KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๕๓. วิจัยใน KM


 

          รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ แห่ง สกว. ส่งข้อเขียนเรื่องนี้มาให้ผม    จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ    ดังต่อไปนี้

 

สาร  biodata ฉบับที่ 81
วิจัยใน KM

เรียน สมาชิก biodata ทุกท่าน
          ฉบับนี้ขอคั่นเรื่องจรรยาบรรณ  เพราะอยากจะเอาเรื่องงานวิจัยใน KM  มาคุยกัน
          การจัดการความรู้ (KM) เป็นเรื่องที่วงการพัฒนาให้ความสนใจมาก  (ในมหาวิทยาลัยก็มี KM กันเป็นกลุ่มๆ)
          เป้าหมายการทำงานของ สกว. คือการพัฒนาประเทศด้วยความรู้และปัญญา  เรื่องนี้ผมเขียนไว้แล้วในฉบับที่ 79 (ตอน “วิจัยแบบนี้”)   สกว. ให้ทุนหลายประเภทมาก  แต่หากแบ่งหยาบๆ ก็จะได้นักวิจัย 2 แบบ คือ conventional researcher  กับนักวิจัยที่ทำงาน “วิจัยแบบนี้”   นักวิจัยประเภทหลังนั้นชอบทำวิจัยบวกกับ KM (บางทีจะเห็นแฝงอยู่ในงานที่เรียกว่า PAR)
          เรื่องเล่าตอนนี้ต้องเริ่มจากงาน ABC ชิ้นหนึ่งที่ทำกับ 14 อบต. (เป็นงานวิจัยสร้างระบบเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อพัฒนาไปสู่การตัดสินใจ)  เมื่องานจบแล้วมี 9 อบต. ประสบความสำเร็จพอที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นแบบ 1 x 5  (สนับสนุนให้ 9 อบต. ขยายผลแบบลูกโซ่ออกไปอีกแห่งละ 5 อบต.)  งานแบบนี้เป็นงาน KM ซึ่งจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด (รวมทั้งการใช้ทรัพยากรด้วย)  
          แม้ว่า สกว. สนับสนุนการวิจัย  แต่เป้าหมายคือการพัฒนา   ดังนั้น ชอบที่จะให้ใช้ KM  โดยเฉพาะที่ทำโดยชาวบ้านกันเอง  (หลายเวทีเราพบว่าการเอานักวิจัยมหาวิทยาลัยไปสอนนั้น ไม่ได้ผลเท่าให้ชาวบ้านสอนกันเอง  คำพูดที่เป็นอมตะคือ “อาจารย์พูดได้ง่ายๆ เพราะอาจารย์จบปริญญาเอก  แต่อาจารย์ไม่รู้หรอกว่าความจริงมันปฏิบัติยากแค่ไหน”  แต่กับชาวบ้านกันเองนั้น เขาจะสื่อสารกันง่ายกว่าและมีความรู้สึกว่า “เขาก็เหมือนเรา  หากเขาทำได้  เราก็น่าจะทำได้”)  
          สกว. ส่วนที่เป็นเจ้าภาพ ABC ต้องการสนับสนุนให้ 9 อบต. ใช้ KM ขยายผลออกไปอีก 45 อบต.   แต่เราก็อยากให้ 9 อบต. นั้นได้ประโยชน์จากการทำ KM ด้วย  ผมจึงถามว่า “เราทำวิจัยใน KM นี้ได้ไหม?”  เพื่อยุให้เขาทำวิจัยด้วย
          ทุกคนงงกับ “วิจัยใน KM”   งานแบบนี้ต้องเดินด้วยคำถามวิจัย   ผมจึงแหย่ให้คิดว่า 
          “หากเราทำ KM แล้วได้คำตอบว่า   อะไรคือปัจจัยความสำเร็จในการทำ KM ครั้งนี้  ก็น่าจะดีสำหรับพวกเราที่ทำ KM ด้วย” 
          ทุกคนเห็นด้วยว่า  หากเราช่วยกันทำวิจัยระหว่างทำ KM (ซึ่งจะมีตัวอย่างวิจัยถึง 45 อบต.)   เมื่อจบแล้วหากเอาการค้นพบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  เราก็จะได้ชุดความรู้ในการทำ KM
          ทุกคนเมื่อเห็นประเด็นนี้  จึงหารือกันว่า  งานวิจัยใน KM นี้จะต้องมีมาตรฐานและความเข้าใจเดียวกัน  เพื่อให้เอาข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบและจัดเป็นชุดความรู้ใหม่ได้    คราวนี้การสนทนา (ตามประสานักวิจัย) ก็เป็นเรื่องตัวแปรต้น-ตัวแปรตาม (งานวิจัยที่จะเข้าใจง่ายๆ สำหรับนักวิจัยใหม่  จะเริ่มจากคำถามวิจัย  สมมุติฐาน  ตัวแปรต้น-ตัวแปรตาม) 
          สมมุติฐานข้อหนึ่งคือ  “หากสมาชิก อบต. มีส่วนร่วมมาก  งาน KM ก็จะสำเร็จมาก”   ตัวแปรตามคือ “ความสำเร็จของการทำ KM”   ตัวแปรต้นคือ “การมีส่วนร่วม”   ทั้ง 2 ตัวแปรนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรมไปสักหน่อย   เราต้องหาวิธีวัด   นี่เป็นความท้าทายของ อบต. ที่มาประชุมวันนั้น  ผมให้การบ้านเขาไปคิดมา 1 สัปดาห์  แล้วมาประชุมกันใหม่  โดยบอกใบ้ให้ความคิดว่าตัวแปรที่เป็นนามธรรมเช่นนี้จะต้องวัดทางอ้อม
          “เรามาช่วยกันตีความก่อนว่า  อะไรที่แสดงถึงการมีส่วนร่วม  และเราต้องวัดได้ง่าย?”  ผมจุดเชื้อเพลิงอุ่นความคิด
          คำตอบวันนั้นคือ  “การไม่ขาดประชุม”  “การออกความเห็นในที่ประชุม” 
          “ถ้าเช่นนั้น  เรากำหนดว่าหากทุกครั้งของการเรียกประชุม  มีคนมาครบองค์ประชุมจะถือว่าได้ 5 คะแนน   และจะลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ  เช่น ครบองค์ประชุม 8 ใน 10 ครั้ง  จะได้คะแนน 4 เป็นต้น”  สมาชิกจาก อบต. หนึ่งออกความเห็น
          “ส่วนการออกความเห็นนั้น  จะใช้จำนวนคนที่ออกความเห็น  จำนวนความเห็นที่ต่างกัน  และเวลาที่ใช้ในที่ประชุมมาเป็นเกณฑ์ให้คะแนน”  สมชิกจากอีก อบต. หนึ่งเครื่องร้อนตาม  
          วิธีคิดข้างต้นคือนวัตกรรมของวิทยวิธี (methodology) ที่พวกเขาคิดกันเองได้หากมีการจุดประกาย   และผมเชื่อว่าเมื่อเขามาประชุมกันในสัปดาห์หน้า  เราจะได้สมมุติฐาน  ตัวแปร  และวิธีการวัดตัวแปรต่างๆ อีกมากมาย

          ที่นำมาเล่าใน “สาร biodata”  ฉบับนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า  หลักการทำวิจัยพื้นฐาน (คำถามวิจัย  สมมุติฐาน  ตัวแปร) อย่างเดียวนั้นไม่พอ   ความสำคัญอยู่ที่เราจะทำวิจัยกันอย่างไร   เราจึงต้องรู้ต่อไปว่าตัวแปรต่างๆ นั้นจะวัดอย่างไร   บางครั้งการวัดทางตรง  โดยเฉพาะแบบสอบถามนั้นได้คำตอบไม่จริง  สู้การวัดทางอ้อม  เช่น จากพฤติกรรมไม่ได้   ดังนั้น  ต้องตีความก่อนล่วงหน้าว่าตัวแปรที่จะวัดนี้ represent ด้วยพฤติกรรมอะไร  และ (ในการวิจัยเชิงคุณภาพผสมเชิงปริมาณ เช่น กรณีนี้) จะ quantify ออกมาได้อย่างไร
          ผมได้ให้ความคิดต่อว่า  การทำ KM แบบนี้ก็เหมือนการก่อเตาถ่าน   เตาที่เปียกจะจุดติดยากกว่าเตาแห้ง   เตาที่ร้อนระอุ (เช่น เพิ่งดับไปเมื่อครู่) จะจุดติดง่ายที่สุด   การทำ KM จะต้องรู้ว่าขณะนี้เขาเป็นเตาแบบไหน  (เทียบกับงานวิจัย  ส่วนนี้คือการ review)  หากเป็นเตาแห้งเราใช้เศษกระดาษ  เศษไม้ (เรียงจากเล็กไปหาใหญ่)  จุดให้ไม้ติดไฟแล้วจึงใส่ถ่าน   การใส่ถ่านก็ต้องเลือกแท่งบางยาว  วางให้ประสานกัน  อย่าถมด้วยถ่านก้อนใหญ่  เพราะมันจะกลบปิดการไหลของอากาศ  ทำให้เศษไม้ที่กำลังลุกไหม้นั้นดับได้    หากเป็นเตาเปียก  เราก็ต้องเริ่มด้วยเชื้อไฟที่ติดนานและทน  เช่น เศษยาง  ขี้ไต้  แทนการใช้กระดาษเป็นต้น  
          ดังนั้น  การวิจัยใน KM นี้  นอกจากจะได้ความรู้ใน “ขณะทำ” KM แล้ว  ทีมวิจัยควรทราบ “สภาพเบื้องต้น” ของ อบต. ที่จะทำ KM ด้วย   เพื่อจะได้วางแผนการจุดเตาได้ถูกต้อง  ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพเบื้องต้นกับการวางแผนจุดเตา (อบต.) นี้ก็เป็นประเด็นวิจัยอีกประเด็นหนึ่งได้  
          หากการวิจัยระหว่างทำ KM เป็นการวิจัยหายุทธวิธี  การวิจัยเพื่อจุดเตา อบต. นี้ถือว่าเป็นงานยุทธศาสตร์เลยทีเดียว
          เห็นไหมครับว่า  งานวิจัยสามารถออกแบบทำได้หลายรูปแบบมาก   คราวหน้าผมจะหาตัวอย่างอื่นมาเล่าอีก


 ข่าวดีประจำฉบับ
 1. ทุกวันอาทิตย์เวลา 16 นาฬิกา  มีรายการ “วิจัย ไทยคิด” ทาง ThaiPBS  ที่เอางานวิจัยของนักวิจัย (ที่รับทุน สกว.) ไปทำเกมโชว์  ฝากดูกันด้วย (ดูย้อนหลังได้ที่ web สกว.)  หากคิดว่าผลงานของท่านน่าจะออกอากาศได้  กรุณาแจ้งไปที่ฝ่ายที่ท่านรับทุนด้วย
 2. ตอนนี้ สกว. ได้ upgrade  สถานภาพสมาชิกแล้ว  ท่านที่ login เข้ามาจะเห็นสถานภาพใหม่  ซึ่งสามารถได้ส่วนลดในการซื้อหนังสือ สกว. สูงถึง 40%   Biodata จะติดตามการมีส่วนร่วมของท่าน (เรามีวิธีการแปลงให้เป็นแต้มสะสมเพื่อปรับสถานภาพ  ซึ่งตามยุทธศาสตร์การจัดการ biodata แล้วจะขอปิดเป็นความลับ)  แล้วจะเปลี่ยนสถานภาพของท่านทุก 3 เดือน (มีทั้งขึ้นและลง)
 ข่าวไม่ดีประจำฉบับ
          เราพบว่ามีสมาชิกบางท่านไม่มีข้อมูลอะไรใน biodata ที่เราจะใช้ประโยชน์เพื่อจัดการงานวิจัยเลย  สมัครเพราะต้องการส่วนลด 25% ในการสั่งซื้อหนังสือ   เราคิดมาก่อนแล้วว่าสมาชิกจำนวนหนึ่งจะทำเช่นนี้  แต่ก็คิดว่ายอมได้  อย่างน้อยก็ได้อ่านข่าวจากเราทุกสัปดาห์  ได้รู้จัก สกว. และการสนับสนุนงานวิจัย   แต่ที่ไม่อยากจะทำใจให้ยอมรับได้คือ  เราพบว่าบางท่านใช้สิทธิซื้อหนังสือให้คนอื่น (ระบบเราตรวจได้ระดับหนึ่ง)   จึงขอเตือนให้ท่านอยู่ในกรอบของกติกาที่ biodata จัดให้   มิฉะนั้น biodata อาจสร้างกติกาใหม่มา counter (ซึ่งไม่อยากทำ)
          ประกาศทุนวิจัยใหม่สัปดาห์นี้

          ข้อมูลที่น่าสนใจถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
5 กุมภาพันธ์  2552

 

           อ่านแล้วผมคิดว่า น่าจะเรียกว่า KM ฉบับตีความ  ฉบับพิสดาร  หรือ KM ฉบับสุธีระ

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.พ. ๕๒

         
        

 

หมายเลขบันทึก: 242536เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2009 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท