ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนธรรมเป็นบาลีและมีเป็นข้อ ๆ 1234...


บาลีสำคัญไฉน เหตุใดธรรมะจึงต้องจัดหมวด ปวดหัวนัก

อันที่จริงพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแบบเน้นหลักธรรมเป็นข้อ ๆ
แต่พระพุทธเจ้าสอนคน
โดยปรับระดับธรรมะที่พระพุทธองค์ "รู้" ให้เข้ากับคนที่พระองค์จะทรงสอน

บางครั้งท่านก็สอนด้วยบทยาว ๆ บางครั้งก็เป็นแค่บทสั้น ๆ
บางครั้งก็เป็นบทกลอนที่พระองค์ทรงแต่งขึ้นสด ๆ (คาถา)

( ผลที่เกิดคือกลุ่มเป้าหมายเกิด "ปิ๊ง" เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทรงสอนอย่างแจ่มแจ้ง
ดังคำอุปมาว่า เปรียบเหมือนเปิดของที่คว่ำให้หงาย (เอากบออกจากกะลา)
เปรียบดังผู้จุดไฟส่องทางในที่มืด )

บางครั้งพระพุทธองค์ทรงสอนคนโดยยกบุคคลยกนิทานมาเล่าเพื่อโน้มน้าวให้เข้าใจได้ง่าย
บางครั้งพระองค์สอนโดยยกทฤษฎีทางธรรมชั้นสูงมาสอน (อภิธรรม)

กล่าวคือระดับของคำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นั้นต่างกัน
เพราะคำสอนแต่ละครั้งท่านสอนไว้ต่างคนต่างวาระกัน
บางครั้งไม่ได้สอนเป็นข้อ ๆ หมวด ๆ


แต่บางครั้งก็ต้องสอนเป็นหมวดแบ่งข้อ เช่นอริยสัจ ๔ พรหมวิหาร ๔
ที่จัดหมวดลงข้อ เพราะการนำธรรมะในหมวดเหล่านั้นไปใช้ ย่อมแยกข้อใดออกไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่ประสบผลที่พึงปรารถนา ( เช่น คนเป็นแม่หากใช้เมตตาเกินไป ลูกก็เสียคน. เป็นนักปฏิบัติ ดีแต่รู้ทุกข์ บ้าหาอาจารย์ แต่ไม่หาทางแก้ทุกข์ มีธรรมะไว้ ใช้ไม่ครบหมวด มันก็ไร้ประโยชน์)

 


 

 

ต่อมาเมื่อพระองค์ปรินิพพานลงก็มีการทำสังคายนา
รวบรวมคำสอนของพระองค์เข้ามา รวมไว้เป็นหมวดหมู่

เรียกว่านำสิ่งที่กระจัดกระจายเข้ามารวมไว้เป็นหมวดเดียวกัน
บางสูตรก็แบ่งหัวข้อโดยแยกประเภทตามหัวข้อธรรม ความยาว ความสั้น

และสรุปรวบรวมลงมติ ให้ใช้การรวบรวมของที่ประชุมเป็นเอกฉันท์ในการอ้างอิง
และนำไปปฏิบัติโดยไม่ให้มีการปรับแก้ใด ๆ ( เรียกว่านิกายเถรวาท )

และในการทำสังคายนาครั้งนั้นท่านลงมติ ให้ใช้ภาษาบาลี
ซึ่งเป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในอินเดียสมัยนั้นเป็นภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎก

ทุก ๆ ประเทศที่นับถือนิกายเถรวาทก็จึงนับถือและยกย่อง ภาษาบาลี
เป็นภาษาสำคัญที่ใช้จารึกพระไตรปิฎก เพื่อความถูกต้องตรงกันกันมาช้านาน



และการสอนธรรมะ ในสมัยต่อมาจึงมีการยกบาลีมาขึ้นอ้างในการสอนธรรม
เพื่อความน่าเชื่อถือและสร้างความศรัทธาให้ศาสนิกชน

ทั้ง ๆ ที่ภาษาบาลี "ตาย" ไปนานแล้ว

ทำให้ต่อมาการนำบาลีมายกอ้างจึงก่อให้เกิดความ น่าเบื่อ ต่อผู้ที่ฟังคำสอนเพราะ "ไม่เข้าใจ"
เรียกว่า เป็นอุปสรรคตัวใหญ่ที่ทำให้การสอนของพระส่วนใหญ่ไม่เข้าถึงใจประชาชนอย่างแท้จริง

ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเน้นภาษาบาลี
ผู้รักษาพระศาสนาต่างหากที่เป็นผู้เน้นภาษาบาลี

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เจ๋ง ๆ ดี ๆ เป็นภาษาบาลีมีอยู่เยอะ
แต่บางทีคนผู้แปลหรือผู้สอน แปลออกมาไม่ดีหรือสอนไม่ดีก็ทำให้ชาวบ้านงงและไม่เข้าใจ

และพากันบอกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าใจยาก และธรรมะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

ทำให้เสียประโยชน์ที่พึงได้ไปอย่างน่าเสียดาย...

 

 Image:Student smiles.jpg

เล่าสู่กันฟัง ไม่มีธรรมะมาฝาก แต่ถ้าเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นบ้างก็ดีใจแล้วครับ

ท้ายอาสน์สงฆ์ 

๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 251715เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2009 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับ

บางทีพระสอนแบบภาษาโบราณทำให้ไม่ค่อยเข้าใจอะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท