ปี่พาทย์อยุธยา 14


ปี่พาทย์อยุธยา 14

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๑๔ : ปี่พาทย์ประกอบพิธีบวชนาคปัจจุบัน

……………………………………..

          ชาติต่าง ๆ ย่อมมีประเพณีประจำชาติของตน  และถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ หากประเพณีนั้นเป็นของดีอยู่แล้ว ก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่เหมาะสมก็อาจถูกปรับเปลี่ยน ตัดทอนหรือเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับยุคสมัยโดยเฉพาะสภาพปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ การเลื่อนไหลของประเพณีวัฒนธรรม เป็นไปอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน อย่างไรก็ตาม ประเพณีย่อมมีส่วนส่อสะท้อนถึงค่านิยม แนวคิด ความเชื่อศรัทธาที่ยังคงหรืออยู่หรือเปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

          ประเพณีอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นแบบแผนและยังคงกระทำอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบันคือ ประเพณีการบวชนาค  การบวชนาคในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่โดยสาระสำคัญยังคงปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั้งหมด คือ  การติดต่อพระอุปปัชฌาย์ กำหนดนัดหมายวันและพิธีการการฝึกซ้อม ปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีบวช การเตรียมของใช้และการลาบวช นอกจากนี้ยังมีประเพณีนิยมที่มักกระทำในการบวชนาคประการหนึ่งคือ  การทำขวัญนาค

          การทำขวัญนาค เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการคือ  นาค หมอทำขวัญนาค บายศรี เครื่องประกอบพิธี และการดำเนินขั้นตอนการทำขวัญนาคเริ่มจากการกล่าวชุมนุมเทวดา  การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และครูบาอาจารย์ การอธิบายการเกิดและพระคุณของบิดามารดา การบรรยายตำนานนาค การสะท้อนให้ตระหนักในประโยชน์ และแนวประพฤติตนขณะบวช  การชมบายศรี และสอนหลักธรรมการเชิญขวัญและการเวียนเทียน เป่าขวัญ องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอรรถรส และความพึงพอใจต่อการทำขวัญนาค ซึ่งปัจจุบันได้ประดิษฐ์ทำนองเพลงให้แปลกใหม่หลากหลายกว่าเดิม ที่ใช้ทำนองแหล่ธรรมวัตรและแหล่ นับว่าพิธีทำขวัญนาค เป็นส่วนหนึ่งของพิธีบวชนาคที่ผสมกลมกลืนกันทั้งในส่วนเนื้อหาสาระและดนตรีในฐานะส่วนประกอบพิธีกรรม

          ในอดีต พิธีกรรมการบวชนาค เป็นพิธีที่วงปี่พาทย์ไทย มีบทบาท มีส่วนร่วม ในการทำหน้าที่บรรเลงประกอบพิธีเป็นขั้นตอน มีรูปลักษณ์ ที่กำหนดเพลงบรรเลง โหมโรงเย็น โหมโรงเช้า เพลงเรื่อง เพลงช้า เพลงเร็ว ถือปฏิบัติกันสืบทอดต่อมาในกลุ่มนักดนตรีให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ปฏิบัติเรียนรู้ กันมาอย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญของเทคโนโลยี และการรับวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ปี่พาทย์ดนตรีประกอบพิธีกรรมเดิมค่อย ๆ จางหาย ไป แตรวง เข้ามามีบทบาทบมากขึ้น ด้วยเพิ่มสีสันสอดรับความนิยมของผู้บวชซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งยังแห่แหนให้ความสนุกสนานเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนทุกวัย วัฒนธรรมดนตรีเดิมค่อย ๆ ห่างหายไป

ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นแหล่งดนตรีไทย มีสังคมของคนดนตรีกระจายอยู่ทั่วไป จึงยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ปี่พาทย์ในการแทรกตัวเข้าไปมีบทบาทได้บ้าง แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยจนแทบขาดใจ แต่ต้องยอมรับสภาพ  บางโอกาสทำหน้าที่ได้เต็มที่ แต่บางโอกาสวงปี่พาทย์ทำหน้าที่เพียงบรรเลงประกอบพิธีทำขวัญนาค  โดยมีรูปแบบการบรรเลงที่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ดังนี้

          วันแรกของการประกอบพิธีบวช ที่เรียกว่า วันสุกดิบวงปี่พาทย์ ที่ทำหน้าที่บรรเลงประกอบพิธี เริ่มบรรเลง เพลงโหมโรงเย็น  เพลงเรื่อง  เพลงช้า เพลงเร็ว (ตามแต่นักดนตรีจะร่ำเรียนมา) ประกอบพิธี จนเมื่อมีพิธีการรับนาคที่มักทำการแห่นาคจากวัดมาบ้านมีขบวนแห่สนุกสนานรื่นเริง  เมื่อนาคถึงบ้าน ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกลม รับนาค เมื่อพร้อมทำพิธีอาบน้ำญาติผู้ใหญ่ และสรงน้ำนาค ปี่พาทย์บรรเลงเพลง ลงสรง

          เมื่อเวลาเย็นมีพิธีสวดมนต์เย็น ขณะพระสงฆ์มาถึงบ้าน ปี่พาทย์บรรเลงเพลงรับพระ ครั้นพระสงฆ์สวดมนต์เรียบร้อยแล้ว ปี่พาทย์บรรเลงเพลงส่งพระ โดยบรรเลงเพลงกราวใน เชิด เป็นอันเสร็จพิธีสวดมนต์เย็น  เตรียมกระทำพิธีทำขวัญนาคต่อไป

 

                                                           พิธีทำขวัญนาค

 

          พิธีทำขวัญนาค จะจัดมณฑลพิธี โดยมีบายศรีและเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมกับหมอขวัญ บรรดาญาติมิตรที่เคารพนับถือมาประชุม ณ มณฑลพิธี นาคผู้รับการทำขวัญแต่งตัวสะอาดสวยงาม  มาหมอบอยู่ใกล้บายศรี ผู้ทำขวัญเริ่มพิธี โดยทำนองทำขวัญตามแบบแผน ดังนี้

          บูชาพระรัตนตรัย         เพลงประกอบ   เพลงสาธุการ

          การเชิญเทวดา            เพลงประกอบ   เพลงสาธุการ เพลงร้อง ๒ ชั้น ตามแต่

หมอขวัญจะประดิษฐ์คำร้อง (เช่น เพลงเขมร

ปากท่อ เพลงสละบุหร่ง เพลงเชื้อ เพลงปีน

ตลิ่ง เพลงเวสสุกรรม เพลงครอบจักรวาล(เป็นต้น)

          ปฏิสนธิ,แพ้ท้อง, คลอด  เพลงประกอบ   หมอขวัญจะประดิษฐ์คำร้องเป็นแหล่ทำนอง

ธรรมวัตร หรือขับร้องเพลงทำนอง ๒ ชั้นตามความถนัด)

          กล่อมนาค                 เพลงประกอบ   หมอขวัญประดิษฐ์คำร้องเพลงตามความถนัด

          นามนาค, เห่สำเภา       เพลงประกอบ   หมอขวัญร้องเพลงแหล่  โล้สำเภา นิยมใช้

เพลงกราวนอก

          เปิดบายศรี, เวียนเทียน เพลงประกอบ   ปี่พาทย์บรรเลงเพลงนางนาค  เรื่องทำขวัญ

หรือ เรื่องเวียนเทียน

          ดับเทียน                  เพลงประกอบ   เพลงรัวสามลา

                                                          เพลงกราวใน เชิด (เวลาป้อนอาหาร เช่น

มะพร้าวอ่อน ไข่  เป็นต้น)                 

เสร็จพิธีทำขวัญนาค

 

วันรุ่งขึ้นเป็นวันอุปสมบท ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโหมโรงเช้า ตามแบบแผนการบรรเลงปี่พาทย์ไทย  จนถึงพิธีการแห่นาคไปอุปสมบท  จะมีผู้ถือเครื่องอัฐบริขาร  พร้อมบาตร ไตร ขณะที่แห่นาคไปวัดนี้  ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกลมไปจนถึงวัด ซึ่งสมมุติว่า มีเทพยดาผู้สูงศักดิ์ร่วมไปในขบวนด้วย 

          ขณะปทักษิณรอบอุโบสถ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกลมไปจนกระทั่งนำนาคเข้าโบสถ์ เมื่อพระอุปัชฌาย์ได้ประกอบกิจกรรมเรื่องอุปสมบทแก่นาค จนถึงได้ครองผ้า ตอนครองผ้านี้ปี่พาทย์บรรเลงเพลง สาธุการ  แล้วพระอุปฌาย์และคู่สวดจะดำเนินพิธีกรรมในเรื่องอุปสมบทต่อไปจนจบสิ้น  เมื่อถวายสิ่งของแก่พระภิกษุเสร็จแล้ว พระภิกษุบวชใหม่ออกจากโบสถ์ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกราวรำ เป็นเสร็จพิธี

          บทบาทของวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่ในพิธีกรรมบวชนาค ตามขั้นตอนต่าง ๆ อย่างผสานเหมาะสมกลมกลืน มีความหมายแฝงไว้ ตั้งแต่แรกเริ่มจนจบ ไม่ว่า จะเป็นเพลงโหมโรง ที่แสดงพลังของงานบุญ เพลงเรื่อง  เพลงช้าเพลงเร็ว ที่กรอดบรรยากาศให้กรุ่นด้วยความสง่างาม ด้วยเอกลักษณ์ที่วงดนตรีประเภทอื่นไม่สามารถทำได้นิ่มนวลสวยงามเท่า  โดยเฉพาะการบรรเลง ประกอบพิธีทำขวัญนาค  แม้ว่าการทำพิธีบวชนาค จะมีประโยชน์อย่างไรก็ตาม ในสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พิธีกรรมถูกรวบรัด ตัดตอน ให้สั้นลงกระทำให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีกรรมจึงถูกตัดทอนลง  เช่น การอาบน้ำผู้ใหญ่ การอาบน้ำนาค (เพื่อประโยชน์ในการรวบรัดเวลา) การทำขวัญนาค (ลดความฟุ่มเฟือย)  ส่งผลให้วงดนตรีปี่พาทย์ที่เคยทำหน้าที่ควบคู่อย่างเหมาะสมที่สุด ต้องพลันได้รับผลกระทบอย่างช่วยไม่ได้  เพลงพิธีกรรมทั้งหลายที่เคยใช้ห่างหายไปจนหาฟังได้ยาก ทั้งเพลงเรื่อง เพลงพิธีกรรมอื่น ๆ

          ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อชาวดนตรีปี่พาทย์ในหลายมิติ ทั้งมิติของผู้รับจ้าง รายได้จากส่วนนี้หมดไป มิติของการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคม ยามใดมีผู้ติดต่อไปบรรเลงในพิธีบวชนาค กลับดูเหมือนเป็นสิ่งแปลก ครางแครงใจ ที่นักดนตรีรุ่นใหม่ได้รับ  มิติของผู้สืบทอดดนตรี ไม่ถนัดกับเพลงโหมโรง เพลงเรื่องไม่เคยบรรเลง กริ่งเกรงกับการทำหน้าที่รับร้องหมอทำขวัญ  สิ่งที่ไม่ได้ใช้ เหล่านี้ นับวันจะเล็ก ลีบ ใช้การไม่ได้  และหายไปในที่สุด

 

         

 

         

         

 

หมายเลขบันทึก: 252511เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากสำหรับสิ่งดีดีที่นำมาฝาก

เข้ามาเยี่ยมชม blog ของนายกนก ต้องชื่นชมว่ามีความมานะพยายามมากค่ะ อ่านแล้วได้ความรู้ดีดีค่ะ

วิเชียร จั่นบำรุง

ของดี ๆ อย่างมีสาระแบบนี้ ควรที่จะได้มีการ ตีฆ้อง ร้องเป่า ให้ดัง ๆ ชาวประชาในราชอาณาจักร จะได้สดับรับรู้อย่างทั่วหน้า เราขอสนับสนุน และขอบใจท่านที่ได้ให้วิทยาทาน ในครั้งนี้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท