เล่าเรื่องระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒(ตอนที่ ๒)


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๒       อาหารเช้านี้เลือกโจ๊กหมูชามเดียว ตามด้วยกาแฟ ๑ ถ้วย ขึ้นไปลงชื่อเข้าเรียนในภาคเช้าที่ห้องประชุมชลบุรี หัวข้อวันนี้  บทบาทของผู้นำในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยมในหน่วยงาน  มีอาจารย์ ธรรมรักษ์  การพิศิษฏ์  จากสำนักงาน กพร. เป็นวิทยากร  เป็นการเรียนทั้งเช้าและบ่าย เนื้อหาเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ที่ส่งผลต่อการจัดการองค์กร วิธีคิดเป็นปัจจัยชี้นำให้เกิดทัศนคติ  พฤติกรรม  และวิธีการที่สานสัมพันธ์กับผู้อื่นได้สำเร็จ และหากกรอบความคิดของเราใกล้เคียงกับหลักการหรือกฎธรรมชาติเท่าใด  แผนที่ก็จะยิ่งช่วยให้เกิดความเที่ยงแท้แม่นยำและใช้งานได้ประโยชน์มากขึ้น  กระบวนทัศน์การรับรู้โลกในยุคก้าวผ่านจากยุคเกษตรกรรมมาสู่อุตสาหกรรม ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่มององค์การในลักษณะของสิ่งไม่มีชีวิต  รับรู้โลกเป็นเครื่องจักรแบบกลไก  แยกส่วน เชื่อว่า ธรรมชาติดำเนินไปหรือเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเมืองเครื่องจักรที่ถูกควบคุมด้วยกฎคงที่ ทุกอย่างสามารถจัดระเบียบออกมาเป็นตัวเลขได้  เชื่อว่าโลกประกอบด้วยกลไกหน่วยย่อยพื้นฐานหากค้นหาพบก็จะควบคุมความเป็นไปของทั้งหมดได้  ความลึกลับของธรรมชาติมนุษย์สามารถเอาชนะและควบคุมได้ ร่างกายกับจิตใจของมนุษย์แยกส่วนจากกัน  สังคมที่มีชายอยู่เหนือเพศหญิงเป็นกฎธรรมชาติ  ความคิดแยกส่วนนี้มีอิทธิพลในยุคก่อนศตวรรษที่ ๒๐   ต่อมาในองค์การมีระบบ Bureaucracy ออกมาใช้ในการบริหารจัดการ  มีการจัดโครงสร้างองค์การ  ๖ องค์ประกอบ คือ สายการบังคับบัญชา  อำนาจสั่งการ  แบ่งหน้าที่ตามความชำนาญ  ความเสมอภาค  กฎระเบียบ  สายงานหลักและสนับสนุน  การจัดองค์การแบบนี้มีความเหมาะสมอย่างมาก    ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความมั่นคง    “A mechanistic management system is  appropriate  to  Stable conditions”   Albert Einstein  กล่าวว่า มนุษย์ชาติหากต้องการที่จะดำรงอยู่ต่อไป  จำเป็นต้องมีแนวคิดใหม่  ที่แตกต่างจากเก่าอย่างถอนราก  กระบวนทัศน์ใหม่เป็นการมองโลกแบบใหม่ในเชิงนิเวศน์  มองโลก มององค์กรในลักษณะที่เป็นสิ่งมีชีวิต (Living Organization) มิใช่เครื่องจักรแบบกระบวนทัศน์เก่า  มีการพิสูจน์ทางฟิสิกส์ให้เห็นว่าอะตอมมิใช่หน่วยเล็กที่สุด  ยังมีโปรตอนและอิเล็กตรอนเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา   วิกฤตการณ์ทั้งหลายในสังคมมนุษย์เกิดจากกระบวนทัศน์การจัดการที่ขัดแย้งกับระบบใหญ่ที่ตนเองเชื่อมโยงอยู่  ชุมชนทั้งหลายจึงไม่อาจแก้ไข หรือคลี่คลายปัญหาได้อย่างยั่งยืน  หากมนุษย์ไม่ทำความเข้าใจและจัดแบบแผนของระบบมนุษย์ทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบชีวิตของปัจเจกบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กร  สังคมโดยรวม  ให้สอดคล้องโยงใยเป็นองค์รวมกับระบบใหญ่หรือระบบนิเวศน์  ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่เปลี่ยนความหมายของชีวิตจากมิติวิทยาศาสตร์แบบกลจักร (Mechanical) มาเป็นวิทยาศาสตร์แบบชีวิต (Living & Science) ฟิสิกส์  วัตถุ และชีวิต เป็นหนึ่งเดียวกัน เราเรียกว่า ความคิดเชิงระบบ (System Thinking) เป็นระบบคิด วิธีคิดใหม่ของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่ง  เมื่อโลกย่างเข้าศตวรรษที่ ๒๑ สภาพการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์  ทางฟิสิกส์ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการสื่อสาร  เทคโนโลยีสารสนเทศ  รวมทั้งกระแสประชาธิปไตย  สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างเป็นเครือข่ายที่ไร้พรมแดน  ทำให้โลกมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง  การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว  เต็มไปด้วยความซับซ้อน และไม่เที่ยงแท้แน่นอน  กระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดองค์กร และการบริหารจัดการที่จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ ก็คือ การจะต้องพิจารณาองค์กรเป็นสิ่งมีชีวิต (Living  Organization) ที่จะต้องมีความสามารถปรับตัวให้ยืดหยุ่น สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ยึดคนเป็นศูนย์กลาง เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดขององค์การ   เป็นองค์การที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ เพื่อแสวงหาความคิดใหม่ตลอดเวลา  มีการจัดการกับความเสี่ยง  เพื่อการมีส่วนร่วมในแนวราบ (empowerment) การทำงานเป็นทีม  เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน  มีการบูรณาการ การทำงานเข้าด้วยกันเพื่อมุ่งไปสู่ภารกิจเดียวกัน  มีการเรียนรู้ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (Adaptive  Imperative)  ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ Charles Darwin ที่ว่า  ผู้ที่อยู่รอดในโลก มิใช่ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุด หรือแข็งแรงมากที่สุด  แต่คือผู้ที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดีที่สุด It’s not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent; it is the one that most adaptable to change”       

                วันนี้อาจารย์เลิกเร็ว ๑ ชั่วโมงจึงมีเวลามานั่งทำรายงานกลุ่ม ที่ขอแรงน้อง ๆ ที่เพชรบุรี ๒ ช่วยเรียบเรียงให้  เวลา ๑๗.๐๐ น. ลงไปออกกำลังกาย ๑๐ ท่าพญายม แล้วเดินขอบสนาม  ดูคนงานชาวอีสานช้อนกุ้งช้อนปลาในลำน้ำรอบวิทยาลัย  มื้อเย็นวันนี้งด เพราะน้ำหนักลงช้ามาก  ต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดไปเรื่อย ๆ  จนกว่าน้ำหนักจะลดลงสู่พิกัด

วันที่ ๒๓  มกราคม  ๒๕๕๒    วันนี้ทานข้าวต้ม ๑ ชาม  ก่อนไปเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์  วันนี้เรียนหัวข้อการสร้างอุปนิสัยที่ดี ( 7 Habits of Highly Effective People)  มี ดร.สุชาติ  กิ่มมณี เป็นวิทยากร  เป็นวิชาที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างความสมดุลของชีวิตทั้งด้านส่วนตัวและการงาน  พัฒนาความสัมพันธ์ทั้งด้านส่วนตัวและการงาน เพื่อยกระดับความมีประสิทธิภาพของตนเอง คุณลักษณะที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของความสำเร็จ  อาจารย์เน้น  ๗ เรื่องสำคัญ คือ ความอ่อมน้อมถ่อมตน  ความซื่อสัตย์จงรักภักดี  ความกล้าหาญ  ความยุติธรรม  ความพากเพียร  ความมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายไม่หรูหรา  และการปฏิบัติต่อผู้อื่นเสมือนปฏิบัติต่อตนเอง  หลักการสำคัญ คือ ถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนอะไรก็ตามเราต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนความคิดก่อน กรอบความคิด(Paradigms) ต่างกันการกระทำก็ต่างกัน  ถ้าเราเริ่มเปรียบเทียบกรอบความคิดเรากับข้อเท็จจริง หรือเริ่มฟังความเห็นของผู้อื่น จะทำให้เรามีโลกทัศน์กว้างขึ้น  ถ้าเราต้องการเปลี่ยนทัศนคติ  อุปนิสัย และพฤติกรรม เราต้องเริ่มที่การเปลี่ยนความคิดก่อน ปัญหาต่าง ๆ ที่เราเผชิญไม่มีทางแก้ไขได้โดยใช้ความคิดในระดับเดียวกันกับที่เกิดปัญหา เพราะวิธีมองปัญหาของเรานั่นแหละคือปัญหา  กรอบความคิดควรสอดคล้องกับหลักธรรมชาติ หรือหลักการ  อย่าฝืนกฎธรรมชาติ  คำถามที่สำคัญคือ ค่านิยมของเราสอดคล้องกับหลักการหรือไม่  เราไม่ได้เป็นผู้ควบคุมหลักการ  แต่หลักการเป็นตัวควบคุมเรา  เราควบคุมการกระทำของเรา  แต่ผลจากการกระทำของเราถูกควบคุมโดยหลักการ    ภาคบ่ายเราเรียนเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่มีประสิทธิภาพ  โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ คือ คิดในทางบวก  เริ่มต้นด้วยการมีจุดมุ่งหมายในใจ  ทำสิ่งที่สำคัญก่อน  คิดแบบชนะ-ชนะ  เข้าใจผู้อื่นก่อนแล้วเขาจะเข้าใจเรา  ผนึกพลังผสานความต่าง  สมดุลแห่งชีวิต  พร้อมตัวอย่างที่กินใจ  อาจารย์เห็นใจพวกเราที่จะกลับบ้านเพราะเป็นวันศุกร์จึงเลิก ๑๕.๐๐ น.  ก่อนกลับบ้านผู้อำนวยการวิทยาลัยมหาดไทย ฝากการบ้านให้พวกเราไปคิดในการไปศึกษาดูงานต่างประเทศว่าจะเลือกไปสายใด เขาจะแบ่งออกเป็น  ๓ สายจำนวนเท่า ๆ กัน  สาย ๑ ประเทศอังกฤษ  สาย ๒ ประเทศฝรั่งเศส สาย ๓ ประเทศเยอรมัน  วันจันทร์ให้มาลงชื่อ พวกเราไม่มีสมาธิพอขอกลับบ้านก่อน  ผมขับรถออกมาสายใหม่กระทิงลาย-กรุงเทพฯ ขึ้นทางยกระดับบูรพาวิถีมาขึ้นทางด่วน ปริมาณรถค่อนข้างมาก มาลงดินแดงขึ้นโทลเวย์ไปลงสนามบินดอนเมือง เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปราชการหาดใหญ่ในวันพรุ่งนี้  การบินไทยที่นั่งเต็ม ได้ตั๋วนกแอร์ทั้งไปและกลับ กลับบ้าน ๓ ทุ่ม

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

 

 อ่านตอนที่ ๑

เพลง : ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้
ศิลปิน : ตั๊กแตน (ชลดา)

หมายเลขบันทึก: 237203เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2009 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท