ตอนที่ ๑๗ นอกจากพระยืนฉัน ไม่ได้แล้ว ยัง “ยืน”.......ไม่ได้ด้วย


ผมเคยออกเดินบิณฑาบตรกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง พอญาติโยมนั่งลง พระอาจารย์จะบอกโยมทันทีว่า “เอ้า โยมยืนขึ้นรับพร” แล้วท่านจึงจะกล่าวให้พร

ความจริงผมตั้งใจจะเขียนเรื่องประสบการณ์การบวชของพระใหม่ให้เสร็จนานแล้ว แต่ด้วยภารกิจหลายประการจึงไปได้ไม่ถึงไหนเสียที และยิ่งเขียนก็ยิ่งมากตอน จากที่คิดว่า 10 ตอนก็น่าจะจบ จนถึงตอนนี้ผมยังสงสัยว่าจะไปจบเอาที่ตอนไหน  ก็ได้แต่หวังว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กำลังต้องการจะบวช จะได้พอทราบอะไรๆ ที่ไม่น่าจะเคยรู้มาก่อน หรือพุทธมามกะที่สนใจเรื่องราวของพระสงฆ์ ก็จะได้ทราบในสิ่งที่ไม่เคยทราบ และจะได้ปฏิบัติต่อพระภิกษุได้ถูกต้อง  

                ในหลายๆ ตอนต่อไป ผมยังขอวนเวียนกับเรื่องวินัยสงฆ์อยู่ (ยกเว้นคนเขียนจะเบื่อตัวเองเสียก่อน)

                จาก 2-3 ตอนที่แล้ว ผมเล่าเรื่องการฉันของพระที่ว่า พระห้ามยืนฉัน ซึ่งสำหรับพระใหม่มักทำผิดกันเป็นประจำ  แต่นอกจากพระจะยืนฉันไม่ได้แล้ว ยัง “ยืน” ทำอะไรไม่ได้อีกสองสามอย่างครับ

                อย่างแรกเลยที่ผมก็เพิ่งทราบเมื่อบวช คือ ยืน “ถ่าย” ไม่ได้ครับ  ถ่ายหนักนั้นแน่นอน แต่ถ่ายเบาก็เช่นกัน เข้าใจว่าด้วยสาเหตุจากเครื่องนุ่งห่มที่เป็นจีวรและสบง ทำให้ยากต่อการยืนถ่ายครับ ต้องนั่งอย่างเดียว  กติกานี้ พระใหม่ไม่ค่อยทำผิดกันครับ เพราะสภาพมันบังคับพอสมควร  แต่ถ้าไม่มีใครบอกให้ทราบก่อนเลย ก็อาจทำผิดได้ ทั้งที่ไม่รู้ 

แต่ในทางพระถือว่า ยิ่งไม่รู้ ยิ่งผิด ถ้ารู้ แล้วผิด ยังผิดน้อยกว่าครับ

                อย่างที่สอง เป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงกันมาก คือมีข้อห้ามว่า พระภิกษุยืนอยู่ จะแสดงธรรม แก่คนที่นั่งอยู่ไม่ได้ (ยกเว้นคนป่วย) 

                ปกติถ้านั่งด้วยกัน พระจะต้องนั่งบนที่สูงกว่าฆราวาส เช่น พระนั่งบนอาสนะ ส่วนฆราวาสนั่งพื้น แบบนี้ก็แสดงธรรมได้   แต่ถ้ายืน ก็ต้องยืนด้วยกัน

นอกจากนี้ฆราวาสต้องไม่สวมรองเท้า ไม่คลุมศีรษะ (ใส่หมวกไม่ได้) ด้วย  รวมถึงมีข้อแปลกๆ เช่น พระห้ามแสดงธรรมแก่ฆราวาสที่ถืออาวุธในมือ (เพราะสอนแล้ว เกิดโยมโกรธหรือหมั่นไส้อาจไล่แทงพระได้ :) )  หรือนั่งอยู่ในยานพาหนะ

                กลับมาเรื่องยืน เรื่องนี้มีข้อถกเถียงคือ ส่วนใหญ่เมื่อพระบิณฑบาตร  ญาติโยมตักบาตรเสร็จ ก็มักจะนั่งลงพนมมือ รอรับพร พระก็จะให้พร เช่น “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”  ซึ่งการให้พรก็ถือว่าเป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง  แบบที่เห็นกันทั่วไปนี้ ถ้ายึดตามวินัยจริงๆ จึงต้องถือว่าทำผิด   ถ้าจะให้ถูกต้อง คือญาติโยมต้องยืนขึ้นพนมมือรับพร ก็จะไม่เป็นปัญหา

                ผมเคยออกเดินบิณฑาบตรกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง พอญาติโยมนั่งลง พระอาจารย์จะบอกโยมทันทีว่า “เอ้า โยมยืนขึ้นรับพร” แล้วท่านจึงจะกล่าวให้พร  “อภิวันทะนะสีลีสะ...สุขัง พะลัง”  แต่บางวันไปกับพระอาจารย์บางท่าน ท่านก็ไม่กล่าวให้พรเลย  บางท่านก็ให้สั้นๆ 

                เรื่องนี้คิดว่าคงเป็นเรื่องที่แก้กันได้ยาก เพราะญาติโยมมักไม่ทราบ และคิดว่าการที่เรานั่งลงก็เท่ากับว่าให้พระท่านอยู่ในฐานะที่สูงกว่า  (แต่แค่ถอดรองเท้าก็พอแล้วครับ)  แต่พระถือว่าโยมนั่งลง ขณะพระยืน แสดงว่าโยมไม่พร้อมจะฟังธรรม

โดยสรุปคือ พระจะให้พรหรือไม่ หลังรับบิณฑบาตรแล้ว ไม่มีกำหนดไว้ ให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้  ถ้าให้ จะ

ให้ได้ก็ต่อเมื่อโยมยืนรับพร (แบบถูกวินัยเป๊ะ) แต่ที่ทำๆ กันอยู่ ถือว่าอนุโลมๆ กันมาครับ

ส่วนใครทราบข้อวินัยของพระนี้แล้ว ถ้าอยากรับพรก็ช่วยกันทำให้ถูกต้องด้วยก็ดีนะครับ  

หมายเลขบันทึก: 250216เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2009 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับคุณสุวัฒน์ เรื่องพระยืนฉี่ผิดศิลหรือไม่ ขอร่วมแลกเปลี่ยนกับเรื่องเล่าต่อไปนี้ครับ มีพระบวชใหม่ 2 องค์ กลับจาก บิณฑบาตร ปวดท้องกลางทาง จึงข้างกำแพง พระองค์หนื่งนั่ง องค์หนึ่งยืนฉี่ ก็เกิดปุจฉากันว่า องค์ที่ยืนผิด เถียงกันมาตลอดทาง

มาถึงก็นำปัญหาให้อุปปัชฌา ตอบ

อุปปัชฌาก็ตอบด้วยปัญาว่า ถ้าไม่อยากให้ยืนฉี่ผิดศิลก็ให้ยกขาขึ้นข้างหนึ่ง 5555555555

สวัสดีครับคุณวอญ่า

ผมเคยปวดท้องระหว่างบิณฑบาตรเหมือนกันครับ แต่อดทนจนกลับวัด เลยไม่ต้องยกขาอีกข้างครับ

แต่ผ่านมาได้อย่างไร ตั้งใจจะเขียนในตอนบิณฑบาตรครับ

ไม่ทราบว่า ตักบาตรแล้ว ควรจะยืนหรือนั่งยองๆ พนมมือ รับพรพระ กันแน่ บางคนบอกยืนไม่สมควร เพราะยืนเท่าพระ แต่ได้ยินมาว่าต้องยืนรับพรถึงจะถูก แต่คนที่ใส่บาตรหลายๆคน จะนั่งยองๆรับพร มีแต่เราคนเดียวที่ยืนรับพระ สายตาก็มองมาที่เรา ว่าทำไมเราจึงไม่ยอมนั่งรับพร ให้ถูกต้องแบบคนอื่นๆ รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำผิดวิธีอยู่ ช่วยบอกด้วยว่า ที่ถูกต้องคือแบบไหน

อันไหนที่เราทำแล้วสบายใจก็ทำเถิดจะเกิดบุญ

มีพระวินัยบัญญัติไว้ พระยืนแสดงธรรมต่อผู้ที่นั่งที่ไม่เจ็บป่วยต้องอาบัติทุกกฏ การให้พรอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม มติของพระผู้ใหญ่หลายท่านจึงเห็นว่า การที่ออกบิณฑบาตแล้วยืนให้พร ขณะที่โยมนั่งยองๆ รับพร ต้องอาบัติทุกกฏแน่นอน

ผมเคยผ่านการบวชมาแล้วได้รับคำสอนจากพระผู้ใหญ่ว่า ที่ถูกต้องการใส่บาตเราต้องยืนใส่ทาตแล้วยืนรับพรจนจบเป็นสี่งที่ถูกต้อง การนั่งรับพรจากพระที่ยืนอยู่พระจะต้องอาบัติ ให้จำง่ายๆว่าถ้าพระยืนเราต้องยืนเหมือนพระ ถ้าพระนังให้พรเราต้องนั่งเหมือนพระ ถ้าพระพนมมือเราต้องพนมมือ

ขออธิบายเสริมนิดนึงนะครับ กรณีที่ว่าข้อบอกว่าให้โยมยืนขึ้นรับพรถูกต้องแล้วครับ ถ้าพระยืนโยมนั่งรับพรจะเป็นอาบัติทุกกฏ ในหมวดธัมเทสนาปฏิสังยุตข้อที่ 14 กล่าวว่า “นะ ฐิโต นิสินนัสสะ อะคิลานัสสะ ธัมมัง เทสิสสามีติสิกขา กะระณียา. ภิกษุพึงทำศึกษาว่า “เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งอยู่.” หรือแก้วิธีอื่นก็ได้ครับคือโยมนั่งแต่เราเปลี่ยนบทให้พร เช่น ภะวะตุสัพพะมังคะลัง เป็นต้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท