ปลาร้าสวายของดีที่น่าลิ้มรส


การผลิตปลาร้าจากปลาหมักเกลือที่ใส่ข้าวคั่วชาวบ้านโดยทั่ว ๆ ไป สามารถแบ่งออกตามชนิดหรือประเภทของเครื่องปรุง เป็น 2 ประเภทได้แก่ ปลาร้าข้าวคั่วและปลาร้ารำ

           

                  ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สำคัญในจังหวัดชัยนาท เป็นอาหารหลักที่ยืนหยัดเคียงคู่ครัวและวิถีชีวิตของชาวชัยนาทตั้งตั้งแต่ครั้งบรรพกาล  ปลาที่ใช้ทำปลาร้าประกอบด้วย  ปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลากระดี่ และปลาสวาย ปลาร้าประกอบด้วย  3  อย่างคือ ปลาที่นำมาทำปลาร้า  อาจจะเป็นปลาสดหรือปลาที่ไม่สด  เกือบจะเน่าก็ได้  รำข้าวหรือข้าวคั่ว  อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ผสมกัน  แล้วแต่ความต้องการ ส่วนผสมอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือเกลือ  การทำปลาร้าโดยทั่วไป  นิยมใช้เกลือเม็ดเนื่องจากจะได้ปลาร้าที่มีรส เค็มพอดี  เมื่อจับปลามาได้จะนำมาทำความสะอาดก่อนทำการขอดเกล็ดเอาขี้ออก  ล้างน้ำให้สะอาด  และทิ้งให้สะเด็ดน้ำ  นำเกลือที่เตรียมไว้ในสัดส่วนระหว่างปลากับเกลือ  3 :  1 ตามปริมาณ เช่นปลา 3 ถ้วยจะใช้เกลือ 1 ถ้วย  โดยบีบตัวปลาไปด้วยจะช่วยทำให้เกลือจะดูดซึมเข้าไปในเนื้อปลาได้ดีขึ้น   แล้วใส่รำคั่วหรือข้าวคั่วผสมคลุกเคล้ากัน  ปลาร้าที่ใส่ส่วนประกอบทั้งรำและข้าวคั่วในปลาที่คลุกเกลือจะหอมและอร่อยมากกว่าแบบอื่น    ผู้ที่ทำปลาร้าเป็นประจำจะรู้สึกว่าการผสมปลาและเกลือพอดีหรือไม่ด้วยความรู้สึกจากการบีบตัวปลาด้วยมือ  เพราะถ้าอัตราส่วนผสมพอดีตัวปลาจะแข็ง  ไม่เละ  ถ้าตัวปลาเหลวและไม่แข็งพอก็อาจโรยเกลือเพิ่มลงไปจนพอดี  ส่วนข้าวคั่วจะทำจากข้าวเปลือกคั่วจนเหลือง  ปล่อยให้เย็นก่อนแล้วตำ  เอามาคลุกกับปลาและเกลือ  เมื่อผสมปลาและเครื่องประกอบต่าง    แล้ว  เอาปลาใส่ลงไหที่ล้างสะอาดและแห้งแล้วให้เต็ม  จนถึงขอบวงล่างของไห  แต่ไม่ล้นจนถึงขอบบน  แล้วใช้พลาสติกหรือวัสดุอื่นปิดฝาเพื่อกันไมให้แมลงวันลงไปในไห  การหมักจะหมักไว้จนมีน้ำเกลือท่วมปลาในไหและตัวปลาจะเป็นสีแดงกว่าเดิม  แสดงว่าเป็นปลาร้าแล้ว  ระยะเวลาการหมักประมาณ  4  สัปดาห์เป็นต้นไป แต่ระยะที่เหมาะสม  ควรจะหมักไว้นาน  12-24  สัปดาห์หรือนานกว่านั้นก็ได้  บางคนกล่าวว่า  ปลาร้ายิ่งหมักไว้นานยิ่งดี   หมักครบหนึ่งปียิ่งหอมอร่อย

นางบุญเลิศ  ช้างอยู่ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัดคงคาราม  ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท  กล่าวว่า ได้รวบรวมสมาชิกจำนวน 14 คน  ส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก   จัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวัดคงคาราม กับสำนักงานเกษตรอำเภอสรรพยาเมื่อปี 2538 ดำเนินกิจกรรมสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกันเพื่อสร้างรายได้เสริม เช่นน้ำพริกแกง  น้ำพริกนรก และขนมกง  ต่อมาได้พัฒนาทำปลาร้าจากปลาสวายทอดจำหน่าย แต่พบปัญหาปลาร้าปลาสวายที่ซื้อมาจากท้องตลาดมีรสชาติไม่ได้มาตรฐาน จึงซื้อปลาสวายที่จับได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเนื้อปลาไม่มีกลิ่นเหมือนปลาเลี้ยงที่ไม่ได้รักษาความสะอาดบ่อจนบ่อมีกลิ่นเหม็นตม  จากการนำปลาสวายจากแม่น้ำมาผลิตเป็นปลาร้าจำหน่ายจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค จึงได้ผลิตเป็นประจำ แต่จะผลิตครั้งละไม่มากประมาณครั้งละ 50  กิโลกรัม  การจำหน่าย ปลาร้าราคา 70 บาท หรือนำมาแปรรูปเป็นปลาร้าทอดราคา  25 บาท/กล่อง จำหน่ายตามตลาดนัดในท้องถิ่น หรือมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปจำหน่ายต่อ

 การผลิตปลาร้านั้น  โดยทั่วไปการผลิตปลาร้าจากปลาหมักเกลือที่ใส่ข้าวคั่วชาวบ้านโดยทั่ว  ๆ ไป สามารถแบ่งออก

ตามชนิดหรือประเภทของเครื่องปรุง เป็น  2  ประเภทได้แก่  ปลาร้าข้าวคั่วและปลาร้ารำ ในส่วนของปลาร้าปลาสวายจะมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อยคือ จะเลือกปลาที่สดนำมาชำเหละเป็นชิ้นตามขวางล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้แห้งสะเด็ดน้ำ ตำเกลือให้ป่น(ควรใช้เกลือเม็ด เนื่องจากเกลือป่นจากท้องตลาดนำมาใช้แล้วปลาจะเน่า)  นำเกลือป่นคลุกเคล้ากับเนื้อปลา หมักไว้ 1 คืน ในถาชนะพลาสติกหรือไห ปิดฝาให้มิดชิด ก่อนนำมาผึ่งให้แห้งอีกครั้ง เพื่อคลุกเคล้ากับข้าวคั่วแล้วนำลงหมักอีกครั้งเป็นระยะเวลา 3 วัน จึงจะสามารถนำไปทอดเป็นอาหารปลาร้าปลาสวายทอดที่มีรสชาติดี แต่ถ้าหมักไว้นานเกินไปจะมีกลิ่นแรง แต่ถ้าหมักไว้ไม่ถึง 3 วันจะมีกลิ่นเหม็นคาว

หมายเลขบันทึก: 252653เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าอร่อย

แต่เสียดายจัง เราไม่กินปลาร้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท