๑๕..ตอบคำถามว่า...โทรทัศน์ผ่าน cable C-band Ku-band ต่างกันอย่างไร


”เรื่องเกี่ยวกับการจะทำความเข้าใจเรื่องเคเบิ้ลทีวี และจาน Ku-Band C-Band คืออ่านๆมา แล้วสับสนค่ะว่าตกลงมันยังไงแน่ บางคนบอกว่าติดตั้งจานครั้งเดียวดูได้ตลอด บางคนบอกไม่ต้องมีจานเสียแต่ค่าสมาชิกก็ดูได้ตลอด บางคนก็บอกติดจานด้วย แต่ก็ต้องเสียค่ารายเดือนอีกเลยงง เข้าไปใหญ่เลย ขอความกรุณาไขความกระจ่างด้วยเถอะค่ะ”

            สวัสดีครับ...วันนี้มีสมาชิกG2Kท่านหนึ่งได้mailมาถามผม”เรื่องเกี่ยวกับการจะทำความเข้าใจเรื่องเคเบิ้ลทีวี และจาน Ku-Band C-Band คืออ่านๆมา แล้วสับสนค่ะว่าตกลงมันยังไงแน่ บางคนบอกว่าติดตั้งจานครั้งเดียวดูได้ตลอด บางคนบอกไม่ต้องมีจานเสียแต่ค่าสมาชิกก็ดูได้ตลอด บางคนก็บอกติดจานด้วย แต่ก็ต้องเสียค่ารายเดือนอีกเลยงง เข้าไปใหญ่เลย ขอความกรุณาไขความกระจ่างด้วยเถอะค่ะ

            ผมจะอธิบายพอสังเขปให้ฟังดังนี้ครับ

      ในการส่งรายการโทรทัศน์จากสถานีส่งไปยังผู้รับชมมี 3 แบบ

      1. แบบส่งตามสาย เรียก cable TV

      2. แบบส่งออกอากาศทางภาคพื้นดิน(terrestrial) เช่น ช่อง 3 5 7 9 NBT TPBS

      3. แบบส่งออกอากาศผ่านดาวเทียม(Satellite)หรือเรียกว่าแบบ DTH : Direct to Home หรือแบบส่งตรงถึงบ้าน

      ส่วนการรับเลือกรับชมจะมีสองแบบ

      1. แบบไม่ต้องบอกรับเป็นสมาชิกซึ่งเราเรียกว่า ฟรีทีวี (Free TV)

      2. แบบบอกรับเป็นสมาชิก แบบนี้ต้องสมัครสมาชิกในการรับชม และมีค่าบริการ(Pay TV)

           

1. แบบส่งตามสาย เคเบิ้ลทีวี หรือ cable TV คำว่า cable หมายถึง สายไฟฟ้า

            ดังนั้นคำว่า เคเบิ้ลทีวี หมายถึง การส่งรายการโทรทัศน์ไปตามสายไฟฟ้า ซึ่งเป็นสายไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติที่ดีในการนำสัญญาณภาพและเสียง อาจเป็นสายโลหะ หรือ สายใยแก้วนำแสง(fibre optic)

 

 

แบบสายโลหะ

 

แบบใยแก้วนำแสง 

            ในหนึ่งสายสามารถส่งได้หลายช่อง โดยการใช้อุปกรณ์รวมสัญญาณทำการรวมสัญญาณ(modulate)รายการโทรทัศน์จากสถานีโทรทัศน์หรือจากเครื่องเล่นวิดีโอหรือจากเครื่องเล่นดีวีดีให้สามารถส่งสัญญาณบนสายเส้นเดียวได้

            มีทั้งแบบบริการฟรีในอาคารเป็นระบบทีวีรวม เช่น ในคอนโดมิเนียม กับแบบบอกรับเป็นสมาชิกแบบนี้ต้องจ่ายค่าสมาชิก เช่น ในต่างจังหวัด หรือในกรุงเทพฯก็มี เช่น UBC

 

 

 

2. แบบส่งออกอากาศทางภาคพื้นดิน(terrestrial) เช่น ช่อง 3 5 7 9 NBT TPBS เพียงแต่มีสายอากาศเป็นซี่ ๆ แบบก้างปลาหรือเรียกว่าแบบยากิ Yaki ก็สามารถรับชมได้ทันที มีสองย่านความถี่ให้บริการ คือ ย่านความถี่ VHF (Very High Frequency) มีช่อง 5 7 9 NBT ให้บริการอยู่ ส่วนอีกย่านความถี่ คือ ย่านความถี่ UHF (Ultra High Frequency) มีช่อง 3 และ ช่อง TPBS

 

            

 

      ในการส่งออกอากาศทางภาคพื้นดินมีอีกย่านความถี่หนึ่ง เป็นย่านความถี่ Micro wave เรียกว่าแบบ MMDS (Multi-Point Multi-Channel Distribution System) จะเป็นสายอากาศแบบโค้ง หรือเรียกว่าแบบParabola สังเกตได้จากสายอากาศทีวีบนหลังคาเป็นซี่ ๆ แต่มีลักษณะโค้งเกือบครึ่งวงกลม หรือเป็นรูปแท่งยาว ๆ ซึ่งเรียกว่าแบบเดือยหมูครับ เช่น  ไททีวี

 

  

 

             3. แบบส่งออกอากาศผ่านดาวเทียม(Satellite)หรือเรียกว่าแบบ DTH : Direct to Home หรือแบบส่งตรงถึงบ้าน

            มีให้เลือกชมสองความถี่เช่นกันครับ คือ C-band กับ Ku-band เป็นย่านความถี่ที่ใช้ในการรับ-ส่งรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

            ในย่าน C-band จะมีช่องให้รับชมหลากหลายทั้งสถานีในประเทศและสถานีของต่างประเทศ เพราะความถี่ในย่านนี้สามารถส่งได้คลอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง สังเกตจานสายอากาศจะเป็นตระแกรงโค้งเกือบครึ่งวงกลม มีขนาดใหญ่ โดยมากจะเป็นแบบฟรีทีวี

           

 

            ส่วนในย่าน Ku-band จะมีช่องให้รับชมฟรีคือช่องฟรีทีวีภาคพื้นดิน เขาเอามาขึ้นดาวเทียมบริการฟรี หรือมีช่องเพื่อการศึกษาอีก 15 ช่อง คือ ช่องของ DLTV จำนวน 14 ช่อง กับ ETV (Educational Television) เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิิการ แล้วแต่เราจะเลือกค่ายไหน เช่น สามารถ ทรู ดีทีวี หรือเอเอสทีวี ก็เลือกซื้อชุดรับสัญญาณดาวเทียมที่ตัวแทนจำหน่ายของค่ายนั้นครับ มีทั้งแบบให้เช่าและแบบซื้อขาด ทั้งสองแบบหากจะรับชมช่องรายการพิเศษที่เขาจัดมาให้บริการ จะต้องสมัครสมาชิก เสียค่าใช้บริการเป็นรายเดือน ในแบบซื้อขาดหากท่านคิดว่าดูเฉพาะช่องฟรีทีวีก็พอแล้ว ก็ไม่ต้องสมัครสมาชิก ส่วนสายอากาศทีวีผ่านดาวเทียมของย่านนี้สังเกตได้จากเป็นจานทึบรูปโค้งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่นิยมใช้ในเมืองไทยคือ 60 เซ็นติเมตร  

 

           

 

 ก็หวังว่าสมาชิกที่เข้ามาอ่านคงพอเข้าใจหลักการเบื้องต้นนะครับ หากมีข้อสงสัยอะไร ก็สอบถามได้ครับ

 

                            สวัสดีครับ

                        ภัทรพล คำสุวรรณ์

                       23 มกราคม 2552

คำสำคัญ (Tags): #c-band#ku-band#cable tv
หมายเลขบันทึก: 237085เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2009 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีคะ

  • ประกาย เคยมีข้อสงสัยเห็นหลายบ้านติดตั้งแล้วอยากติดตั้งบ้าง
  • แต่ไม่อยากจ่ายรายเดือน
  • กำลังศึกษาข้อดีข้อเสียและความคุ้มค่าคุ้มทุน
  • ขอบคุณมากคะที่นายช่างใหญ่ให้คำแนะนำ

 

สวัสดีครับ

ตอบคำถามได้ชัดเจนมากครับ ขออนุญาตคัดลอกไว้ให้นักศึกษาที่เรียนได้อ่านด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณประกาย

             ได้คนละแบบครับ...ถ้าเป็นสมาชิกมีช่องรายการพิเศษแล้วแต่เราเลือกโปรโมชั่น และหากเครื่องเสียก็เพียงแต่แจ้งให้เขามาตรวจสอบให้ และการติดตั้งส่วนมากจะฟรี

              แต่ถ้าเราซื้อขาด ต้องติดตั้งเอง ซ่อมบำรุงเอง และดูเฉพาะรายการช่องฟรีทีวี...แต่เขารับประกันประมาณ 1 ปี

             ก็ลองเลือกดูนะครับ

                                  โชคดีครับผม

สวัสดีครับอาจารย์จารุวัจน์

             ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม เชิญครับเป็นความรู้ทั่วไปรอบตัวเรา จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ศึกษาครับ

             หากมีส่วนไหนที่สงสัยสอบถาม ให้ผมอธิบายความได้ตลอดเลยครับ

                                           โชคดีครับผม

ไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับการเข้ารหัสสัญญาณเลย แล้วแบบผ่านกล่องดรีมบ๊อกหรืออินเตอร์เน็ตทีวีไม่ต้องใช้จานดาวเทียม

ไม่มีรายละเอียดเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท