พระอารมณ์ขันของในหลวง


เข้าไปอ่านมาเห็นเป็นประโยชน์ อยากให้ทุกคนได้อ่านบ้างเลยนำมาลงให้ได้อ่านกัน ซึ่งเขียนโดยวิจิตรา ประยูรวงษ์

ซึ่งนำเสนอเรื่องพระราชอารมณ์ขันของในหลวง เนื่องจากต้องการให้ผู้อ่านมีรอยยิ้ม และปลื้มปิติในพระราช  จริยวัตรของพระองค์ เรื่องราวที่จะนำมาเสนอนั้น ได้รวบรวมมาจากหนังสือหลายเล่ม สรุปได้ ดังนี้

ในปี พ.ศ. 2503 ในหลวงเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ผู้สื่อข่าวอเมริกันได้ทูลถามพระองค์ว่า   นี่เป็นการเสด็จฯ เยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก ทรงรู้สึกอย่างไรบ้าง พระองค์มีพระราชดำรัสตอบว่า  ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่    ที่เมืองบอสตัน ข้อความนี้ช่วยให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกรักเคารพและมีความใกล้ชิดพระองค์ขึ้นมาทันที เพราะทำให้พวกเขารู้สึกว่าพระองค์มิใช่ คนต่างประเทศ หากแต่เป็น คนบอสตันคนหนึ่ง ก่อนที่จะจบการพระราชทานสัมภาษณ์ มีนักข่าวหนุ่มคนหนึ่งกราบทูลถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก ไม่ทรงยิ้มเลย ทรงหันพระพักตร์ไปยังสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พลางรับสั่งว่า นั่นไง ยิ้มของฉัน แสดงให้เห็นถึงพระราชปฏิภาณ และพระราชอารมณ์ขันล้ำลึกของพระองค์ท่าน ทำให้ทรงเป็นที่รักของประชาชนอเมริกันทั่วไปโดยข้อมูลนี้ไอ้งอิงมาจาก http://www.librarianmagazine.com/VOL2/NO2/librariantalk_feb.doc

เมื่อครั้ง บ็อบ โฮป (Bob Hope)   ดาราตลกชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง มาแวะกรุงเทพฯ เพื่อจะไปเปิดการแสดงกล่อมขวัญทหารอเมริกันในเวียดนาม ระหว่างแวะพักตั้งหลักที่กรุงเทพฯ บ็อบ โฮป โชคดีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ที่วังสวนจิตรลดารโหฐาน โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงดินเนอร์ด้วย บ็อบ โฮป กราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ขอพาเพื่อนไปด้วย" "ได้...ไม่ขัดข้อง" รับสั่งตอบ "พาเพื่อนของคุณมาได้เลย" บ็อบ โฮป ก็ทูลตอบว่า "ต้องขอบพระทัยแทนเพื่อนหกสิบสามคนของข้าพระพุทธเจ้าด้วย" 

คืนนั้น บ็อบ โฮป ได้นำวงดนตรีของเขาเข้าไปเล่นถวายในวังสวนจิตรฯ อยู่จนดึกจึงกราบทูลเชิญเสด็จฯ ที่บ้านพักของเขา ในหลวงรับสั่งว่า "ยินดีฉันพาเพื่อนหกสิบสามคนของฉันไปด้วยนะ"

มีอยู่คราวหนึ่ง หลังจากปีนเขาขึ้นไปบนสันเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่ง มีผู้กราบบังคมทูลถามในหลวงว่า ภูเขาลูกใหญ่ที่ปีนเมื่อวานซืนกับลูกนี้ ลูกไหนจะสูงกว่ากัน ในหลวงทรงตรัสตอบว่า "ลูกวานซืนนี้สูงกว่า เพราะฉันเคี้ยวมะขามป้อมถึงห้าลูกกว่าจะถึงยอดแต่วันนี้เพียงสามมะขามป้อมเท่านั้น"

ในหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง กล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 2513  ที่ ม.จ. ภีศเดช รัชนี ได้ตามเสด็จฯ ในหลวงไปหมู่บ้านท้ายดอยจอมหด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ทรงเล่าว่า ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ ไปแอ่วบ้านเฮา ในหลวงก็ทรงเสด็จฯ ตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง   เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ  แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำๆ จับ รู้สึกเป็นห่วง เพราะตามปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่า "ควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยพระราชทานมา แล้วจะจัดการเอง" แต่พระองค์ท่านก็เสวยเอง ทีเดียวเกลี้ยง ตอนหลังทรงรับสั่งว่า "ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้นเชื้อโรคตายหมด"

วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฏรของพระองค์ตามปกติ  ที่ต่างจังหวัดมีชาวบ้านมารับเสด็จในหลวงมากมาย พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาท ที่แถวด้านหน้า ก็มีหญิงชราคนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาท แล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวงแล้วพูดว่า ยายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดว่ายายอย่างโน้น อย่างนี้อีกมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร   พวกข้าราชบริพารก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระทัยหรือไม่ แต่พอได้ยินพระองค์ตรัสตอบกับหญิงชราคนนั้น ก็ต้องพากันกลั้นยิ้มกันเป็นแถว ๆ เพราะพระองค์ตรัสว่า เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกว่าน้าสิ ถึงจะถูก

เรื่องพระราชอารมณ์ขันนี้ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เคยเล่าไว้ว่า ที่มหาวิทยาลัยประสานมิตรปีหนึ่ง เมื่อพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จแล้ว มีพระราชดำรัสแก่ ม.ล.ปิ่นว่า "วันนี้ฉันได้ให้ปริญญาบัตรไปกี่กิโล"  ม.ล.ปิ่น มาลากุล อึกอัก จนด้วยเกล้าฯ เพราะมิได้ให้ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีชั่งน้ำหนักปริญญาบัตรไว้ก่อน เพื่อกราบบังคมทูลแต่ในปีต่อมา ในโอกาสเช่นเดียวกัน อธิการบดีของมหาวิทยาลัย จึงได้เตรียมพร้อมชั่งน้ำหนักใบปริญญาบัตรจำนวนทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้วล่วงหน้า ม.ล.ปิ่น มาลากุล จึงกราบทูลเสียงดังว่า "วันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปริญญาบัตรไปจำนวนทั้งหมด 230 กิโลกรัม"  ในทันทีนั้นก็มีพระราชดำรัสถาม ม.ล.ปิ่นว่า "ฉันจะต้องได้อาหารสักกี่แคลอรี่ จึงจะพอชดเชยกับแรงงานที่ได้เสียไป

บรรณานุกรม

ธีรเดช รัชนี, ม.ร.ว.และคณะ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง. กรุงเทพฯ :อักษรสัมพันธ์ , 2531.

วิลาส  มณีวัต. พระราชอารมณ์ขัน. กรุงเทพฯ :พี.วาทิน พับลิเคชั่น , 2539.

__________________________. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2545, 2546.

อริยา จินตพานิชการ, บรรณาธิการ. ที่สุดของหัวใจ. กรุงเทพฯ : กันตนา พับลิชชิ่ง, 2545.

____________________________. ร้อยเรื่องในรอยจำ. กรุงเทพฯ : กันตนา พับลิชชิ่ง, 2546.

จากเรื่องเล่าที่ยกมาให้อ่านข้างต้น หวังว่าคงทำให้ผู้อ่านอารมณ์ดีและระลึกถึงน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่และพระราชกรณียกิจของในหลวงที่มีต่อประชาชนของพระองค์เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป

สวัสดี J

 

หมายเลขบันทึก: 249321เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วอารมณ์ดีคะ

ถ้ามีอีกนำมาแลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท