รักลูกให้ถูกทาง...วัฎจักรแห่งการสร้างคน


วันนี้พี่วั้นซึ่งอยู่ม.6 และเสร็จสิ้นการเรียนการสอนที่โรงเรียนอย่างเป็นทางการกันไปแล้ว เอาแผ่นกระดาษ Frienship ของเพื่อนๆมารวบรวมนั่งอ่าน เด็กสมัยนี้เขาเก่งกันมากเลยนะคะ นึกถึงสมัยเรามีเป็นเล่มๆเวียนให้เพื่อนเขียน เดี๋ยวนี้เขาร่อนแจกกระดาษสีเป็นแผ่นๆให้เพื่อนเขียนให้ ใช้เวลาแค่ไม่กี่วันได้มาจากเพื่อนเกือบทั้งชั้นแล้ว รวบรวมมาเหมือนกระดาษข้อสอบเลยค่ะ แต่ละคนก็ตกแต่งวาดรูประบายสี เขียนกันมามากบ้างน้อยบ้าง อ่านกันเพลิดเพลินทีเดียว

ได้อ่านสิ่งที่เพื่อนๆเขียนให้ลูก ก็เป็นกระจกสะท้อนภาพให้เรารู้ได้ว่า ลูกเป็นอย่างไรในสายตาเพื่อนๆ และเนื่องจากพี่วั้นเป็นคนที่คุยกับคุณแม่อยู่เสมอ ทำให้คุณแม่รู้จักบุคลิกของเพื่อนๆลูกหลายๆคนโดยแทบจะไม่เคยพบเจอตัวจริงกันเลย แต่ถ้าดูรูปจะบอกได้ว่าคนไหนชื่ออะไร ส่วนมากคุณแม่จะจำลักษณะของคุณพ่อคณแม่ของเพื่อนลูกได้มากกว่า เพราะคุณแม่อาสาเป็นตัวแทนห้องเรียนในคณะกรรมการเครือข่ายครู ผู้ปกครอง อ่านสิ่งที่เพื่อนๆลูกเขียนก็สะท้อนให้รู้ว่า เด็กแต่ละคนก็ได้ลักษณะหลายๆอย่างมาจากบุคลิกของพ่อแม่นั่นเอง

นึกย้อนไปว่า ในโรงเรียนที่พี่วั้นอยู่นี้เป็นโรงเรียนแนวใหม่ ที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะส่งลูกเข้ามาเรียน เพื่อที่จะพัฒนาเด็กไปด้วยกันกับโรงเรียน สัดส่วนของเด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาสูง มีฐานะดี มีสภาวะทางสังคมอยู่ในระดับดี ถึงดีมากนั้นสูงมากๆ ค่าเทอมแต่ละเทอมนั้นมากกว่าค่าเทอมโรงเรียน พี่เหน่นและน้องฟุงรวมกันเสียอีก ดูเหมือนว่าจะเป็นสังคมเล็กๆที่มีคุณภาพมาก เพราะพ่อแม่มีเวลาให้ลูก มีฐานะพอที่จะสนับสนุนลูกได้ สภาพแวดล้อม ปัจจัยส่งเสริมคุณภาพชีวิตมีมากจนเกินพอด้วยซ้ำ แต่เราก็ได้เห็นว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ มีความน่าเป็นห่วงในแง่ของการใช้ชีวิตในสังคม ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ดูเหมือนจะเอื้ออำนวยคุณภาพเหล่านี้ ยังไงๆก็ทดแทนความเข้าใจ ความรัก การมองโลกอย่างรอบด้าน ความไม่เห็นแก่ตัว และการเป็นตัวอย่างที่ดีของพ่อแม่ไม่ได้

เสียดายแทนคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านที่ให้ความรักกับลูก ด้วยการบังคับเคี่ยวเข็น พูดกับลูกมากกว่าฟังสิ่งที่ลูกอยากพูด ใช้มาตรฐานของตัวเองไปกะเกณฑ์ลูก คาดหวังกับลูกในสิ่งที่ไม่ใช่ความต้องการของเด็ก คิดแทนลูกโดยไม่ได้นึกในทางกลับกันจริงๆบ้างว่า ถ้าเราเป็นลูก เราคิดอย่างไร เคยได้ยินที่ลูกมาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนทำข้อสอบเสร็จก็มานั่งเครียด ว่าต้องได้คะแนนไม่ดี โดนพ่อแม่ดุแน่ๆ แล้วก็มีบางคนบอกว่า ถ้าให้พ่อแม่มาทำข้อสอบดูบ้างซิ จะทำได้คะแนนดีไหม และอีกหลากหลายความรู้สึกของเด็กๆ ที่พ่อแม่คงไม่มีโอกาสได้รับรู้ หากไม่เปิดใจให้ลูกอย่างจริงจัง มีหลายกรณีที่เด็กดูเหมือนมีปัญหา เข้ากับเพื่อนๆไม่ได้ ไม่มีใครชอบ หากเราย้อนดูที่พ่อแม่ก็จะพบว่า ปัญหานั้นน่าจะมาจากการที่เด็กไม่ได้รับความรัก ความเข้าใจจากพ่อแม่นี่เอง

มาชักชวนคุณพ่อคุณแม่และผู้ที่มีเด็กๆในปกครองทั้งหลาย ให้รักเขาในแบบที่เปิดโอกาสให้เด็กได้พูด ได้แสดงสิ่งที่เขาต้องการกันตั้งแต่เล็กๆกันเถอะนะคะ เรามีหน้าที่เลี้ยงดูให้เขาเติบโตเป็นคนดี แต่เราไม่ใช่เจ้าชีวิตที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบงการชีวิตของเขา ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราหวังดีกับเขาขนาดไหนก็ตาม คนทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง สอนให้เขาคิดได้เอง ทำทุกอย่างได้เอง ด้วยความสุข ความภาคภูมิใจในตัวเองก็พอแล้ว ทำกรอบที่ดีงามให้เขาในวัยเยาว์ แล้วค่อยๆละลายกรอบเหล่านั้น ให้เขาสร้างกรอบใหม่ให้ตัวเอง น่าจะเป็นแนวทางในการสร้างคนรุ่นต่อๆไปที่ดีกว่าไหมคะ

หมายเลขบันทึก: 241715เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ แวะมาทักทาย ไม่ได้เจอกันหลายวัน ไปสัมมนาที่อาดัง-หลีเป๊ะมา มีรูปสวยๆและเหตุการณ์ตื่นเต้นมาฝาก

อีกหน่อยลูกๆเราก็จะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วนะ

สวัสดีค่ะ พี่หมี ช่วงนี้กลับมายุ่งอีกแล้วค่ะ ยังไม่ได้ไปเยี่ยมชมบันทึกพี่หมีเลย ดีใจกับว่าที่คุณหมอซินของพี่หมีด้วยนะคะ

ขอบคุณคุณ ปรีดิ์ผาติ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม (ขอเอานามมาออกเพราะชอบชื่อนะคะ) ที่เป็นห่วงถามมานะคะ พี่วั้นไม่สอบเอเน็ทค่ะ เขาวางแผนไว้เรียบร้อย สอบตรงคณะที่เขาอยากเรียนจริงๆได้แล้วค่ะ ตอนนี้ก็เลยสบายๆอ่านหนังสือสอบโอเน็ทอย่างเดียว โรงเรียนจะได้คะแนนดีๆไว้ให้รุ่นน้องค่ะ

สอบที่ไหนครับ ดีใจด้วยนะครับที่รู้จักตัวเองไวดีจัง

ผมก็ชอบชื่อนี้ครับ แต่เวลาอยู่ใน Blog ยังอยากจะไม่ออกชื่อเพราะจะได้ไม่ยึดติด สนใจในสิ่งที่เรานำเสนอใน Blog ดีกว่า เพราะเห็นการแสดงความคิดผ่านตัวตนหลายครั้ง เมื่อออกชื่อ และหัวโขนครับ

ดีใจด้วยอีกครั้ง

ขอบคุณคุณ ปรีดิ์ผาติ ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม อีกรอบนะคะ พี่วั้นสอบได้ทุนที่ SIIT ค่ะ เขาอยากเรียนสิ่งที่เป็นวิทยาการที่เอามาสร้างอะไรใหม่ๆค่ะ เขาเคยถามว่า แม่อยากให้เรียนหมอหรือเปล่าด้วย แต่บอกเขาไปว่า เขาต้องเป็นคนเลือกเองค่ะ และถ้าถามแม่ แม่ก็บอกได้ว่า ลักษณะนิสัยของเขาไม่เหมาะกับการเป็นหมอน่ะค่ะ เขาเลยสบายใจเลือกสิ่งที่เขาต้องการตามสบาย

ส่วนเรื่องหัวโขนนี่ เคยเขียนไว้สมัยเข้ามาใน GotoKnow ใหม่ๆเหมือนกันค่ะ ที่ เราควรสวมหัวโขนเมื่อเขียนบล็อก GotoKnow กันหรือไม่ แต่มาถึงวันนี้รู้สึกว่า ชินที่จะออกความคิดเห็นตามแบบของเราเองไม่ว่าที่ไหน แต่การได้รู้จักผู้ที่เราเสวนาด้วยก็มีส่วนในการช่วยให้เรารู้สึกถึงความเปิดเผยจริงใจน่ะค่ะ พี่โอ๋ถือว่าในนี้ทุกคนเท่าเทียมกัน ในแง่การแสดงความคิดเห็น ตราบเท่าที่เราเคารพความคิดเห็นผู้อื่นไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท