BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

แต่งงาน


แต่งงาน

เปิดอ่านข่าว เจองานแต่งงานของคนแวดวงบันเทิงผสมการเมือง ก็เป็นพลังผลักดันว่าเขียนตอนนี้เลย เพราะเมื่อวานผู้เขียนก็ไปงานแต่งงาน และทุกครั้งตอนกำลังอยู่ในพิธีก็มักคิดว่ากลับมาวัดจะเขียน แต่ก็ปล่อยให้ผ่านไปทุกครั้ง...

งานที่ไปเมื่อวาน เป็นงานแต่งของคนระดับธรรมดาซึ่งคุ้นเคยกับผู้เขียนมานานแล้ว โดยทำพิธีแต่งกันที่บ้านฝ่ายเจ้าสาว และภาคค่ำก็จะทำพิธีเลี้ยงฉลองกันในหอประชุมกลางหมู่บ้าน ก็ผ่านไปโดยปกติราบรื่นเหมือนกับงานอื่นๆ ที่ผ่านๆ มา... ส่วนจะอยู่กันได้ดี มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง หรือจะเลิกร้างแยกย้ายกันไปชนิดหม้อข้าวไม่ทันดำตามสำนวนโบราณหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต...

ผู้เขียนร่วมพิธีกรรมงานแต่งมาตามจำนวนเวลาที่บวช (เกินยี่สิบปี) ตั้งแต่นั่งปลายแถวหลังสุด จนกระทั้งขยับมานั่งหัวแถวเพื่อเป็นประธานสงฆ์ แต่ก็รู้เฉพาะพิธีกรรมที่เข้าพระสงฆ์เท่านั้น พิธีกรรมอื่นๆ บางอย่างก็ไม่ค่อยจะคุ้นเคยนัก ดังนั้น จึงขอเล่าเฉพาะที่เกี่ยวกับพิธีสงฆ์เท่านั้น...

ความสำคัญของพิธีสงฆ์ในงานแต่งงาน ก็คือ การที่คู่บ่าวสาวได้ใส่บาตรร่วมกันเพื่อแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ต่อจากนั้น พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา (สวดชยันโต) พร้อมโปรยดอกไม้ (บางงานอาจมีข้าวตอกเสริมมาด้วย)ไปยังร่างของคู่บ่าวสาวที่หมอบอยู่ด้านหน้า หรือถ้ามีน้ำพระพุทธมนต์ก็อาจมีการประพรมในขณะนี้พร้อมๆ กันไป...

ตามย่อหน้าข้างต้น เหตุที่ผู้เขียนได้อธิบายดังนี้ เพราะตามธรรมเนียมในสงขลาเมื่อผู้เขียนแรกบวชนั้น สำหรับงานแต่งงาน เกือบทุกอย่างจะเป็นพิธีชาวบ้าน พิธีสงฆ์ก็เพียงแต่นิมนต์พระ ๕ รูป หรือ ๙ รูป ไปถวายพรพระ (สวดพาหุง) เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้ใส่บาตร หลังจากนั้นก็ถวายไทยธรรม แล้วคู่บ่าวสาวก็จะกรวดน้ำ พระสงฆ์อนุโมทนา เมื่อเสร็จแล้วประธานสงฆ์ก็จะขึ้นบทชยันโต โปรยดอกไม้ให้คู่บ่าวสาว เป็นอันเสร็จพิธี แค่นี้เอง...

แต่ต่อมา ได้มีการเพิ่มเจริญพระพุทธมนต์ไปด้วยในพิธีสงฆ์ ดังนั้น จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เข้ามาประพรมคู่กับการโปรยดอกไม้ด้วย... การเจริญพระพุทธมนต์ในงานแต่งงานทำนองนี้ น่าจะได้รับธรรมเนียมมาจากภาคกลาง และธรรมเนียมนี้ค่อยๆ เจริญในสงขลา กลายเป็นว่า ปัจจุบันนี้ งานแต่งงานก็ต้องมีการเจริญพระพุทธมนต์ทุกงาน เพียงแต่สวดพาหุงกับชยันโตแบบเก่าๆ ค่อยๆ เลือนหายไป นานๆ จะเจอสักครั้งที่ทางเจ้าภาพเจาะจงทำนองนี้...

สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ นั้น มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เช่น ขันหมากในพิธี บางท้องถิ่นหรือบางงาน ทางเจ้าภาพจะนำมาถวายพระสงฆ์ประธานในพิธี เพื่อท่านจะได้แกะออกมาฉันเป็นการประเดิม หรือไม่ก็หยิบฉวยใส่ย่ามไปเล็กน้อย... ด้ายมงคลที่ใช้สวมตอนพิธีรดน้ำสังข์ สังข์ที่ใช้ทำพิธี เครื่องเจิมคู่บ่าวสาว บางงานหรือบางท้องถิ่น ทางเจ้าภาพจะนำมาวางไว้ติดกับหม้อน้ำมนต์ เพื่อพระสงฆ์จะได้โยงสายสินจน์ร่วมกับหม้อน้ำมนต์ด้วย เพื่อจะได้เป็นมงคล... และเครื่องเจิม คือ แป้งหอม น้ำมันหอม (บางแห่งมีทองคำเปลวด้วย) บางท้องถิ่นหรือบางงานก็ให้พระสงฆ์ประธานในพิธีเป็นผู้เจิมให้ โดยพระเถระจะใช้เทียนจุ่มเครื่องเจิมแล้วไปเจิมที่หน้าผากของคู่บ่าวสาว... ประมาณนี้

อนึ่ง เคยเห็นตอนอยู่กรุงเทพฯ แต่ปักษ์ใต้บ้านเราไม่มี ก็คือ ตอนพิธีสงฆ์นั้น คู่บ่าวสาวมักถวายขนมเปียะกับไข่ต้มให้พระสงฆ์ในพิธีด้วย... บางงานนั้น พระคุณเจ้าบางรูปปากเบาไปหน่อย ทักท้วงขึ้นว่าไม่เห็นขนมเปียะกับไข่ต้ม เดือดร้อนถึงทางเจ้าภาพต้องไปจัดหามาด่วน เพราะไม่อยากจะให้ผิดประเพณีนิยม... แต่บางงาน พระเถระในพิธีหรือเจ้าภาพก็พูดขัดขึ้นว่าไม่จำเป็น ก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น... ประเด็น ไข่ต้มกับขนมเปียะ นี้ ผู้เขียนยังไม่ทราบที่มา ใครอ่านเจอพอทราบเรื่องนี้ ก็ช่วยเล่าไว้เป็นวิทยาทานบ้าง...

 

ความไม่เรียบร้อยในงานแต่งงานอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเจอหลายครั้งก็คือ ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาว ต่างก็เป็นผู้หนักในพิธี และต่างฝ่ายก็ไม่ค่อยจะยอมตามอีกฝ่าย ทำให้งานประดักประเดิก ไม่ค่อยจะเป็นมงคลกับคู่บ่าวสาวนัก ซึ่งเรื่องนี้ ขอฝากผู้หนักในพิธีทั้งหลายว่า เห็นแก่คู่บ่าวสาวเถิด อย่าเห็นแก่ทิฎฐิมานะของตนเลย...

บางงานก็มีผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานคอยเป็นเจ้ากี้เจ้าการหลายคน เช่น ผ้ากราบวางที่นั้น หมอนวางอย่างนี้ คู่บ่าวสาวนั่งที่นี้ ถ่ายรูปสักภาพก่อนที่จุดนี้... ฯลฯ ทำให้เป็นที่ระอากึ่งรำคาญแก่เจ้าภาพมากกว่าจะช่วยเหลือจริงๆ ดังนั้น จึงขอฝากผู้ใหญ่ที่ไปร่วมงานแต่งงานของลูกหลานใกล้ชิด ถ้าไม่มีใครมอบหมาย หรือไม่มีหน้าที่โดยตรง ก็ควรจะนั่งเป็นเกียรติเฉยๆ ดีกว่า (รู้มั้ย ! เจ้าภาพรำคาญ)

อนึ่ง การแต่งงานนั้น บางครั้งก็มีนัยอื่นอยู่เบื้องหลัง เช่น การงานธุรกิจที่ขัดแย้งกันมีปัญหา ก็อาจแก้ปัญหาโดยให้ลูกหลานทั้งสองตระกูลแต่งงานกัน เพื่อเป็นตัวเชื่อมดังเค้าว่าเป็นทองแผ่นเดียวกัน... หรือตอนที่ฮ่องกงกำลังจะกลับไปสู่เจ้าของเดิมคือจีนแผ่นดินใหญ่ ช่วงนั้น ก็มีชาวฮ่องกงมาแต่งงานกับหนุ่มไทยหรือสาวไทยจำนวนหนึ่งเพื่อจะได้สิทธิอยู่เมืองไทย ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนอยู่กรุงเทพฯ จำได้ว่าพบคู่บ่าวสาวทำนองนี้เกินสิบงาน...

 

การแต่งงานนั้น อันที่จริง เป็นเรื่องของคนสองคนที่สมัครใจอยู่กินกันเป็นคู่สามีภรรยา แล้วประกาศให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นพิธีกรรมชาวบ้าน จะเข้าพิธีสงฆ์หรือไม่ก็มิใช่ประเด็นสำคัญ ดังมีศัพท์บางท้องถิ่นว่า กินหมู นั่นคือ ชายหนุ่มหญิงสาวหมู่บ้านเดียวกันที่ลักลอบได้เสียกันจนกระทั้งท้องโตขึ้นมา ผู้ใหญ่จับได้ จึงล้มหมูทำอาหารเลี้ยงบ้านใกล้เรือนเคียง สนุกกันหนึ่งคืน แล้วรุ่งเช้าก็ปล่อยอยู่ด้วยกันอย่างเปิดเผย ซึ่งหลายคู่แม้จะผ่านเพียงพิธีกินหมูเท่านั้น แต่ก็อยู่กันจนกระทั้งมีลูกหลานสืบต่อวงศ์ตระกูลมาได้...

สังคมเมืองสมัยใหม่ หนุ่มสาวบางคู่ที่สมัครใจอยู่กันอย่างเปิดเผย ก็อาจชวนเพื่อนใกล้ชิดไปร่วมดื่มร่วมกินเพื่อเป็นพยานรัก และจะได้ประกาศให้ได้รับรู้บอกกันต่อๆ ไป ซึ่งบางคู่ก็สามารถอยู่กันได้ด้วยดีจนมีลูกมีหลาน หรือบางคู่ก็อยู่กันไม่นานเลิกร้างแยกย้ายกันไป...

นั่นคือ ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ อย่างไร ทำนองไหน ผลในอนาคตก็อาจอยู่ด้วยกันได้ดี เลิกร้างกันไป หรืออยู่ๆ เลิกๆ ไม่แตกต่างกัน...

คำสำคัญ (Tags): #แต่งงาน
หมายเลขบันทึก: 234306เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2009 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการหลวงพ่อชัยวุธ ครับ

กราบสวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบพระคุณครับสำหรับเรื่องพิธีสงฆ์ในงานแต่งงาน กระผมได้ความรู้หลายประการเลยครับโดยเฉพาะเกี่ยวกับคนสงขลา อิอิ เพราะตอนผมอยู่สงขลาก็เจอหลายแบบครับ(คนช่วยกำกับหนะครับ) และในด้านความคิดเห็นของหลวงพ่อกระผมก็เห็นด้วยทุกประการเลยครับ บางครั้งจัดงานอย่างดีแต่ถ้าอยู่แล้วไม่เข้าใจกันหรือเหตุผลอื่นๆก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่บางครั้งแค่กินหมูก็อยู่กันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร ไม่มีอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าคนสองคนจะอยู่กันได้นานเท่าไหร่ใช่หรือเปล่าครับ

กราบนมัสการลาครับ

Pว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

 

ประเด็นว่า อยู่กันได้นานหรือไม่ ? นั้น หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาก็พอมี วิชาโหราศาสตร์ก็พออธิบายได้ แต่ก็เป็นเพียงการคาดหมายเท่านั้น...

  • ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน       ปจฺจุปนฺนหิเตน วา
  • เอวนฺตํ ชายเต เปมํ       อุปฺปลํว ยโถทเกติ ฯ
  • ความรักย่อมเกิดเพราะสาเหตุ ๒ ประการ กล่าวคือ การอยู่ร่วมในกาลก่อน และการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน เหมือนดังพื้ชน้ำเช่นดอกบัวเป็นตัว ย่อมอาศัยเปลือกตรมและน้ำ จึงได้เกิดขึ้นในน้ำ ฉันนั้น ฯ

ตามนัยนี้ อาจบ่งชี้ว่า มีวาสนาร่วมกันในอดีตจึงได้มาเจอกัน แต่จะอยู่ได้นานหรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่การเกื้อกูลกันในปัจจุบันด้วย...

เจริญพร

กราบนมัสการอรุณสวัสดิ์ครับหลวงพ่อ

กำลังจะแต่งงานปลายปีนี้เช่นกันครับ

ได้ข้อคิดดีๆเยอะเลย

อ่านเพลินมากครับกับตัวอย่างหลายๆงาน เห็นความจริงเยอะเลย

อยากได้ตัวอย่างที่หลวงพ่อไปร่วมพิธีในแบบที่เรียบง่ายและสวยงามจังเลยครับ

ผมกับแฟนรักใคร่กันดี และปราถนาอยากแต่งอย่างนั้น

ผมกับแฟนได้ไปขอให้หลวงพ่อวัดหนึ่งดูวันดีวันที่จะแต่ง ท่านก็บอกว่าเอาวันสะดวกเราและสะดวกญาตินั้นดีที่สุดแล้ว ฟังแล้วชื่นใจจังครับที่ท่านไม่ระบุวันมา เพราะท่านก็เชื่อในความรักและพร้อมมากกว่าใดๆ

กราบนมัสการครับ

Padayday


มีจรรยาบรรณโหรข้อหนึ่งว่า...
  • ถ้ามีใครมาให้ทำนายว่า คู่ครองหรือคู่บ่าวสาวนั้นๆ อยู่กันได้หรือไม่ ?
  • ต้องทำนายว่า อยู่กันได้ !
โดยไม่จำเป็นต้องคำนวนเลขผานาทีหรืออื่นๆ ส่วนจะอยู่กันได้ยืดยาวจนตายจากกันไปหรือไม่... นั่น ! เป็นเรื่องอนาคต...
เจริญพร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท