ทำไมเกษตรกรทั่วไปไม่สนใจเกษตรอินทรีย์


ที่เขาไม่ทำ ไม่ใช่เขาไม่รู้ว่าเรื่องที่ทำน่ะดีหรือไม่ดี ทุกคนเห็นด้วยว่าดีหมดทุกเรื่อง แต่ที่เขาไม่ทำ เพราะไม่อยากให้คนอื่นมองตนเองว่า เป็นคนขี้เกียจและโง่

  

หลังจากที่ได้จัดการความรู้ของตนเอง ร่วมกับกลุ่มและเครือข่ายภูมิปัญญาอีสานด้านเกษตรอินทรีย์มาเป็นเวลาหลายปี ก็ได้พยายามยุให้คนอื่นลองใช้ความรู้ที่ผมได้มาในการทำเกษตรอินทรีย์มาเป็นเวลากว่า ๕ ปี ก็ยังไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรม มีคนเชื่อบ้าง ทำตามบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เรียกว่าไม่สะใจโก๋ก็ว่าได้

จนเมื่อปีที่แล้วผมลองหายืมที่ดินคนอื่นทำดู ๖ ไร่ ก็ดูเสมือนว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เตาะแตะเต็มที

มาถึงปีนี้ผมจึงลองลงลุยดูเองในทุกเรื่องให้เห็นดำเห็นแดงกันไปเลย เริ่มตั้งแต่ไปยืมเงินมาซื้อที่ ๔ ไร่กว่า ลองปรับแปลงแต่งที่ดิน ตามองค์ความรู้ระดับบรมครูของอีสานที่จัดการมาตลอด ๓-๔ ปี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ก่อนทำก็ได้ลองไปแอบถามชาวบ้านแปลงข้างๆ  ว่า ทำไมแนวคิดที่ผมกำลังทำอยู่นี้ ไม่มีคนสนใจทำเลย ไม่วาจะเป็นไม่เผา แต่เก็บฟางไว้ในนา ทำนาโดยไม่ไถ ไม่ดำ แต่งรูปแปลงให้เหมาะกับการดูแลดินและน้ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เน้นการใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก แทนปุ๋ยเคมี 

พอคุยไปได้สักพัก ผมก็ถึงบางอ้อ แบบปลาใหญ่ตายน้ำตื้นว่า ที่เขาไม่ทำ ไม่ใช่เขาไม่รู้ว่าเรื่องที่ทำน่ะดีหรือไม่ดี ทุกคนเห็นด้วยว่าดีหมดทุกเรื่อง 

แต่ที่เขาไม่ทำ เพราะไม่อยากให้คนอื่นมองตนเองว่า เป็นคนขี้เกียจและโง่ แค่ฟางก็ไม่เผา ไม่ขยันทำงานตามแบบที่คนขยันทำกัน ปล่อยให้นารก ปล่อยให้ฟางคลุมที่ ทำนาแบบมักง่าย ไม่ทำตัวเป้นผู้ขยันขันแข็ง ทำตัวจนโดยการผลิตปุ๋ยใช้เอง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ยุ่งยากแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทันสมัยและสบายกว่ากันเยอะเลย

ผมเลยได้ข้อสรุปง่ายๆ ว่า เกษตรอินทรีย์มันยากตรงที่ว่า มันไม่ทันสมัยตามความคิดของคนส่วนใหญ่นั่นเอง  ไม่เท่ห์ ไม่เป็นที่นับถือของคนรอบข้าง แถมยังดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนขี้เกียจ มักง่าย อีกต่างหาก

ผมก็เลยถามว่า แล้วชาวบ้านจะไม่มองเป็นคนขี้เกียจ มักง่ายหรือ เกษตรกรรอบข้างที่คุยอยู่ด้วย ตอบผมแบบง่ายๆ ว่า

"ก้อาจารย์เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่มีใครกล้าว่าอาจารย์โง่หรอกครับ แต่อาจารย์อาจเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้วันหนึ่ง จะมีคนกล้าขี้เกียจ กล้าจน กล้าโง่ ตามแบบที่อาจารย์ทำอยู่"

ผมก็เลยถือโอกาสทำตัวเป็นต้นแบบให้คนขี้เกียจ คนจน คนโง่ให้คนอื่นทำเกษตรอินทรีย์ตามที่บรมครูแห่งอีสานสั่งสอนมา 

หวังว่าความฝันของจะเป็นจริงภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้นะครับ และผมเพิ่งได้ข้อสรุปวันนี้ ว่า

เกษตรอินทรีย์มันยากตรงที่ขี้เกียจ จน และโง่ไม่เป็นอย่างนี้เองละหนอ

 

คำสำคัญ (Tags): #เกษตรอินทรีย์
หมายเลขบันทึก: 24807เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2006 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
   ขอเอาใจช่วยอาจารย์นะครับ

ยังมีคุณความดีอีกหลายๆ อย่างในสังคมที่มันไม่เก๋ ไม่เท่ ดูแล้วไม่หรูหรา ทำแล้วดูต่ำต้อย น้อยค่า ไม่เป็นที่เตะตาคน ผู้คนจึงไม่ค่อยกล้าที่จะทำมัน อย่างการทำบุญเข้าวัด กับการเดินเตร๋อยู่ศูนย์การค้า , การออกมาติวเตอร์กันข้างนอกบ้านแทนการตั้งในเรียนในห้องหรือทบทวนบทเรียนกับพ่อแม่ที่บ้าน , การแต่งกายแพงๆ ทั้งที่ตอนควักกระเป๋าซื้อมาเจ็บตัวแทบตาย, การใช้รถหรูราคาแพง ทั้งๆ ที่เวลาซ่อมก็ซ่อมแพงกว่ารถญี่ปุ่น แบบนี้เป็นต้น เมื่อไหร่ที่สังคมไทยไม่ยึดติดกับสิ่งปรุงแต่งทั้งทางใจและกาย ชาวนาก็อาจจะหันมาสนใจ "เกษตรอินทรีย์" กันมากกว่านี้

d(^_~) ทำอะไรก็ได้ ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ แบบที่อาจารย์ทำอยู่นั่นหละสำคัญ

สู้เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และโลกที่ไม่ใช่ของมนุษย์เราอย่างเดียว 

หมอน้อยเวียงเชียงรุ้ง
ผ่านมาเพราะค้นหาคำว่าเห็บวัว ก็สงสัยว่าวัวKMเป็นอย่างไร ทำให้จำต้องอ่านหลายตอนประทับใจจังยิ่งตอนนี้กำลังหันมาให้เกษตรกรทำกิจกรรมปศุสัตว์อินทรีย์ด้วย ต้องขอคำแนะนำเพิ่มแวะมาเวบจากอาจารย์บ่อยๆ นะครับ

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

  • เพราะเราทำนา หรือทำเกษตรแบบ เร่งเร้า เพื่อให้ได้ผลผลิตเร็วๆ หรือเปล่าครับ เลยนิยมใช้ปุ๋ยเทอร์โบ อย่างปุ๋ยอินทรีย์ เราขึ้เกียจย่อยด้วยกระเพาะหรือเปล่าครับ เหมือนกับการกินข้าว ก็คือการใส่ปุ๋ยอินทรีย์
  • ส่วนการใส่ปุ๋ยเคมีก็เหมือนกับการฉีดน้ำเกลือ ให้น้ำเกลือในตอนป่วยไข้ครับ
  • หากเรามองอะไรเป็นท่อนๆ เราก็ได้แค่ท่อนๆ ครับ หากเรามองได้ครบวงจรเราก็จะเห็นภาพรวมสมบูรณ์และเกี่ยวข้องกันมากขึ้นครับ
  • ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณที่ตามมาอ่านครับ

อินทรีย์ คำนี้ชาวบ้านที่ทำงาน เขาแปลว่า ร่างกาย ที่แสดงว่าต้องมีทุกอย่างอย่างเป็นธรรมชาติ

แต่ที่เราทำกันส่วนใหญ่

  1. ไม่ครบ
  2. ไม่เป็นธรรมชาติ

การใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนารกินยา กินมากๆจะติด หยุดไม่ได้

การใช้ปุ๋ยเคมี เหมือนการกินวิตามิน บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ก็ควรกินตอนที่เราไม่แข็งแรง

ร่างกายที่แข็งแรง ไม่ต้องกินทั้งยา และวิตามิน ใช่ไหมครับ

 

ทีนี้ชาวบ้านทำไมไม่ทำ

สาเหตุ

  • ความรู้ไม่พอ
  • ไม่กล้าลอง เพราะมองว่าเสี่ยง
  • ทรัพยากรรอบตัวไม่หนุน
  • สังคมไม่หนุน

จึงอยู่ในสภาพ รู้ค่า แต่ไม่กล้าเสี่ยง

เราจึงต้องหนุนช่วยในเชิง

  • ความรู้
  • กลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ทุนตั้งต้นในบางเรื่อง เป็นแรงจูงใจ

เราต้องมีพันธมิตรอิงระบบที่ทำงานอย่างเข้าใจชุมชน จึงต้องเป็นคนที่สนใจ KM ธรรมชาติ

นี่เป็นยุทธศาสตร์ของมหาชีวาลัยครับ

คงพอเข้าใจภาพรวมนะครับ

จริงหรอค่ะ  เพิ่งทราบสาเหตุที่แท้จริงว่ามันเป็นเพราะอย่างนี้เอง

เรื่องนี้ซับซ้อนครับ

ทั้งทางทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม

และมีประเด็นปลีกย่อยๆที่ ทำให้เกิดแขนง

ใช่ ไม่ใช ได้หลายจุด ครับ

ทำงานกับชุมชนต้องละเอียดอ่อนและระวังมากๆครับ

 เป็นอย่างที่คิดไว้ไม่ผิดจริงๆ ว่าทำไมคนไม่ชอบคิดนอกกรอบ เพราะกลัวโดนด่าว่าโง่ ไม่เข้าพวกเข้าฝูง ภาษาชาวบ้านก็คงใช้คำว่า คะลำ

คนไม่กล้าทำ "แตกต่าง"

เพราะต้องใช้ความรู้มาก

ถ้าทำตามคนอื่นไม่ต้องรู้อะไรมากก็ได้

เป็น ฉะนี้แล

ทำแตกต่าง ใช้ความรู้มากกว่าทำตามคนอื่นครับ

คนบางคนไม่ค่อยอยากรู้ครับ

บางคนก็กลัวที่จะรู้ เลยไม่ทำครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท