ที่มาของคำไทย สุภาษิตไทยและ ชื่อต่าง ๆ และ อีกมากมาย 15


ที่มาของคำไทย สุภาษิตไทย

ประวัติชื่อของ "บางปะหัน" คือ

"บางปะหัน" เดิมเป็นหมู่บ้านของคนมอญเก่าแก่ เนื่องจากขุดพบเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบของมอญ สำหรับบางปะหันนั้น ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า บางประหาร เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณวัดศาลาแดงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่ ๕ เป็นแดนประหารนักโทษ ซึ่งใช้ชื่อสถานที่ตรงนี้เป็นแดนประหาร เมื่อเวลาผ่านไปในยุคต่อมา จึงเรียกว่า บางประหาร เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ เมื่อยกเลิกการประหารก็มีการเรียกทางราชการมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันเรียกว่า บางปะหัน

แอสไพริน (Aspirin) หรือ อะซิทิลซาลิไซลิก แอซิด (acetylsalicylic acid) เป็นยาในกลุ่มซาลิไซเลต (salicylate) นิยมใช้เป็นยาบรรเทาปวด ยาลดไข้ (antipyretic) และ ลดการอักเสบ มีผลต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) ในปริมาณการใช้ต่ำๆ และระยะยาวใช้ป้องกันโรคหัวใจ

แอสไพรินเป็นชื่อทางการค้าของไบเออร์ ประเทศเยอรมนี บางประเทศใช้ชื่อแอสไพรินเป็นชื่อสามัญ บางประเทศใช้ชื่อย่อจาก อะซิทิลซาลิไซลิก แอซิด คือ ASA พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างแอสไพรินและอาการรีอายส์ (Reye's syndrome) จึงไม่ใช้แอสไพรินรักษาอาการไข้ในเด็ก

ในปริมาณการใช้ต่ำๆ และระยะยาวพบว่าแอสไพรินมีผลยับยั้งการสร้างทรอมโบเซน A2 (thromboxane A2) ในเกล็ดเลือด (platelet) ทำให้เกิดการยับยั้งการรวมกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ซึ่งเป็นผลให้เลือดไม่แข็งตัว ปริมาณการใช้แอสไพรินที่ให้ผลนี้คือขนาด 75 หรือ 81 มก. ในรูปยาเม็ด สำหรับในโรคหัวใจเฉียบพลันสามารถใช้แอสไพรินในปริมาณการใช้สูงได้ด้วย


ประวัติแอสไพริน
ค.ศ. 1763 เอ็ดวาร์ด สโตน (Edward Stone) แห่งออกฟอร์ดเชีย (Oxfordshire) ประเทศอังกฤษ พบว่าเปลือกหลิว (willow) มีสรรพคุณลดไข้ได้
ค.ศ. 1828 เฮนรี่ เลอร๊อกซ์ (Henri Leroux) เภสัชกรชาวฝรั่งเศส และ ราฟฟาเอล ปีเรีย (Raffaele Piria) นักเคมีชาวอิตาลีสามารถสกัด ซาลิซิน (salicin) ในรูปผลึกได้ซึ่งมีสมบัติทางเคมีเป็นกรดอย่างแรงในสารละลายที่อิ่มตัวจะมี ph = 2.4 และต่อมาพบว่าสารตัวนี้เป็น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) นั่นเอง
ค.ศ. 1897 ฟิลิกซ์ ฮอฟฟ์แมน (Felix Hoffmann) นักวิจัยของไบเออร์ได้เปลี่ยนแปลง หมู่ฟังก์ชันไฮดรอกซิล ของกรดซาลิไซลิกด้วยอะซิทิล กรุ๊ฟ ได้เป็น อะซิทิล เอสเตอร์ (acetyl ester) หรือ อะซิทิลซาลิไซลิก แอซิด (acetylsalicylic acid) ซึ่งเป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นโดยไม่เลียนแบบธรรมชาติเป็นตัวแรกของโลกด้วย และที่สำคัญสารเคมีตัวใหม่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเดิมมาก ฟิลิกซ์ได้ทดลองยาตัวนี้กับพ่อของเขาซึ่งเป็น โรคข้ออักเสบ ปรากฏว่าได้ผลดีและไม่มีอาการข้างเคียงด้วย เขาจึงเสนอบริษัทฯ ให้ทำตลาดยาตัวนี้
ค.ศ. 1899 วันที่ 6 มีนาคม ไบเออร์ได้จดสิทธิบัตรยาตัวนี้โดยใช้ชื่อการค้าว่า "แอสไพริน"

ที่มา THINK EARTH

โครงการ THINK EARTH ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 โดย ดร.พรเทพ พรประภา ผู้อำนวยการโครงการ THINK EARTH และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด ได้รับแรงบันดาลใจจากคำสอนของบิดา คือ ดร.ถาวร พรประภา ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามกลการ จำกัด ที่ว่า "เมื่อหากำไรมาได้ ต้องคืนกลับสู่สังคม" ด้วยความคิดบวกกับความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมข้อนี้ และความรักหวงแหนในสิ่งแวดล้อม ดร.พรเทพ พรประภา จึงได้จัดทำโครงการคืนกำไรสู่สังคมในด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในนามของ โครงการ THINK EARTH หรือ "คืนชีวิต .. คิดห่วงใยในผืนโลก" ขึ้น

ความหมายของคำว่า THINK นั้นคือ ความคิด กระบวนการคิด การสั่งสมองค์ความรู้ ตลอดจนการเกิดจิตสำนึกที่ดี ส่วนคำว่า EARTH นั้น มีความหมายแยกตามตัวอักษร หมายถึง

E-Environment สิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ทำคือ การรณรงค์ให้หน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และแหล่งธรรมชาติ
A-Animals สัตว์ป่า คือ การรณรงค์ไม่ให้ล่า เลี้ยง หรือบริโภคสัตว์ป่า
R-Rivers แหล่งน้ำ คือ การรณรงค์ให้ผู้ที่อยู่อาศัยตามแนวแม่น้ำลำคลอง ช่วยกันรักษาแหล่งน้ำให้ปราศจากมลพิษและสิ่งปฏิกูล รวมไปถึงการดูแลทะเลด้วย
T-Trees ต้นไม้ คือ การรณรงค์ไม่ให้ตัดไม้ทำลายป่า และการร่วมมือกันปลูกต้นไม้ทั่วประเทศ เน้นการปลูกต้นไม้ขึ้นในจิตใจคนไทย
H-Humans มนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เพราะมนุษย์เป็นตัวการสำคัญในการทำลายล้างแหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ที่มาของแฟชั่นเอวต่ำ



ก่อนหน้านี้ เคยมีกรณี ที่รัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐอเมริกา ได้พยายามออกกฏหมายแปลกออกมา คือ ห้ามใส่กางเกงเอวต่ำ ที่ทำให้เห็นกางเกงในแบบอุจาดตา

โดยมีโทษปรับ 50 เหรียญดอลลาร์ (ประมาณ 2,000 บาท) ทำให้กลายเป็นเรื่องเป็นราวมาแล้ว แต่แฟชั่น เอวต่ำ ก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ อย่าง ไม่เคยห่างหายไปจากสายตา

ปัจจุบัน ทาง สหรัฐอเมริกา เมืองแห่งเสรีภาพ ก็ยังยึดมั่น ในความเกลียดชัง แฟชั่น กางเกง เอวต่ำ ถึงขนาด ออกกฎห้าม นักศึกษามหาวิทยาลัย สวมกางเกง เอวต่ำ มาเรียนเด็ดขาด

หนุ่มสาว ชาวไทย บ้านเรา ก็ ไม่ได้น้อยหน้า เพราะมี วัยรุ่น อีกจำนวนมาก ที่นิยม และหลงรัก แฟชั่น เอวต่ำ นี้ อย่างบ้าคลั่ง ทั้งหญิงและชาย แต่คุณวัยรุ่นขา...

คุณรู้กันหรือไม่ ว่าความนิยม สวมใส่ เสื้อผ้า ลักษณะเช่นนี้ มันมาจากที่ไหนกัน

จากการศึกษา พบว่า ผู้ที่นิยม ใส่ กางเกง เอวต่ำ เพื่อโชว์ กางเกง ชั้นใน หรือล่องก้นนั้น แท้จริงแล้ว พวกเค้าเหล่านั้น คือบุคคล ที่อาศัยอยู่ในคุก หรือนักโทษ นั่นเอง

โดย การใส่กางเกง ลักษณะนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้ผู้อื่น ได้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเวลาที่ตนต้องการเรื่องทางเพศ หรือเซ็กซ์ นั่นเอง โอ๊วว๊าว.... ที่โชว์ล่องก้น ก็เพราะงี้นี่เอง

รู้อย่างนี้แล้ว ยังอยากฮิต แฟชั่น เอวต่ำ แบบนี้ ตามที่มา ฉบับดั้งเดิมกันหรือคะ!!!

 

กำเนิดหนังสือพิมพ์
ผู้ริเริ่ม



หนังสือพิมพ์ใครเป็นผู้ริเริ่มคิดขึ้นมาเป็นคนแรก/ประกาย

ตอบประวัติศาสตร์บันทึกถึงช่วงเวลาประมาณ 60 ปีก่อนคริสต์ศักราช (ค.ศ.) ยุคอาณาจักรโรมันที่อารยธรรมเจริญยิ่ง จักพรรดิจูเลียสซีซาร์บัญชาให้อาลักษณ์คัดลอกแถลงการณ์ของพระองค์ รวมถึงข่าวประจำวันของราชการ แล้วนำไปปิดไว้ตามกำแพงในที่ชุมชนเพื่อประชาชนได้อ่านทั่วถึง ใบประกาศนั้นเรียก "แอ็กตา ดิอูนา" (Acta diuna) นับเป็นต้นแบบหนังสือพิมพ์ ขณะที่ทางตะวันออก จีนแจ้งเกิดหนังสือพิมพ์ ซิงเป่า (Tsing Pao) ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับราชการสำนักมาตั้งแต่ พ.ศ.1043

จากแผ่นประกาศข่าว วิวัฒนาการเป็นจดหมายข่าว และหนังสือข่าว รายงานข่าวสารทางการค้า การเมือง แล้วพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ.1997 ที่ โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ชาวเยอรมัน ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์และตัวพิมพ์ขึ้น และวิลเลียมส์ แซกส์ตัน นำเครื่องพิมพ์ไปใช้ในประเทศอังกฤษ

การพัฒนาแท่นพิมพ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ที่สุดหนังสือพิมพ์ฉบับแรกก็เกิดขึ้น คือ Avisa Relation Order Zeitung พิมพ์ขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อ พ.ศ.2152 แต่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์รายวัน กระทั่ง พ.ศ.2165 อังกฤษรวบรวมข่าวรายวันมาพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ ในชื่อ A Weekly News London ถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลก โดยเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป เป็นของใหม่ที่ได้รับความสนใจมากพอควร แต่ออกเป็นรายสัปดาห์ไม่ทันใจผู้อ่าน

นำสู่การออกหนังสือพิมพ์เป็นรายวันในกาลต่อมา ผู้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์เป็นรายวันคนแรกของโลกคือ เอ็ดวาร์ด มอลเลต หนังสือชื่อ The Daily Courant ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2245 เปิดโลกใหม่ด้วยการเสนอบทความ บทวิจารณ์สังคม คอลัมนิสต์ชื่อดังคือ ดาเนียล เดอโฟ

บทวิจารณ์เขาโจมตีรัฐบาลและวิธีการปฏิบัติศาสนกิจของคริสต์ ถูกใจประชาชน แต่เป็นที่ขัดใจของกษัตริย์และพระสันตะปาปา เขาถูกจับตัวคุมขัง แต่มีเพื่อนดีจัดหาอุปกรณ์เครื่องเขียนให้ เดอโฟจึงคิดออกหนังสือพิมพ์ วิธีการคือเขาเป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความจากข้อเท็จจริงที่เพื่อนส่งมาให้จากภายนอก เสร็จแล้วส่งออกไปพิมพ์ นั่นเป็นจุดกำเนิดของหลักการ "เขียนข่าวใหม่" หรือเรียบเรียงข่าว หรือ Rewriting

จากคุก เดอโฟออกหนังสือเป็นรายสัปดาห์ รัฐบาลรับมือด้วยมาตรการเพิ่มภาษีการพิมพ์ให้สูงขึ้น หนังสือพิมพ์จึงต้องตั้งราคาสูง ทำให้คนอ่านลดจำนวนลง เดอโฟไม่ยอมแพ้ เขาหันไปเขียนนวนิยายแทน นวนิยายเรื่องแรกคือ "โรบินสัน ครูโซ" นำเสนอเรื่องของคนที่พยายามหนีความวุ่นวายของสังคม ตามด้วยเรื่องที่ 2 "มอลล์ แฟลนเดอร์" เกี่ยวกับเด็กสาวที่มีความประพฤติไม่ดี ทั้งสองเรื่องขายดิบขายดี

ส่วนในสหรัฐอเมริกาหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกออกเมื่อ พ.ศ.2326 ชื่อ Pennsylvania Evening post and Daily Advertiser

ประวัติ-ที่มา กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
ประวัติ-ที่มา



อยากทราบประวัติ หรือกำเนิด การเกิดขึ้นของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่ามีที่มาอย่างไร ขอให้ย้อนหลังไปให้ไกลที่สุด หากมีหนังสือช่วยแนะนำด้วย/หนูแดง 49

ตอบ"กำนัน" และ "ผู้ใหญ่บ้าน" เป็นตำแหน่งผู้นำชุมชนที่มีพัฒนาการมายาวนาน รศ.มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนอธิบายถึงความเป็นมาของทั้งสองตำแหน่งทางราชการไว้ว่า ผู้ใหญ่บ้านและกำนันนั้นเป็นตำแหน่งที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระดับหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยชุมชนบุพกาล ในยุคที่หมู่บ้านยังมีอิสระจากอำนาจรัฐ และมีพัฒนาการมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นสมัยสุโขทัย อยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์

1.สมัยสุโขทัย ครั้งนั้นสภาพบ้านเมืองยังไม่ซับซ้อน การปกครองจึงเป็นแบบ "พ่อปกครองลูก" โดยใช้คตินิยมของการปกครองคนในครัวเรือนมาเป็นหลัก ในส่วนของหมู่บ้านมี "พ่อบ้าน" (ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน) ปกครอง "ลูกบ้าน" ถัดขึ้นไปในระดับเมือง "พ่อขุน" เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ขณะที่พ่อบ้านเป็นผู้นำชุมชนตามธรรมชาติ โดยรัฐอาจใช้อำนาจรัฐแต่งตั้งผู้นำดังกล่าวให้เป็นผู้นำแบบทางการได้

2.สมัยอยุธยา โครงสร้างของบ้านเมืองซับซ้อนขึ้น มีการปฏิรูประบบราชการในสมัยพระบรมไตรโลกนาถเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำหมู่บ้านอย่างเป็นทางการจากรัฐ โดยกฎหมายพระอัยการอาญาหลวงได้ระบุไว้ว่าให้นายบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ ต่อมากฎหมายกำหนดให้อำนาจการแต่งตั้งเป็นของผู้รักษาเมืองหรือผู้รั้งเมือง

3.สมัยรัตนโกสินทร์ ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงรูปแบบการปกครองคล้ายกับอยุธยา กระทั่งปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดให้เลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อประโยชน์ในการบริหาร ให้ได้สรรหาคนดีในหมู่บ้านอันเป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้านมาปกครองดูแลหมู่บ้าน มีการทดลองเลือกตั้งครั้งแรกที่บ้านเกาะบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา วันที่ 10 สิงหาคม 2435 และประสบความสำเร็จ จึงได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ให้เลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งใช้มาต่อเนื่อง แม้มีการแก้ไขกฎหมายให้แต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ (3 ปี)

เมื่อวิเคราะห์ในด้านความเป็นมาของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว พบว่า แม้จะเริ่มต้นด้วยการเลือกผู้ใหญ่บ้านและกำนันในสมัยสุโขทัย แล้วเปลี่ยนแปลงเป็นการแต่งตั้งในสมัยอยุธยา และกลับมาใช้วิธีการเลือกตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการได้มาซึ่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้นย่อมปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีการยึดติดว่าต้องแต่งตั้งเท่านั้นหรือเลือกตั้งเท่านั้นถึงจะดีที่สุด

ช่วงต้น พ.ศ.2547 กระทรวงมหาดไทยเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ เกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน โดยเสนอให้ใช้วิธีการแต่งตั้งแทนระบบเดิมที่เป็นการเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดกระทรวงมหาดไทยก็ได้ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา


ความรู้เกี่ยวกับผู้ใหญ่บ้านและกำนัน อยู่ในเนื้อหาตำรากฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น รามคำแหง จุฬาฯ สุโขทัยธรรมาธิราช ธรรมศาสตร์

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′53″N, 100°32′19″E




วิกิแมเปีย มีภาพถ่ายทางอากาศของ:
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (Victory Monument) เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียน อยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่ กิโลเมตรที่ 0.0 ถนนพหลโยธิน

ความสำคัญของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญและเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิตใน กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีแล้ว ยังเป็นต้นทางของถนนพหลโยธิน รวมไปถึงศูนย์กลางการคมนาคมที่มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทาง เป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS และรถตู้ ผ่านตลอด 24 ชั่วโมง จึงทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

สิ่งก่อสร้างบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทางด่วนขั้นที่ 2 สถานีรถไฟฟ้า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรบินสัน

ประวัติ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์ บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธิน นี้มีชื่อเรียกว่า "สี่แยกสนามเป้า"


[ความหมาย
การออกแบบอนุสาวรีย์ของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีแรงบันดาลใจห้าประการ คือ

ปฏิบัติการของกองทัพทั้ง 4
ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ
อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ
เหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ
ความสนใจของประชาชน
หม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส

ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป พีระศรี

ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้ มีทั้งสิ้น 160 คน เป็นทหารบก 94 คน ทหารเรือ 41 คน ทหารอากาศ 13 คน และตำรวจสนาม 12 คน จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 คน

 

สะพานกรุงธน (Krung Thon Bridge) หรือ สะพานซังฮี้ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนราชวิถี เชื่อมระหว่างเขตดุสิตกับเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร




ประวัติ
สะพานกรุงธน เริ่มก่อสร้างเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 โดยบริษัทฟูจิ คาร์แมนูแฟ็กเจอริง จำกัด ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัท สหวิศวการโยธา จำกัด เป็นผู้แทนในประเทศไทย และได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 สะพานกรุงธนประกอบด้วยโครงสะพานเหล็กยาว 6 ช่วง เชิงสะพานทั้งสองฝั่งเป็นคอนกรีต มีทางเท้าทั้งขนาบสองข้าง ช่วงลอดกลางสะพานสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 7.50 เมตร เป็นสะพานที่เปิดไม่ได้ สร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2500 งบประมาณค่าก่อสร้างรวมเป็นเงินทั้งหมด 24,837,500 บาท


ปากเล่าจากชาวบ้าน
จากการเล่าของผู้เฒ่าชาวบ้านผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณเขตบางพลัด และเคยมีส่วนร่วมในการก่อสร้างนั้น ได้กล่าวไว้ว่า ในขณะที่ก่อสร้าง จะมีการขุดหลุมเป็นหลาย ๆ หลุม มีขนาด 1 ตารางวา และลึก 1 ศอก เพื่อจะได้ทำเป็นฐานราบที่มั่นคง เพราะว่าบริเวณนั้นเป็นบริเวณสวนริมแม่น้ำ เป็นหลุมเป็นบ่อ จึงต้องทำให้พื้นเรียบก่อน ถึงจะสร้างได้

ส่วนดินที่จะขนมาอัดตรงหลุมนั้น ต้องไปนำมาจากสวนของตนเอง โดยนายจ้างจะจ่ายค่าแรงต่อหลุมให้ 12 บาทซึ่งถือว่ามีค่ามากในสมัยนั้น พออัดดินให้แน่นแล้ว ก็ต้องขนหิน และทรายมาอัดอีก แล้วจึงเทปูนลงใส่ จึงถือได้ว่าสะพานนี้ เป็นสะพานที่สร้างด้วยชาวบ้าน ไม่ใช่กรรมกร

สะพานกรุงธนเป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมแก่ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแบ่งเบาความคับคั่งของสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานกรุงธนสร้างเสร็จและเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2501 เรียกกันว่า สะพานซังฮี้ เพราะเริ่มต้นที่ถนนราชวิถีหรือถนนซังฮี้ และขณะที่เริ่มก่อสร้างประชาชนเรียกสะพานนี้ว่า "สะพานซังฮี้" จึงเรียกกันมาจนปัจจุบัน


ที่มาของชื่อ "สะพานซังฮี้"
ชื่อ ซังฮี้ เกี่ยวพันกับเครื่องกิมตึ้ง ซึ่งเป็นชื่อเครื่องถ้วยชามของประเทศจีน มีลวดลายต่าง ๆ ตกแต่งสวยงาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมสั่งถ้วยชามเหล่านี้มาจากประเทศจีนเพื่อใช้และสะสมเป็นของมีค่า และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้น ได้พระราชทานนามตำหนัก ถนน สะพาน และคลองต่างๆ ภายในพระราชวังดุสิต เป็นชื่อเครื่องกิมตึ้งของประเทศจีนทั้งสิ้น เช่น ชื่อถนนด้านหลังพระราชวัง พระราชทานนามว่า ซังฮี้ อันเป็นคำมงคลของจีน มีความหมายว่า "ยินดีอย่างยิ่ง" ถนนซังฮี้ในตอนแรกที่สร้างมีระยะทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสุดบริเวณด้านหลังพระราชวังดุสิตและได้ขยายต่อมาในภายหลัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามสถานที่หลายแห่งนั้น ถนนซังฮี้ก็เป็นถนนหนึ่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อไปเป็น "ถนนราชวิถี" เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะทำการสร้าง ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบชื่อสะพานอย่างเป็นทางการจึงเรียกชื่อสะพานว่า สะพานซังฮี้ เพราะสะพานนี้เริ่มต้นปลายถนนซังฮี้ทางด้านฝั่งพระนคร ต่อมาเมื่อสร้างเสร็จแล้วรัฐบาลได้ตั้งชื่อสะพานว่า "สะพานกรุงธน" นั่นเอง


ข้อมูลทั่วไป
วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2497 แล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2500
บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : FUJI CAR MANUFACTURING CO.,LTD.
ราคาค่าก่อสร้าง : 24,837,500.00 บาท
แบบของสะพาน : ชนิดปิดตายช่วงต่อเนื่องกัน
ความยาวของสะพาน : 366.20 เมตร
สูงจากน้ำทะเลปานกลาง : 7.50 เมตร
เชิงลาดสะพานฝั่งพระนคร : 185.50 เมตร
เชิงลาดสะพานฝั่งธนบุรี : 97.20 เมตร
รวมความยาวทั้งหมด : 648.90 เมตร
ช่องจราจร : 4 ช่อง
ทางเท้ากว้างข้างละ : 2.50 เมตร
น้ำหนักโครงเหล็ก : รวมทั้งพื้นจราจร สำหรับช่วง 64.00 ม. หนัก 440 ตัน สำหรับช่วง 58.00 ม. หนัก 400 ตัน รับน้ำหนักได้ TRACTOR TRUCK WITH SEMI-TRAILER 29.25 TONS ต่อช่วงสะพานหรือ 16 TONS TRUCK TRAINS วิ่งสวนกัน 4 คัน และ วิ่งตามกันห่าง 4 ม. น้ำหนักแผ่อีก 400 km/m2

หมายเลขบันทึก: 251419เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2009 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท