เล็งดันภาษีที่ดิน-มรดกเข้าสภาฯ


"กรณ์" รับฝ่าด่านยาก-ยันมาตรการกระตุ้นครอบคลุม

"กรณ์" หนุนภาษีที่ดิน-มรดก เตรียมดันเข้าสภาฯ ยอมรับหลายรัฐบาลฝ่าด่านไม่รอด แต่อยากลองของยันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประชาชนได้ประโยชน์ครอบคลุมทุกกลุ่ม คาดใช้เงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังมอบนโยบายกับผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า สศค.ถือว่าเป็นคลังสมองในการวางยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งมีหลายเครื่องมือทางการคลังที่กำลังศึกษาอยู่ เพื่อแก้ปัญหาให้แก่แรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 20 ล้านคน และคลังพร้อมเดินหน้านำร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพราะเห็นว่าในการจัดเก็บภาษีจากที่ดินและทรัพย์สินเป็นหลักทางสากล แต่จะดูไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเจ้าของทรัพย์สินมากเกินไป  สศค. รายงานให้ฟังว่า ร่างกฎหมายที่ดินเคยมีรัฐบาลหลายสมัยนำร่างเสนอต่อสภาฯ ให้พิจารณา แต่เมื่อเสนอไปแล้ว สภาฯ ก็ล่มทุกครั้ง รัฐบาลนี้จึงต้องการลองของบ้าง ว่าจะผ่านการพิจารณาสำเร็จหรือไม่ เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วกฎหมายในลักษณะนี้ควรเสนอให้สภาพิจารณา รวมไปถึงกฎหมายมรดก ซึ่งยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกันนายกรณ์ กล่าว

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ใช้ 4 มาตรการ 6 เดือน ลดภาระค่าครองชีพประชาชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2552 โดยปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมทุกกลุ่มได้มากกว่ามาตรการที่ผ่านมา ซึ่งอยู่บนหลักการของการใช้และบริโภคอย่างประหยัด คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 13,901 ล้านบาท

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในฐานะที่ สคร.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่ดีที่สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบปัญหาภาระค่าครองชีพอย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีการใช้บริการสาธารณูปโภคอย่างประหยัดและคุ้มค่า   สำหรับมาตรการลดค่าใช้น้ำประปาของครัวเรือนจากเดิม 0-50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เหลือ 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน เพราะต้องการให้ประชาชนรู้จักการใช้น้ำมากขึ้น แต่จะให้เพิ่มในครัวเรือนภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย ทำให้ได้ใช้กันอย่างทั่วถึงและครอบคลุมมากขึ้น แบ่งเป็นเขตนครหลวง 1.02 ล้านราย และเขตภูมิภาค 7.25 ล้านราย ซึ่งจะสามารถช่วยประชาชนประหยัดค่าน้ำประปาประมาณ 197 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในเขตนครหลวง และประมาณ 107 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในเขตภูมิภาค

คม ชัด ลึก  ไทยรัฐ  เดลินิวส์ 

โพสต์ทูเดย์  กรุงเทพธุรกิจ  แนวหน้า  มติชน 23 มกราคม 2552

หมายเลขบันทึก: 236875เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2009 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท