นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Backward Design


การออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ

การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Backward Design

 

ความเป็นมา

การออกแบบการเรียนรู้ แบบ Backward Design เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและมีคุณค่ายิ่งอีกเรื่องหนึ่งในวงการศึกษา ในศตวรรษใหม่ นับเนื่องจากปี 2000 เป็นต้นมา โดยเกิดจากแนวคิดของ  Grant Wiggins และ Jay Mc Tighe ซึ่งได้เผยแพร่แนวคิดในเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998  เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการออกแบบการจัดการเรียนรู้

สำหรับประเทศไทยแนวคิดของ Grant Wiggins ได้เผยแพร่มาก่อนในวงการวัดผลและประเมินผลการศึกษา โดยเฉพาะการประเมินผลตามสภาพจริง โดยมีนักการศึกษาไทยหลายคน รวมทั้งผู้เขียนเองได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเผยแพร่ในรูปแบบการวัดผลที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติภาระงานในกิจกรรมการเรียนการสอน และนำภาระงานนั้นไปสู่การสะท้อนความรู้ความสามารถและคุณ-ลักษณะที่เหมาะสม ตามที่มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดไว้   แต่อย่างไรก็ตามในการดำเนินการดังกล่าว ครูยังมองแยกส่วนระหว่างการจัดการเรียนรู้และการปฏิบัติภาระงาน นอกจากนี้การกำหนดภาระงานที่ปลีกย่อยมากกว่าภาระงานบูรณาการที่สะท้อนความสามารถจริงของนักเรียนแบบองค์รวม และการใช้ความรู้ความคิดขั้นสูง (Metacognition)  ยังสร้างภาระให้แก่นักเรียนที่ต้องปฏิบัติงานมาก และภาระงานของครูในการตรวจให้คะแนน

จนกระทั่งปี 2550 จึงได้มีการให้ความสนใจนำแนวทางในการออกแบบการเรียนรู้แบบ Backward Design มาใช้โดยเริ่มเผยแพร่ในการพัฒนาครูสู่วิทยฐานครูชำนาญการพิเศษ และในโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยนำแนวทางที่ Grant Wiggins และ Jay Mc Tighe ได้นำเสนอ และแนวปฏิบัติที่โรงเรียนนานาชาติในประทศไทยบางแห่งได้ทดลองใช้มาก่อนมาเผยแพร่  ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องใหม่ แล้วทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูมตามกระแส แต่ควรคิดพิจารณาให้ดี แล้วนำไปสู่การปรับปรุงสิ่งที่คุ้นเคยและปฏิบัติอยู่แล้วในลักษณะการเสริมเติมเต็มในส่วนที่บกพร่อง มากกว่าการรื้อปรับใหม่ทั้งหมด

 

ความหมายของการออกแบบการเรียนรู้แบบ  Backward Design

             การออกแบบการเรียนรู้แบบ  Backward Design ได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทย หลากหลาย เช่น การออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ  การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับ การออกแบบการเรียนรู้แบบถอยหลัง การออกแบบการเรียนรู้แบบสะท้อนกลับ การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนรอย ในที่นี้ขอเรียกว่าการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ  ซึ่งดูเหมือนว่าจะตรงกับความหมายที่ผู้นำเสนอแนวคิดได้กล่าวไว้ ดังนี้

 กระบวนการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับให้เริ่มจากมองทุกอย่างให้จบหรือสิ้นสุดกระบวนการจัดการเรียนการสอน จากนั้นจึงเริ่มต้นจากตอนจบที่ผลผลิตจากการจัดการเรียนรู้ซึ่งได้แก่ เป้าหมายการเรียนหรือมาตรฐานการเรียนรู้นั่นเอง    แล้วจึงวางแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสร้างผลงานหลักฐานแห่งการเรียนรู้ อันเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเขาได้บรรลุมาตรฐานแล้ว

           กล่าวโดยสรุปแล้วการออกแบบการเรียนรู้แบบมองย้อนกลับ ก็คือการจัดการเรียนรู้ที่เอามาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้เรียนต้องเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายนั้น (จุดจบเรื่อง) ส่วนครูมีบทบาทสำคัญที่ต้องหาหนทางนำพาผู้เรียนไปให้ถึงตอนจบแบบ Happy Ending (ดี-เก่ง-สุข-พึ่งตนเองได้) จึงต้องมองย้อนกลับไปก่อนถึงตอนจบว่าต้องทำอย่างไร จึงจะได้ตอนจบที่ดีอย่างนี้ หากเป็นการแสดงละคร ควรมีฉากการแสดง ตัวละครอะไรบ้างก่อนถึงตอนจบ  กล่าวอีกทางหนึ่ง Backward Design ก็หมายถึงกระบวนการออกแบบระบบการจัดการเรียนรู้ ตลอดวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ในการมุ่งไปสู่ผลลัพธ์ของการจัดการเรียนรู้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร

 

ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้แบบ  Backward Design

                     เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ละขั้นตอนสามารถกำหนดเป็นคำถาม 3 คำถาม ซึ่งคำตอบของคำถามจะเป็นแนวทางในการวางแผนของครูนั่นเอง

 

ขั้นตอน 1 กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้

คำถาม :  อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนต้องมีความเข้าใจ  สามารถทำได้ หรือเกิดคุณลักษณะที่มีคุณค่า

ขั้นตอน 2  กำหนดหลักฐานผลการเรียนรู้

คำถาม:  อะไรคือพยานหลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนเข้าใจ มีความสามารถ หรือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้ว

ขั้นตอน 3ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้

คำถาม  :  ประสบการณ์การเรียนรู้และการสอนอะไรที่จะสนับสนุน ส่งเสริม จนทำให้ผู้เรียนเข้าใจ มีความสามารถ หรือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่ต้องการในขั้นที่ 1

 

                  กล่าวโดยสรุปแล้ว Backward Design เป็นกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ที่นำมาตรฐานการเรียนรู้มาเป็นเป้าหมายการจัดการเรียนการสอน โดยที่ครูผู้สอนจะต้องออกแบบวางแผนกำหนดหลักฐานการเรียนรู้ที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนสามารถบรรลุซึ่งจุด-หมายหลักสูตรรายวิชานั้นๆ และนอกจากนั้นครูผู้สอนจะต้องสามารถออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ให้สอดคล้องกับภาระชิ้นงาน หรือหลักฐานการเรียนรู้ ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวนี้ จำเป็นจะต้องใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

"การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Backward Design". เข้าถึงข้อมูลได้

                                  จาก http://www.yantakao.ac.th/~ypscience/files/ 7 ก.พ. 2552

 

 

หมายเลขบันทึก: 240324เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

ครูออ้ยกำลังศึกษาอยู่ค่ะ  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่ .... http://gotoknow.org/blog/skuikratoke

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท