ชีวิตที่พอเพียง : ๗๐๑. ก็มันสนุก


 

          ผมถามตัวเอง ว่าทำไมชีวิตของผมมันเดินมาทางนี้    ซึ่งไม่ใช่ทางเดินชีวิตตามปกติของคนเรียนหมอ    คำตอบของผมก็คือ “ก็มันสนุก”

          ใช่แล้ว!    ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ตามหาความสนุกสนาน    แต่ไม่ใช่ความสนุก แบบทั่วๆ ไป    เป็นความสนุกตามแบบของผม    คือสนุกที่ได้ทำ สนุกที่ได้เรียน    ได้ทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด คือทำแล้วเกิดผลสำเร็จที่ตัวเองภูมิใจ    ผมบอกตัวเองว่า มันสนองเลือดบ้าที่อยู่ภายในตัวผม  

          โชคดี ที่เลือดบ้าของผม ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะร่ำรวย    ไม่ได้มีเป้าหมายที่ชื่อเสียง    ไม่ได้มีเป้าหมายที่อำนาจ    แต่มีเป้าหมายเพื่อจะทำอะไรแก่สังคมให้สมกับที่เกิดมาเป็นคนกับเขาครั้งหนึ่ง    อยากทำประโยชน์ให้ได้มากกว่าความสามารถของตัวเองที่รู้ว่ามีข้อจำกัดมากมาย

          “เสียงเรียกจากภายใน” เช่นนี้แหละ    เรียกให้ผมเดินมาทางนี้   เรียกให้ผมเดินชีวิตตั้งแต่เด็กจนแก่มาอย่างที่เป็น    คือเป็นนักฝึกฝนตนเองให้ทำสิ่งที่ผมทำไม่ได้ ไม่รู้จัก ไม่นึกว่าจะทำได้ แต่คิดว่าถ้าฝึกจนทำได้ น่าจะเป็นประโยชน์  

          เสียงเรียกจากภายใน + ความมุ่งมั่น อดทน บากบั่น ไม่ท้อถอย + ความมีวินัยในตนเอง ช่วยพาชีวิตของผมเดินมา ๖๗ ปี สู่ชีวิตที่ “สนุกทุกวัน ทุกนาที”  

          นี่คือการ AAR ชีวิตของผม โดยตีความตามหนังสือ Geoff Colvin. Talent is Overrated : What Really Separates World – Class Performers from Everybody Else, 2008. ที่คุณเจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ แห่ง www.siamintelligence.com มอบให้เมื่อวันที่ ๑๐ ก.พ. ๕๒ นี่เอง  

          หนังสือเล่มนี้บอกว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้มาจากพรสวรรค์   แต่มาจากการฝึกฝนอย่างจริงจังเป็นเวลานานและถูกวิธี ที่เขาเรียกว่า deliberate practice   เป็นการฝึกฝนที่ต้องทนต่อความยากลำบาก ความเจ็บปวด    อย่างที่เราพูดกันว่า พรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์   โดยที่เจ้าตัวเองต้องมีแรงบันดาลในที่รุนแรงและต่อเนื่อง ที่จะฝึกฝนตนเองให้ทำในสิ่งที่ตนเองและคนอื่นทำไม่ได้ ให้ตนเองทำได้ในที่สุด  

          ในขณะที่คนทั่วๆ ไป ทำหรือฝึกสิ่งนั้นด้วยความรู้สึกว่าอยู่ในนรก    แต่คนที่จะบรรลุความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ กลับฝึกสิ่งนั้นด้วยความรู้สึกว่ากำลังอยู่บนสวรรค์   คือสนุกและมีความสุขที่จะต้องฝึกฝนอย่างอดทน    ในสภาพของการฝึกนั้น จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ฝึกจนลืมสนใจตัวเอง    ที่  Mihaly Csikszentmihalyi เรียกว่าอยู่ในสภาพ flow

          นี่ก็เป็นการฝึกอีกอย่างหนึ่ง   คือฝึกอ่านหนังสือแบบใหม่   ที่แทนที่จะอ่านหนังสือ กลับใช้วิธีตีความแทน   และใช้วิธีตีความด้วยชีวิตของตัวเอง   ซึ่งผมคิดว่าจะให้การเรียนรู้ที่ลึกและเร็ว   เท่ากับผมใช้ความเป็นคนแก่เป็นข้อได้เปรียบในการอ่านทำความเข้าใจหนังสือ

 

          ข้อเตือนผู้อ่านบันทึกนี้คือ อย่าเชื่อ    เพราะเป็นบันทึกที่เต็มไปด้วยอคติ

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.พ. ๕๒


                 

หมายเลขบันทึก: 246023เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2009 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบค่ะชอบมุมมองชีวิตแบบนี้ค่ะ

ชอบสนุกแบบนี้ด้วยค่ะ

ไปอิหร่านมาค่ะ เรียนรู้ชีวิตที่ไม่เทิดทูนอเมริกัน

แรงบันดาลใจคราวนี้ ทำให้อยากไปทำวิจัยปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจไทยค่ะ จำได้ไหมคะ รัฐบาลเขาวาน สกว.คิดเรื่องนี้ หนูเลยได้มาทำวิจัยในทีมนี้ด้วย เราฟื้นเศรษฐกิจแบบพึ่งอเมริกัน แต่แบบไม่พึ่งอเมริกัน ก็พอทำได้นะคะ

ถ้าเราไม่พิงอเมริกัน

ก็จะไม่ล้มตามอเมริกัน

ใช่ไหมคะ

ดูรูปไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท