การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์การแพทย์


การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์การแพทย์

(Medical Social Work Case Management)

                                                                                                                                อ.นุชนาฎ  ยูฮันเงาะ*

                                                                                                                                ผศ.โสภา  อ่อนโอภาส*

 


บทนำ

ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่เห็นความสำคัญของการทำงานเชิงรุกเข้าสู่ชุมชน ด้วยการดูแลสุขภาพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการปฏิบัติงานองค์รวมด้านการให้บริการ  ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีคำว่า การจัดการรายกรณี (Case Management) แต่ก็มีบริการที่คล้ายคลึง เช่น การกลั่นกรองผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงสูง  การเป็นตัวกลาง การเชื่อมโยงทรัพยากรและการดูแลผู้ป่วย จนกระทั่งพัฒนาเป็นการจัดการรายกรณีที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ปัจจัยที่ทำให้การจัดการรายกรณีเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านการบริการสุขภาพ

1.     ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาและดูแลสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น เกินกว่าบุคคล องค์กร หรือรัฐจะจ่ายได้  จึงได้มองหาวิธีการที่จะลดค่าใช้จ่าย  ซึ่งนับว่าการจัดการรายกรณีเป็นวิธีการที่ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างดี

2.     แนวโน้มของการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการดูแลความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด และเหมาะสมของประชาชนโดยการประสานเชื่อมโยงทรัพยากรในชุมชนช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน

3.     ปัญหาผู้ป่วยเรื้อรัง  การจัดการรายกรณีเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ได้ผลดีกับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล  แต่การนำผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปดูแลในชุมชน จะต้องมีการประสานงานกับบริการหลายๆ วิชาชีพ (เช่น แพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เพื่อการเยี่ยมบ้าน และการดูแลระยะยาว) ซึ่งการจัดการรายกรณีมีศักยภาพในการจัดการระบบการให้บริการจากวิชาชีพต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการแยกส่วนการทำงานซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

4.     การป้องกันการจัดการรายกรณีมีประโยชน์สูงสุดในแง่ของการป้องกันมากกว่าการสูญเสียงบประมาณ  เพราะการประสานติดต่อกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้

 

ความหมาย

                มีผู้ให้ความหมายของการจัดการรายกรณีไว้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับนโนบายและมุมมองของแต่ละองค์การหรือหน่วยงาน ดังนี้

                Karla Krogrud Miley และคณะ (2004, p.355)  ได้ให้ความหมายของการจัดการรายกรณีไว้ว่า   บริการการจัดการรายกรณีเป็นการส่งมอบบริการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือทีม  จัดตั้ง รวบรวม  ประสานและบำรุงรักษาเครือข่ายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่ให้บริการช่วยเหลือ และออกแบบบริการเพื่อให้ ผู้ใช้บริการที่มีความต้องการจำเป็นที่ซับซ้อนได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากร จนกระทั่งสามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม    ผู้จัดการรายกรณีต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อจัดการการให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการเฉพาะราย ผู้จัดการรายกรณี  จะต้องเป็นผู้ค้นหา สนับสนุน และสร้างความมั่นใจว่า ผู้ใช้บริการในระบบการให้บริการได้รับบริการ การบำบัดรักษา  การดูแล รวมทั้งโอกาสต่างๆที่เขาสมควรได้รับตามสิทธิในการกลับมาทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม (Weil & Karls,1989,p.1)

 

 

*  อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

                Case Management Society of America (CMSA) (1994) ได้ให้ความหมายของการจัดการรายกรณีว่า เป็นกระบวนการความร่วมมือในการประเมิน วางแผน ดำเนินการปฏิบัติ ประสานงาน ติดตาม และประเมิน ทางเลือกและบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยการสื่อสารและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพและคุ้มค่า (เรวดี ศิรินครและคณะ,2543)

                สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ (NASW) ได้ให้ความหมายว่าการจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ เป็นวิธีการให้บริการความช่วยเหลือที่นักสังคมสงเคราะห์ประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการและครอบครัว จึงประสานความร่วมมือติดตาม ประเมินผล และพิทักษ์สิทธิเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการหรือทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อน (NASW,1992,p.3)

 

แนวคิดและหลักการ

                ผลจากการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระบบการดูแลสุขภาพก่อให้เกิดช่องว่าง และความซ้ำซ้อนของการให้บริการ รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น จึงมีการนำแนวคิดเชิงการจัดการ (Management) เข้ามาประสานความร่วมมือของทีมผู้เชี่ยวชาญหรือสหวิชาชีพ โดยมีผู้จัดการประจำตัวผู้ป่วย ดูแลจัดการประสานเชื่อมโยง พิทักษ์สิทธิผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่ระบบการรักษาจนกระทั่ง กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ส่วนใครจะเหมาะสมเป็นผู้จัดการนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ขององค์กรให้บริการการจัดการรายกรณีที่กำหนดบทบาทและคุณสมบัติของผู้จัดการ

                หากนำความหมายและแนวคิดของการจัดการรายกรณีมาประยุกต์กับบริบทของการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์แล้วนั้น  การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์การแพทย์  หมายถึง วิธีการให้บริการที่นักสังคมสงเคราะห์ในฐานะผู้จัดการรายกรณี ประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ป่วยและครอบครัว  ประสานความร่วมมือกับทีมสหวิชาชีพ  ดำเนินการช่วยเหลือ  จัดสรรทรัพยากรจากระบบบริการ  ติดตามประเมินผล  ทั้งในส่วนของผู้ป่วยและระบบผู้ให้บริการจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนพิทักษ์สิทธิ  เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อนของผู้ป่วย

 

รูปแบบการจัดการรายกรณีทางการแพทย์

                รูปแบบการดำเนินการจัดการรายกรณี ประกอบด้วย 4 รูปแบบดังนี้

1.     การดำเนินการครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล (Hospital Base) ซึ่งปกติลักษณะการดำเนินการตามระบบการจัดการรายกรณีลักษณะนี้ นอกจากจะดำเนินตามองค์ประกอบของระบบการจัดการดูแลผู้ป่วยในรายกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะต้องมีการวางแผนการดูแลผู้ป่วย (Discharge Plan) ร่วมด้วย รวมทั้งมีการทบทวนความคุ้มค่าคุ้มทุน (Utilization Review) และการปรับปรุงคุณภาพ (Quality Improvement)

2.     ดำเนินการในหน่วยบริการบางหน่วย (Unit Base) การดำเนินการอาจจะดำเนินการใน 1-2 unit เท่านั้น ไม่ต้องทำทั้งโรงพยาบาล เช่น ในหอผู้ป่วยอายุรกรรม หอผู้ป่วยหนัก เป็นต้น

3.     ดำเนินการในชุมชน (Population or Community Based) การดำเนินการจัดการรายกรณีลักษณะนี้จะเป็นการติดตามดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน เช่น การติดตามดูแลผู้ป่วยจนกลับบ้านหรือหายจากการเจ็บป่วย

4.     ดำเนินการจัดการรายโรค (Disease Management) ซึ่งมีจุดมุ่งเน้นเพื่อลดการกลับมานอนรับการรักษาในโรงพยาบาล และลดความรุนแรงของโรคโดยจะมีการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตามอาการของโรคที่ผู้ป่วยเป็นตั้งแต่เริ่มอาการจนกระทั่งสิ้นสุด จะเป็นการให้สุขศึกษาและวิธีการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นส่วนประกอบสำคัญ

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 236229เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2009 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจดีคร้า ^^

ขอบคุณค่ะคีตยา

กำลังฝึกเขียนใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้นพร้อมตัวอย่างที่ชัดเจน

คงต้องรออีกพักนะค่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท