สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ


สิทธิและหน้าที่

สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ

กฎหมายสุขภาพแห่งชาติบัญญัติให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพ(สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ,2550) ดังนี้

1. บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม (มาตรา 5)

2. สตรีต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพทางเพศและระบบเจริญพันธุ์ที่มีความจำเพาะซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตอลดช่วงชีวิตอย่างเหมาะสม (มาตรา 6 วรรค 1)

3. สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่างๆต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม (มาตรา  6 วรรค 2)

4. ข้อมูลต้านสุขภาพของบุคคลถือวาเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดนำไปเปิดเผย อันจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้น หรือมีกฎหมายบัญญัติให้เปิดเผย อย่างไรก็ตามผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลอื่นไม่ได้ (มาตรา 7) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 49)

5. บุคคลากรด้านสาธารณสุขต้องบอกข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ผู้รับบริการอย่างเพียงพอ เพื่อใช้ในการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับบริการ และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้ (มาตรา 8 วรรค 1) เว้นแต่ผู้รับบริการอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตและมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นการรีบด่วน  หรือผู้รับบริการไม่อยู่ในฐานะที่จะรับทราบข้อมูลได้และไม่อาจแจ้งให้บุคคลซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาทิ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลของผู้รับบริการรับทราบข้อมูลแทนในขณะนั้นได้ (มาตรา 8 วรรค 3)

ในกรณีที่เกิดความเสียหายหรืออันตรายแก่ผู้รับบริการ เพราะผู้รับบริการปกปิดข้อเท็จ จริงที่ตนรู้และควรแจ้ง หรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้นเว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ให้บริการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (มาตรา 8 วรรค 2)

            6. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขประสงค์จะให้ผู้รับบริการเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยต้องแจ้งให้ผู้รับบริการทราบล่วงหน้า และต้องได้รับการยินยอมเป็นหนังสือจากผู้รับบริการก่อนจะดำเนินการได้ ความยินยอมดังกล่าว ผู้รับบริการจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้ (มาตรา 9) ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 49)

            7. เมื่อมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีการป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพให้แก่ประชาชน (มาตรา 10 วรรค 1) ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (มาตรา 10 วรรค 2)

            8. บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิเรียกร้องให้มีการประเมินร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ (มาตรา 11วรรค 1) รวมทั้งมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสุจภาพของตนหรือชุมชน (มาตรา 11 วรรค 2)

            9. บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ (มาตรา 12 วรรค 1) ทั้งนี้การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 12 วรรค 2) และเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธาณสุขปฏิบัติตามเจตนาของบุคคล มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นความรับผิดทั้งปวง (มาตรา 12 วรรค 3)

 

ที่มา:เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์

ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 251381เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2009 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โหๆๆ

อ่านไว้เตรียมสอบได้เลยนะเนี่ย^^

ขอบคุณนะค่ะ...ได้ประดยชนืมากเลยค่ะ..

ขอบคุณข้อมูลนะคะมีประโยชน์อย่างมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท