ตอนที่ ๑๙ บิณฑบาต...ความงามยามรุ่งสาง


แล้วทันใดนั้น ผมก็ต้องสะดุ้งกับ “บางสิ่ง” ที่แตะเข้าที่ใบหน้า จนเกือบจะอุทานด้วยความกลัวว่า “เฮ้ย” เสียแล้ว

หากถามผมว่าประสบการณ์ใดน่าประทับใจที่สุดในการบวช คำตอบที่ไม่ลังเลเลย คือการออกบิณฑบาต

                เช้าวันแรกของการบวช  พวกเราพระใหม่ต้องตื่นก่อนตีห้าเล็กน้อย เพื่อทำธุระส่วนตัว แล้วรีบมาห่มจีวรแบบคลุม เพราะความที่ยังห่มไม่เก่ง จึงใช้เวลากันพอสมควรกว่าจะเรียบร้อย  เสร็จแล้วจึงอุ้มบาตรลงมาจากศาลาที่พระใหม่นอนรวมหมู่กันอยู่ เพื่อมารอรวมกลุ่มออกเดินบิณฑบาตที่ประตูหน้าวัด  ผมมองเห็นดาวบางดวงบนท้องฟ้ากระพริบแสงท่ามกลางท้องฟ้าที่ยังมืดสนิท

จำได้ว่าอากาศช่วงนั้นหนาวมาก  ผมพยายามยืนนิ่งอดกลั้น หากเป็นฆราวาสคงได้กระโดดหรือสบัดแขนสบัดขากันไปแล้ว แต่พระทำเช่นนั้นไม่ได้  พระบางรูปก็แนะว่าให้หายใจลึกๆ จะช่วยคลายหนาวได้   

กำหนดเวลาจะเดินออกจากวัดนั้น พระอาจารย์บอกให้ดูฝ่ามือตัวเองที่ยื่นออกไป ถ้ามองเห็นชัด ก็ออกได้ หรือถ้าเห็นใบไม้ของต้นไม้เป็นสีเขียวแล้ว ไม่ใช่เงาดำๆ ก็ออกได้

พอได้เวลา (น่าจะสักตีห้าสี่สิบห้า) หมู่พระก็ออกเดินบิณฑบาตด้วยเท้าเปล่า  แต่ละย่างก้าวที่สัมผัสกับพื้นซีเมนต์นั้น สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ที่ยากอธิบาย  เพราะทุกสิ่งแม้ฝุ่นทรายเล็กๆ ก็ส่งสัญญาณแจ้งตัวตนความมีอยู่ของมันมาที่ทุกตารางนิ้วบนฝ่าเท้าของเรา  หากเป็นก้อนกรวดที่แหลมคม สัญญาณแจ้งนั้นก็เปลี่ยนเป็นความเจ็บแปลบ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง  ไม่มีหนทางใด นอกจากความอดกลั้น  ก้าวเท้าซ้าย แล้วก้าวเท้าขวาตาม  

ขณะเดิน ผมก้มสายตามองต่ำตามหลังพระรูปถัดไป  เพราะพอทราบมาก่อนว่า เวลาพระเดินบิณฑบาต มิใช่จะมองข้างทางไปเรื่อยเปื่อยเหมือนคนทั่วไป กำหนดนั้นให้มองต่ำเบื้องหน้าไปไม่ไกลกว่า ๔-๕ เมตรโดยประมาณ

เส้นทางบิณฑบาตของพระใหม่ที่วัดพระราม ๙ แบ่งเป็นสี่สาย  สายแรกที่ผมเดินในวันแรกนั้น เรียกกันว่า สายวังทอง  ซึ่งช่วงแรกจะเดินตามถนนสายเลียบทางด่วนรามอินทรา แล้วข้ามถนนวกลงมาเดินลอดใต้ถนนซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นเพดานเตี้ยๆ  บังคับให้ต้องก้มตัวเดินในท่ามกลางความมืดโดยรอบ   ความไม่คุ้นเคยกับชุดสบงจีวรที่ห่ม ความกลัวศีรษะกระแทกเพดาน ความกลัวบาตรที่สะพายอยู่จะหล่น (การทำบาตรร่วงพื้นส่งเสียงดังกังวานไปทั่วนั้น นับเป็นความอับอายของพระใหม่มาก)  ความกลัวเหล่านี้ประเดประดังเข้ามารบกวนจิตใจ และบังคับให้ผมเดินลอดใต้ถนนด้วยความเชื่องช้าอย่างยิ่ง  กว่าจะพ้น พระรูปข้างหน้าก็ทิ้งห่างไปไกลแล้ว 

ในความสลัวรางยามรุ่งสาง ผมพบว่าเบื้องหน้าผมขณะนี้คือสะพานปูนแคบๆ กว้างเพียงเมตรเศษๆ สูงอยู่เหนือสองข้างที่ต่ำลงไปหลายเมตรคือคลองดำๆ  ความรู้สึกเสียววาบกลัวว่าจะเดินร่วงตกคลองผุดขึ้นทันทีในจิต   ผมก้าวเท้าไปช้าๆ  ด้วยใจหวั่นๆ  พร้อมกับพบว่ามีอุปสรรคอื่นที่คอยทดสอบความอดทนอยู่อีก มันคือรอยแตกแหลมคมบนพื้นปูนที่สร้างความเจ็บแปลบให้กับแต่ละย่างก้าวในบางช่วงบางตอนที่เรามิอาจหลีกเลี่ยง ทั้งด้วยความมืด และความแคบ   

แล้วทันใดนั้น ผมก็ต้องสะดุ้งกับ “บางสิ่ง” ที่แตะเข้าที่ใบหน้า จนเกือบจะอุทานด้วยความกลัวว่า “เฮ้ย” เสียแล้ว  เมื่อมองให้ชัดๆ ที่แท้ก็คือสายระยางค์เล็กๆ ที่ห้อยลงมาจากต้นโพธิ์ริมน้ำนั่นเอง  และความจริงแล้วมันก็อยู่ของมันตรงนั้นนั่นแหละ ผมเองต่างหากที่เป็นฝ่ายเดินก้มหน้าจดจ่อระวังกับพื้นและสองข้างทาง ไม่มองข้างหน้าจนชนมันเข้าโดยไม่รู้ตัว  ทั้งๆ ที่ควรจะเห็นได้ตั้งแต่ไกลแล้ว

พระที่นำหน้ายืนรอผมอยู่ตรงสะพานข้ามคลองเข้าสู่หมู่บ้านเล็กๆ  เมื่อผมตามทันแล้วก็เดินต่อเข้าไปในหมู่บ้าน  ไฟถนนหมู่บ้านเปิดส่องสว่างเป็นช่วงๆ เกือบทุกบ้านยังคงอยู่ในความเงียบและความมืด บ้านที่เปิดไฟแล้วเพียงไม่กี่บ้าน มักเป็นร้านค้าขายของที่ชาวบ้านกำลังตระเตรียมจะเปิดร้าน

เดินไปท่ามกลางถนนที่ว่างเปล่าไร้ผู้คนสักพัก ผมก็มองเห็นโยมยายคุกเข่านั่งรอตักบาตรอยู่ตรงหัวมุมแยกเข้าซอย  คุณยายพนมมือนิมนต์  พระจึงเดินเข้าไปเรียงแถวให้ยายตักบาตร สำหรับผมพระใหม่พยายามสำรวม ก้มหน้ามองแต่ปากบาตร มิได้มองหน้ายายเลย ยายใส่อะไรให้บ้าง ผมก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่าเป็นอาหารถุงสองสามอย่าง  นี่คือครั้งแรกที่ผมได้รับอาหารจากการบิณฑบาต ความรู้สึกนั้นอธิบายไม่ได้ มันเป็นความตื้นตันลึกๆ ในอก  จากนี้ไป ผมมีอาหารฉันดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมิต้องกังวลกับการซื้อหา ด้วยศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อพระพุทธศาสนา  

ผมเป็นใคร ไม่สำคัญ จีวรที่ห่มคลุมร่างนี้อยู่ต่างหาก 

พอยายตักบาตรครบพระทุกรูปแล้ว พระที่นำหน้าก็สวดให้พร ซึ่งขณะนั้นผมไม่ทราบว่าคือบทสวดอะไร เมื่อสวดไม่เป็นจึงได้แต่ยืนนิ่ง ในใจนึกเสียใจว่าเราให้พรยายไม่ได้ จึงนึกแผ่เมตตาขอบคุณยายแทน และตั้งใจว่าจะรีบกลับมาหาความรู้ว่าคือบทอะไร และรีบจดจำท่องให้ได้

เดินผ่านกลางหมู่บ้านและเข้าซอยวกกลับมาออกทางสะพานปูนอีกครั้ง มีชาวบ้านตักบาตรเป็นระยะๆ อีกสามบ้าน  ทุกครั้งผมได้แต่ยืนแผ่เมตตาเพราะยังสวดให้พรไม่เป็น  เมื่อกลับมาบิณฑบาตเส้นทางสายนี้ในวันต่อๆ มา ผมก็พบว่าบ้านที่ตักบาตรนั้นส่วนใหญ่แล้วก็คือบ้านเดิมๆ นั่นเอง จะมีบางวันเท่านั้นที่อาจมีบ้านใหม่ๆ ลุกขึ้นมาตักบาตร อาจเพราะเป็นวันพระ หรือวันเกิดของใครบางคนในบ้าน 

ศรัทธาของบ้านที่ตักบาตรเป็นประจำทุกวันนี่เอง (แม้แต่ละสายจะมีอยู่เพียง ๓-๔ บ้าน บางสายเพียง ๑-๒ บ้านเท่านั้น)  กำหนดให้ที่วัดต้องจัดพระออกเดินให้ครบทุกสาย มิให้ขาด  ด้วยความตระหนักว่าชาวบ้านอุตส่าห์ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อตระเตรียมของบิณฑบาต หากพระไม่ไป ชาวบ้านก็รอเก้อ  ส่วนชาวบ้านก็คิดเช่นกันว่าถ้าไม่ตระเตรียมของ เมื่อพระมาเก้อก็เกรงว่าจะบาป  ยกเว้นหากชาวบ้านรู้ตัวว่าจะไม่อยู่  ก็จะบอกกับพระให้ทราบล่วงหน้า...นี่มิใช่ความงดงามในยามรุ่งสางหรอกหรือ

ฟ้าแจ้งแล้วเมื่อเดินย้อนกลับตามเส้นทางเดิน ผมพบว่าสะพานปูนไม่ได้แคบอย่างที่คิด รอยแยกบนพื้นเห็นจะแจ้ง หลบเลี่ยงได้ไม่ยาก  สายระยางค์ของต้นโพธิ์กลายเป็นความงามริมฝั่งคลอง  เพดานลอดใต้ถนนไม่ได้ต่ำจนน่าหวาดหวั่น  น้ำหนักและความอุ่นของบาตรที่ใส่อาหารเต็มเกือบล้นบาตรสร้างความอบอุ่นและความมั่นใจให้พระใหม่  

ผมเรียนรู้ว่าความกลัว และความมืด ก่อความหวาดหวั่นวิตก   

ศรัทธาและความสว่าง สร้างความสงบ

ผมย่างเท้าเปลือยเปล่าด้วยจิตใจที่เบิกบานกลับสู่วัด แม้จะต้องผจญกับกรวดเล็กกรวดน้อยที่คอยทิ่มแทงอยู่เป็นครั้งคราวไป

คำสำคัญ (Tags): #บิณฑบาต
หมายเลขบันทึก: 251629เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2009 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้อ่านตั้งแต่ตอน 1 - 19 เพราะกำลังจะบวชที่วัดพระรามเก้าเดือนมีนาคม 2555 ครับ ได้รับความรู้เพื่อเตรียมตัวบวชได้มากเลยครับ ขอบคุณมากครับและขอโมทนาที่ได้เขียนเรื่องราวอย่างละเอียดในแต่ละตอน

ผมจะบวชที่วัดไตรมิตรเดือนมีนาคมแล้วครับ(จริงๆก็อีก3-4วันเท่านั้นเอง) เลยเข้ามาอ่านเป็นความรู้ครับ

เป็นประโยชน์มากจริงๆครับ รวมถึงเป็นแรงบัลดาลใจในการศึกษาธรรมอย่างจริงจังด้วย ขอบคุณมากครับ:)

ขออนุโมทนาด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท