันสำปะหลัง,โรงงานน้ำปลา
  - ต้องไม่เติมสารสังเคราะห์
  - ทราบแหล่งที่มา
  - มีเอกสารรับรองการผลิต

สารควบคุมการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ที่ปลอดจากสาร
  - มาจากการผลิตมาตรฐานอินทรีย์
  - ทราบแหล่งที่มา

แบคทีเรีย รา และเอนไซม์
  - ไม่เติมหรือเจือปนสารเคมีที่ไม่ได้อนุญาตลงไปในจุลชีพเหล่านั้น
  - ทราบแหล่งที่มา 

 

หมายเลขบันทึก: 254661เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท