การสอนเพลงพื้นบ้าน...ในโรงเรียนของผม


การสอนเพลงพื้นบ้าน...ในโรงเรียนของผม

     ผมชื่อครูพิสูจน์ นามสกุล ใจเที่ยงกุล เป็นครูสอนวิชาภาษาไทยอยู่ในโรงเรียนบางลี่วิทยา อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ผลงานที่พอจะทำให้คนรู้จัก ครูพิสูจน์ คือผลงานด้านการใช้ภาษาไทย ประเภทบทร้อยกรองต่างๆ แต่ผลงานที่ทำให้คนรู้จักกันดีคือเรื่องการสอนเพลงพื้นบ้าน

    ปัจจัยหนึ่งคือลูกศิษย์ครูพิสูจน์ ไปสร้างผลงานคว้ารางวัลต่างๆ อีกปัจจัยหนึ่งคือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และสพท.สพ.๒เชิญแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์  อ.ชำเลือง มณีวงษ์ และครูพิสูจน์ ไปร่วมเป็นวิทยากรอบรมครูและนักเรียนในจังหวัดสุพรรณบุรี ในเรื่องเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านต่างๆ

   ครูพิสูจน์ สอนเพลงพื้นบ้านในโรงเรียนอย่างไรบ้าง และมีปัจจัยอะไร ก็บอกได้ว่า แรกเริ่มก็มาจากใจรักของครูพิสูจน์ ทำให้เลือกเรียนวิชาเอกภาษาไทย มาโดยตลอด ชอบเรื่องบทกลอนเรื่องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ครูพิสูจน์แต่งเพลงลูกทุ่งได้ตั้งแต่เรียนอยู่ ม.ศ.๒ พอเรียนวิทยาลัยครู เรียนมหาวิทยาลัย ก็ทำกิจกรรมต่างๆด้านภาษาไทย ด้านเพลงพื้นบ้าน เมื่อจบมาเป็นครู ก็พยายามศึกษาเพิ่มเติมและถ่ายทอดสู่เด็กๆ แต่ตัวเองก็ยังไม่เก่งนัก

    จนได้มาอบรมเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านกับแม่บัวผัน จันทร์ศรี และแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ก็ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น และนำความรู้นี้ ไปสอนเด็กในโรงเรียนบางลี่วิทยา ได้อย่างมีรูปแบบมากขึ้น

    ครูพิสูจน์ ดำเนินการสอนเพลงพื้นบ้านอย่างไรบ้าง ก็ขอแยกเป็น ๓ ส่วนคือ

    ๑. สอนในหลักสูตรเป็นวิชาเพิ่มเติม ครูพิสูจน์ เขียนหลักสูตรท้องถิ่น วิชาเพิ่มเติมขึ้นในหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน ๒ รายวิชา คือรายวิชา ท ๓๐๒๐๕ การแสดงเพลงอีแซว ในช่วงชั้นที่ ๓ และรายวิชา ท๔๐๒๐๗ การอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านในท้องถิ่น ในช่วงชั้นที่ ๔ แล้วเปิดให้นักเรียนเลือกเรียน มีนักเรียนเลือกเรียนมาหลายรุ่นจนถึงปัจจุบัน

    ๒. สอนเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ชุมนุมอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน โดยครูพิสูจน์รับเป็นที่ปรึกษา มีนักเรียนทั้งในช่วงชั้นที่ ๓ และ ๔ มาร่วมกันตั้งชุมนุม ทำกิจกรรม ฝึกฝนเพลงพื้นบ้าน เรียนรู้ปฏิบัติและเผยแพร่ผลงาน

   ๓. สอนกลุ่มสนใจเพลงพื้นบ้านและตั้งเป็นคณะเพลงอีแซวหรือคณะเพลงพื้นบ้านนักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยา นักเรียนส่วนนี้ มีทั้งที่มาจากผู้ที่เรียนวิชาเพิ่มเติมจนเกิดทักษะ หรือมาจากชุมนุมอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน หรือมาจากนักเรียนที่มีทักษะมีความสนใจแต่ไม่ได้เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติม และไม่ได้อยู่ในชุมนุมอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น น้องจิ อยู่ชุมนุมดนตรีไทย ก็มาเล่นเพลงพื้นบ้าน

   การสอนของครูพิสูจน์ใช้การจัดการความรู้ ดึงความรู้ความสามารถในตัวเด็กออกมาถ่ายทอดสู่กันและกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยครูเป็นเหมือนผู้กำกับ

   เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ในคาบชุมนุม ผมลองให้นักเรียนแต่งเพลงอีแซวเรื่องความรักและวันวาเลนไทน์แล้วให้ออกมาร้องและนำเสนอ แบ่งเป็น ๕ กลุ่มนักเรียนก็ทำได้ดีครับ ชมภาพก่อนนะครับแล้วจะนำเนื้อเพลงมาโชว์ต่อไป

  ผมสอนอย่างนี้แหละครับ

เนื้อเพลงอีแซวที่เด็กแต่งครับ

กลุ่ม ที่ ๑

ขอเอ่ยวจี

แฮปปี้หนักหนา

แสนสุขกายา

วันวาเลนไทน์

มีดอกกุหลาบ

ซึ้งซาบดวงจิต

มีหลายชนิด

อีกมากมาย

แต่ว่าความรัก

สุดหนักอุรา

ของขวัญนั้นหนา

แพงเหลือหลาย

ไม่มีเงินซื้อ

พูดซื่อๆเต็มปาก

เงินมันหายาก

ไว้รอปีต่อไป

กลุ่มที่ ๒

ความรักนี้หนา

ซึ้งอุรายิ่งนัก

ทุกคนต่างรู้จัก

จริงจริงไหม

วันที่ สิบสี่

เรานี้รู้จัก

เป็นวันแห่งความรัก

กุหลาบช่อใหญ่

พวกเรานี้หนอ

จะขอทุกท่าน

ให้ความรักแก่กัน

จนวันตาย

ขอฝากทุกคน

จงเป็นคนดี

รักกันสุขขี

สวัสดีวาเลนไทน์

กลุ่มที่ ๓

คนเราเดี๋ยวนี้

มีแต่อกหัก

เพราะเรื่องความรัก

ทั้งหญิงและชาย

ผู้ชายเดี๋ยวนี้

ส่วนมากมีแต่ชั่ว

ผู้หญิงก็ยังมัว

หลงอยู่ได้

ถ้าหลงคนดี

มีแต่ความสุข

ปลดแปลื้องเรื่องทุกข์

 และความวอดวาย

ตัวฉันไม่รู้

เนื้อคู่อยู่ไหน

รักฉันจะติดใจ

ไปจนวันตาย

กลุ่มที่ ๔

ใกล้ถึงวาเลนไทน์

ให้คนไทยรักกัน

จงสมานฉันท์

กันเข้าไว้

เดี๋ยวนี้เมืองไทย

ใกล้จะวิบัติ

ผู้คนชอบขัด

แย้งกันเรื่อยไป

วาเลนไทน์เวียนมา

แล้วหนาคนดี

ขอวอนน้องพี่

จงรักกันไว้

เราจงรักกัน

เธอฉันพี่น้อง

อย่ามีขัดข้อง

กันเถิดนะคนไทย

กลุ่มที่ ๕

สิบสี่กุมภา

เรามารักกัน

วันที่สุขสันต์

ทั้งหญิงชาย

เป็นพี่หรือน้อง

พวกพ้องหรือเพื่อน

ไม่เคยลืมเลือน

จำใส่ใจ

วันแห่งความรัก

ที่พักเพื่อนบ้าน

สุขเกษมสำราญ

ทั้งกายใจ

ตรงกับวันเสาร์

ที่เราหยุดเรียน

เราควรพากเพียร

จงเรียนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 242674เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2009 06:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะพี่ชาย

ครูอ้อยมาบอกว่าคิดถึง และ มาบอกว่า เขียนทุกวัน อย่างนี้นะคะ

ครูอ้อย เชียร์ สู้สู้

ขอบคุณ ครูอ้อย แวะมาเยี่ยมเยือนแต่เช้าและแนะนำสิ่งดีๆให้ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ " ขุนพลเพลงอีแซวแห่งบางลี่" (ขออนุญาตนะครับ) ในยุคโลกาภิวัฒน์ ด้านศิลปวัฒนธรรม เปิดดูสื่อช่องใหนๆ ก็มีแต่เต้นร้องรำทำเพลง ของชาติอะไรก็ไม่รู้ (แล้วก็เชื่อว่านี่คือความทันสมัย ทันโลก..ผมว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า)...น่าดีใจที่อาจารย์ช่วยอนุรักษ์ของเก่าให้กับเยาวชนเพื่อสืบต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

ขอบคุณครับ หนุ่มกร กำลังใจจากหนุ่มกรและท่านผู้มีใจรักในศิลปวัฒนธรรมไทย..นี่แหละครับ..ที่ทำให้ครูพิสูจน์.และเด็กๆ.เกิดพลังที่จะสืบสานมรดกไทยต่อไปครับ

  • รออ่านเพลงอีแซวแห่งความรักค่ะ

ขอบคุณ หัวหน้าฯ ลำดวน กำลังรวบรวมแล้วจะนำเสนอครับ

สวัสดีค่ะคุณครู

เป็นภาพที่น่ารักมากเลยค่ะ

ดูเด็กๆมีความสุขกับการร้องเพลง

เทียนน้อยก็ชอบร้องเพลงค่ะ

เสียงไม่ให้แต่ใจรัก อิอิ

เป็นกำลังใจให้คุณครูค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ตั้งแต่พบคุณครูมา
  • คุณครูพิสูจน์มีเอกลักษณ์เด่นค่ะ
  • เกี่ยวกับการสอนเพลงพื้นบ้าน
  • จนเด็ก ๆมีความสามารถ
  • ขอเป็นกำลังใจและชื่นชมคุณครู..ค่ะ

ขอบคุณ เทียนน้อย ถึงเทียนจะเล่มน้อย หากแม้นส่องสว่างใน..ถิ่นแดนไพร..ก็สว่างไสว..ส่องปัญญาคนได้แจ่มใสนัก...ทำอะไรถ้าใจรักความสำเร็จรออยู่ไม่ไกลครับ

ขอขอบคุณครูคิม ครูผู้เสียสละและทุ่มเท..ครับ

ผมนำเนื้อเพลงอีแซวมาลงแล้วนะครับ...เด็กๆแต่งกันเป็นอย่างไรบ้างครับ..แต่งเองร้องเองนะครับ

เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนที่ยอดเยี่ยมเลยครับ นอกจากเด็กๆได้รู้รากเง้าของความเป็นไทยแล้วยังสอนให้เขาเป็นคนที่มีไหวพริบที่ดีอีกครับ อยากขออนุญาตนำมาใช้กับเด็กๆของผมจัง ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท