นโยบายรัฐบาลปัจจุบันกับการกระจายอำนาจแก่ อปท.


การกระจายอำนาจ

 

          บาว นาคร *

 

รัฐบาลปัจจุบัน โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(กกถ.) ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 104,099.79 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และภารกิจถ่ายโอนเลือกทำจำนวน 57,233.60 ล้านบาท รวมทั้ง เงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อดำเนินภารกิจถ่ายโอนรวม 46,717.44 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรให้แก่ อปท.ตามหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการจัดสรรปีที่ผ่านมา และเงินอุดหนุนทั่วไปรายการใหม่จำนวน 148.75 ล้านบาท และได้กล่าวว่า การจัดสรรเงินให้กับอปท.จะทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น และจะทำให้เร่งรัดเงินงบประมาณไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น

ในส่วนของนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นนั้นได้กล่าวไว้อย่างกว้างๆในนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีสาระสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้คือ

-  สนับสนุนการกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยมีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะที่ได้มาตรฐานและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น

- สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยึดหลักธรรมาภิบาลและปรับระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ความรับผิดชอบต่อชุมชน และมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการทำงานตลอดจนการจัดบริการสาธารณะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น

- ปรับบทบาทและภารกิจการบริหารราชการระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อสามารถดำเนินภารกิจที่สนับสนุนเชื่อมโยงกัน และประสานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการติดตามประเมินผลและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง

- บูรณาการความเชื่อมโยงของการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่นโดยสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภาค ตลอดจนเชื่อมโยงกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนชุมชน โดยคำนึงถึงการมี    ส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผน

- สนับสนุนให้มีการบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้สอดรับกับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นที่มีศักยภาพและความพร้อมจัดตั้งเป็นมหานคร

เมื่อมองถึงนโยบายจะเห็นว่า วิธีการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนเพียงแต่เขียนไว้อย่างกว้างๆ เช่น การกระจายอำนาจเรื่องการคลังท้องถิ่น การปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายเรื่องภาษี การสร้างระบบการตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักธรรมาภิบาล การปรับบทบาทภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน และการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบูรณาการในการจัดทำแผนพัฒนาโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเป็นต้น ซึ่งในส่วนของตัวนโยบายไม่ได้กล่าวถึงวิธีการนำนโยบายไปปฎิบัติอย่างชัดเจน

ที่สำคัญการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นประเด็นที่รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้นำมากำหนดเป็นนโยบายไว้เหมือนกัน แต่ว่ากระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น การที่รัฐบาลปัจจุบันได้มีการอนุมัติงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 104,099.79 ล้านบาทนั้น ที่สำคัญต้องคำนึงถึงพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 ที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 เรื่อง แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 30 แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการนั้น พอสรุปได้ดังนี้ คือ การกำหนดการจัดสรรภาษีและอากร เงินอุดหนุน และรายได้อื่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม โดยในช่วงระยะเวลาไม่เกิน พ.ศ.2544ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ และในช่วงระยะเวลาไม่เกินพ.ศ. 2549 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบห้า ทั้งนี้ โดยการเพิ่มสัดส่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินกิจการบริการสาธารณะได้ด้วยตนเอง และโดยการจัดสรรสัดส่วนที่เป็นธรรมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นด้วย

ปัจจุบันแนวโน้มการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงแม้จะไม่สามารถกระจายอำนาจทางด้านการคลังตามที่ได้บัญญัติไว้ในแผนกระจายอำนาจฯ ที่ว่า ไม่เกิน พ.ศ. 2549 ให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นอัตราส่วนของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 35” แต่ว่าการกระจายอำนาจทางด้านอื่นๆนั้นมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการถ่ายโอนภารกิจทางด้านต่างๆให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองที่ได้รับการถ่ายโอนและการกระจายอำนาจจากส่วนกลางและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นหน่วยงานที่นำงบประมาณและนโยบายไปปฏิบัติต้องคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน การพัฒนากลุ่มองค์กรเครือข่ายในชุมชน และการสนับสนุนในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานและการพัฒนาองค์กรทางด้านต่างๆ เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจที่จะเกิดขึ้น และดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานของท้องถิ่นต่อไป

 

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม . [email protected]

คำสำคัญ (Tags): #การกระจายอำนาจ
หมายเลขบันทึก: 235423เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2009 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท