จริยธรรม


ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม

                ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมของเพียเจท์

                เพียเจท์ (Piaget,1932, อ้างใน  ดวงเดือน พันธุมนาวิน และเพ็ญแข ประจนปัจจนึก, 2523, หน้า 39-40) นักจิตวิทยสชาวสวิสได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์เป็นผู้ริเริ่มทางความคิดว่า พัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์นั้นย่อมขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคล เพียเจท์ได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมเป็น  3  ระยะ  คือ

                1. ระยะแรกเริ่มตั้งแต่เกิดถึงสองขวบ จริยธรรมเกิดจากผู้ใหญ่เป็นผู้สนองความต้องการของเด็ก เด็กไม่สามารถรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ ระยะนี้ถือว่าเป็นขั้นก่อนจริยธรรม

                2. ระยะที่สองระดับอายุตั้งแต่ 2-8 ปี เด็กเริ่มมีการรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมอย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เด็กต้องการกระทำหรืองดการกระทำตามที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่กำหนด ทั้งนี้เพราะเด็กต้องการความรัก ความเอาใจใส่ คำชมเชย การยอมรับจากผู้ใหญ่ จึงต้องกระทำตามคำสั่ง ดังนั้นระยะนี้จึงเป็นขั้นยึดคำสั่งเป็นใหญ่

                3. ระยะที่สาม ระดับอายุตั้งแต่  8  ปีขึ้นไป ระดับนี้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาสูงรู้อะไรถูกอะไรควรไม่ควร จากความสามารถของตนเอง และจากการได้ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับเพื่อน ๆ ทำให้เด็กยอมรับกฎเกณฑ์สากล สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่พัฒนาการทางจริยธรรมเป็นของตนเอง ดังนั้นระยะนี้จึงเป็นขั้นยึดหลักแห่งตน

               

ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก

โคลเบอร์ก (Kohlberg, 1969 อ้างใน ดวงเดือน พันธุมนาวิน 2524, หน้า 28) ได้พัฒนาแนวคิดจากทฤษฎีเกี่ยวกับการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเด็ก เขาได้ศึกษาตามแนวทฤษฎีของเพเจท์แล้วพบว่า พัฒนาการทางจริยธรรมของมนุษย์ส่วนมากไม่ได้บรรลุถึงขั้นสูงสุดเมื่ออายุ  10  ปี แต่จะมีพัฒนาการอีกหลายขั้นตอนจากอายุ 1 ปี ถึง 25 ปี โคลเบอร์กเชื่อว่าการบรรลุนิติภาวะเชิงจริยธรรมของบุคคลนั้นจะแสดงออกทางการใช้เหตุผลทางจริยธรรมซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับ กฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่ง เป็นเหตุผลที่ลึกซึ้งบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นสากลกว้างขวางมีหลักการไม่ขัดแย้งไม่เข้าข้างตนเองและเป็นอุดมคติ

                ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก พัฒนาการแบ่งเป็น 3 ระดับ แต่ละระดับแบ่งออกเป็น  2  ขั้น  ดังนี้

                1. ระดับก่อนเกณฑ์ (Preconventional Level)  เป็นระดับที่บุคคลดำเนินตามบทบาทถูกต้องและไม่ถูกต้อง บุคคลจะสนองตอบเกณฑ์โดยกระทำตามผู้ที่มีอำนาจเหนือตนและพิจารณาสิ่ง ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถูกลงโทษหรือการได้รับรางวัล พัฒนาการระดับนี้แบ่งออกเป็น  2  ขั้น คือ

                                ขั้นที่  1  ขั้นหลบหลีกการลงโทษ (The Punishment and Obedience Orientation) ช่วงอายุ  2-7  ปี ในขั้นนี้จะใช้หลักการหลีกเลี่ยงมิให้ได้รับโทษในการกระทำเด็กจะทำดีตาม กฎเกณฑ์ของผู้ที่มีอำนาจเหนือตน และอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใหญ่ เพราะกลัวถูกลงโทษ ถ้าถูกลงโทษในสิ่งที่กระทำเด็กจะไม่กระทำอีก แต่ถ้าไม่ได้รับการลงโทษในสิ่งที่จะกระทำเขาจะกระทำอีก

                                ขั้นที่  2  ขั้นแสดงหารางวัล (The Instrumental Rekativist Orientation) ช่วง 7-10 ปี ในขั้นนี้เด็กไม่คิดว่ากฎระเบียบเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว ถือความพอใจของตนเป็นหลักในการตัดสินการกระทำตามใจตนเอง จะเห็นความสำคัญของการได้รางวัลหรือคำชมเชยซึ่งเป็นแรงจูงใจให้กระทำความดี

                2. ระดับตามกฏเกณฑ์ (Comventional Level) เป็นระดับที่เด็กจะเห็นความสำคัญของหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ เช่น ครอบครัว  กลุ่มชนหรือชาติ เด็กจะสนับสนุนการกระทำและอ้างเหตุผลสนับสนุนตามสังคม  รู้จักรักษากฎเกณฑ์จะไม่กระทำความผิดเพราะต้องการให้ผู้อื่นยอมรับ พัฒนาการระดับนี้แบ่งเป็น  2  ขั้น  คือ

                                ขั้นที่  3  ขั้นทำตามสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าดี (The Interpersonal Concordance Orientation) ช่วงอายุ 10-13  ปี ขั้นนี้เด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่คนดีควรกระทำ เด็กจะกระทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าคนอื่นจะเห็นด้วยและพอใจ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนฝูงเพราะต้องการยอมรับจากผู้อื่น

                                ขั้นที่  4  ขั้นกระทำตามหน้าที่และระเบียบทางสังคม (The Law and Order Orientation) ช่วงอายุ 13-16  ปี  ขั้นนี้ความคิดขยายกว้างขึ้นครอบคลุมถึงระเบียบสังคมทั่ว ๆ ไป บุคคลจะเข้าใจในกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานของสังคม ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกลุ่มสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มสังคมของตน

                3 ระดับเหนือกฎเกณฑ์ (Post conventional Level) ระดับนี้บุคคลจะเข้าใจถึงค่านิยม คุณค่าทางจริยธรรม หลักเกณฑ์ที่นำไปใช้โดยพิจารณาถึงสภาพการณ์ที่แตกต่างกันออกไป พยายามเลียนแบบค่านิยมทางศีลธรรมจรรยาสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเหมาะสมและเที่ยงธรรม ระดับนี้แบ่งออกเป็น  2  ขั้น  คือ

                                ขั้นที่  5  ขั้นการมีเหตุผลและเคารพตนเอง หรือขั้นทำตามคำมั่นสัญญา (The Social Contract Legalistic Orientation)  ช่วงอายุ  16  ปีขึ้นไป ในขั้นนี้จะเห็นความสำคัญของคนหมู่มาก ความถูกต้องเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาถึงค่านิยมเฉพาะตัวบุคคล โดยคำนึงถึงสภาพการณ์แลกกฎเกณฑ์ที่มีเหตุผลซึ่งได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ มีทัศนะต่อกฎเกณฑ์ในลักษณะที่ยืดหยุ่นได ถ้ามีเหตุผลที่เหมาะสมกว่า เคาระมติที่มาจากการลงความเห็นอย่างประชาธิปไตยและมีข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกัน บุคคลจะทำตามสัญญาที่ให้กับผู้อื่น คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

                                ขั้นที่  6  ขั้นทำตามหลักอุดมคติสากล (The Universal Ethical Principle Orientation) เป็นขั้นในวัยผู้ใหญ่ บุคคลมีความคิดรวบยอดทางนามธรรมเกี่ยวกับหลักการสากลความถูกต้อง คือความสำนึกถึงคุณค่าของความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่บุคคลนั้นได้พิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุผลอย่างกว้างขวางตามหลักสากลของผู้ที่เจริญแล้ว คำนึงถึงประโยชน์ของมนุษยชน มีความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน คุณธรรมในขั้นนี้จะเกิดขึ้นได้ในบุคคลที่มีความเจริญทางสติปัญญาในขั้นสูง มีความรู้และประสบการณ์กว้างขวาง

                โคลเบอร์ก  เชื่อว่า พัฒนาการทางจริยธรรมของบุคคลจะเป็นไปตามลำดับขั้นจาก ขั้นที่  1  ไปจนถึงขั้นที่  6  จะพัฒนาข้ามขั้นไม่ได้ เพราะการให้เหตุผลในขั้นที่สูงขึ้นได้นั้นจะต้องการความสามารถในขั้นที่ต่ำกว่า และต่อมาเมื่อได้รับประสบการณ์ทางสังคมใหม่ ๆ หรือเข้าใจประสบการณ์เก่าได้ดีขึ้น จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและเหตุผล ทำให้การให้เหตุผลในขั้นสูงมีมากขึ้น เหตุผลที่ขั้นต่ำกว่าก็จะถูกใช้น้อยลงและละทิ้งไปในที่สุด พัฒนาการทางจริยธรรมของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นสูงสุด อาจจะหยุดชะงักอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถทางสติปัญญาและประสบการณ์ทางสังคมของบุคคลนั้น

                นอกจากโคลเบอร์ก และเพียเจท์ ดังได้กล่าวแล้ว บรอนเฟน เบรนเนอร์ (Bronfen Brenner,1976 อ้างใน มิลินทร์  สำเภาเงิน ,2524,  หน้า  44)  ได้วิเคราะห์แบบของการตัดสินจริยธรรมและได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมไว้  5  ลักษณะ  ดังนี้

                1. ลักษณะการปรับเข้าหาตน (Self Oriented) เป็นขั้นที่บุคคลถูกใจให้กระทำเพื่อความพอใจของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของเด็กในวัยต้น

                2. ลักษณะการยอมรับอำนาจบังคับ (Authority – Oriented)  เป็นลักษณะที่บุคคลยอมรับค่านิยมและข้อบังคับของบิดามารดา  เรียกได้ว่า พฤติกรรมทางจริยธรรมถูกควบคุมจากบุคคล

                3. ลักษณะการยอมรับกลุ่มเพื่อน (Peer – Oriented) เป็นลักษณะที่บุคคลยอมปฏิบัติตามแนวทางของเพื่อน และเป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของผู้ใหญ่

                4. ลักษณะการทำจุดหมายของกลุ่ม ( Collective – Oriented) เป็นลักษณะที่บุคคลจะมีข้อผูกมัดในการปฏิบัติตามเป้าหมายของกลุ่ม

                5. ลักษณะการทำตามเหตุผล (Objective – Oriented) เป็นลักษณะที่ดีที่สุดเพื่อสนองตอบต่อสถานการณ์บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล

 

ลักษณะทางจริยธรรมของมนุษย์

                จริยธรรมนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคมให้มีความสุข ถ้าคนในสังคมใดมีจริยธรรมสูง สังคมนั้นจะมีแต่ความเจริญ ผู้มีจริยธรรมสูงจะประพฤติแต่ในสิ่งที่ดี และบรรลุถึงชีวิตอันทรงคุณค่าพึงประสงค์ ดังที่ ดวงเดือน  พันธุมนาวิน (2524, หน้า 2-3) ได้แบ่งลักษณะทางจริยธรรมของมนุษย์ออกเป็น  4  ประเภท  ดังนี้

                1. ความรู้เชิงจริยธรรม หมายถึง การที่บุคคลมีความรู้วาในสังคมของตนนั้น การกระทำชนิดใดควรทำและชนิดใดควรละเว้น พฤติกรรมประเภทใดเหมาะสม และพฤติกรรมประเภทใดไม่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด ปริมาณความรู้นี้ขึ้นอยู่กับอายุ การศึกษาและพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลด้วย

                2. ทัศนคติเชิงจริยธรรม คือ ความรู้สึกของบุคคลเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติกรรมเชิงจริยธรรมต่าง ๆ ว่าตนชอบหรือไม่ชอบเพียงใด ทัศนคติเชิงจริยธรรมของบุคคลส่วนมากจะสอดคล้องกับค่านิยมจองคนในสังคมนั้น แต่บุคคลบางคนในสถานการณ์ปกติอาจมีทัศนคติต่างไปจากค่านิยมของสังคมก็ได้ ทัศนคติทางจริยธรรมของบุคคลมีความหมายกว้างกว่าความรู้เชิงจริยธรรมของบุคคล เพราะทัศนคตินั้นรวมทั้งความรู้และความรู้สึกในเรื่องนั้น ๆ เข้าด้วยกัน ฉะนั้น ทัศนคติเชิงจริยธรรมจึงสามารถใช้ทำนายพฤติกรรมเชิงจริยธรรมได้แม่นยำกว่าการใช้ความรู้เชิงจริยธรรมเพียงอย่างเดียว

                3. เหตุผลเชิงจริยธรรม หมายถึง การที่บุคคลใช้เหตุผลในการเลือกที่จะทำหรือเลือกที่จะไม่กระทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุผลที่กล่าวมานี้จะแสดงให้เห็นถึงเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต่าง ๆ ของบุคคล การศึกษาเหตุผลเชิงจริยธรรมจะทำให้ทราบว่าบุคคลที่มีการกระทำเหมือนกันอาจมีเหตุผลเบื้องหลังการกระทำอยู่ในระดับที่แตกต่างกันได้

                4. พฤติกรรมทางจริยธรรม หมายถึง การที่บุคคลแสดงพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบหรืองดเว้นการแสดงพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์หรือค่านิยมในสังคมนั้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 246201เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

    ผมเพิ่งเคยพบของบรอนเฟน เบรนเนอร์ (Bronfen Brenner  ที่อาจารย์ยกมานี่แหละครับ    มีประโยชน์มากในการนำไปใช้พัฒนาเด็ก

                 ขอบคุณมากครับ

  • ตามมาขอบคุณ
  • สนใจเรื่องการพัฒนาเด็กในระยะที่สองครับ
  • สบายดีไหมครับ

เป็นทฤษฏีที่สนับสนุนว่า เด็ก มี พัฒนาการ ไปตามวัย.....

และ จริยธรรม ต้องวางรากฐานตั้งแต่วัยเด็ก..... 

ขอบคุณมากนะค่ะ จาเอาไว้อ่านตอบควิซในคาบเรียน^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท