การภาวนาคืออะไร . . รู้แล้วอย่าอ่าน . . ถ้าไม่ต้องการจะงง !


. . การภาวนาเป็นการเปิดพื้นที่ด้านในโดยอาศัย “การรู้เนื้อรู้ตัว” . . . การภาวนาคือทุกสิ่งทุกอย่าง . . . การภาวนาคือเส้นทาง . . . การภาวนาคือชีวิต . . .

          ผมกลับมาจาก “การฝึกภาวนา” เป็นเวลาสี่วัน (6 – 9 ม.ค.) แล้วครับ พูดถึงการภาวนา (Meditation) ผมว่าหลายคนคงจะนึกไปถึงการนั่งนิ่งๆ หลับตาที่พวกเรามักเรียกกันว่า “การทำสมาธิ” ตอนที่ผมแปลหนังสือ Osho เล่มแรกนั้น ผมเองก็แปลคำว่า Meditation เป็นการทำสมาธิไป แทนที่จะใช้คำว่า “การภาวนา” ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า

          ถ้าคำว่า Meditation หรือการภาวนานั้นไม่ใช่การทำสมาธิแล้ว . . .  ตกลงการภาวนานั้นหมายถึงอะไรกันแน่ ผมจะลองหยิบคำอธิบายสั้นๆ หลายๆ คำที่คุณตั้ม - คุณวิจักขณ์ พานิช (วิทยากรของหลักสูตรนี้) ได้อธิบายไว้เป็นช่วงๆ มาร้อยเรียงกัน ดังต่อไปนี้

               . . . การภาวนาเป็นการเปิดพื้นที่ (space) เป็นการสร้างมณฑลของการตื่นรู้  . . . เป็นพื้นที่ที่มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ไม่มีสิ่งใดถูกกั้นหรือถูกกีดกันออกไป  . . . เป็นคล้ายๆ กับการเดินอยู่บนท้องทุ่งอันกว้างใหญ่  . . . เป็นการยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ  . . . เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับตัวเองและให้ผู้อื่น  . . . เป็นกระบวนการภายในที่จะช่วยคลี่คลาย ปม ในอดีตได้  . . . แต่ต้องอย่าไปเข้าใจว่ามันเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อให้ ดูดี หรือมี ความขลัง”  . . . แน่นอน มันอาจไม่ใช่เรื่องที่สนุกสนาน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเคร่งเครียดด้วยเช่นกัน  . . . ค่อยๆ ฝึกทำ ค่อยๆ ปรับไป ไม่มีวิธีใดที่จัดได้ว่าเป็นวิธีที่ ดีที่สุด

               สรุปว่า . . . การภาวนาเป็นการเปิดพื้นที่ด้านในโดยอาศัย การรู้เนื้อรู้ตัว . . . การภาวนาคือทุกสิ่งทุกอย่าง . . . การภาวนาคือเส้นทาง . . . การภาวนาคือชีวิต . . . เปรียบได้กับ "การเดินทางของนักรบ (ชัมบาลา)" ที่กำลังเดินเข้าสู่สมรภูมิด้วย ความรู้เนื้อรู้ตัว พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยใจที่มั่นคง . . . 

         ท่านที่อ่านแล้วงงๆ นั่นเป็นเพราะว่า การภาวนานั้นไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยการให้ความหมาย ด้วยเหตุนี้ วิทยากรจึงไม่ได้ใช้การอธิบายมากนัก หากแต่เน้นหนักไปที่การฝึกปฏิบัติ จะมีคำอธิบายสอดแทรกบ้างก็เป็นครั้งคราวเท่านั้น และเป็นการให้ความหมายที่ค่อนข้างหลากหลาย แบบสั้นๆ แต่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นั่นเป็น “ความซุกซน” เป็นผลของ ความจำและความคิด ที่ผมมีในเรื่องนี้ แล้วนำคำอธิบายสั้นๆ เหล่านั้นมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ถ้าความคิด ความจำ นี้ยังไม่หยุดทำงาน ท่านก็คงจะได้อ่านแง่มุมอื่นๆ ในบันทึกต่อไป ในบันทึกนี้มีรูปมาฝาก 2 รูปครับ รูปทางซ้ายคือบรรดาผู้เข้าร่วม ส่วนรูปทางขวาคือคุณวิจักขณ์ วิทยากร/ครูผู้สอนครับ

   

หมายเลขบันทึก: 234454เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2009 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ อาจารย์

ไม่ทราบว่าอาจารย์จะกรุณาเล่ารายละเอียดการฝึกปฏิบัติ "ภาวนา"

ให้พวกเราทราบได้บ้างไหมครับ

พอดีตอนนี้ผมกำลังอ่านงานแปลเรื่อง "อิสรภาพ" อยู่

ผมรู้สึกสนใจ อยากค้นหา ศึกษา ปฏิบัติวิธีการที่ท่าน OSHO

เรียกว่า Active Meditation - "การภาวนาแบบตื่นรู้"

อาจารย์พอจะแนะนำแหล่งข้อมูลดีๆ ให้ศึกษาและทดลอง

ได้บ้างไหมครับ

ขอบคุณครับสำหรับ วิถีใหม่ๆ ในการเข้าถึง "สัจธรรม"

ที่อาจารย์กำลังพยายามแนะนำพวกเรา

สวัสดีปีใหม่ค่ะท่านอ.

คิดว่า meditation แปลว่า การทำสมาธิ อีกนะคะ

จะติดตามอ่าน ต่อไปค่ะ ... การภาวนา เพื่อให้ไปถึง

ดินแดนแห่งซัมบาลา ที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน ...

ขอบคุณค่ะ

 

อยากให้คนไทยทุกคนปฏิบัติธรรม สังคมจะได้มีแต่คนดี ๆ

ขอบคุณครับที่เก็บเรื่องจากความจำและความคิดมาเขียนบันทึกดีดีให้อ่านกัน

ผมเองก็สับสนมากเหมือนกันครับว่า Meditation ของฝรั่งเขาหมายถึงอะไรกันแน่

คำว่า ภาวนา ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านให้ความหมายว่า การทำให้มีขึ้นเป็นขึ้น, การทำให้เกิดขึ้น, การเจริญ, การบำเพ็ญ

การภาวนาในพุทธศาสนา จึงครอบคลุมทั้ง

๑. จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็งมั่นคง เบิกบาน สงบสุขผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ

๒. ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตาม

เพราะฉะนั้น ถ้า Meditaion หมายถึงการภาวนา ผลการฝึกภาวนาจะสามารถทำให้เจริญได้ทั้ง Mindfulness และ Concentration ด้วยนะครับ

ขอบคุณ นายน้อย มากครับที่นำความหมายตามพจนานุกรมมาให้เราได้ทราบกัน

ผมชอบตรงบรรทัดสุดท้่ายที่ว่า ". . . ผลของการฝึกภาวนา จะสามารถทำให้เจริญได้ทั้ง Mindfulness และ Concentration"

ผม "คิด" ว่าการภาวนาเป็นอย่างที่ท่านว่า คือเป็นทั้งการเจริญสติ (Mindfulness) และสมาธิ (Concentration=สมถะ??) ครับ แต่สำหรับ 4 วันที่ผ่านมา ไม่มีเรื่องทำสมถะเลยครับ

ใช่เลยครับ คุณ poo ". . . การภาวนา เพื่อให้ไปถึง ดินแดนแห่งชัมบาลา ที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน" นั่นเป็นประโยคที่ตรงกับที่วิทยากรพูดไว้เลยครับ

คุณณภัทร๙ อดใจรอเรื่องที่ถามมาหน่อยนะครับ ผมจะขยายความเป็นอีกบันทึกหนึ่งต่างหาก

ขอบคุณ คุณอนงค์ ลิ้ม สำหรับเจตนาที่ดี เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่มีสันติสุข แต่ผมนั้นค่อนข้างจะ "เกร็ง" กับคำว่า "คนดีๆ" เพราะผมกลัวพวกที่ "ติดดี" มากกว่าผู้ที่เป็นตัวของตัวเองครับ

เรียน ท่านอาจารย์ครับ

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจคำว่า "ภาวนา" ครับ พยายามหาความหมายมานานเหมือนกันครับ ถึงตอนนี้ผมเข้าใจว่า "ภาวนา" คือ "วิปัสนา" ครับ

วันก่อนได้ฟังธรรมะของหลวงตามหาบัว ท่านสอนว่า ..เวลาโดนหนามตำ เราก็ถอนหนามที่ตำออก ไม่จำเป็นต้องไปค้นหาว่า เป็นหนามอะไร สีอะไร ตำอย่างไร ตำที่ไหน คือ บางทีการศึกษาปริยัติมากเกินไป ก็ทำให้เสียเวลา สับสน หลงเป็นธรรมสัญญาไปก็มี กล่าวคือ ให้มุ่งตรงไปที่การปฏิบัติลดละ ถอนกิเลสตัณหาเลย ไม่ต้องไปวิเคราะห์ค้นหาให้เสียเวลาว่า เป็นกิเลสตัณหาอะไร ... ประมาณนั้นครับ

ขอบพระคุณครับ

เรียนท่านอาจารย์ครับ

ผมเป้นอีกคนหนึ่งที่ติดตามอ่านบล๊อกของอาจารย์อยู่บ่อยๆ แต่ไม่แสดงความเห็น วันนี้ตามมาอ่านอีกครั้งเห็นคำว่า ภาวนา เป็นคำที่เด่น กล่าวถึงกันมาก ขอแสดงความเห็นนิดหน่อย ซึ่งอาจหมายถึง การทำบ่อยๆจนเกิดเป็นความเจริญความถูกต้อง ก็น่าจะพอได้

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้ครับ

ภาวนา แปลว่า การเจริญ การอบรม หมายถึง การทำจิตใจให้สงบและทำปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการฝึกฝนอบรมจิตไปตามแบบที่ท่านกำหนดไว้ ซึ่งเรียกชื่อไปต่างๆ เช่น การบำเพ็ญกรรมฐาน การทำสมาธิ การเจริญภาวนา การเจริญจิตภาวนา

ภาวนา ในทางปฏิบัติท่านแบ่งไว้ ๒ แบบใหญ่ๆ คือ

สมถภาวนา การอบรมจิตใจให้สงบ ซึ่งได้แก่สมถกรรมฐานนั่นเอง

วิปัสสนาภาวนา การอบรมปัญญาให้เกิด ซึ่งได้แก่วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

สวัสดีครับ คุณเด็กข้างบ้าน ~natadee และอาจารย์ไฉน

ตามความเข้าใ จ (ใหม่) ของผม "การภาวนา" เป็นอะไรก็ได้ครับ ตราบเท่าที่เรามี "ความรู้ตัว"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท