ขั้นตอนการทำบุญว่างที่ป่าช้าจีน


ขั้นตอนการทำบุญว่างที่ป่าช้าจีน
จากการสังเกตเราสามารถแบ่งช่วงของการทำบุญออกเป็น ๒ ช่วงคือ ๑) ช่วงเช้า – เที่ยง ๒) ช่วงบ่าย มีรายละเอียดดังนี้
๑)      เช้า-เที่ยง
๗ โมงเช้า ชาวบ้านที่ประสงค์จะทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์ที่มาก่อน จะเตรียมอาหารคาวหวาน โดยเฉพาะขนมจีนมาถวายพระ หากใครมาไม่ทันก็จะยกยอดไปถวายในช่วงเพล เมื่อพระฉันเช้าเสร็จ ชาวบ้านก็จะไปนำเอาของที่พระฉันเสร็จแล้วซึ่งยังไม่หมดมาร่วมรับประทานกันภายในป่าช้า หากของเหลืออีกบางคนจะนำกลับไปฝากลูกฝากหลานที่บ้าน และช่วยกันเก็บภาชนะทำความสะอาดเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระแก่พระ จากนั้นจึงรอจนกว่าพระจะฉันเพล บางคนที่บ้านอยู่ใกล้ ก็จะกลับไปบ้านก่อน แล้วมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยอาหารอีกชุดหนึ่ง ส่วนคนที่บ้านอยู่ไกลก็จะดูแล ปัดกวาด จุดธูปเทียนนึกถึงบรรพบุรุษอยู่ที่บัว หรือฮวงซุ้ย แต่โดยมาก ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายในช่วงเพลมากกว่า โดยนำกับข้าวและของหวานที่บรรจุในปิ่นโตมาไปใส่ภาชนะรวมกันที่โต๊ะเพื่อ ถวายพระในช่วงเพลประมาณ ๑๐.๓๐ น. ผู้ทำหน้าที่ไวยาวัจกรจะตีระฆัง และใช้เครื่องขยายเสียงกราบนิมนต์พระสงฆ์ที่เดินอยู่ภายในป่าช้า ให้มาพร้อมกันที่ศาลาประกอบพิธีฟากตะวันออก ส่วนชาวบ้านก็อยู่ตามร่มไม้เป็นกลุ่มญาติพี่น้องของแต่ละตระกูลไป เนื่องจากไม่สามารถจะเข้าไปในศาลาได้ทั้งหมด เมื่อเข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนา ชาวบ้านแต่ละคนที่เคยเดิน เคยยืน ต่างหาที่นั่งพร้อมกับประนมมือร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เท่าที่สังเกต ไม่เห็นใครเดินไปมา เป็นการแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านถิ่นนี้ยังคงมีความมั่นคงและเอื้อเฟื้อต่อศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ต่างจากบางที่บางแห่งที่แต่ละคนไม่ได้สนใจใยดีกับพิธีกรรมเลย จริงอยู่ แม้พิธีกรรมจะเป็นเพียงเปลือกของต้นไม้ แต่ก็เป็นเปลือกที่ห่อหุ้มแก่นไม้ให้ต้นไม้มีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไป

                พระสงฆ์เริ่มจากการให้ศีล และสวดมนต์ เมื่อขึ้นบทพาหุง ชาวบ้านเริ่มยกภาชนะใส่ข้าวขึ้นอธิษฐานจิตและทยอยนำข้าวสวยที่ตนมีอยู่นั้นเดินไปใส่บาตรที่วางไว้บนที่วาง เนื่องจากบาตรมีน้อยใบและเป็นใบเล็กจึงมีการนำกะละมังมาแทนบาตร ดูเหมือนแต่ละคนจะตั้งใจเหลือเกินกับการใส่บาตร เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเชื่อมั่นในการให้ทานตามแนวคิดของพระพุทธศาสนาอยู่

                เมื่อพระเจริญพุทธมนต์จบ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ตักบ้านกันเป็นที่เรียบร้อย ชาวบ้านจึงนำอาหารหวานคาวที่เตรียมไว้บนโต๊ะ ตลอดถึงข้าวที่ตักใส่บาตรและกะละมังนำไปถวายพระสงฆ์ จากนั้นจึงแยกย้ายกันไปทำภารกิจของตน บางยืนคุยกับเพื่อนฝูง บ้างคอยดูแลพระสงฆ์ที่กำลังฉันภัตตาหาร บ้างไปเตรียมบัว เพื่อจะนิมนต์พระสงฆ์มาบังสุกุลในช่วงบ่าย เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลเสร็จ จึงให้พร ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็กรวดน้ำด้วยบทกรวดน้ำและรับพร เมื่อพระสงฆ์ลุกขึ้นจากอาสน์สงฆ์ จึงไปหยิบอาหารที่พระไม่ฉันแล้วนั้นมารับประทานโดยพร้อมเพียงกัน

๑)      ช่วงบ่าย
เมื่อพระสงฆ์ฉันข้าวเสร็จ แต่ละคนก็ไปนิมนต์พระตามจำนวนที่ตนต้องการ เพื่อมาบังสุกุลบัวอันเป็นที่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษ ดูเหมือนพระที่จะถูกนิมนต์มากที่สุดคือพระระดับผู้นำ ข้อนี้ถือเป็นเรื่องจำกัด เนื่องจากชาวบ้านบางคนไม่รู้จักพระอื่นๆ ก็จะนิมนต์พระที่ตนพอจะรู้จักเท่านั้น เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ ก็จะไม่มีพระมาบังสุกุลให้ ในการบังสุกุลบางตระกูลจะเตรียมผ้า บางตระกูลไม่เตรียม หากมีผ้า ผ้าก็จะจับที่ปลายผ้า หากไม่มีผ้า (อาบน้ำฝน) ก็จะใช้มือแตะที่บัว พร้อมกับบังสุกุลด้วยบทว่า “อนิจฺจา  วต  สงฺขารา  อุปฺปาทวยธมฺมิโน  อุปฺปชฺชิตฺวา  นิรุชฺฌนฺติ  เตสํ  วูปสโม สุโข” จำนวน ๓ จบ ขณะที่พระกล่าวคำบังสุกุล ชาวบ้านประจำบัวก็จะนั่งประนมมือ ก้มศีรษะไปด้วย กรณีนี้ หากฝรั่งเข้ามาพบก็คงจะให้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมนี้ ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน กรณีที่ยังไม่ได้ทานข้าวเที่ยง ก็จะไปรวมตัวกันที่บ้านใดบ้านหนึ่งก่อน หลังจากอิ่มหนำสำราญจึงแยกย้ายกันกลับบ้านของตน

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 25072เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2006 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท