นวตกรรมการบริหาร


การบริหาร

นวัตกรรมการบริหาร

แนวความคิดเกี่ยวกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม

          ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารปกครองเป็นหลักคิดที่รัฐบาลในประเทศเสรีประชาธิปไตยต่างๆ ให้ความสนใจ เพราะเป็นการบริหารราชการที่ประชาชนเรียกร้อง เป็นที่ยอมรับของประชาชน และเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นให้การบริหารราชการ การตัดสินใจ การให้บริการสาธารณะ ตลอดจนการดำเนินนโยบายสาธารณะต่างๆ เป็นไปอย่างสุจริตโปร่งใส เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชน มีการตัดสินใจที่รอบคอบ เป็นธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยรวม  การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นวิธีการหนึ่งที่จะเกิดการบริหารราชการที่สุจริตโปร่งใสมากขึ้น

          จากความพยายามในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภาครัฐมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับระบบการบริหารราชการให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเรียกว่า  การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Governance) การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมหมายถึง การจัดระบบการบริหารราชการ การจัดโครงสร้าง ทัศนคติในการบริหารราชการ และการกำหนดแนวทางที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจทางการบริหารและการดำเนินกิจกรรมของรัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

          การบริหารราชการแบบมีสวนร่วมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภาครัฐอาจจะดำเนินการได้ในหลายมิติ ตามความเหมาะสมและความต้องการพื้นฐานของประชาชนในแต่ละสังคม  องค์กรที่เรียกตนเองว่า International Association for Public Participation (IAP2) ซึ่งเป็นสถาบันนานาชาติได้ศึกษาและกำหนดระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ 5 ระดับ เพื่อที่ผู้ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาครัฐจะเลือกตัดสินใจออกแบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จากระดับการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในภาครัฐ ตั้งแต่ระดับการเข้ามามีส่วนร่วมที่น้อยที่สุด ถึงระดับการเข้ามามีส่วนร่วมที่มากขึ้นในระดับที่ 5 มีรายละเอียด ดังนี้

ระดับที่ 1 การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ (To Inform) เป็นระดับที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นน้อยสุดซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับงานของภาครัฐ โดยหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ทันสมัย และประชาชนสามารถเข้าถึงได้

ระดับที่ 2 การเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการ/การปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ อย่างอิสระและเป็นระบบ โดยหน่วยงานภาครัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็น ประเด็นที่ประชาชนเป็นห่วงไปเป็นแนวทางการปรับปรุงนโยบาย การตัดสินใจ และพัฒนาวิธีการปฏิบัติงานในหน่วยงาน (To Consult)

ระดับที่ 3 เป็นระดับที่หน่วยงานภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องในกระบวนการกำหนดนโยบาย การวางแผนงานโครงการ และวิธีการทำงาน โดยหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่จัดระบบ อำนวยความสะดวก ยอมรับการเสนอแนะและการตัดสินใจร่วมกับภาคประชาชน (To Involve) การมีส่วนร่วมระดับนี้มักดำเนินการในรูปแบบกรรมการที่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม

ระดับที่ 4 การที่หน่วยงานภาครัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมีบทบาทเป็นหุ้นส่วนหรือภาคีในการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ (To Collaborate)

ระดับที่ 5 การเสริมอำนาจประชาชน (To Empower) เป็นระดับที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทเต็มในการตัดสินใจ การบริหารงาน และการดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อเข้ามาทดแทนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐดำเนินการหรือปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับสูงสุดนี้เน้นให้ประชาชนเป็นเจ้าของดำเนินภารกิจและ ภาครัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนเท่านั้น

นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน

    การจัดการศึกษาในปัจจุบันนี้   เป็นการจัดการศึกษาในยุคของการเปลี่ยนแปลง  นักการศึกษาและสถานบันการศึกษาทุกระดับไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  หรือการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องปรับเปลี่ยนและสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ  รวมทั้งต้องเสริมสร้างคุณธรรม  จริยธรรม  เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดี        มีปัญญา  และมีความสุข  มีการปลูกฝังกระบวนการคิด  มากกว่าการบริโภคหรือการเสพความรู้ที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้  ถ้าวันนี้ผู้มีส่วนได้เสียไม่ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเราทุกคนก็ต้องนับถอยหลังเพื่อพบกับความผิดพลาดที่เกิดจากการจัดการศึกษา      ซึ่งเราทุกคนต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น  การจัดการเรียนการสอนตามความสนใจและความถนัดของนักเรียน  ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร  เป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่มีประโยชน์ซึ่งสถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนสามารถศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของชุมชนตนเองได้  ตามรายละเอียดข้างล้างนี้

นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามความสนใจและความถนัดของนักเรียน
Indications of innovative approaches of school educational development
การจัดการศึกษาให้กับนักเรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นสื่อการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนรับรู้เนื้อหาสาระวิชาอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพื้นฐานความรู้และตัวตนของนักเรียน โดยได้เปิดหลักสูตรเฉพาะตนขึ้น เพื่อให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษได้ศึกษาศาสตร์นั้นๆอย่างถ่องแท้ เป็นวิชาเอกเฉพาะตนเอง ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาจนเป็นผู้มีความสามารถพิเศษขั้นสูงสุด

หลักสูตรหลากหลาย พัฒนาการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่อง

·  ให้เห็นความงามจากความแตกต่างระหว่างบุคคลให้ได้

·  แสดงความเป็นเลิศทางการศึกษาให้โอกาสทุกคนได้รับการศึกษาสูงสุดตามกำลัง ความถนัดของตนเอง
   โดยการสร้างหลักสูตรเฉพาะตน

·  จัดหลักสูตรมีความหมาย (Find) หลากหลาย (Focus) ต่อเนื่อง (Fulfillment)
      o หลักสูตรมีความหมาย (Find) ให้รู้จักตัวเอง ความรัก ความชอบ ความถนัด เกิดทักษะ อาชีพ ความชำนาญเฉพาะ
      o หลักสูตรหลากหลาย (Focus) เรียนรู้อย่างเห็นคุณค่า และมีเป้าหมาย หลากหลายทางเลือก
      o หลักสูตรต่อเนื่อง (Fulfillment) ตามโครงการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

·  กระบวนการ ทั่วถึง เต็มที่
     o ทั่วถึงโดยการใช้เทคโนโลยี ICT จัดกิจกรรมวิชาชีพที่หลากหลาย
     o เต็มที่ตามความเป็นจริงพื้นฐาน ฝึกงาน และพบผู้เชี่ยวชาญ

·  อาจารย์ วิธีคิด วิธีสอน อุปกรณ์ องค์ความรู้ใหม่
     o สอน สร้าง ซ่อม เสริม

  เป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ระดับมัธยมศึกษาที่มุ่งเน้นถึงความหลากหลายในการให้ความรู้ เพื่อพัฒนานักเรียนที่มีระดับสติปัญญาแตกต่างกัน

หมายเลขบันทึก: 240316เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท