ปี่พาทย์อยุธยา 13


ปี่พาทย์อยุธยา 13

วิถีวัฒนธรรมปี่พาทย์อยุธยา ๑๓ : ความเชื่อของชาวดนตรีปี่พาทย์

กนก   คล้ายมุข

………………………………….

             ความเชื่อ หมายถึง ความเห็นด้วย ความนับถือ การยอมรับนับถือ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของสังคม  สมองมนุษย์มีความสามารถโดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง  คือ มีความคิดคำนึง  สามารถวาดภาพจากจินตนาการ เมื่อเกิดความสงสัยในความลึกลับซับซ้อนของธรรมชาติ ก็ใช้ความคิดคำนึงนั้นเป็นเครื่องอธิบาย คำอธิบายอันเกิดจากความคิดคำนึงของมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นความเชื่อที่มอบให้แก่คนรุ่นหลังต่อมามิได้ขาดสาย  จนกว่าจะเกิดการค้นคว้าให้เห็นจริงเป็นอย่างอื่น แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กว้างขวางขึ้นก็ตาม แต่ความเชื่อของมนุษย์ก็หาหมดไปโดยสิ้นเชิงไม่

   ดนตรี เป็นศาสตร์ ๆ หนึ่งที่ประชากรของสังคมนี้ยังมีความเชื่อที่ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันต่อมา คติความเชื่อของชาวดนตรีปี่พาทย์ มีทั้งการแสดงออกของความเชื่อ ในลักษณะที่เป็นการสร้างสิ่งสมมุติขึ้น เช่น ผีสาง เทวดา  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ หรืออาจแสดงในรูปข้อห้าม ข้อนิยมต่าง ๆ ตลอดจนคำสั่งสอน ดังนั้น ความเชื่อจึงมีความสัมพันธ์กับวิถีปฏิบัติ ของชาวดนตรีปี่พาทย์อย่างใกล้ชิด และปรากฏออกมาในรูปของพฤติกรรมในชีวิถีชีวิต  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า  ความเชื่อเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและพัฒนาการของคนในสังคมดนตรีปี่พาทย์

   เนื่องจากความเชื่อส่วนใหญ่ เป็นสิ่งที่ได้รับการการอบรมสั่งสอน และตกทอดมาจากคนรุ่นก่อน  ความเชื่อนั้น ๆ จึงมีผลต่อพฤติกรรมและความคิดของคนในยุคต่อมา แต่ความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและการศึกษา  ความเชื่อของชาวดนตรีปี่พาทย์ที่ยังคงพบเห็น มีดังนี้

 

. ความเชื่อเกี่ยวกับเสนียดจัญไรและอาถรรพ์

.๑ เชื่อว่าการข้ามเครื่องดนตรี เป็นการกระทำที่อัปรีย์ จัญไร จะเข้าตัวผู้กระทำ  ความเชื่อในลักษณะนี้ยังเป็นความเชื่อที่ยังถือปฏิบัติกันอยู่มาก แม้ว่าจะเสื่อมคลายไปบ้าง ตามสภาพความเสื่อมของการได้รับการอบรมสั่งสอนในด้านมารยาทไทย ด้วยวัฒนธรรมไทยไม่นิยมแสดงกิริยาอาการข้าม จนมีสำนวนกล่าวว่า ไม้ล้มอย่าข้ามเป็นต้น

.๒ เชื่อว่าไม่ควรตีตะโพนเล่น จะทำให้เกิดอาการจุก หรืออื่น ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า กลองประเภท ตะโพนไทย เป็นตัวแทนของเทพเจ้า คือพระปรคนธรรพ จึงไม่ควรที่จะแสดงในสภาพการเล่นที่ไม่แสดงความเคารพ

.๓ เชื่อว่า น้ำล้างหน้าตะโพนมอญ จะทำให้นักดนตรีเกิดความมั่นใจมากขึ้น ความเชื่อในสิ่งนี้ นักดนตรีจะใช้ในเวลาที่มีเด็กที่เริ่มฝึกหัดดนตรี แต่ไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจ ครูดนตรีจึงทำพิธีดื่มน้ำล้างหน้าตะโพนมอญ ด้วยคติที่ว่าตะโพนมีหนังหนา เมื่อดื่มแล้วจะทำให้ความอาย ความกังวลน้อยลง (หน้าหนาขึ้น)

.๔ เชื่อว่าห้ามนำประโพนมอญตากแดด หรือนำมาเคาะเล่น จะทำให้มีคนตาย เป็นความเชื่อของกลุ่มนักดนตรีส่วนน้อย


          .๕ เชื่อว่าไม่ควรนั่งหรือนอนให้เท้าชี้ไปทางเครื่องดนตรี  เป็นการแสดงกิริยาที่ไม่สุภาพ  คนไทยไม่นิยมแสดงอาการต่าง ๆ โดยใช้เท้า  ด้วยมีค่านิยมที่เห็นว่าเท้าเป็นของต่ำ มีสำนวนหลาย ๆ สำนวนแสดงถึงความต่ำของเท้า อาทิ ตาต่ำเหมือนตาตุ่มหรือ เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าเป็นต้น

 

. ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ

.๑ ความเชื่ออำนาจของครู

นักดนตรีมักได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความเคารพครู เปรียบครูเสมือนพ่อแม่คนที่สอง ด้วยเป็นบุคคลที่ทำการอบรมสั่งสอน ให้วิชาความรู้เพื่อสามารถนำไปใช้หาเลี้ยงชีพได้ การแสดงความเคารพครูจึงกระทำทั้งครูที่สอนปัจจุบันและครูผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การกล่าวคำไหว้ครูจึงมักเอ่ยนาม ถึงครูท่านต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมสืบทอดวิชาความรู้กันต่อ ๆ มา และเชื่อว่า การแสดงความเคารพครูเหล่านี้  จะสมารถช่วยดลบันดาลสิ่งที่ประสงค์ ต้องการ ในทางดนตรีให้สำเร็จลุล่วงได้

.๒ ความเชื่ออำนาจของเทวดา

เทวดา นับเป็น สมมุติเทพที่นักดนตรีปี่พาทย์ มีความเชื่อในอำนาจที่จะช่วยดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้ตามที่ปรารถนา โดยจัดไว้ในพิธีไหว้ครูดนตรี ดังนี้

          ..๑ พระอิศวร เทพเจ้าผู้สร้างโลก  มีกายสีขาว มีหน้า ๑ หน้า ๔ มือ มงกุฎน้ำเต้าหรือมงกุฎเทริดน้ำเต้ากาบ  มีพระอุมาวดีเป็นพระมเหสี และพระมเหศวรี เป็นมเหสีองค์ที่ ๒ มีเทวโอรส ๒ พระองค์ คือ พระขันทกุมาร และพระคเณศร์ แต่ในเรื่องรามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ กล่าวว่ามีโอรส    พระองค์ คือ พระขันทกุมาร พระพิเนส และพระนาย

          ..๒ พระนารายณ์  เป็นเทพเจ้าผู้รักษาความดี กายสีดอกตะแบก(ชมพูอมม่วง) มี  ๑ หน้า ๔ มือ ยอดมงกุฎชัย  มีพระลักษณมีเทพี เทพเจ้าแห่งลาภและความดีเป็นพระมเหสี

          ..๓ พระพรหม เป็นเทพเจ้าแห่งพรหมวิหาร มีสีขาว  มี ๔ หน้า ๘ มือ หน้า ๒ ชั้น มงกุฎชัยหรือมงกุฎเทริดน้ำเต้ากลม พระมเหสีทรงพระนาม  สุรัสวดี  ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการศึกษา

          ..๔ พระวิสสุกรรม เทพเจ้าองค์นี้เรียกชื่อต่างกัน เช่น พระวิศวกรรมบ้าง พระวิษณุกรรมบ้าง พระพิษณุกรรม หรือพระเพชรฉลุกรรม  เป็นเทพเจ้าแห่งดุริยางค์  มีกายสีเขียว ๑ หน้า ๒ มือ  หัวโล้น เขียนลายดอกไม้ทอง  เป็นนายช่างใหญ่ของเทวดา  เป็นเจ้าแห่งช่างทุกประเภท เช่น เขียน ปั้น หล่อ  ก่อสร้าง

          ..๕ พระปัญจสีขร เทพเจ้าองค์นี้เดิมเป็นมนุษย์  เป็นเด็กเลี้ยงโค ไว้ผม ๔ แหยม เป็นผ้ที่มีใจเลื่อมใสศรัทธาในทางกุศลสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หลายอย่างเมื่อตายไปจึงไปเกิดเป็นเทพบุตจรในชั้นจาตุมหาราช  มีชื่อว่า ปัญจสิคนธัพพเทพบุตรมีมงกุฎ ๕ ยอด  มีร่างกายเป็นสีทอง มีกุณฑล มี ๑ หน้า ๔ มือ ทรงอาภรณ์นิลรัตน์  ทรงภูษาสีแดง  มีความสามารถในเชิงดีดพิณ และขับลำนำเป็นเลิศ จนเป็นที่โปรดปรานของพระสมณโคดมพุทธเจ้า  ถึงกับทรงอนุญาตให้เฝ้าได้ทุกเวลา  เป็นเทพเจ้าแห่งวิชาการดนตรี


 

          ..๖ พระปรคนธรรพ เป็นยอดของเทพคนธรรพ์ ร่างกายมีสีขนวนเป็นทักษิณาวรรต  มงกุฎชฎายอดฤาษี หรือยอดกะตาปาสีเขียวใบแค เป็นเทพเจ้าแห่งวิชาการดนตรี

          ..๗ พระฤาษี มีทั้งหมด ๓๕ ตน มีชื่อต่าง ๆ กัน พระฤาษีที่นักดนตรีมีความเชื่อ นิยทมในการกราบไหว้ บูชา มีชื่อว่า พระพรตฤาษีผู้ซึ่งได้รับเทวโองการจากพระพรหมผู้สร้างโลก ให้นำศิลปะการรำท่ารำศิวนาฏราช มาบังเกิดในโลกมนุษย์ ถือได้ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะด้วย

          ..๘ พระคเนศร์ เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ  มีกายสีแดงสัมฤทธิ์ มีหน้าเป็นช้าง  มี ๔ มือ มงกุฎทรงเทริดน้ำเต้ากลม เป็นโอรสของพระอิศวรกับพระอุมา

          ..๙ พระพิราพ เป็นอสูรเทพบุตร  กายสีม่วงแก่ มี ๑ หน้า ๒ มือ หัวโล้น (พิราพเดินป่า) มีกายเป็นวงทักขิณาวัฎ พระพิราพทรงเครื่อง ทรงมงกุฎยอดเดินหน

การแสดงความเคารพเทวดา  นักดนตรีจะกล่าวคำแสดงความเคารพ อาทิ

“…นะโมนมัสการ  ข้าจะขอกราบการ  พระชินสี  ยอกรขึ้นเหนือเกล้า  ประนมเหนือ

ดุษฎี  คุณท่านปกเกศี  ทุกค่ำเช้าเพรางาย  หนึ่งจะไหว้พระอิศวร และพระนารายณ์ ไหว้เทวดาทั้งหลาย ไหว้ทั้งบิดาและมารดา  ไหว้ครูและอาจารย์  ที่ท่านได้สั่งสอนมา จนถึงทุกวันนี้…”

                   “…นะโมนมัสการ  ไหว้เทพผไททั้งสามพระองค์   ไหว้พระเพชรฉลูกรรณผู้ทรงฤทธิ์ ท่านได้ประสิทธิ์ประสาทเครื่องเล่น  สิ่งสารพันในใต้หล้า  อีกทั้งท่านเทวดา ปัญจสิงขร  ท่านท้าวกางพระกรถือพิณ ดีด ลือลั่น ดังสนั่นเสนาะ อีกทั้งพระประคนธรรพคุณครูเฒ่า  พระคุณนั้นเล่า  สืบสืบกันมา จนทุกวันนี้…”

                   “…ข้าขออัญชุลี  อัญเชิญพระฤาษีทั้งแปดตน  จงมาอายพรชัยยะมงคล ไต้เท้าทั้งผอง  สิริสิทธิติเตโชชัย ด้วยมงคล  ขอเชิญเทวะทุกสถานเบื้องบน มาสถิตทุกสถาน  กันเสนียดและจัญไร  สรรพทุกข์  สรรพโศก สรรพโรค  สรรพภัย  อุปปัทวะอันตรายใด ๆ วินาศสันติ…”

เป็นต้น

.๓ ความเชื่อเกี่ยวกับผี  เป็นความเชื่อที่ยังมีนักดนตรีกระทำ โดยนิยมไหว้ผีบ้านผีเรือน กระทำหลังจากเคารพครูอาจารย์แล้วจะทำความเคารพผีเจ้าของสถานที่ ด้วย หรือแม้ในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย จะมีการแบ่งเครื่องสังเวยส่วนหนึ่ง ใส่ยอดใบตองนำไปวางไว้ที่บันไดบ้าน ๑ ที่ ทางสามแพร่ง ๑ ที่ และในห้องเรือน ๑ ที่ เพื่อเซ่นผี

 

. ความเชื่อเรื่องกรรมและอานิสงฆ์ผลบุญ

          ด้วยดนตรีไทยเป็นศิลปะของคนไทยที่อยู่คู่กับศาสนาพุทธ ศาสนาประจำชาติ มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันแนบแน่น พิธีกรรมทางศาสนาล้วนแต่ต้องมีดนตรีไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง  อีกทั้งคนดนตรีปี่พาทย์ส่วนใหญ่ เป็นพุทธศาสนิกชนทั้งสิ้น  กิจกรรมของดนตรีไทย ที่เป็นวัฒนธรรมของตนเอง ก็มีกิจกรรมทางศาสนาพุทธเข้ามีเกี่ยวข้อง อาทิ พิธีไหว้ครูดนตรีไทย นักดนตรีจะจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่บูรพาจารย์ทางดนตรีก่อน เป็นต้น กิจกรรมที่คนดนตรีปี่พาทย์กระทำเพื่อทดแทนบุญคุณครู จึงเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องกรรม และอานิสงฆ์ของผลบุญ เช่น

.๑ เงินกำนลที่ได้จากการตั้งกำนลบูชาครู นักดนตรีจะนำไปใส่บาตรเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ครูผู้ล่วงลับ 

.๒ ผ้าขาวที่ได้จากการบูชาครูในวงปี่พาทย์มอญ ในอดีตจะนำไปย้อมสีกลัก เพื่อถวายเป็นผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ครูผู้ล่วงลับ เป็นต้น


                                                          เป็นต้น

                                                          ผ้าขาวบูชาครู

 

. ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์

.๑ ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ เป็น

ความเชื่อที่อาศัยการคำนวณทิศทาง โดยเชื่อว่าทิศทางของดวงดาวจะมีผลต่อชีวิตมนุษย์  ในเวลาที่จะทำการมงคลหรือการออกเดินทาง มักนิยมดูฤกษ์ยามก่อน ปี่พาทย์มีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม เช่น การกำหนดฤกษ์ยามในการประกอบพิธีกรรมต่างทางดนตรี เช่นพิธีไหว้ครูดนตรีไทย การกำหนดฤกษ์ยามในการเคลื่อนย้ายเครื่องดนตรีในคราวที่ต้องประชันวง เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อในการตั้งเครื่องดนตรี ในโอกาสแสดงดนตรี ประชันวง มักเลือก แข่งขัน พยายามที่จะอยู่ทางขวามือของคู่ต่อสู้ หรือการตั้งเครื่องดนตรีทางขวามือของเวทีการแสดง เป็นต้น

.๒ ความเชื่อเรื่องวันครู  พิธีไหว้ครูดนตรีไทย วงปี่พาทย์ ส่วนมากยังถือปฏิบัติโดยประกอบ

พิธีในวันพฤหัสบดี เพราะยังยึดขนบประเพณีเดิมว่า วันพฤหัสบดี เป็นวันครู แต่ก็มีวงปี่พาทย์บางคณะ เริ่มเปลี่ยนแปลง วันไหว้ครูเป็นวันอาทิตย์  โดยให้เหตุผล ที่ประกอบพิธีไหว้ครูวันอาทิตย์ เนื่องจากสะดวก เพราะ รับราชการ หากทำพิธีในวันพฤหัส ต้องหยุดงาน ทำให้ไม่สะดวก จึงเปลี่ยนแปลง โดยไหว้วันอาทิตย์แทน 

 


นอกจากการให้ความสำคัญ   ในการประกอบพิธีไหว้ครู   ในวันพฤหัสบดีแล้ว  วงปี่พาทย์ส่วนใหญ่ยังยึดถือตามความเชื่อทางจันทรคติในช่วงเวลา ข้างขึ้น เดือน ๙ ด้วย เพราะเชื่อว่า การประกอบพิธีไหว้ครู ในวันครู ข้างขึ้น เดือน ๙ แล้ว จะทำให้การประกอบอาชีพด้านปี่พาทย์มีแต่ความสุขความเจริญ ข้างขึ้น เชื่อว่า ทำให้ทำมาค้าขึ้น เดือน ๙ เชื่อว่า ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า  แต่วงปี่พาทย์ที่ไม่สะดวกหรือติดขัด อาจเปลี่ยนแปลงวันเวลาได้อีก  โดยประกอบพิธีใน ช่วงเวลาข้างขึ้น เดือนที่เป็นเดือนคู่ เช่น เดือน ๖ หรือ เดือน ๑๒ มักไม่นิยมเดือนที่เป็น เดือนคี่

ความเชื่อ ยังเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีที่นักดนตรีปี่พาทย์ ยังยึดถือปฏิบัติ และความเชื่อบางส่วนยังถือปฏิบัติอย่างเหนียวแน่น แต่ความเชื่อบางส่วนค่อยคลายจางลง ไปตามกระแสความเจริญทางเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ความเชื่อหลาย ๆ อย่างแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่น ของวัฒนธรรมไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่อนุชนคนรุ่นหลังจะนำไปปฏิบัติ แม้ว่าไม่สามารถอธิบายด้วยหลักการของ วิทยาศาสตรได้ แต่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบในทางเสียหายแก่ตนหรือผู้อื่นแต่อย่างใด

            

หมายเลขบันทึก: 252510เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท