การภาวนาคืออะไร ? . . . สัมผัสการตื่นรู้ในทุกอณูของร่างกาย


. . . สามารถสัมผัสถึงความว่างได้มากขึ้นตามไปด้วย ความว่างเป็นผลมาจากการผ่อนคลายและผ่อนพัก อันจะเป็นบาทฐานที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึก ได้อย่างเต็มที่

        ผมเขียนเรื่องนี้มาสามครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้อธิบายเทคนิคที่ไปฝึกฝนซะที นี่เป็นเพราะผมเป็นพวกที่ "ชอบใช้หัว" ชอบพันพัวอยู่กับ "ความคิด" อย่างที่ได้เปิดประเด็นไว้ว่า "การภานาคืออะไร?" ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องนี้ไม่ต้องให้นิยามหรือความหมายก็ได้ เพราะความสำคัญของการภาวนานั้นอยู่ที่การหมั่นฝึกปฏิบัติมากกว่า ครั้นพอจะนำเทคนิคดังกล่าวมาเล่าให้ท่านฟัง ก็เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะอธิบายนี้ถูกต้องตามที่ได้รับถ่ายทอดมาหรือไม่ ?

แต่ในที่สุด . . . ผมก็โชคดี เพราะพบว่ามีการอธิบายเรื่องนี้อยู่ในหนังสือของคุณตั้มที่ชื่อว่า "เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ" ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ในหน้า 107 ได้พูดถึงเทคนิค "การสัมผัสการตื่นรู้ในทุกอณูของร่างกาย" ไว้ว่า . . . 

         "เริ่มต้นด้วยการนอนราบกับพื้น ชันเข่าแล้วใช้ผ้าหรือเข็มขัดรัดบริเวณเหนือหัวเข่า พอให้หัวเข่าสองข้างพอชนกัน เท้าสองข้างแยกออกพอประมาณเพื่อเพิ่มเสถียรภาพ มือสองข้างประสานกันไว้เหนือท้องน้อย จากนั้นให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ค่อยๆถ่ายเทความตึงแน่นไหลผ่านสิบจุดสัมผัสระหว่างร่างกายกับพื้นลงสู่ผืน ดินเบื้องล่าง เริ่มจากฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ก้น แผ่นหลัง ข้อศอก หัวไหล่ และศีรษะตามลำดับ ใช้เวลาในการผ่อนคลายความเครียดในแต่ละจุดอย่างเต็มที่  
        จากนั้นให้สูดลมหายใจจากรูจมูกยาวไปยังบริเวณท้องน้อย ค่อยๆตามลมหายใจเข้าออกตามการยุบพอง จนสามารถสัมผัสจุดจักราบริเวณใต้สะดือหลังแนวกระดูกสันหลัง ที่ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ความว่างอันไร้ขอบเขตได้ จากนั้นจึงพักจิตไว้ในพื้นที่ว่างนั้น ปลดปล่อย และผ่อนคลาย เสมือนตกอยู่ในภาวะดิ่งอิสระ 

      

        จากนั้นให้ปลดสายรัดและลดหัวเข่าเข้าสู่ท่านอนราบโดยสมบูรณ์ โดยอาจใช้เบาะรองช่วงขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย ปล่อยมือทั้งสองไว้ข้างลำตัว การฝึกขั้นนี้จะเป็นการกำหนดจิตเพื่อสูดเอาลมหายใจนำพลังชีวิตหรือปราณไปสู่จุดต่างๆของร่างกาย  เริ่มต้นด้วยหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง พยายามปลดปล่อยหลักการความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ในหัวออกไปให้หมด แล้วตั้งจิตสูดลมหายใจจนไปถึงหัวแม่เท้า จากนั้นจึงขยายไปที่นิ้วอื่นๆ ฝ่าเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า น่อง ก้น อวัยวะเพศ ท้องน้อย สะเอว แผ่นหลัง  นิ้วมือ แขน ขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงกระหม่อมศีรษะ

        เราอาจจะเริ่มปฏิบัติด้วย การไม่รู้สึกอะไรเลย ทุกอย่างดูจะด้านตายไปหมด แต่เมื่อเราค่อยๆ ฝึกฝน ตามลมหายใจไปสู่จุดต่างๆ ของร่างกายที่ไร้ความรู้สึกผ่านไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะเริ่มแสดงสัญญาณของการกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เราเริ่มสัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาตอบสนอง ความตื่นรู้จะค่อยๆปรากฎขึ้นด้วยประสาทสัมผัสที่แจ่มชัด เราจะเริ่มตระหนักได้ว่า แบบแผนตายตัวที่เรามีต่อความบีบคั้นในร่างกาย เกิดขึ้นจากส่วนของจิตใต้สำนึกหรือจิตสำนึกในขั้นต้นของการแข็งเกร็ง  เรากำลังเก็บซ่อน ปมหรือแง่มุมบางอย่างของชีวิตไว้ในมุมมืด เป็นส่วนที่เราเพิกเฉย หรือไม่กล้าที่จะเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มพบว่าในบางบริเวณของความแข็งตึงค่อยๆคลายออก ปรากฎให้เรารับรู้ถึงปฏิกิริยาตอบสนอง เผยให้เราเห็นประกายแห่งความมีชีวิตชีวา ยิ่งร่างกายสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น เราก็ยิ่งสามารถสัมผัสถึงความว่างได้มากขึ้นตามไปด้วย ความว่างเป็นผลมาจากการผ่อนคลายและผ่อนพัก อันจะเป็นบาทฐานที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึก ได้อย่างเต็มที่. . ."  

     ใครที่สนใจเรื่องนี้ ลองคลิกเข้าไปที่ วงน้ำชา Webboard ในนั้นมีอะไรดีๆ เยอะเลยครับ

      

หมายเลขบันทึก: 235157เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2009 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจ ดีมากครับ

ทุกวันนี้คนไม่ค่อยจะรู้จักการผ่อนคลายกล้ามเนี้อร่างกาย จิตใจ

และปล่อยผ่านความเครียด ความทุกข์ที่ไหลเข้ามาสู่ตน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท