Dialogue


การละทิ้งความเชื่อ และสมมุติฐานส่วนตัว

ความเข้าใจใน Dialogue (สุนทรียสนทนา)

                         เมื่อ 15 -16 ธันวาคม 2551 ผมมีโอกาสไปเข้าอบรมหลักสูตร Dialogue จัดโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ซึ่งผมตั้งใจมากที่จะทำความเข้าใจในหลักการของ Dialogue เพราะก่อนหน้านี้เคยไปร่วมสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรท่านอื่น ๆ มาบ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนเพราะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ในครั้งนี้วิทยากรบรรยายโดย         อ.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร ซึ่งท่านบรรยายและให้ฝึกปฏิบัติได้ชัดเจนมาก ๆ

                         การอบรมเป็นแบบพักค้าง 2 วัน 1 คืน กับผู้เข้าร่วมอบรม 24 ท่าน มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดและฝึกปฏิบัติร่วมกัน ก็ได้เข้าใจหลักการของ Dialogue ว่าเป็นทักษะของการฟังด้วยสมาธิ โดยก่อนทำการสนทนา วิทยากรได้เปิดเพลงให้ฝึกสมาธิประมาณ 10 นาที แล้วให้ปล่อยวางจิตใจ คือ วางสมมุติฐาน กับความเชื่อของเราไว้ก่อนเพื่อให้เกิดการฟังที่ไม่รู้สึกตัดสิน หรือคิดว่าเป็นจริงเท็จอย่างไร หลังจากนั้นวิทยากรได้แบ่งพวกเราเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 , 6 , 8 , 10 คน สลับไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายกลุ่มที่เหมาะสมที่สุดคือ 6 -  8  คน ในรอบแรก ๆ หลายกลุ่มยังไม่สามารถสนทนาให้เกิดเป็น Dialogue ได้ คือยังสนทนาอยู่ในลักษณะ Discuss และ Brainstorm ซึ่งเรามักคุ้นเคยและเรื่องปกติในการประชุมทั่วไป  สำหรับกลุ่มของผมโชคดีหน่อยที่ทุกคนพยายามทำความเข้าใจในหลักการจึงทำให้เริ่มเกิดการไหลเวียนของความคิด (อาจารย์เรียกว่าเกิดการ flow ) จากคนที่พูดคนหนึ่งไปสู่ความคิดของอีกคน แล้วจึงพูดต่อออกมาด้วยความเชื่อมโยง ทำให้เกิดบรรยากาศที่แปลกกว่าการประชุมกลุ่มทั่วไป จนไปถึงจุดหนึ่งที่เรียกว่าเป็นจุด peak ของ Dialogue ในช่วงนี้ทุกคนจะพูดออกมาด้วยการเชื่อมโยงความคิดที่ชัดเจนที่สุด (ไม่รู้สึกขัดแย้งซึ่งกันและกันเลย) บางครั้งผมรู้สึกว่าไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าความคิดอันไหนเป็นของใคร เพราะเราฟังจากใจของคนพูด และพูดกลับไปตรงกลางจากความคิดที่เป็นของทุกคน หรือเรียกว่าเป็นการ reflex ออกมาจากความรู้สึก หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ผ่อนคลาย (เรียกว่าการ landing) กลับมาเป็น Discuss และ Brainstorm อีกครั้ง โดยช่วงที่เกิดการ peak จะเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 10 นาที

                         ผมยังสังเกตเห็นว่ามีผู้เข้าอบรมบางท่าน ยังไม่เข้าใจหลักสุนทรียสนทนาอย่างแท้จริง เพราะชอบพูดแบบขัดแย้ง ตั้งคำถามในด้านลบ หรือพูดเป็นความคิดของตัวเองทั้งหมดไม่ค่อยเชื่อมโยงกับผู้อื่น เห็นแบบนี้แล้วทำให้นึกถึงการประชุมในที่ทำงานที่พวกเราชอบแย่งกันพูด เถียงกันเสียงดัง (แต่ก็สนุกดี) สุดท้ายเมื่อจบการประชุมนั้นก็มักจะไม่เกิดข้อสรุปใด ๆ หรือถ้าได้ก็จะได้จากผู้ชนะ ส่วนคนอื่นจะรู้สึกไม่ค่อยดี หลายคนจึงไม่ชอบเสนอความคิดในที่ประชุมเพราะเสนอไปก็ไม่ยอมรับกัน แต่ในวงสนทนาของ Dialogue ถึงแม้ไม่มีข้อสรุปใด ๆ เกิดขึ้นแต่ทุกคนจะได้ความรู้สึกที่ดี เพราะไม่มีความขัดแย้ง และยังเกิดแนวคิดในการทำงานเพิ่มขึ้น แล้วแต่ว่าใครจะได้แนวคิดอะไรกลับไป

                สำหรับผมเองรู้สึกว่าไม่ยากเลยในการทำ Dialogue เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนชอบฟังความคิดเห็นผู้อื่นอยู่แล้ว เมื่ออยู่ในวง Dialogue ยังมีโอกาสพูดได้มากขึ้นอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 236718เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท