การประเมินทั้งระบบด้วย CIPP Model


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การประเมินทั้งระบบด้วย CIPP Model 

ในการจัดการศึกษา สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือการประเมิน (Evaluation) โดยเฉพาะการประเมินที่เป็นระบบ เพื่อให้ทราบถึงผลการปฏิบัติว่าในสิ่งที่ดำเนินการว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่  อย่างไร  การประเมินจึงมีลักษณะเป็นกระบวนการที่ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนที่เป็นวิทยาศาสตร์   ซึ่งในการประเมินได้มีนักวิชาการและนักการศึกษาได้เสนอแนะเป็นเอกสารและข้อเขียนอื่นๆ และยังได้กำหนดรูปแบบไว้มากพอสมควร ซึ่งในการประเมินนั้น ผู้ประเมินจะต้องยึดหลักการประเมินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป็นที่ตั้ง

รูปแบบการประเมินของ Stufflebeam ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ  (Decision makeing) เป็นรูปแบบที่มุ่งให้ได้มาซึ่งข้อมูลและข่าวสารต่าง ๆ  เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง  เป็นรูปแบบการประเมินที่เป็นที่นิยมในการประเมินเรื่องต่างๆแม้กระทั้งในวงการศึกษาไทย ได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถใช้ครบทั้งระบบ  CIPP Model เป็นรูปแบบการประเมินที่แดเนียล  แอล  สตัฟเฟิลบีม (Daneil L. Stufflebeam) กำหนดขึ้น โดยเน้นการประเมินที่เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ โดยมีจุดเน้นสำคัญเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารโครงการอย่างต่อเนื่อง และได้ข้อสรุปที่จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์กิจกรรมหรือโครงการที่ได้ดำเนินการไปว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร

                  คำว่า CIPP  model  คืออะไร  Daneil L. Stufflebeam ได้ใช้ตัวย่อของคำต่อไปนี้

  •  Context  หมายถึง บริบท หรือสภาวะแวดล้อม รอบๆที่อาจต้องมองให้ครอบคลุม

  •  Input  หมายถึง ปัจจัยเบื้องต้น เป็นตัวป้อนในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ

  •  Process หมายถึง กระบวนการ ขั้นตอนของการดำเนินการ

  •  Product หมายถึง ผลผลิต หรือผลที่เกิด

                Daneil L. Stufflebeam ให้ความหมายการประเมินไว้ว่า เป็นกระบวนการของการบรรยาย   การเก็บข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร   เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม  โดยรูปแบบ CIPP Model โดยกำหนดให้มีการประเมินทั้งระบบใน 4 ด้าน  ประกอบด้วย

1.      ประเมินสภาวะแวดล้อม

2.      ประเมินปัจจัยเบื้องต้น

3.      ประเมินกระบวนการ

4.      ประเมินผลผลิต

 

                  แนวทางการประเมินแต่ละด้านมี ประกอบด้วย

 

                  1. การประเมินสภาวะแวดล้อม  เป็นการประเมินให้ได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ  ความเป็นไปได้ของโครงการ  เป็นการตรวจสอบว่าโครงการที่จะทำสนองปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่  วัตถุประสงค์ของโครงการชัดเจน  เหมาะสม  สอดคล้องกับนโยบายขององค์การหรือนโยบายหน่วยเหนือหรือไม่  

                  2.   การประเมินปัจจัยเบื้องต้น   เป็นการประเมินเพื่อใช้ข้อมูลตัดสินใจต่อปัจจัยต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่า  เหมาะสมหรือไม่   โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้ทั้งบุคลากร  งบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์  การบริหารจัดการ  จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่  ปัจจัยที่กำหนดมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ 

                  3.   การประเมินกระบวนการ   เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ  เพื่อหาข้อดี  ข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ว่า  การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่  

                  4.   การประเมินผลผลิต   เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่   โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินสภาวะแวดล้อม  ปัจจัยเบื้องต้นและกระบวนการร่วมด้วย  เพื่อตรวจสอบว่าเกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่  คุณภาพของผลลัพธ์เป็นอย่างไร  เกิดผลกระทบหรือผลข้างเคียงอื่นใดหรือไม่  

                  การประเมินทั้งระบบแบบ CIPP เป็นการประเมินที่ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมด  ซึ่งผู้ประเมินจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินที่ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน   กำหนดประเด็นของตัวแปรหรือตัวชี้วัด   กำหนดแหล่งข้อมูลผู้ให้ข้อมูล  กำหนดเครื่องมือการประเมิน  วิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  กำหนดแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล  และเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน

                  หากผู้ประเมินวางแผนและดำเนินการประเมินอย่างเป็นระบบและเหมาะสมก็จะทำให้การประเมินตามแผนและโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประเมินในด้านการศึกษาที่มีกิจกรรม โครงการ แผนงาน ที่ปฏิบัติมาก แต่ขาดการประเมินอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การนำCIPP Model ไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง จะทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

-----------------------------------

 

สมคิด   พรมจุ้ย   เทคนิคการประเมินโครงการ  นนทบุรี  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

                  2544

สุพักตร์   พิบูลย์  กลยุทธ์การวิจัยเพื่อพัฒนางาน  วิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร  นนทบุรี  จตุพรดีไซน์ 2544

Stufflebeam, D.L., et al. Educational Evaluation and Decision – Making, Illinois : Peacock

                  Publishers., Inc., 1971.

คำสำคัญ (Tags): #การบริหาร
หมายเลขบันทึก: 247020เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2009 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

  • หากทุกงานมีการประเมินอย่างจริงจัง
  • มีการนำกรอบการประเมินมาวิเคราะห์และจัดทำตัวบ่งชี้ให้เหมาะสมกับบริบท  จะเป็นประโยชน์มาก
  • เพราะจะทำให้ได้ข้อสนเทศในการนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดการต่อไป
  • เคยอ่านงานประเมิน..ตัวบ่งชี้ล้าสมัยค่ะ

สวัสดี(สือละมันปาฆี)

การประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้งานสำเร็จไปด้วยดี

แต่เป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็น แต่ที่สำคัญ การประเมินการทำงานตังเองอย่างสม่ำเสมอ เป็นส่วนสำคัญมากกว่าใดๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท