นิราศซิดนีย์ 7: Ward Round (3) The Caretaker


Ward Round (3) The Caretaker

ลักษณะพิเศษของบรรยากาศ palliative care ward ก็คือ แทบทุกเตียงจะมีญาตินั่งอยู่ข้างๆ และญาติจะมีบทบาทในการดูแลรักษาค่อนข้างเยอะ เวลาเราราวน์ เราจะใช้เวลาส่วนสำคัญในการอธิบายว่าเราเจออะไร คนไข้เป็นอะไรและเราคิดว่ามาจากอะไร หรือจะต้อง investigate อะไรบ้าง (ที่น่าทึ่งคือ เขาก็ใช้ภาษาธรรมดาที่เราราวน์ๆกันไปอธิบายญาติได้ เช่น "today do you want physio to come to help you sit?" (จะให้นักกายภาพมาช่วยคนไข้นั่งบนเตียงไหม?) หรือ "We will ultrasound you tummy today. See if there is any obstruction in the liver then we can stent the bile duct and reduce your jaundice if that's the case." (วันนี้จะอัลตราซาวน์ท้องนะ ถ้ามีการอุดตันท่อน้ำดี เราจะใส่ stent ให้จะได้ช่วยลดดีซ่าน) คนไข้และญาติก็ค่อยๆ pick up ศัพท์แพทย์พวกนี้ไป และสุดท้ายก็สามารถถามตอบกับเราเข้าใจได้ดีทีเดียว เป็นการสื่อสารว่าเรากำลังทำอะไรกับคนไข้่ได้อย่างละเอียดใช้ได้

คุณภาพชีวิตของ caretaker (ผู้ดูแลคนไข้) ค่อนข้างจะมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้มากทีเดียว และเป็น mutual relationship คือ เป็นความสัมพันธ์สองทิศทาง ถ้าคนไข้แย่ลง คนดูแลก็แย่ลง ถ้าคนดูแลโทรมลง คนไข้ก็ทุกข์ลงไปด้วย ดังนั้น การดูแลต้องดูแลทั้งคู่เลยทีเดียว

มีคนไข้อยู่คนหนึ่ง ชื่อ Nguyen Thi Hoa เป็นผู้หญิงชาวเวียดนาม เป็นมะเร็งเต้านมชนิด inflammatory type มาหลายปี ไม่ได้ผ่าตัด แค่ฉายแสงกับให้เคมีบำบัด สามีแกเสียไปแล้ว ปรากฏว่าแกอยู่คนเดียวที่นี่ พูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก ลูกสาวอยู่ที่เวียดนาม social workers พาแกมาส่งโรงพยาบาลเพราะที่บ้านไม่มีคนช่วยดูแลแก แกมี brain metastases (มะเร็งแพร่กระจายไปสมอง) ด้วย ฉะนั้นแกจะเดินเหินลำบาด ดูแลตัวเองยาก

ลูกสาวกำลังติดต่อสถานฑูตออสเตรเลียที่เวียดนาม จะขอ resident visa คือมาเป็น citizen ที่ออสเตรเลีย และกำลังติดต่อขอจดหมายจาก hospice เรา ว่า condition ของแม่แกเป็นเช่นไรบ้่าง เขาอยากติดต่อขอให้เพื่อนบ้านเดินทางมาช่วยกันดูแลด้วย (ตรงนี้อาจจะเริ่มเกิด subplot ขึ้นเล็กน้อย ถ้าทุกคนขอ citizen visa หมด) เราก็ได้แต่เขียนจดหมายเล่า condition ของคนไข้ส่งไปให้ immigration office เขาพิจารณา

===============================================

คนไข้อีกรายชื่อ Rose เป็น Glioblastoma multiforme (มะเร็งสมอง) อายุแค่ 60 ปีเท่านั้นเอง มีพี่น้อง 9 คน แต่สนิทกับพี่สาว 2 คน มี NIDDM (เบาหวานชนิดหนึ่ง) ด้วย นอนๆอยู่ดีๆ วันอาทิตย์ที่แล้ว แกมีชักแล้วก็หมดสติไป จากเดิมที่ยังรู้่สติ พูดคุยได้ ก็เงียบกริบไปเลย พอตอนเช้าวันจันทร์ น้องสาวมา หน้าตาเป็นทุกข์สุดๆ พอพวกเรา (ทีมเราก็พึ่งทราบรายละเอียดทั้งหมด ตอนเช้านี่เอง) เดินเข้าไป Roheela เขัาไปตรวจ level of consciousness (ระดับความรู้่สติ) ได้ไม่กี่คำ Julie (น้องสาวคนไข้) ก็ถามว่าเป็นยังไงบ้าง เราก็เลยหยุดตรวจ ไปคุยกับแกก่อน เพราะเสียงแกทะแม่งๆ Julie ก็ร่ายยาวมาเลย บอกว่านี่ พี่สาวแกย้ายมาหลาย รพ. แต่ละ รพ.ก็ไม่ยอมบอกว่าเป็นอะไร จะทำอะไร ตอนแรกบอกว่าจะฉายแสง จะให้เคมีบำบัด แต่แล้วก็ไม่ให้ ไม่ให้โอกาสอะไรเลย  มาอยู่ที่นี่หมอก็ไม่บอกอะไร แล้วนี่จู่ๆก็เป็นแบบนี้ ตกลง Rose เป็นอะไรไป

Roheela ก็บอกไปว่า เมื่อวานอาการ Rose แย่ลง อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นเลือดออกในก้อนเนื้องอก ไปทำให้การหายใจหยุดไป เมืีอวานมีชัก ก็ไม่แน่ใจว่าชักก่อน จึงมีอาการแบบนี้ หรือว่าชักเป็นผลจากเรื่องอื่นก่อน อาจจะมีสำลักตอนกิน แล้วก็ชัก ทำให้สมองได้รับ oxygen น้อยลง อาการเลยแย่ลง

Julie ค่อนข้างเครียดมาก บอกว่าพยาบาลที่นี่ดีทุกคน เอาใจใส่ ดูแลคนไข้เป็นอย่างดี แต่หมอทำไมไม่ค่อยจะบอกอะไรคนไข้ หรือญาติเลย ที่แกต้องการก็แค่แผนการต่อไปเท่านั้น ไปที่ไหนๆ หมอก็ไม่ยอมบอกว่าจะทำอะไร Rose เป็นอะไร สักประเดี๋ยว พอเราหยุดฟังแกอย่างสงบ ให้แกพูดไปเรื่อยๆ จนแกเริ่มสังเกต แกเริ่มรู้สึกว่าพูดอะไรออกไป แกเลยหยุดแล้วก็ขอโทษพวกเรา บอกว่า แกไม่ได้ตั้งใจจะบ่นว่าหมอ หมอก็มาดูพี่สาวแกทุกวัน แกขอโทษด้วยที่พูดอะไรออกไปที่เราอาจจะรู้สึกไม่ดี พอแกเริ่มเย็นลง Roheela ก็เลยเชิญแกไปที่ห้อง counseling ที่อยู่ข้างๆ

ปรากฏว่าครอบครัวนี้ Rose สนิทกับพี่น้อง และปกติเป็นคนที่ active มาก ลักษณะเป็นกระทิงเต็มตัว (เหมือนๆกับพี่น้องคนอื่นๆด้วย) เมื่อไม่นานมานี้ พี่สาวใหญ่ก็เป็นมะเร็ง Rose เป็นคนดูแลจนกระทั่งอาการดีขึ้นเยอะ มาคราวนี้ Rose มาเป็นบ้าง ทำให้ครอบครัวค่อนข้างจะเครียด เพราะอยู่ในมรสุมต่อเนื่อง Julie ขอโทษพวกเราอีกครั้งสำหรับที่พูดอะไรออกไป เราก็บอกแกว่า เราเข้าใจ และที่ Julie ทำไปเพียงเพราะ Julie รัก Rose มาก และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันค่อนข้างจะเฉียบพลัน เป็นใคร ใครก็ทำใจยาก ปรับตัวยาก

ถึงตอนนี้ Julie อารมณ์ดีขึ้นเยอะ หันไปทักทายกับ Fellow ถามว่ากำลังตั้งครรภ์หรือ อีกไม่นานจะคลอดแล้ว อีกชีวิตใหม่กำลังจะเกิด ในขณะที่ชีวิตอื่นๆกำลังจะไป ขอให้โชคดีและขอโทษที่พูดอะไรไป หันมาทางผม ถามว่ามาจากไหน อ้อ มาจากประเทศไทยหรือ ขอโทษที่เมื่อตะกี้พูดอะไรออกไป พวกเราก็บอก Julie ไปว่าเราเข้าใจ Julie ดีและไม่ได้โกรธอะไร

ออกมาเจอกับพี่สาวใหญ่ แกก็บอกว่านี่ Rose เคยดูแลแก ตอนแกเป็นมะเร็ง ตอนนี้แกดีขึ้นแล้ว ก็ถึงคราวที่แกจะได้ดูแล Rose บ่้างล่ะ ครอบครัวนี้ก็สนิทสนมกันดี และทุกคนกำลังวางวาระของตัวเองลง และตั้งใจจะเผชิญกับวาระอะไรก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

ภายหลังต่อมา ทั้ง Julie และพี่สาวใหญ่ (ไม่ทราบว่าชื่ออะไร) ก็เลยดีกับพวกเราเป็นพิเศษ เจอหน้าทีไร ก็จะทักทาย วันนี้ปรากฏว่า Rose ลืมตา และขยับแขน ต่อมาบอกว่าอยากกินน้ำชา Julie ดีใจมาก รีบมาบอกเรา เราเลยบอกแกไปว่า เดี๋ยวขอให้ speech therapist มาประเมินก่อนว่าแกจะกินอะไรได้รึยัง เดี๋ยวจะสำลักอีก ค่อยๆก้าวไปทีละ step ดีกว่า

สำหรับการดูแลคนไข้ระยะสุดท้่ายนั้น พวกเราทุกคนที่อยู่ในทีม จะต้องมี background knowledge เรื่องของปฏิกิริยาและความนึกคิดของผู้ที่กำลังอยู่ในห้วงทุกข์ทรมานให้ดี ทั้งคนไข้ และญาติ (บางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติ) จะไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติที่คนธรรมดา จะมีเรื่องของมารยาททางสังคม เรื่องของการเห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็นสำคัญที่สุด เวลาคนเราเจ็บป่วย เราจะอยู่ในสภาวะเปราะบาง และเราอาจจะลด tolerance ในเรื่องราวต่างๆที่เราเคยอดทนได้ลงไปเยอะทีเดียว ในฐานะหมอและพยาบาล เราจะต้องเข้าใจในเรื่องแบบนี้ และพร้อมที่จะให้อภัย ไม่ถือโกรธโทษเคืองในกริยาของคนไข้หรือญาติมากนัก เพราะพวกเขากำลังทุกข์ใจ เราจะต้องเตรียมภูมิคุ้มกันของเราให้ดี นั้นคือ "สติ" มี awareness ตลอดเวลาว่าคนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ และพวกเราอาสามาอยู่ในอาชีพนี้ ก็เพื่อเหตุการณ์เหล่านี้นี่เอง คือเพื่อเมตตา กรุณา และช่วยเหลือคนที่กำลังอยู่ในห้วงทุกข์ มันเป็นงานของเรา

หมายเลขบันทึก: 241198เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2009 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์คะ ที่บ้านเรารพ.ที่ทำ humanized นั้น พี่ได้เรียนรู้ว่า การฟังอย่างมีสติของคุณหมอ คือฟังแบบลึกซึ้งนี่ช่วยได้มากเหมือนกับทำให้เขาคลายความทุกข์ และในที่สุดญาติ หรือคนไข้ ได้คำตอบเองคะ เขาบอกว่าเหมือนผงเข้าตาคะ

การเป็นทีม Pallative นี่ต้องมีความเข้าใจและเห็นในความทุกข์ของผู้คนจริงๆคะ แต่พี่ว่าการดูแลคนไข้ในทุกระดับหากได้แนวอย่างที่อาจารย์ว่าดียิ่งที่เดียว

ขอบคุณความรู้ที่ได้ถ่ายทอดอย่างดีจากท่านอาจารย์คะ

เหมือนได้ไปดูงานเองคะ ไม่ต้องเสียเงินคะ อิอิ

แม่ต้อยครับ

ขอเก็บค่าต๋งหน่อยนึงแล้วกัน แทนค่าเครื่องบิน อิ อิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท